ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔

(ตอนที่ ๑)

“ภพภูมิและการเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา”

จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพในอดีต
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพในอดีต

จดหมายฉบับที่สี่

กรุงเทพมหานคร, วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๒

เจริญพรโยมแม่ใหญ่

จดหมายฉบับที่แล้ว  อาตมาได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องการบวช  จุดประสงค์ของการบวช  และสิ่งที่ผู้บวชต้องการทราบ  ตลอดจนอานิสงส์ที่จะพึงมีแก่ผู้บวช  และญาติพี่น้องที่อนุโมทนาในการบวช  แม้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการบวชที่ต้องเขียนอยู่อีกบ้าง  แต่จะขอพักไว้ก่อน

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

วันนี้อยากเล่าเรื่องภพภูมิต่างๆ ที่มนุษย์รวมไปถึงสัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิด  หรือที่สัตว์ทั้งหลายไปเกิดให้ โยมแม่ใหญ่ฟัง

ที่จริงเรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องการบวช  เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอานิสงส์ที่เกิดจากการได้บวชใน พระพุทธศาสนา  หากบวชด้วยศรัทธา  แล้วตั้งใจปฏิบัติตามธรรมวินัยจริง  อย่างน้อยที่สุดก็ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ สูงขึ้นไปก็เป็นเทวดา  สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกก็เป็นพรหม  ตามสมควรแก่การปฏิบัติของตน 

“การบวชด้วยศรัทธานี้  สามารถปิดประตูนรก  ปิดเส้นทางสัตว์เดรัจฉาน  และเส้นทางสู่สวรรค์เปิดรอรับเลยทีเดียว”

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงภพภูมิและการเวียน ว่าย ตาย เกิด  ในสังสารวัฏ ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้โยมแม่ใหญ่ฟัง

ภพภูมิและการเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาสอนว่า  สัตว์โลก  มนุษย์โลก และ เทวโลก เป็นที่เกิดและที่ตายของหมู่ สัตว์ทุกจำพวก  คนเราตลอดจนสรรพสัตว์  ต่างเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ๓ นี้ทั้งนั้น  การเกิด และตายในภพทั้ง ๓ นี้  เรียกว่า “ท่องเที่ยวไปภพน้อยภพใหญ่”  คือ ท่องเที่ยวไปในภพทั้ง ๓นั้น ดีบ้าง  เลวบ้าง  ขึ้นอยู่กับบุญและกรรมของแต่ละบุคคล  ทำดีก็ไปเกิดในที่ที่ดี  ทำชั่วก็ไปเกิดในภพทั้ง ๓ นี้ จึงถูกเรียกว่า “สังสารวัฏ” เพราะลำพังกำลังสติ ปัญญาของมวลมนุษย์  ไม่สามารถเข้าไปวิเคราะห์หาจุดเริ่มต้น และ จุดสุดท้ายของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้ เหมือนเราไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายจากวงกลมได้ 

เพื่อความไม่ประมาท  ผู้ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ  จึงต้องทำบุญทำกุศลไว้ให้มาก

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช อยู่ ญาโณทยมหาเถร  สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดสระเกศ กรุงเทพ ที่อาตมาบวชอยู่  ได้กล่าวสอนเป็นคติเกี่ยวกับการทำบุญไว้ว่า

“บุญเท่านั้นที่ควรรีบทำ ไม่ว่าในเวลาไหน คนที่ยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องขวนขวายทำบุญ คนที่ไม่ประมาทเร่งทำบุญ

การทำบุญเป็นเรื่องสำคัญ  สำหรับผู้ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด เพื่อจะได้เป็นเกราะป้องกันภัยที่เกิดในสังสารวัฏ  ภัยในที่นี้หมายถึง  ความทุกข์ที่จะบีบคั้นให้เจ็บปวด  ทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ  อันเนื่องมาจากการเกิดในภพชาติที่ต่ำ

ในวันนี้  อาตมาตั้งใจจะเล่าเรื่องสังสารวัฏ  หรือการเวียนว่ายตายเกิดตามคติทางพระพุทธศาสนาให้โยมฟัง  อย่างน้อยก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจคำสอนพระพุทธศาสนาในอีกแง่มุมหนึ่งมากขึ้น

ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงภพภูมิต่างๆ ไว้  มีสาระควรทำความเข้าใจ ดังนี้

(๑) ภพภูมิชั้นต่ำ คือ ภพภูมิของผู้ที่เกิดในโลกของสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกายและสัตว์นรกทั้งหลาย ภพภูมิเหล่านี้ ท่านจัดเป็นภพภูมิชั้นต่ำ

ภพภูมิชั้นนี้ได้ชื่อว่า “ภพภูมิชั้นต่ำ” ก็เพราะว่าสัตว์ที่เกิดในภพภูมิเหล่านี้มืดบอด ไม่ มีปัญญา  ฆ่ากันกิน  ก็ไม่รู้ว่าโหดร้าย  ไม่สามารถใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต  ไม่มีโอกาสในการสร้างกุศล เพราะภพชาติของสัตว์ปกปิดไว้  ซึ่งก็เป็นผลมาจากแรงกรรม  ทำให้เป็นอย่างนั้น เช่น

สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายดำเนินชีวิตตามความรู้สึก คือ รู้สึกหิวก็กิน ไม่ได้กินก็ยื้อแย่ง  ไม่ มีให้แย่งก็อด  ใคร่ก็เสพ  โกรธก็ดุร้าย  ไม่มีการยับยั้ง  ไม่มีความอดทน  ไม่มีเมตตา  ส่วนสัตว์ จำพวกเปรตนั้น  อยู่ได้ด้วยความหิวกระหาย  ทุกข์ทรมาน  อสูรกายอยู่ได้ด้วยความดุร้าย  สัตว์ นรกอยู่ได้ด้วยความทุกขเวทนา เจ็บปวดแสนสาหัส  แตกต่างจากคนอยู่ได้ด้วยอาหาร  เทพอยู่ ได้ด้วยโอชทิพย์  พรหมอยู่ได้ด้วยปีติจากฌาน

ปัญญาที่จะมาพิจารณาให้เห็นว่า “ควรทำความดีอย่างนี้ๆ เพื่อจะได้ละภาวะความเป็นสัตว์เดรัจฉาน” ไม่มีในสัตว์เดรัจฉานทุกจำพวก  ยิ่งเกิดเป็นสัตว์หลายภพหลายชาติสัญชาตญาณสัตว์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น  จนความรู้สึกนึกคิดกลายเป็นสัตว์นั้นๆ อย่างสมบูรณ์

สัญชาตญาณดังกล่าวคือ สัญญา  ความจำได้หมายรู้ภาวะของสัตว์ แล้วเกิดการยึดมั่นตนเองว่าเป็นสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ จนไม่มีความสามารถที่จะคิดเป็นอย่างอื่น  เพราะชาติของสัตว์เดรัจฉานได้ปกปิดไว้

(๒) ภพภูมิชั้นกลาง คือ ภพภูมิของผู้ที่เกิดในโลกมนุษย์ และเทวดาที่อยู่ในสวรรค์ชั้นภพภูมิต่างๆ ของสัตว์เหล่านี้ จัดเป็นภพภูมิชั้นกลาง

ภพภูมิชั้นนี้ได้ชื่อว่า  “ภพภูมิชั้นกลาง” เพราะผู้ที่เกิดในภพภูมิชั้นนี้สามารถใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตได้ สามารถพัฒนาจิตของตนให้สูงขึ้นด้วยการให้ทานรักษาศีล เจริญสมาธิ ภาวนา  และด้วยปัญญาอันเกิดจากสัมมาทิฏฐิ  แต่หากประมาทไม่อาจรักษาระดับจิตของตนให้อยู่ในศีลทานก็อาจตกลงไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำกว่าเดิมได้เช่นกัน  ถึงจะเป็นภพภูมิชั้นกลางที่ดีกว่าโลกของสัตว์ แต่มนุษย์นั้นก็ยังมีมนุษย์ชั้นต่ำ  มนุษย์ชั้นกลาง  และ มนุษย์ชั้นสูงเช่นกัน

มนุษย์ชั้นต่ำนั้น  ได้แก่  คนที่เกิดมาร่างกายไม่สมประกอบ พิกลพิการ แถมยังจิตใจหยาบ หรือร่างกายสมประกอบ แต่จิตใจหยาบกระด้าง ก้าวร้าวรุนแรง โหดร้ายทารุณ  ส่วนมนุษย์ชั้นสูงก็งามทั้งร่างกายและจิตใจ  จะทำจะพูดจะคิดล้วนอ่อนโยนงดงามมีเมตตา

แม้เทพก็มีความแตกต่างเช่นกัน  มีทั้งเทพชั้นสูง  เทพชั้นกลาง และเทพชั้นต่ำ ตามแต่บุญกรรมของแต่ละคนแต่ละท่านที่ทำมาไม่เหมือนกัน แต่โดยรวมภพภูมิชั้นนี้ก็ยังนับว่าดี เพราะโอกาสในการสร้างบุญกุศลบำเพ็ญบารมีมากกว่าผู้ที่เกิดในภพภูมิชั้นต่ำ  ซึ่งไม่มีสติปัญญาสามารถตัดสินว่า อะไรควร ไม่ควร ถูกหรือผิด

(๓) ภพภูมิชั้นสูง คือ ภพภูมิของผู้ที่เกิดในพรหมโลกชั้นต่างๆ ภพภูมิของพรหมโลกจัดเป็นภพภูมิชั้นสูง

ภพภูมิชั้นนี้ได้ชื่อว่า “ภพภูมิชั้นสูง” ก็เพราะเป็นภพภูมิที่ละเอียดประณีตมากกว่าภพภูมิชั้นกลางทั้งกายและจิต อันเป็นผลมาจากจิตที่ละเอียดประณีต  จิตที่ละเอียดประณีตนี้  มาจากการฝึกสมาธิจนได้ฌาน 

ผู้ที่จะเกิดในภพภูมินี้  ไม่ใช่ภพภูมิของผู้ที่ทำความดีในระดับให้ ทานรักษาศีลเท่านั้น  แต่เป็นภพภูมิของผู้ที่บำเพ็ญจิต ฝึกสมาธิภาวนาจนได้ขั้นฌาน  หากฌานไม่เสื่อม  ภายหลังจากตายไปก็จะไปเกิดเป็นพรหม

(โปรดติดตามตอนต่อไป) ความแตกต่างระหว่างภพภูมิ

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๑) “ภพภูมิและการเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here