
จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๒๐) “ปฏิบัติบูชาคุณงามความดี คือวิชารักษาจิตใจ ” โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
การบูชา คือการยกสิ่งนั้นๆ ไว้เหนือหัว การเคารพเทิดทูน ยกย่องสรรเสริญ กระทำระลึกไว้ภายในจิตใจ เป็นการย้ำเตือนสติไม่ให้ประพฤตินอกลู่นอกทางไปสู่ทางที่ชั่ว
ในพระพุทธศาสนาของเราองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้ตรัสเกี่ยวกับหลักการบูชาไว้ ๒ อย่าง
๑.อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของธูปเทียนดอกไม้ สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ ห้องน้ำ ศาสนวัตถุ หรือพุทธสถานอื่นๆ
๒.ธรรมบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติตนถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด การรักษาศีล และเจริญจิตภาวนา
ผู้เขียนเชื่อว่าท่านที่อ่านนี้ก็กระทำอยู่เป็นประจำตามหลักของการทำบุญ ด้วยการให้ทาน คือการถวายข้าวปลาอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค แด่พระภิกษุสงฆ์ และบุคคลอื่นทั่วไปเป็นอยู่ประจำ ซึ่งเข้ากับหลักการอามิสบูชา
ส่วนการรักษาศีล ๕ ข้อ มีอยู่สองแบบคือ หนึ่ง การสมาทาน (เจตนา, ตั้งใจ)รักษาศีลแบบแยกข้อผิดข้อหนึ่งก็ยังเหลือสี่ข้อ และอีกแบบ การสมาทานรักษาศีลทั้งหมดห้าข้อผิดข้อใดข้อหนึ่งคือผิดหมดเลย
การเจริญจิตภาวนา มีอย่างหลายวิธี เช่น การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว กายเคลื่อนไหวใจรับรู้ และอานาปานสติ การกำหนดดูลมหายเข้าใจออก เป็นต้น จัดเป็นการปฏิบัติบูชา

การบูชาทั้งหมดนี้สำคัญทุกข้อ แต่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการปฏิบัติบูชามากกว่าอามิสบูชา
วันนี้นั่งทำวัตรเย็นสวดมนต์แล้วเจริญสติสัมปชัญญะจิตใจน้อมไประลึกนึกถึงการบูชากระทำไว้ในจิตใจว่า จะปฏิบัติบูชาคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์คุณของพ่อแม่ คุณของครูบาอาจารย์ และคุณงามความดีในโลก

การบูชาทั้ง ๖ ข้อนี้เป็นอย่างไรบ้าง
๑.การปฏิบัติบูชาคุณของพระพุทธเจ้า คือ คุณงามดีของพระองค์มีพระเมตตาที่ได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทรงนำมาอบรมสั่งสอนให้สาวกได้บรรลุธรรมตามพระองค์
๒.การปฏิบัติบูชาคุณของพระธรรม คือ ความจริงนิรันดร์ที่ไม่มีวันตาย หรือยาใจที่อมตะ ความจริงอันประเสริฐที่ช่วยให้สัตว์พ้นจากความทุกข์ได้ ธรรมะธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์มีจิตใจที่สูงมีกายและจิตสัมพันธ์กันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่สุขไม่ทุกข์ใจร่มเย็นเป็นปกติตามธรรมชาติ ชีวิตที่สมดุลกับธรรมชาติที่แท้จริง
๓.การปฏิบัติบูชาคุณของพระสงฆ์ คือ เป็นผู้ปฏิบัติดี : ตามทางสายกลางไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก และไม่ถอยหลัง ปฏิบัติตรง : ไม่ปฏิบัติเป็นคนลวงโลก มุ่งปฏิบัติตรงต่อข้อปฏิบัติอันยังสัตว์โลกถึงพระนิพพาน ปฏิบัติถูกต้อง : ไม่ผิดเพี้ยนจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ผิดไปจากธรรมเนียมอันดีงามหรือถูกต้องตามระเบียบแบบแผน และปฏิบัติสมควร : สมควรแก่การถูกเคารพนับถือ เป็นผู้ตื่นรู้ไม่งมงาย และรู้จักสำรวมกายและวาจาต่อผู้อื่น
๔.การปฏิบัติบูชาคุณของพ่อแม่ คือ เป็นการตอบแทนพระคุณที่ท่านมีเมตตารักมอบชีวิตให้เกิดขึ้นมาและได้อบรมเลี้ยงดูแลสั่งสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
๕.การปฏิบัติบูชาคุณของครูบาอาจารย์ คือ ตอนที่เป็นฆราวาสพ่อครูแม่ครูที่พร่ำสอนลูกศิษย์น้อยได้รู้จักการอ่านเขียนคิดเป็นมีระเบียนวินัย เป็นคนดีคนเก่ง มีวิชาเอาตัวรอดเลี้ยงครอบครัวพ่อแม่ได้ เรียกว่า วิชารักษากาย
ตอนเป็นบรรพชิต ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระท่านได้อบรมศีลธรรมขนมธรรมเนียมแบบแผนของวิชารักษาจิตใจให้เรียนรู้ปฏิบัติธรรม ดำรงชีวิตตนให้ลดละเลิกจากความทุกข์ใจให้เบาบางลงได้ รู้จักความเป็นพระที่แท้จริง เรียกว่า วิชารักษาจิตใจ
๖.การปฏิบัติบูชาคุณงามความดีในโลก คือ บูชาคุณงามความดีของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ พ่อแม่ทุกๆ ท่าน ครูบาอาจารย์ทุกๆท่าน สัตว์น้อยใหญ่ทุกๆ ตัว สรรพสัตว์ทั้งทั่วโลกและจักรวาล

การปฏิบัติบูชาหรือการปฏิบัติธรรมบูชาต่อพระพุทธเจ้าหรือบุคคลที่เราเคารพนับถือเบื้องต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสรรเสริญ
แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าพระศาสดาเป็นเพียงแค่ผู้ที่ชี้แนะนำหรือบอกทางให้เราเดินเท่านั้น ใครประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ก็ได้ริมชิมรสของพระธรรมเหล่านั้นเอง หากไม่ทำตามก็ไม่ได้สัมผัสรสของพระธรรมอย่างแท้จริง ทำเล่นก็ได้แบบเล่น ทำจริงก็ได้ของจริง
เปรียบเสมือนกินข้าวเล่นไปมันก็อิ่มช้าหน่อยเสียเวลา หากตั้งใจกินก็อิ่มเร็วหน่อยมีเวลาเหลือทำประโยชน์อย่างอื่นอีกมาก
การปฏิบัติบูชาก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพียงแค่เราศรัทธาเคารพนับถือในพระองค์หรือบุคคลที่เราเคารพหรือแม้แต่เราปฏิบัติธรรม เพื่อบูชาธรรมก็ยังได้ เพื่อยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรมไปให้ถึงเป้าหมายคือ ความดับทุกข์
สุดท้าย การปฏิบัติบูชาคุณงามความดีต่อใคร ก็เพื่อเป็นแนวทางกำลังใจในเดินไปให้ถึงฝากฝั่งแห่งความสันติสงบสุขภายในจิตใจอย่างนิรันดร์ได้อย่างแท้จริงด้วยวิธีการลงมือปฏิบัติเอง

เช่น การเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว อันหมายถึงกายเคลื่อนไหวใจรับรู้ รู้สึกตัวในอาการเคลื่อนไหวกาย ใจคิดก็รู้เท่าทันความคิด จะเป็นอดีต อนาคตก็รู้ว่าคิดก็จบแล้ว กลับมาที่ฐานกายที่เคลื่อนไหว ให้รู้สึกตัวอยู่ในปัจจุบันธรรม ใจก็ปกติเป็นธรรมชาติ นี่เรียกว่า การเจริญสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม
และท้ายที่สุด พระพุทธองค์ได้ให้ลูกกุญแจไว้ไขปริศนาธรรมคือ ตัวทุกข์ จิตทุกข์ใจทุกข์ หรือทุกข์เพราะความคิด การยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงตามความคิดก็กลายเป็นทุกข์ ฉะนั้นจะแก้ไขปลอดล็อคตัวทุกข์ได้ก็เอาตัวสติมาไขเปิดตัวทุกข์ออก ดั่งใจความที่พระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานตรัสไว้ว่า “อย่าประมาท” นั่นเอง

การบูชาด้วยสิ่งของมันไม่ยั่งยืนมันเสื่อมสูญสลายหายไปได้ การปฏิบัติธรรมบูชายั่งยืนกว่า เพื่อความสันติสงบสุขภายในอย่างแท้จริง ทั้งสองก็ต้องอาศัยสัมพันธ์กันประดั่งนกมีปีกเดียวก็บินไปได้ไม่ไกลดั่งใจนก มีปีกสองปีกจะบินไปได้ไกลอย่างอิสระตามใจต้องการ
จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๒๐) “ปฏิบัติบูชาคุณงามความดี คือวิชารักษาจิตใจ ” โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย