วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๒
“สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ปุญฺญานิ”
คำว่าบุญ เป็นชื่อของความสุข
จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๙)
“พรหมโลก โลกของผู้เข้าถึงความเป็นหมู่พรหม”
: จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
“พรหมโลก โลกของผู้เข้าถึงความเป็นหมู่พรหม”
สวรรค์ตามที่กล่าวมานั้นมีทั้งหมด ๖ ชั้น สูงขึ้นไปกว่านั้นเป็นพรหมโลก
พรหมโลกนั้นมีทั้งหมด ๒๐ ชั้น แบ่งเป็นพรหมที่มีรูปร่าง เรียกว่า “รูปพรหม”๑๖ ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูปร่าง เรียกว่า “ อรูปพรหม” อีก ๔ ชั้น รวมเป็นพรหมโลก ๒๐ ชั้น ผู้ที่จะไปเกิดในพรหมโลกแต่ละชั้น ต้องทำสมาธิจนได้ บรรลุฌาน ๔ ขั้นเท่านั้น คือ
“มองลงมา” ภาพวาดประกอบโดย มนสิกุล วันพระ วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๒
(๑) ปฐมฌาน ฌานขั้นที่หนึ่ง
(๒) ทุติยฌาน ฌานขั้นที่สอง
(๓) ตติยฌาน ฌานขั้นที่สาม
(๔) จตุตถฌาน ฌานขั้นที่สี่
ฌานทั้ง ๔ ขั้น ต่ำสูงตามความละเอียดประณีตของฌานที่ได้บรรลุเกี่ยวกับฌานเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียด เพราะเกี่ยวกับสมาธิโดยตรง อาตมาตั้งใจจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก
ในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกพรหมโลกชั้นต่างๆ ตามระดับจิตที่ได้ บรรลุฌานไว้ ดังนี้
ปฐมฌาน ฌานขั้นที่ ๑ ผู้ที่ได้บรรลุฌานขั้นที่หนึ่ง แต่มีกำลังฌานอ่อนไม่แก่กล้า หากฌานยังไม่เสื่อม เมื่อตายจะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นแรก ชื่อว่า พรหมปาริสัชชา พรหมโลกชั้นนี้มีภพภูมิที่ละเอียด ประณีตสูงกว่าสวรรค์ ๖ ชั้น มีอายุยืนนับได้หนึ่งในสามของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
อายุของสวรรค์ตลอดจนพรหมโลกแต่ละชั้นจะกล่าวเป็นการเฉพาะข้างหน้า
ผู้ที่ได้บรรลุปฐมฌาน ที่มีกำลังฌานปานกลาง เมื่อตายจะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้น พรหมปุโรหิต พรหมโลกชั้นนี้ ประเสริฐกว่าพรหมชั้นแรก รูปร่างใหญ่และประณีตกว่า อายุของพรหมชั้นนี้ก็ยาวนานกว่าพรหมชั้นแรก นับได้ ๓๒ อันตรกัป
ผู้ที่ได้บรรลุปฐมฌานระดับปณีตฌาน คือได้บรรลุปฐมฌานที่มีกำลังแก่กล้า เมื่อตายจะไปบังเกิดบนพรหมโลกชั้นมหาพรหม ซึ่งประเสริฐกว่าพรหมทั้งสอง พรหมชั้นนี้มีอายุนานนับได้ ๑ มหากัป
สำหรับพรหมโลกชั้นพรหมปาริสัชชา พรหมโลกชั้นพรหมปุโรหิต และพรหมโลกชั้นมหาพรหม ทั้ง ๓ ชั้นนี้ อยู่ในระดับเดียวกัน แต่มีความละเอียดประณีตแตกต่างกัน ตามความละเอียดประณีตของจิต ที่เกิดจากกำลังฌาน
ทุติยฌาน ฌานขั้นที่ ๒ ผู้ที่ได้บรรลุทุติยฌาน มีกำลังฌานอ่อน เมื่อตายไปแล้วจะไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลกชั้นปริตตาภูมิ ซึ่งประเสริฐกว่าพรหมทั้งสามชั้นขึ้นไปอีก พรหมชั้นนี้มีอายุ ๒ มหากัป
ผู้ที่ได้บรรลุทุติยฌานขั้นมัชฌิมทุติยฌาน มีกำลังฌานปานกลาง เมื่อตายไปแล้ว จะไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลกชั้นอัปปมาณาภาภูมิ พรหมโลกชั้นนี้นับว่าประณีตขึ้นไปอีก มีรัศมีมากมายมหาศาล พรหมชั้นนี้มีอายุถึง ๔ มหากัป
ผู้ที่บรรลุทุติยฌานขั้นปณีตทุติยฌาน มีกำลังฌานแก่กล้า เมื่อตายไปแล้วจะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้น อาภัสสระ ซึ่งประเสริฐกว่าพรหมทั้ง ๔ ชั้น คือ มีประกายรุ่งเรืองโรจน์รุ่งพุ่งเปล่งออกดังสายฟ้าแลบ อายุของพรหมชั้นนี้มีถึง ๘ มหากัป
ตติยฌาน ฌานขั้น ๓ ผู้ที่ได้บรรลุตติยฌานมีกำลังฌานอ่อน เมื่อตายไปแล้วจะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นปริตตสุภาพรหม ชั้นนี้แม้จะมีความสง่างามแห่งรัศมีน้อยหน่อยแต่ก็ยังสูงกว่าพรหมทั้ง ๖ นั้น พรหมชั้นนี้มีอายุยืนถึง ๑๖ มหากัป
ผู้ที่ได้บรรลุตติยฌาน มีกำลังปานกลาง เมื่อตายไปแล้ว จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอัปปมาณสุภาภูมิ พรหมชั้นนี้มีความสง่างาม มีรัศมีอันหาประมาณมิได้ อายุของพรหมชั้นนี้มีถึง ๓๒ มหากัป ผู้ที่ได้บรรลุตติยฌานชั้นปณีตตติยฌาน มีกำลังฌานแก่กล้า เมื่อตายไปแล้วจะไปเสวยสุขอยู่บนพรหมโลกชั้น สุภกิณหาภูมิ พรหมชั้นนี้มีความรุ่งเรืองสง่างามแห่งรัศมีสลับซับซ้อนตลอดไปทั่วร่างกาย พรหมชั้นนี้มีอายุยืนถึง ๖๔ มหากัป
จตุตถฌาน ฌานขั้นที่ ๔ ส่วนผู้ที่ได้บรรลุจตุตถฌาน เมื่อตายไปแล้ว จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาภูมิ พรหมชั้นนี้สมบูรณ์บริบูรณ์กว่าพรหมทั้ง ๙ ชั้น ไม่ต้องถูกทำลายหรือเกิดอันตรายจากไฟบ้าง น้ำบ้าง ลมบ้าง พอถึงเวลาจะถูกทำลาย ก็ต้องโดนทำลายไปตามกาลเวลา แต่พรหม ชั้นนี้พ้นจากอันตรายเหล่านี้ ไม่ต้องถูกทำลาย เพราะบุญเดิมเต็มเปี่ยม พรหมชั้นนี้มีอายุยืนถึง ๕๐๐ มหากัป
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ฉบับธรรมทาน : คณะสาธยายพระไตรปิฎก โดยคุณรุ่งนภา ปัญญาวรากร คุณวิไล พชรโชค และญาติธรรม พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ อนันตะ