ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”
เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“ สุวรรณสามตำนานคนกตัญญู”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ (ฉบับที่ ๒)

(ตอนจบ)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

จดหมายธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ

ให้เกิดความรัก ความศรัทธาแห่งความกตัญญู

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เจริญพร โยมพ่อใหญ่ -โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง

คราวที่แล้ว เล่าถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  พระองค์มิได้เพียงสอนให้คนมีความกตัญญูอย่างเดียว แต่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติคุณธรรมข้อนี้ ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายาอย่างที่ไม่เคยแสดงแก่ใครมาก่อน ด้วยการเสด็จไปจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงแสดงพระอภิธรรมซึ่งถือว่าเป็นปรมัตถธรรมคือ ธรรมอันสูงสุด  มีข้อความลึกซึ้งแก่พระนางสิริมหามายาเพื่อทดแทนคำข้าว ป้อนน้ำนม ที่พระพุทธมารดาได้ทรงให้กำเนิดและเลี้ยงดูพระองค์มา  พระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนา สามารถโปรดพระพุทธมารดาให้สำเร็จโสดาปัตติผล

คุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวทีที่กล่าวมานี้  จัดว่าเป็นคุณธรรมสำคัญของมนุษย์ เป็นเครื่องหมายเชิดชูมนุษย์ให้เป็นคนดี ผู้ใดมีความกตัญญูกตเวที ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าไม่ตกต่ำ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป  และผลของความกตัญญูกตเวทีนี้ยังเป็นอานุภาพปกป้องคุ้มครองเขาให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ได้

ผู้ที่ได้รับอานุภาพแห่งความกตัญญูกตเวทีคุ้มครองป้องกัน มีตัวอย่างมาก  จะขอแสดงตัวอย่างเพียง “สุวรรณสาม” คนเดียว  ซึ่งมีปรากฏอยู่ในชาดกที่พระพุทธองค์ ได้ตรัสเล่าไว้จะขอนำมาเล่าให้โยมทั้งสองฟัง

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม  (คุณย่า)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า)

สุวรรณสามตำนานคนกตัญญู

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า สุวรรณสามเป็นผู้มีความกตัญญูเลี้ยงดูมารดาบิดาตาบอดซึ่งบำเพ็ญศีลพรตอยู่ในป่า  สุวรรณสามมีหน้าที่ในการแสวงหาผลไม้ เผือกมันในป่า และนำน้ำในลำธารมาเลี้ยงดูมารดาบิดา

วันหนึ่งขณะที่ลงไปตักน้ำในลำธารมีฝูงสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง เป็นต้น  เป็นเพื่อนติดตามแวดล้อมไป และเป็นเวลาเดียวกันกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ หนึ่ง พระนามว่า “พระเจ้ากบิลราช” เสด็จประพาสป่าเพื่อล่าสัตว์ ทรงทอดพระเนตรเห็นสุวรรณสามมีสัตว์ป่าแวดล้อมรักใคร่ติดตามมาเป็นอันมากก็ทรงมีจิตริษยาชายหนุ่มผู้นั้น จึงเอาลูกศรอาบยาพิษยิงสุวรรณสามล้มลง ฝูงสัตว์ป่าที่แวดล้อมสุวรรณสามเห็นชายหนุ่มถูกยิงล้มลงก็ตกใจแตกตื่น วิ่งหนีไปคนละทิศคนละทาง

สุวรรณสามรู้ตัวว่าถูกยิง สุดแสนจะเจ็บปวดเพราะพิษแผลลูกศรที่กำซาบด้วยยาพิษ  เห็นว่าตนคงต้องสิ้นชีวิตอย่างแน่นอนจึงร้องไห้คร่ำครวญออกมาด้วยความเป็นห่วงมารดาบิดาผู้ตาบอดว่า

“เราคงจะต้องตายในไม่ช้านี้แล้วชีวิตของเราถึงจะตายไป ก็ไม่เป็นห่วง แต่เราเป็นห่วงมารดาบิดาตาบอดของเรา เมื่อเราต้องมาตายลงเช่นนี้  ท่านทั้งสองจะต้องได้รับความทุกข์เดือดร้อนมาก เพราะไม่มีผู้ใดจะเลี้ยงดูในป่านี้”

ฝ่ายพระเจ้ากบิลราช เมื่อยิงสุวรรณสามด้วยลูกศรอาบยาพิษแล้ว ทรงสดับเสียงคร่ำครวญของชายหนุ่มที่ไม่ห่วงไยชีวิตตนเอง  ทั้งไม่ด่าทอคนที่ยิงตน กลับมีความห่วงไยมารดาบิดาผู้ตาบอดว่า หากขาดตนไปแล้ว  ท่านทั้งสองจะอยู่อย่างไร จึงทำให้พระองค์เศร้าสลดใจ  ทรงสำนึกผิดที่พระองค์ยิง สุวรรณสาม ชายหนุ่มชาวป่าผู้เป็นคนดี เลี้ยงมารดาบิดาของตนให้ได้รับบาดเจ็บจนจะสิ้นชีวิตเพราะความใจร้ายของพระองค์

พระองค์จึงเสด็จเข้าไปหาสุวรรณสาม  แล้วสารภาพว่า พระองค์ทรงทำบาปใหญ่หลวงที่ทำร้ายสุวรรณสามผู้เป็นคนดี พระองค์ทรงให้คำรับรองว่า หากสุวรรณสามต้องสิ้นชีวิตไป เพราะการกระทำของพระองค์  พระองค์จะรับภาระเลี้ยงมารดา บิดา ผู้ตาบอดของสุวรรณสามให้มีความสุขตลอดชีวิต

สุวรรณสามได้ฟังคำสารภาพผิดของพระเจ้ากบิลราชเช่นนั้นก็คลายความห่วงใย และขอฝากมารดาบิดาทั้งสองไว้  ถึงตนจะตายไปก็ถือว่าเป็นกรรมของตน จะไม่จองเวรกับพระราชาที่ทำร้ายตน ตนขออโหสิกรรมต่อพระราชา และขอพระราชาอโหสิกรรมแก่ตนด้วย พูดจบสุวรรณสามก็สลบไป

พระเจ้ากบิลราชก็รีบเสด็จไปหามารดาบิดาของสุวรรณสาม ทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ท่านทั้งสองทราบ  มารดาบิดาทราบเช่นนั้นก็ตกใจและเป็นห่วงสุวรรณสาม กราบทูลขอให้พระราชารีบนำไปยังริมลำธารที่สุวรรณสามนอนสลบอยู่  พระราชาก็ทรงจูงท่านทั้งสองรีบไปหาสุวรรณสาม  

มารดาบิดาได้นั่งอยู่ใกล้ร่างไร้สติของสุวรรณสาม  เอามือลูบคลำนวดเฟ้นร่างกายของลูกชายที่นอนสลบอยู่ แล้วตั้งใจอธิษฐาน ขออำนาจคุณความดีที่สุวรรณสามเป็นลูกกตัญญูได้ทำความดีเลี้ยงพ่อแม่ตลอดมา  ขอบุญกุศลทั้งปวงจงมารวมเป็นพลังทำลายพิษศรที่กำซาบอยู่ในร่างกายของสุวรรณสามให้คลายพิษลงและขอให้สุวรรณสามได้ฟื้นขึ้นมา

       นางเทพธิดาผู้เคยเป็นมารดาของสุวรรณสามในชาติก่อนๆ และสุวรรณสามก็เคยปฏิบัติเช่นนั้น ได้ยินแก่ตนดังนั้น จึงได้อธิษฐานเช่นนั้นบ้าง  ด้วยแรงอธิษฐานของมารดาทำให้ยาพิษที่บาดแผลในร่างของสุวรรณสามละลายไป และสุวรรณสามได้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตอยู่ตลอดไป ทำให้มารดาบิดาของสุวรรณสามและพระเจ้ากบิลราชมีความโสมนัสยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง

รื่องสุวรรณสามแสดงให้เห็นว่า สุวรรณสามถูกทำร้ายเกือบจะสิ้นชีวิตอยู่แล้ว แต่ด้ยอำนาจคุณความดี คือกตัญญูกตเวทีที่สุวรรณสามได้ปฏิบัติเลี้ยงดูมารดาบิดาตลอดมาเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่มีพลานุภาพทำลายยาพิษช่วยให้สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาได้

คนเราแม้จะมีความรู้สูงส่งแค่ไหน ร่ำเรียนจนจบได้เกียรตินิยมจากสถานบันมีชื่อเสียงเป็นดอกเตอร์  เป็นศาสตราจารย์ มีฐานะครอบครัวดีมียศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง และมีหน้ามีตาในสังคม แต่หากใจยังขาดความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเสียอย่างเดียวเท่านั้นก็เป็นคนมีเสนียดในตัวเอง ไม่น่านับถือ  ไม่น่าไว้วางใจในการคบค้าสมาคม

ส่วนคนกตัญญู อยู่ที่ไหนก็เจริญที่นั่น ไปที่ไหนก็เป็นสุขที่นั่นลูกกตัญญูพ่อแม่ก็ปลื้มใจ  ศิษย์กตัญญูครูบาอาจารย์ก็ปิติ ประชาชนพลเมืองมีความกตัญญูต่อแผ่นดิน  ไม่สร้างความวุ่นให้เกิดแก่แผ่นดิน บ้านเมืองก็สงบสุข

คนกตัญญู ไม่ว่าจะอยู่ในชาติไหนภพไหน ไม่ว่าโลกนี้หรือโลกหน้าก็อยู่ เพื่อสร้างคุณความดี และใครได้คนมีความกตัญูญูกตเวทีเป็นสามี เป็นบุตร เป็นภรรยา หรือเป็นเพื่อน  เขาย่อมเกิดความเบาใจได้ และถือได้ว่ามีคนดี เป็นกัลยาณมิตร ชีวิตย่อมมีแต่ความสุขใจ

กัลยาณมิตรนั้นนอกจากเขาจะดีในตัวเขาเองแล้ว  ยังแนะนำให้คนรอบข้างดีตามไปด้วย

พระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบกัลยาณมิตร หรือเพื่อนที่ดีไว้ว่า เปรียบเสมือนแสงเงินแสงทองของชีวิต  หมายความว่า กลางคืนก่อนที่จะสว่างเป็นกลางวัน สัญลักษณ์ของความสว่าง คือแสงเงินแสงทอง ถ้าแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้าก็เชื่อมั่นได้ว่าแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์กำลังจะมาเยือน เพื่อขับไล่ความมืดให้จางหายไป เหมือนชีวิตคนเราเมื่อมีคนดีเป็นเพื่อนก็เหมือนรุ่งอรุณแห่งความดีกำลังส่องสว่างในชีวิตและจิตใจเรา

การมีกัลยาณมิตร หรือคนดีเข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตจึงเปรียบเสมือนเป็นนิมิตหมายแห่งความสุขความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต

ผู้หวังความเจริญจึงควรสำรวจดูว่า มีกัลยาณมิตร คือคนกตัญญูเป็นเพื่อนหรือไม่ และตัวเราเองมีความกตัญญูอยู่มากน้อยเพียงไร  ถ้าบกพร่องก็ควรต่อเติมเพิ่มพูน ถ้ามีอยู่แล้วก็ควรรักษาความดีไว้ พร้อมทั้งให้เจริญงอกงามไพบูลย์มากขึ้นโดยลำดับ แล้วเราจะประสบกับความเจริญตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร

เนื่องจากในวันมาฆบูชานี้ โดยชีวิตของความเป็นพระภิกษุ เป็นพระภิกษุด้วยความรักที่จะเป็น  อาตมาไม่มีสิ่งของและทรัพย์สมบัติอื่นใด  จะฝากถึงโยมทั้งสองเหมือนลูกหลานคนอื่นๆ นอกจากของฝาก คือธรรมะของพระพุทธเจ้า 

ขอให้โยมทั้งสองอย่าได้ประมาทในชีวิต  วัยหนุ่มได้ล่วงเลยไปแล้ว  อายุยิ่งเหลือน้อยลง เวลาที่จะอยู่ในโลกนี้ก็สั้นเข้า  โอกาสที่จะทำบุญสร้างทรัพย์ที่แท้จริงให้กับตนเอง ก็ยิ่งเหลือน้อยลงทุกที

สังขารร่างกายไม่คงทนถาวร  อยู่กับเราได้ไม่นานเดี๋ยวมันก็เจ็บโน่นเดี๋ยวมันก็ปวดนี่  อีกหน่อยมันก็ไม่ยอมให้เราใช้  ร่างกายนี้เรายืมเขาใช้มานานแล้ว  บางทีอาจถึงเวลาที่เราจะต้องคืนให้กับเจ้าของเดิมแล้วก็เป็นได้ คืนธาตุดินให้กับดิน  คืนดินธาตุน้ำให้กับน้ำ  คืนธาตุลมให้กับลม  คืนธาตุไฟให้ กับไฟ

 ในขณะที่ร่างกายยังยอมให้เรายืมใช้ ให้ยึดมั่นในศีลในธรรมอันเป็นทรัพย์ที่แท้จริง

ให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างลงอย่างเข้าใจ

วันนี้อาตมาปรารภโยมทั้งสองกล่าวถึง เรื่อง ความกตัญญู เพื่อจะเป็นสื่อให้ลูกหลานได้ซึมซับธรรมในข้อนี้ให้เจริญงอกงามขึ้นในจิตใจ เป็นอุปนิสัยในธรรมที่ลึกซึ้งอื่นๆ ต่อไป

คืนนี้ดึกมากแล้ว ท้องฟ้าทั่วกรุงเทพมหานครส่องสว่างด้วยแสงจันทร์ คืนเพ็ญเดือนมาฆะ

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวัํโส  จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวัํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

เป็นอีกวันหนึ่งที่อาตมาระลึกถึงโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง ระลึกถึงอ้อมแขนที่แกร่งกร้านจากแดดฝน อบอุ่นด้วยเมตตาธรรม  นึกถึงความเอื้ออาทรของโยมทั้งสองที่อาตมายังไม่มีโอกาสตอบแทน

อาตมาจำได้ว่า ค่ำคืนเช่นนี้เมื่อวัยเด็ก  แสงจันทร์นวลใย สาดแสงอาบท้องทุ่ง  แมลงกลางคืนแผดเสียงจ้าระงม  ผืนน้ำแม่มูลคดเคี้ยวเหมือนงูยักษ์ต้องแสงจันทร์วาวระยิบ โยมแม่ใหญ่นำดอกไม้ที่อาตมาเก็บให้ไปบูชาพระ สวดพระบทสวดมนต์ไหว้พระแล้วว่านะโม ๓ จบ จนอาตมาจำได้ขึ้นใจมาตั้งแต่ยังเด็ก

อาตมาชอบนอนกับโยมทั้งสอง  ฟังเรื่องราวของกระต่ายกับดวงจันทร์ เรื่องราวของดาวลูกไก่ เรื่องราวของทางช้างเผือก เรื่องราวของเสือและการเดินทางของคนหาปลาฯลฯ บางครั้ง อาตมาเคยคิดว่า หากเป็นไปได้ อยากกลับไปสู่คืนวันเก่าๆ ไปมีชีวิตที่สงบเงียบเรียบง่ายอย่างวัยวันที่ผ่านมา  ไปฟังนิทานไม่รู้จบจากโยมทั้งสองอีกครั้ง

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวัํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

แต่วันเช่นนั้นก็ผ่านมาแล้ว กลายเป็นอารมณ์ของอดีต แม้อารมณ์ของอดีตพระพุทธเจ้าไม่ให้ใส่ใจ เพราะจะทำให้เป็นกังวล ขุ่นมัว เป็นปลิโพธจิต ไม่มุ่งต่ออารมณ์ปัจจุบัน คลาดเคลื่อนจากอารมณ์กัมมัฏฐาน  แต่อาตมาก็ มักจะคิดถึงวันเช่นนั้นอยู่บ่อยๆ 

ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มชราลงมากเช่นนี้  อยากมีเวลาได้พูดคุยธรรมะกับโยมทั้งสองให้มากๆ เพื่อจะได้ เป็นทรัพย์ที่แท้จริงในโลกหน้า ทรัพย์ คือไร่นาที่เหนื่อยยาก  สร้างไว้จนสายตัวแทบขาดในวัยหนุ่มนั้น  บัดนี้ไม่มีค่า  ไม่มีประโยชน์สำหรับคนแก่ คนที่มีกำลัง อันชราครอบงำแล้ว แม้แต่มือและเท้าของตัวเองก็แทบจะยกไม่ไหว ก็แล้วทรัพย์สมบัติจะมีประโยชน์อะไร  มันว่างเปล่า ว่างไร้จากสิ่งควรยึดถือ  ว่าเป็นสมบัติของเรา

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า )และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า )และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

โยมทั้งสองจึงควรแสวงหาทรัพย์ที่แท้จริง  อันเป็นทรัพย์ภายใน ซึ่งจะ ติดตัวเราตลอดไป

สุดท้าย ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ ปัญญา อันเกิดจากการที่ได้บรรพชา อุปสมบท ในพระพุทธศาสนา และที่เคยได้บำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตชาติ  ตลอดถึงชาติปัจจุบัน ขอให้โยมพ่อ ใหญ่ โยมแม่ใหญ่ มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรมเจ้า และมีพระสังฆอริยเจ้า  เป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่เสมอ  อย่าได้ประมาท ขอให้มีสุขภาพกายที่ดี และสุขภาพใจแชมชื่นรื่นเริงเบิกบานในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

มาฆบูชา, ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๓

หมายเหตุ : จดหมายฉบับนี้เขียนตั้งแต่พ่อใหญ่ยังมีชีวิตอยู่แต่ไม่ได้ส่งค้างมาจนบัดนี้

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here