วันนี้วันแห่งความรัก

วันอังคารที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๓

เพราะความรักในพระโพธิญาณ การเดินทางตามรอยพระบาทพระบรมศาสดา จึงเริ่มต้นขึ้น

บททดสอบ
ศักยภาพของมนุษย์ สะท้อนให้เห็น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

การตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่
ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย
เป็นเรื่องของใจที่มุ่งมั่นจะทำเรื่องที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ
จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การลงมือทำด้วยตนเอง.

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๗.   พระราชปณิธาน และการอธิษฐานจิตของพระโพธิสัตว์ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๗.

พระราชปณิธาน

และการอธิษฐานจิตของพระโพธิสัตว์

เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิต หนึ่งในสิบพระชาติสุดท้ายก่อน ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ปรากฏในชาดก   วิธูรบัณฑิตเป็นผู้ที่มีศีลธรรมและหนักแน่นในเรื่องของการรักษาสัจจะและเป็นผู้ที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ  อีกทั้งมีความรับผิดชอบต่อคำพูด  และการกระทำของตน แม้จะถูกปุณณกยักษ์จับไปเพื่อฆ่าเอาหัวใจก็ไม่เกรงกลัว
              ทั้งนี้เพราะต้องการรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับยักษ์  จนในที่สุดก็สามารถเปลี่ยนความคิดของยักษ์ด้วยการปฏิบัติให้ยักษ์เห็นความจริงและมั่นคงในสัจจะวาจาของตน  ในที่สุดก็รักษาชีวิตให้รอดพ้นจากอันตรายได้  การบำเพ็ญสัจจบารมีของวิธูรบัณฑิตนั้นถือว่าเป็นไปตามแนวทางแห่งพุทธจริยา  และเป็นแบบอย่างของผู้ที่รักษาสัจจะได้  โดยสัจจะที่รักษานั้นสามารถให้ประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น


              สัจจะบารมี ไม่เพียงปรากฏอยู่ในชีวิตของวิธูรบัณฑิตเท่านั้น  หากอยู่ในการบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์ จนกระทั่งสัมฤทธิผลในชาติที่ ๑๑  ของพระพุทธเจ้า จากเจ้าชายสิทธัตถะออกมหาภิเนษกรมณ์ อันเป็นการออกบวชครั้งยิ่งใหญ่พร้อมการอธิษฐานจิตอีก ๓ ครั้งจนบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
              ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ ซึ่งมี “ปณิธาน” อันมั่นคง  และการ “อธิษฐานจิต” ว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร เมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานแถลงข่าว การจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ในโอกาสมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕  ณ ศูนย์ แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล  เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ตอนหนึ่งว่า

“ ปณิธาน คือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจแน่วแน่ คำว่า มหาบุรุษในที่นี้ ก็คือ หมายถึง พระพุทธเจ้า หรือ พระโพธิสัตว์ ที่กำลังจะไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คำว่า ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือว่า เป็นการตั้งมั่นปณิธานนี้เอาไว้นานแสนนานแล้ว จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็ยังยึดมั่น ในความตั้งใจนั้น คือ การตั้งใจที่จะไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ ถ้าหากว่า เราพูดกันตามความเชื่อหรือคตินิยมของพุทธศาสนา ท่านก็อาจจะได้ยินมาแล้วว่า คนเรากว่าจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น   จะต้องไปเกิดหรือเสวยพระชาติ เป็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กันมากมาย หลายกัปหลายกัลป์ อสงไขย มีทั้ง  ไปเกิดเป็นมนุษย์ มีทั้งไปเกิดเป็นสัตว์ มีทั้งที่ไปเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ มีทั้งที่ต้องเวียนว่าย  ตายเกิดไปเป็นยาจกเข็ญใจ ไปเป็นพราหมณ์ จนกระทั่งแม้แต่เป็นสัตว์ เช่น เป็นนกยูง เป็นช้าง  เมื่อเสียชีวิตก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกหลายภพหลายชาติ เพื่อสะสมบารมีเอาไว้ จนกระทั่งบารมี แข็งแกร่ง มั่นคง ก็จะมาถึงสิบชาติสุดท้าย ก่อนที่จะไปถึงชาติที่สิบเอ็ด ชาติที่สิบเอ็ดก็คือชาติที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่คนเรากว่าจะไปถึงชาติที่สิบเอ็ด คือ สามารถตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้  จะต้องผ่านภพผ่านชาติมามากเหลือเกิน โดยเฉพาะชาติที่สำคัญที่สุด ก็คือ สิบชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาถึงชาติที่สิบ

              “พระพุทธเจ้าของเรานั้น ได้เสวยพระชาติสิบชาติสุดท้าย ก่อนที่จะมาถึงชาติที่สิบเอ็ด  ต่อเนื่องกันด้วยการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ กัน คำว่า บำเพ็ญบารมี ก็คือ สะสมประสบการณ์หรือทำ   คุณงามความดีเก็บเอาไว้ เพื่อส่งต่อไปยังภพหรือชาติต่อไป แต่ละชาตินั้น เราเคยเรียกกันว่า ชาดก ชาดกก็คือชาติ ชาติก็คือการเกิด สิบชาตินี้ เขาเรียกว่า ทศชาติ และเป็นชาติที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่าชาติ  ใด ๆ ทั้งหมด ที่มีมาก่อนหน้านี้ ชาติที่หนึ่งในสิบชาติสุดท้ายนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสด็จมาบังเกิดเป็นพระเตมีย์ แล้วบำเพ็ญบารมีที่สำคัญยิ่ง คือ เนกขัมมบารมี  ความที่ตั้งใจเหมือนกับนักบวช ความอดกลั้น ความไม่พูดไม่จา ไม่วอกแวกใด ๆ จนเราเคยได้ยินใช่ไหมครับ ที่เราไปอุปมาเปรียบเทียบ  ใครสักคนที่ไม่พูดอะไรเลย เอาแต่ทำงานอยู่อย่างเดียวว่า เหมือนกับพระเตมีย์ใบ้


              “พระเตมีย์ นี่คือชาติที่หนึ่ง ในจำนวนสิบชาตินั้น ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้บังเกิดในชาติที่สอง เป็นพระมหาชนก ที่เรารู้จักดี พระมหาชนกที่เรือแตกแล้วก็ว่ายน้ำอยู่ในมหาสาคร ด้วยความพากเพียร  จนกระทั่งนางเมขลาอุ้มไปส่งที่ฝั่ง นั่นแหละครับ คือ พระมหาชนกองค์เดียวกันนี่ นี่เป็นชาติที่สอง   ในจำนวนทศชาติหรือสิบชาติ แล้วทรงบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ คือ วิริยบารมี ความเพียร

              “ต่อจากนั้น  ก็ไปถึงชาติที่สาม คือ พระสุวรรณสาม ชาติที่สี่ก็คือ เป็นพระเนมิราช ชาติที่ห้า คือเป็นพระมโหสถ  ชาติที่หกคือเป็นพระภูริทัต ชาติที่เจ็ดคือเป็นพระจันทกุมาร ชาติที่แปดคือเป็นพระนารทะ ชาติที่เก้า คือเป็นพระวิธูรบัณฑิต แล้วก็ชาติที่สิบ ชาติสุดท้าย เป็นพระเวสสันดร ซึ่งในชาติที่สิบนี้ ทรงบำเพ็ญ บารมีอันยิ่งใหญ่เหนือบารมีทั้งหมด ที่เคยมีมาในอดีตกาล ก็คือ ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน  เงินทองต่าง ๆ ทรงบริจาคแม้กระทั่งลูกและเมีย แล้วจากการบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ในสิบพระชาติ    นี้เอง เมื่อสิ้นพระชนม์หรือหมดชีวิตไป ก็ได้บังเกิดเป็นชาติที่สิบเอ็ด คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร จนกระทั่งเสด็จออกบวช ที่เรียกว่า เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แล้วก็ได้ตรัสรู้  เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

              “ในทางคติพุทธศาสนา ถือว่า สิบชาติ ทศชาตินี้ สิบบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญในแต่ละชาตินี้   เป็นความยิ่งใหญ่มหาศาล และนี่คือ ปณิธานของมหาบุรุษที่ไม่เปลี่ยนแปลง” 

              และอีกหนึ่งการบรรยายของศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เรื่อง “พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ที่มีต่อพสกนิกร” ซึ่งเป็นการบรรยายผ่านระบบ Video Conferences ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕  เห็นชอบให้มีการขับเคลื่อนประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข  และการธํารงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติในระดับพื้นที่  กระทรวงมหาดไทยจึงกําหนดให้มีการรับฟัง การบรรยายทางไกลด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในหัวข้อเรื่องดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายในห้องประชุมแห่งนี้ประกอบด้วยข้าราชการทุกกรมในสังกัด กระทรวงมหาดไทย  และในส่วนภูมิภาคประกอบด้วยผู้บริหารในส่วนจังหวัด  ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการหน่วยงานต่างๆ  

              ในช่วงหนึ่งของการบรรยาย ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวว่า ทั้งหมด ๙ รัชกาล ในเวลา ๒๓๐ ปี แล้วแต่ละพระองค์ก็จะทรงมีพระบุคลิกลักษณะ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณไม่เหมือนกัน …แต่แม้จะต่างกันอย่างไร  เป็นเรื่องความสนพระราชหฤทัยของแต่ละพระองค์  แต่ที่จะเหมือนกันตรงกันอีกทุกพระองค์  ก็คือการที่พระองค์จะต้องทรงมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน และก็ไม่มีโดยบังเอิญหรือมี โดยตั้งใจ  มีโดยการปฏิญาณในวันทรงสวมมงกุฎนั้น  คือการที่จะทรงรักษาทศพิธราชธรรม อันเป็นธรรมะ ๑๐ ประการของคนที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้ปกครอง…

              “ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ข้อที่ ๑ คือเป็นคนมีทาน ทานแปลว่าให้โดยเจาะจง ทานอาจจะให้เป็นเงินทองก็ได้ เรียกว่าอามิสทาน ไม่มีเงินไม่เป็นไรให้ความรู้ก็ได้เรียกว่าวิทยาทาน ไม่มีความรู้ ที่จะทานให้ไม่เป็นไร  เขามีความผิดกับเรา เราให้อภัยเขาเราก็ได้  เรียกว่าอภัยทาน  คือเป็นทานทั้งนั้น  ข้อที่ ๒ ก็คือศีลความเป็นผู้มีศีล  ข้อที่ ๓ คือบริจาค บริจาคต่างจากทานเพราะทานนั้นให้เฉพาะเจาะจงคน บริจาค คือให้ทั่วไปไม่เลือกหน้า ข้อที่ ๔ คืออาชชวะ  แปลว่าซื่อตรงสุจริต ไม่คอร์รัปชัน

              “ ข้อที่ ๕ คือมัททวะ แปลว่า พูดจา สุภาพไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดมึง  กู  อั๊วะ  ลื้อกับใคร  ข้อที่ ๖ คือตบะ แปลว่า  อดทน  ข้อที่ ๗ อโกทัง คือความไม่ เป็นคนโกรธง่าย ข้อที่ ๘ คือขันติ แปลว่า อดกลั้น  ไม่ควรพูดก็อย่าไปพูด  ข้อที่ ๙  คืออวิหิงสา  ความไม่เบียดเบียน คนอื่น ไม่รีดไถคนอื่น และข้อสุดท้ายอวิโรธนะ แปลว่า การประพฤติตามกฎกติกามารยาท  และกฎหมายบ้านเมือง โดยเคร่งครัด ๑๐ ข้อนี้คือทศพิธราชธรรม  ที่คนเป็นพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงปฏิญาณในวันที่ทรงสวมพระมงกุฎขึ้นครองราชย์สมบัติ

              “รัชกาลที่ ๑ ก็ทรงปฏิญาณ  รัชกาลที่ ๒, ๓ , ๔, ๕, ๖, ๗ ก็ทรงปฏิญาณ  รัชกาลที่ ๘  อาจจะ ไม่ได้ทรงปฏิญาณ เพราะไม่ได้ทรงสวมมงกุฎ   รัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิญาณแล้ว ในวันพระบรมราชาภิเษก ดังที่ตรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โดยมากเรารู้ว่าพระองค์ทรงปฏิญาณ เพียงแค่นี้  นึกว่าจบ  ความจริงแล้วไม่จบ  จบประโยคนี้แล้วพราหมณ์ก็จะถวายพระเต้าให้ทรงหลั่งพระทักษิโณทก

              “ตอนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งพระทักษิโนทก จะต้องทรงเปล่งพระวาจาตั้งสัตยาธิษฐาน คืออธิษฐาน “อธิษฐานว่าอย่างไร  ทรงอธิษฐานว่า

“จะทรงรักษาทศพิธราชธรรมไว้โดยเคร่งครัด” 

              “ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะทรงปฏิญาณอีกข้อหนึ่งแบบนี้แล้ว ก็จะเห็นว่า ๖๖ ปีนั้น ได้ทรงรักษาทศพิธราชธรรมจรรยาสัมมาปฏิบัติตลอด  ไม่มีเบี่ยงเบนผิดเพี้ยน …

“ผมอาจจะโชคดี เมื่อครั้งที่เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อาจจะได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังมาก มานั่งนึก หลายเรื่องนั้นคนไม่รู้ เพราะว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงอดทน อดกลั้น ต้องทรงเสียสละมากมาย เราไม่ทราบว่าได้ ทรงทําอะไร กฎหมายที่ทูลเกล้าถวายไป หรือฎีกาที่ราษฎรถวาย ไม่ว่าจะเป็นฎีกานักโทษ ไม่ว่าจะเป็นฎีกาขอ พระราชทานความเป็นธรรม ฎีกาแต่งตั้งโยกย้าย ขอพระราชทานยืมเงินก็ยังเคยมี ขอพระราชทานความเป็นธรรมที่ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ  หรือเป็นอธิบดีฯ อาวุโสมานาน คนอื่นตัดหน้าก็ยังเคยมีเลย  และเราก็ไม่ค่อยจะรู้ว่า  มี พระบรมราชวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งทรงมีพระปรีชาสามารถแยบคายเป็นธรรมทั้งนั้น คนที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รับไปปฏิบัติ แต่เขาก็ไม่ไปอธิบายโพนทะนาเพราะว่าเหมือนประจานตัวเองละอายคน แต่ทั้งหมดเป็นพระมหากรุณาธิคุณทั้งนั้น คนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเท่านั้น ที่จะได้รู้ซึ้งอยู่แก่ใจว่าตนรอดมาได้ทุกวันนี้เพราะอะไร  ที่ได้เป็นทุกวันนี้เพราะ อะไร

ทั้งหมดนี้  เป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความโชคดีที่คนไทยได้มีผู้ทรงไว้  ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณอย่างนี้ ทุกรัชกาลตลอดมา…” 

การอธิษฐานของในหลวงรัชกาลที่ ๕

อีกตัวอย่างหนึ่งในการเสด็จประพาสยุโรป เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในช่วงเวลานั้น เนื่องจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลของพระองค์  ในขณะที่ทรงพระราชดำเนินทางเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จจากท่าราชวรดิษฐ์ ทรงใช้พระปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์

              โดยหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้ว  พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปถึง ๒ ครั้ง คือ พุทธศักราช ๒๔๔๐ ครั้งหนึ่ง และในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งยังได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผน ขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้น มาปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้น

              การเสด็จประพาสยุโรป ในปี ๒๔๔๐ นั้น พระองค์ทรงอธิษฐานต่อหน้ามหาสมาคม  ณ  พระที่นั่งไพศาลทักษิณ  ด้วยการประกาศให้ทราบทั่วกันต่อหน้าพระสงฆ์ เจ้านาย และเสนาบดีทั้งหลาย ว่า

              ๑. ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้  จะไม่น้อมใจไปในศาสดาอื่น  จะนับถือแต่พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์

              ๒. ในการเดินทางไกลไปยุโรปซึ่งใช้เวลาหลายเดือน  จะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีอื่นใดเลย

              ๓. ในต่างประเทศ การให้สุราแล้วไม่ดื่ม จะเป็นการเสียกริยา ก็จะดื่มนิดหน่อยเพื่อสังคม  แต่ไม่ยอมมึนเมาเสียสติเด็จขาด

              นี่คือตัวอย่างของการอธิษฐานเสียงดังเพื่อให้คนอื่นเป็นสักขีพยานและช่วยประกันความสำเร็จของคำอธิษฐาน

              และเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ยังทรงมีพระราชปณิธานตามรอยทศพิธราชธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตามรอย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ ๙ ดังพระปฐมบรมราชโองการ  เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๒ ว่า

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด

และครองแผ่นดินโดยธรรม

เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๗.   พระราชปณิธาน และการอธิษฐานจิตของพระโพธิสัตว์ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

อ้างอิง

– หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ” เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ จัดพิมพ์ฉบับพิเศษเป็นธรรมทานโดย บริษัท เมืองโบราณ จำกัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here