จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๓๒)  "พระพุทธศาสนาที่ฉันรู้" เรื่อง และภาพ โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๓๒) “พระพุทธศาสนาที่ฉันรู้” เรื่อง และภาพ โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๓๒)

พระพุทธศาสนาที่ฉันรู้

โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย

สถาบันพัฒนาพระวิทยากร

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง

แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

วันนี้มีญาติโยมนำเอาภัตตาหารมาถวายเพลพระเป็นประจำวันจันทร์ และพร้อมเพียงกันกล่าวคำถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว ญาติโยมก็กล่าวคำลาข้าวจากพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็อนุญาตให้โยมรับประทานอาหารคาวหวานได้ตามความต้องการ และจัดเก็บข้าวของล้างถ้วยจานชามเก็บเข้าที่เรียบร้อย

หลังจากนั้น ก็ได้พูดคุยสนทนาธรรมกันว่าโยมเข้าใจพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไรบ้าง

โยมเล่าให้ฟังว่า  สมัยก่อนโน้น  สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ และศีล ๕ ข้อเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เวลาเข้าไปในวัด  ส่วนมากก็นำเอาภัตตาหารนี้ไปถวายพระสงฆ์แล้วรับพรจากท่านเสร็จก็กลับบ้านของตนเอง

“บางครั้งพระสงฆ์ที่วัดก็ไม่มีสักรูป บางเวลาก็มีพระสงฆ์ที่สัญจรมาจากที่อื่นแล้วมาพักจำพรรษาที่วัดก็มีพระญาติโยมก็ดีใจที่ได้ทำบุญให้ทานแด่พระสงฆ์

“แม้แต่หมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันก็มีพระแก่ชรา แล้วมีเพียงรูปเดียว ได้จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาวันสำคัญต่างๆ ก็ไม่มีเรี่ยวแรงกำลังที่จะจัดทำเท่าที่ควรหรือไม่ได้ทำ แต่ก็ยังดีมีพระสงฆ์อยู่วัดไว้ประกอบวิธีทางศาสนาบ้าง”

และมีจุดเปลี่ยนแปลงชีวิตที่มาอยู่อเมริกา เพราะวัดก็หายาก อยากจะทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ก็ไม่มีพระ เมื่อไม่มีพระก็ไม่มีโอกาสที่จะทำบุญตักบาตร

ตอนที่อยู่เมืองไทยมีวัด มีพระ ไม่ค่อยอยากจะเข้าวัดทำบุญตักบาตรกับพระ

ตอนที่อยู่อเมริกาไม่มีวัด ไม่มีพระ คิดอยากจะเข้าวัดทำบุญตักบาตรกับพระ

นี่ละนะ คนเราเมื่อโอกาสอำนวยแล้วก็ไม่จับไม่คว้าไว้ ปล่อยปละละเลย ไม่เห็นคุณค่า มิหนำซ้ำกลับมาทำลายโอกาสที่มีอยู่

สักวันหนึ่ง เราจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่เห็นอยู่จนคุ้นชินตา ที่เราคิดว่าไม่มีค่าอะไรเลย เมื่อสิ่งนี้หายไปเราจะโหยหาในภายหลัง มันก็สายเกินไปแล้ว

จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๓๒) "พระพุทธศาสนาที่ฉันรู้" เรื่อง และภาพ โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๓๒) “พระพุทธศาสนาที่ฉันรู้” เรื่อง และภาพ โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

เมื่อเรามีโอกาสที่ทำความดี ทำบุญกุศลเพิ่มพูนชีวิตจิตใจให้ดีขึ้น ก็ลงมือทำเลย อย่าเดี๋ยวก่อน เดี๋ยวจะไม่มีเวลาและโอกาสสร้างความดีงามให้แก่ชีวิตจะคิดเสียดายภายหลังว่า ไม่น่าพลาดโอกาสนั้นเลยเรา

มีอยู่วันหนึ่งโยมฝันว่า มีคนแก่มาบอกว่าให้ไปวัดที่อยู่ใกล้ๆ นี้ล่ะ พอตื่นมาก็มีคุณแม่นับถือเคารพกัน  หรือแม่รัก ได้มาชวนไปวัดสวดมนต์ปีใหม่ข้ามปี ก็ไม่รอช้าก็จัดเตรียมของไปสวดมนต์ข้ามปีเป็นครั้งแรก 

ได้ทำบุญตักบาตร รับศีล ๕ ข้อ พระท่านก็สอนให้รู้จักศีล ๕ ข้อว่ามีอะไรบ้าง มีความหมายว่าอย่างไรบ้าง รู้จักบาปบุญโทษ แต่ก่อนก็ไม่รู้ไม่เชื่อ ตอนนี้รู้ ไม่กล้าที่จะฆ่าสัตว์ที่ใหญ่กว่าปลาขึ้นไป  และสุดท้ายได้นั่งสมาธิ ทำให้จิตใจมันสงบลง ความโกรธโมโหก็ลดน้อยลง

หลังจากนั้น ก็ได้ศึกษาพุทธประวัติจากอินเทอร์เน็ตบ้าง จากหนังสือธรรมบ้าง

ได้มาสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ในวัดมาเรื่อยๆ บ้าง ก็ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนามากกว่าเดิม

การใช้ชีวิต เวลามีคนมาด่าเรา ก็ช่างเขา เราก็เดินหนีไปที่อื่น เวลาโกรธสมัยก่อนมันขึ้นปี๊ดเลย บางครั้งโกรธจนตัวสั่น จนลงไปที่ท้องก็มี

แต่ตอนนี้ฝึกไม่ให้มันโกรธ เวลามันโกรธก็หายใจเข้าลึกๆ ค่อยผ่อนคลายออกเบาๆ อย่าให้ความโกรธมันเข้าไปลึกหรือนานมาก จะออกจากมันยาก ให้โกรธมันตื้นๆ หรือไม่นาน มันจะเอาออกได้ง่าย

เวลาสามีชวนไปตกปลาก็ไม่ไปอีก กลัวบาป เวลาเราเจ็บไข้ขึ้นมันดูเหมือนเราเห็นภาพปลาที่เราไปตกมามันปรากฏขึ้นในความคิดให้เราได้ระลึกเห็นมันอีกครั้ง

ปลาก็น่าจะเจ็บปวดเหมือนเราตอนนี้กระมัง มันเป็นบาปกรรมที่เราทำไว้แน่นอน หลังจากนั้นก็ไม่ไปตกปลาอีกเลยนะกลัวบาป

โยมเล่าอีกว่า ก็ได้แต่แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้ การแผ่เมตตานี้มันดีนะคะท่าน  มีเพื่อนที่ทำงานด้วยกันที่ไม่ถูกกัน เราก็แผ่เมตตาหลังจากสวดมนต์นั่งสมาธิเสร็จแล้วทุกวัน ปรากฏว่า เขากับเรากลับมาดีกันได้อีกครั้ง

สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่า

พระพุทธศาสนาที่ฉันรู้  รู้ด้วยตาเปล่าเห็นเขาไปวัดนำอาหารไปถวายพระที่วัดก็ไปตามเขาไป รับพรเสร็จก็กลับบ้าน และรู้ด้วยความเข้าใจปฏิบัติถูกทางถูกต้อง

ขอขอบคุณ ภาพประกอบโดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
ขอขอบคุณ ภาพประกอบโดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

บางคนตั้งคำถามว่า ทำไมพระไม่ได้ทำหน้าที่ของพระคือเทศน์สอนธรรมะ

อธิบายว่า กรณีพระไม่ได้สอนธรรมะคือ

๑. โยมไม่กล้าเข้ามาหาพระให้สอนธรรม พระสะดวกพร้อมสอน แต่โยมไม่สะดวกก็ไม่ได้สอน

๒. พระไม่มีองค์ความรู้ธรรมะพอก็ไม่กล้าสอนหรือโยมพร้อมรับฟังเทศน์ แต่พระไม่พร้อมสอน ก็ไม่ได้สอน

๓. ความรู้ เวลา  โอกาส การงาน ระบบสังคม ไม่เอื้ออำนวย ไม่พร้อมก็ไม่มีโอกาสสอนมีก็มีน้อย เป็นต้น

เมื่อพระสงฆ์พร้อมโยมพร้อม องค์ของธรรมะก็จะเกิดขึ้นด้วยวิธีการสนทนาธรรม เป็นมงคลชองชีวิตอีกแบบหนึ่ง  คือการสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์  จะได้ความรู้เรื่องใหม่นำไปปรับใช้ในชีวิตให้ดีขึ้นได้ และได้รู้เรื่องที่เคยรู้มาแล้วรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก

รู้จักใจรับรู้ถึงบาปบุญคุณโทษสิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำ

ปฏิบัติตนให้อยู่ในครองศีลและธรรม

ใช้ชีวิตอย่างมีสติรู้สึกตัวขนาดทำ พูด คิดดีรู้ว่าทำ พูด คิดดี อย่าหลงใหลในคำยกย่องชื่นชมจนเกินควร

ทำ พูด คิดชั่วก็รู้ว่าทำ พูด คิดชั่ว แล้วแก้ไขก่อนจะไม่มีโอกาสแก้ไข แต่ไม่แก้ตัว

เข้าวัดยังลดละเลิกความโกรธ เกลียด แค้น ให้ลดน้อยลงไม่ได้ก็พยายามตรวจสอบจิตใจตนลึกๆ ว่า เราโกรธแค้นเพื่ออะไร จะเกิดผลอะไรขึ้นกับจิตใจเรา แล้วจะเข้าใจตนเองและคนอื่นมากขึ้น

ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า

“ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส”

นี่แหละคือพระศาสนาที่แท้จริง

จ๊อด

๒๘ เมษายน ๓๕๖๓/๒๐๒๐

พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย  ผู้เขียน
พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย ผู้เขียน

จาริกธรรมในอเมริกา (ตอนที่ ๓๒) “พระพุทธศาสนาที่ฉันรู้” โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here