โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า)

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่

ฉบับที่ ๓

ท้ายพรรษา ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓

ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง

(ตอนที่ ๑ )

“ไตรลักษณ์” สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยงแท้คงทน

จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ

เจริญพรโยมแม่ใหญ่

จดหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่สามแล้ว  ที่อาตมาเขียนถึงโยมแม่ใหญ่  การขึ้นต้นจดหมายฉบับนี้ก็แปลกไปจากฉบับก่อนๆ เพราะขาดโยมพ่อใหญ่ไปคนหนึ่ง  และคงไม่มีโยมพ่อใหญ่ให้เขียนถึงอีกตลอดไป

วันนี้ อาตมาได้รู้แล้วว่า การจากไปของโยมพ่อใหญ่อย่างไม่มีวันกลับ  ได้ตอกย้ำถึงความเป็นจริงตามคำสอน เรื่องไตรลักษณ์ของพระพุทธเจ้

“สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยงแท้คงทน  เป็นทุกข์  ไม่มีตัวตนที่แท้จริง  ไม่อยู่ได้ ตลอดกาล ตั้งอยู่ชั่วกาลนิดหน่อย  เหมือนน้ำค้างบนใบหญ้า เหมือนเปลวแดด เหมือนฟองน้ำ”

แต่อย่างไร  อาตมาก็ถือว่าเป็นวาสนาที่ยังมีโยมแม่ใหญ่ให้เขียนถึงอยู่ อีกคน  ด้วยตระหนักว่า การที่ลูกหลานเกิดมาแล้ว มีโอกาสได้ทันพบทันเห็นปู่ ย่าตายายนั้น นับว่าเป็นบุญวาสนาอย่างหนึ่ง เพราะคนโดยส่วนมากไม่มีโอกาสได้ทันพบทันเห็น  ชีวิตคนนั้นสั้นนัก  สั้นจนปู่ย่าตายายโดยส่วนมากมิทันได้เห็นหลานๆ หรือเห็นก็มิทันที่หลานเจริญเติบโต  ถ้าทันพบทันเห็นแล้ว มีโอกาสได้ทำบุญทำกุศลร่วมกัน  ก็นับว่าเป็นก็โชควาสนามาก เพราะเรามีโอกาสได้ปลดหนี้บุญคุณท่าน

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

อาตมาเขียนจดหมายฉบับนี้  ก็ด้วยระลึกถึงเรื่องที่โยมแม่ใหญ่เคยถามอยู่เสมอ  ถึงเรื่องการบวชและอานิสงส์ของการบวชว่า 

“ถ้าลูกชายไม่ได้บวชเป็นพระ แต่หลานบวชจะได้อานิสงส์บ้างไหม”

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) กับ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) กับ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร

 อาตมารู้สึกใสซื่อบริสุทธิ์กับคำถามของโยม  นี่หากโยมพ่อใหญ่ยังมีชีวิตอยู่  ก็คงจะตำหนิที่โยมแม่ ใหญ่ถามอาตมาเช่นนี้ แล้วก็คงเห็นรอยยิ้มจากใบหน้าโยมแม่ใหญ่  ตามที่เคยเห็นจนชินตา

แต่รอยยิ้มนี้  ก็ทำให้อาตมาอบอุ่นใจอย่างประหลาดใจ มาตั้งแต่เยาว์ วัย

แท้จริงแล้ว ลูกหรือหลานบวชก็ได้อานิสงส์เหมือนกัน เพราะแม้เลือดเนื้อและชีวิตของหลานๆ  ผู้บวชจะได้มาจากพ่อแม่  แต่เลือดเนื้อของพ่อแม่ก็มาจากปู่ ย่า ตา ยาย เช่นกัน  พ่อแม่ได้อานิสงส์  ปู่ย่าตายายก็ต้องได้ด้วย

อย่าว่าแต่ปู่ ย า ตา ยาย เลยที่ได้อานิสงส์จากการบวช แม้ญาติๆ คนอื่นๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน  ขึ้นอยู่กับจิตและการขวนขวายในการทำบุญของคนนั้นๆ ด้วยตามที่เคยกล่าวไว้แล้วในจดหมายฉบับก่อน

แท้จริง  มิใช่พอลูกหลานบวชแล้วจะได้บุญเลยทีเดียว ต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของเราด้วย คือการทำจิตให้เป็นบุญ เป็นกุศล ให้น้อมไปในสิ่งที่กำลังทำ

ในขณะที่ลูกหลานบวชเป็นพระภิกษุอยู่  ก็ปรารภเอาการที่ลูกหลานของเราได้บวช  เป็นโอกาสในการทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ปรารภเอาผ้าเหลืองลูกหลานเป็นตราประทับในจิต แล้วรื่นเริงเบิกบาน(อนุโมทนา) ในการบวชนั้น  บุญอยู่ตรงนี้  มิใช่อยู่ที่การบวชของลูกหลาน เพราะลูกหลานบวช เขาก็ได้บุญส่วนตัวของเขาเอง  ส่วนเราผู้เป็นปู่ ย่า ตา ยาย ก็ต้องปรารภการที่ลูกหลานบวช  ได้มีโอกาสทำบุญเป็นพิเศษจึงเป็นบุญกุศลของเรา

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนมากขึ้น  เมื่อลูกหลานเราบวช แต่เราไม่ได้ใส่ ใจ  รู้สึกเฉยๆ  ไม่รับรู้สิ่งใดทั้งนั้น  อย่างนี้ลูกหลานเราบวช ก็ไม่ต่างจากลูกหลานคนอื่นบวช

         แล้วอานิสงส์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

บางคน เมื่อลูกหลานบวชแทนที่จะได้บุญ กลับได้บาป เพราะอาศัยการที่ลูกหลานบวช เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์จากพระศาสนา หรือยุแยงพระสงฆ์ให้เกิดความวุ่นวายสับสน  ก็ได้บาป คิดอยู่ว่า อันนี้ก็ของพระลูกชายฉัน อันนั้นก็ของพระหลานชายฉัน ลูกฉัน หลานฉันจะต้องได้อย่างนั้นจะต้องได้อย่างนี้ จุ้นจ้านวุ่นวายไปหมด บางคนก็คอยจับผิดพระสงฆ์ สามเณรว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างก็ยิ่งนี้ไปกันใหญ่  ข้อนี้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยายไม่ได้บุญจากการบวชของลูกหลาน แต่ได้บาป เพราะมาทำบุญแทนที่จะปรารภบุญกลับปรารภบาป  มาวัดเพื่อแสวงหาความเบิกบานผ่องใสแห่งจิต กลับปรารภความเศร้าหมองแห่งจิต

ความจริง ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้ว  แต่ยังไม่มีโอกาสเหมาะ มีหลายสิ่งหลายอย่างคั่งค้างอยู่จนล่วงเลยมาถึงบัดนี้

ที่เขียนเกี่ยวกับการบวช เพราะอยากให้โยมแม่ใหญ่รู้  และเกิดความเข้าใจ ตลอดจนมีท่าทีที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบวช  ถ้ารู้และเข้าใจเรื่องการบวชอย่างถูกต้องแล้วจะปฏิบัติต่อการบวชได้อย่างเป็นบุญเป็นกุศล

แต่ถึงอย่างไร  อาตมาก็เขียนจดหมายฉบับนี้  ต่อเนื่องมาจากความกตัญญูในฉบับที่แล้ว  เพราะแม้จะเขียนเรื่องการบวช  แต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับความกตัญญูอยู่ไม่น้อย  เนื่องจากผู้บวชมักปรารภความกตัญญูต่อพ่อแม่ และผู้มีพระคุณเป็นที่ตั้ง  และหาเวลาบวชระยะหนึ่ง  โดยมีเจตนาอันงดงามว่าจะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ผู้มีพระคุณ

แม้จะมีด้วยเหตุผลอื่นบ้าน เช่น  ล้างซวย แก้บน พักผ่อน  สงบจิตใจฯลฯ บ้างก็ตาม  แต่ก็ไม่ได้ทำให้จุดประสงค์การบวชคลาดเคลื่อนไปเสียทีเดียว

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า  พ่อแม่เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกๆ  เพราะเป็นผู้ให้ลูกเกิด และเป็นผู้สร้างบุญแก่ลูกก่อน  

แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ขออธิบายถึงเรื่องการบรรพชาอุปสมบทก่อน

(โปรดติดตามตอนต่อไป…)

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๓ (ตอนที่ ๑ ) “ไตรลักษณ์” สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยงแท้คงทน : จาก ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here