ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ ทำความดี-ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒

(ตอนที่ ๒)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน"
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”(ภาพในอดีต)

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง 

คราวที่แล้วอธิบายเรื่อง ศีล ๕ เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์ เมื่อมนุษย์เริ่มบังคับตนให้รักษาศีล ๕ ได้แล้ว คุณธรรมขั้นสูงอื่นๆ ก็จะตามมา ในขณะเดียวกัน ทางมาแห่งบาปกรรมอื่นๆ ก็จะเบาบางลงด้วย ผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาติต่อไป จึงต้องรักษาจิตใจให้มีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ข้อที่ ๑

ครั้งนี้จะอธิบายเรื่องคุณธรรมพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ข้อที่ ๒

โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)

ทำความดี

คุณธรรมพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ข้อที่ ๒ คือ พยายามทำความดีให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในจิตใจ ซึ่งก็ได้แก่ การทำบุญให้ทาน บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อสังคม ไม่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว การให้ทาน ก็คือ การสงเคราะห์ผู้อื่นและสัตว์อื่นด้วยวัตถุสิ่งของ เรียกว่า “อามิสทาน” นับตั้งแต่ ญาติพี่น้อง พวกพ้อง สมณะพราหมณ์ผูทรงศีล และสัตว์เดรัจฉาน ตลอดจนภูตผีปีศาจ ดวงวิญญาณทั้งหลายตามโอกาสและเหมาะสมแก่ฐานะของคน นั้นๆ

นอกจากนั้น  ยังมีทานอีกอย่างหนึ่งคือ การให้ธรรมะเป็นทาน ซึ่งก็รวมถึงการให้หนังสือ  สื่อธรรมะต่างๆ ตลอดจนการแนะนำ สั่งสอนให้ผู้อื่นคิดดี ทำดี ให้ เขาสามารถครองชีวิตอยู่ได้ด้วยความดีงาม เป็นการสงเคราะห์โดยธรรมเรียกว่า “ธรรมทาน” เป็นการให้ปัญญาแก่เขาได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและมีคุณค่า

โดยที่สุด  แม้การให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้อื่น  ก็จัดเข้าในธรรมทานเช่นกันเพราะถือว่าเป็นการให้ปัญญา ทำให้เขาได้รู้ว่า  อะไรคือความถูกผิด  และเลือกทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามด้วยตัวเขาเอง

การให้ธรรมเป็นทานนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ชนะการให้ทั้งปวง 

สัพพะทานังธัมมะทานัง ชินาติ แปลว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง คือ ไม่มีการให้ใดจะประเสริฐเท่าให้ธรรมะ

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส

คุณธรรมพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ข้อที่ ๓  คือ หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ชำระจิตใจให้ผ่องใส  ด้วยการเจริญสมาธิวิปัสสนา  หรือฝึกกัมมัฏฐาน เพื่อขจัดกิเลส  คือ ความเศร้าหมองจิตไม่ให้เป็นคนหลงมัวเมา ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่าย อึดอัด ขัดข้อง คับแค้น สับสน หม่นหมอง ว้าวุ่น ฝึกใจให้เกิดความ แกล้วกล้า มั่นคง สว่าง สะอาด ผ่องใส

สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการทำสมาธิ  ไม่จำเป็นต้องบริกรรมตามรูปแบบที่ครูบาอาจารย์กำหนดไว้ก็ได้ อาจนั่งนึกถึงพระพุทธรูปในวัดที่เคยไปทำบุญหรือพระพุทธรูปในห้องพระที่บ้าน ตลอดจนความยิ่งใหญ่อันน่าอัศจรรย์ต่างๆ ของพระพุทธเจ้าที่เคยได้ยินได้ฟัง   หรือได้ประสบมาด้วยตนเอง  เรียกว่า “พุทธานุสสติ” หรือแม้คนที่ดูพระเครื่องด้วยความสุขใจ เอิบอิ่มใจ ก็เป็นพุทธานุสสติได้เช่นกัน  ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

นึกถึงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เราคุ้นเคย หรือที่ได้อนุเคราะห์เพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก ด้วยเมตตาธรรม ที่เรากราบไหว้ สักการบูชา เรียกว่า “สังฆานุสสติ”

นึกถึงทาน หรือบุญกุศลที่เคยทำมา นึกถึงการตักบาตร กรวดน้ำ ขุดน้ำบ่อก่อศาลา  สร้างสาธารณประโยชน์อื่นๆ  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  จะน้อยหรือมากก็ตาม เรียกว่า  “จาคานุสสติ

นึกถึงศีลที่ตนสมาทานรักษาว่า  บริสุทธิ์หรือไม่อย่างไร เรียกว่า  “สีลานุสสติ”

เมื่อคุ้นเคยและมีความพร้อมแล้ว  ภาษาพระ เรียกว่า “มีอินทรีย์แก่กล้านั่นแหละ”  จึงค่อยทำตามรูปแบบที่ครูบาอาจารย์สอนตามจริตที่ตนชอบใจปฏิบัติตามแนวไหนสำนักใดแล้วเกิดความเบาสบายเป็นสัปปายะ ก็ถือว่า การปฏิบัติสมาธิแนวนั้น ถูกกับจริต ถูกกับอุปนิสัยของตน

คำว่า “บริกรรม”  หมายถึง ภาวนา หรือท่องคำนั้นๆ ในใจกลับไปกลับมา  เพื่อผูกจิตไม่ให้จิตคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้  ครูบาอาจารย์ได้คิดรูปแบบคำบริกรรมไว้หลายอย่าง  แบบสมัยโบราณที่พระอุปัชฌาย์ใช้สอนนาคที่จะบวชเป็นพระภิกษุ  ซึ่งยังใช้เป็นคำบริกรรมในปัจจุบัน เช่น

เกสา  โลมา  นะขา  ทันตา  ตะโจ

ผมทั้งหลาย ขนทั้งหลาย เล็บทั้งหลาย ฟันทั้งหลาย หนังทั้งหลาย

ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา

หนังทั้งหลาย ฟันทั้งหลาย เล็บทั้งหลาย ขนทั้งหลาย ผมทั้งหลาย

นอกจากนี้  ยังมีแบบกำหนดลมหายใจ คือ เอาความรู้สึกไปตามดูลมหายใจเรียกว่า  “อานาปานสติ”  เมื่อหายใจเข้า ก็รู้สึกว่าลมหายใจผ่านเข้าไปในโพรงจมูก  ผ่านหน้าอกจนถึงท้องที่กำลังพองขึ้น  เมื่อหายใจออก  ก็ให้นึกตามลมหายใจที่กำลังออกมาจากท้อง ผ่านหน้าอก แล้วไหลรินผ่านโพรงจมูก  เมื่อหายใจเข้า ต้นลมอยู่ที่ปลายจมูก กลางลมอยู่ที่หน้าอก ปลายลมอยู่ที่ท้อง  เมื่อหายใจออก ต้นลมอยู่ที่ท้อง  กลางลมอยู่ที่หน้าอก ปลายลมอยู่ที่จมูก

การทำสมาธิแบบอานาปานสติ  การมีสติกำหนดลมหายใจนี้  ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกำหนดให้เห็นลมที่อยู่ระหว่างปลายจมูก อก และท้อง เพราะถ้าเรามัวกังวลอยู่อย่างนั้นจะทำให้อึดอัด กำหนดอะไรไม่ได้ แต่ให้รู้ ตามอาการของลมที่สัมพันธ์อยู่กับท้องที่พองขึ้นจนแน่น และหยุดตั้งอยู่ ขณะหนึ่งก่อนที่จะหายใจออก  เป็นจังหวะของลมหายใจตามธรรมชาติ

หรือแบบที่คิดขึ้นใหม่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  เช่น พุทโธ , พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมา อะระหัง, เพ่งลูกแก้ว, เพ่งเปลวเทียน, เพ่งธูป ฯลฯ แตกต่างกันไปตามสำนักนั้นๆ

การปฏิบัติสมาธิทุกรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน  สำนักใด ก็มีเป้าหมายเพื่อเป็นอุบายให้จิตเข้าถึงความสงบ  หรือให้จิตเป็นสมาธินั่นเอง  แต่ถึงอย่างนั้นก็จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกสำนักปฏิบัติ  เพราะมีการนำผลที่เกิดจากสมาธิไปหลอกลวงชาวบ้าน  เพื่อหวังผลลาภสักการะ ชื่อเสียง  เกียรติยศ และการยกยอปอปั้นมาก

ขอย้ำว่า เพื่อให้จิตเข้าถึงความสงบ หรือเป็นสมาธิเท่านั้น  มิใช่เพื่อให้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นนั่นเป็นนี่ หรือได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นรูปนั้นรูปนี้  ซึ่งมิใช่เป้าหมายของสมาธิ

 ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสมาธิเป็นมายาของจิต  มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป เสมอกันทุกปรากฏการณ์  ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ให้น้อมเข้ามาสู่หลักไตรลักษณ์  คือน้อมเข้ามาสู่ตน เป็นโอปนยิโก

อย่ายึดถือจนกลายเป็นแบกสมาธิเมื่อจะปรากฏมันก็ต้องปรากฏ  เราจะห้ามว่า “อย่าปรากฏเลย” ไม่ได้ และเมื่อจะหายไป มันก็ต้องหาย เราจะเรียกร้องว่า “อย่าหายไปเลย” ไม่ได้ สิ่งที่ ปรากฏอาจเป็นจริงก็ได้ ไม่เป็นจริงก็ได้ แต่ถึงจะเป็นจริงก็ไม่พ้นกฎไตรลักษณ์  คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ฐานะของสมาธิในพระพุทธศาสนา คือ เครื่องมือฝึกหัด ขัดเกลาจิต จึงควรหมั่นเจริญสมาธิภาวนารักษาจิตใจให้ผ่องใส

สาระสำคัญของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เรานับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็มีแต่เพียงเท่านี้ หากโยมทั้งสองทำได้  ดังกล่าวนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการสร้างสมบัติที่แท้จริงของมนุษย์

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒ (ตอนที่ ๒) “ทำความดี-ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส” จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here