ตอนที่ต้นฉบับหนังสือ “บันทึกฝึกขีดเขียน” รวบรวมออกมาได้ ๑๐ บทเล็กๆ ประมาณปลายปี ๒๕๖๓ (เขียนซะดูเหมือนนานเลย จริงๆ แล้วเพิ่งผ่านมาห้าหกเดือนเอง) ผู้เขียนก็นึกถึงคุณศรันย์ ไมตรีเวช เจ้าของนามปากกา “ดังตฤณ” ขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นเพราะชื่นชอบงานเขียนของคุณดังตฤณมานาน ตั้งแต่เขียนเรื่อง “ทางนฤพาน” เป็นเล่มแรกๆ ลงในเว็บไซต์พันทิป pantip.com แล้วรวมเล่มแจกฟรีก่อน โดยเพื่อนๆ ของคุณดังตฤณที่อ่านแล้วอินจนออกบวชไปหลายคนในตอนนั้น

“ทางนฤพาน” เป็นนวนิยายเล่มหนาหลายร้อยหน้า ตอนนั้น เพื่อนสมัยอนุบาลนำมาให้อ่าน อ่านแล้ววางไม่ลง สนุกมาก ภาษาน่าตื่นเต้น เนื้อหาชวนติดตามตลอดทุกตัวอักษร ไม่น่าเชื่อว่า ผู้เขียนอายุเพียงยี่สิบกว่าเท่านั้น

และในหนังสือ “ทางนฤพาน” ก็มีอีเมลของคุณดังตฤณอยู่ด้วย ตอนอ่านแต่ละบท จึงไม่รอช้า เขียนอีเมลไปถามผู้เขียนทุกบทเลยก็ว่าได้ เช่น พล็อตเรื่องดีมากๆ ค่ะ ได้แรงบันดาลใจจากใครบ้างเอ่ย ชอบอ่านหนังสือของใครคะ เคยปฏิบัติธรรมที่ไหนมาก่อน ฯลฯ ถามแบบไม่ยั้ง ไม่ค่อยเกรงใจนักเขียนเท่าไร

พอถามไปคุณดังตฤณก็ตอบกลับมาทุกครั้ง หลังจากอ่าน “ทางนฤพาน” จบก็เลยนัดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ เป็นคนแรก เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน (ถ้าจำไม่ผิด) ลงในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มแรกของการเปิดตัว คุณศรันย์ ไมตรีเวช เจ้าของนามปากกา “ดังตฤณ”

“ตฤณ” มีความหมายว่า “หญ้า”

“ดังตฤณ” จึงมีความหมายว่า “เหมือนหญ้า” หรือ เสมอกันกับหญ้าสักต้นหนึ่ง

มาอ่านคำนิยมจากคุณดังตฤณ ที่เมตตาเขียนให้ “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑ กันดีกว่าค่ะ ยิ่งอ่าน ยิ่งทำให้ผู้เขียนมีพลังในการเดินเดี่ยวอยู่บนเส้นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ โดยยังมีเส้นทางของอาชีพนักเขียนหล่อเลี้ยงอยู่เพื่อให้จุดหมายปลายทางเป็นไปได้ แม้ไม่โด่งดัง แต่ก็เชื่อว่า จะต้องมีใครสักคนหลงรักหนังสือ “บันทึกฝึกขีดเขียน” และอยากจะเขียนหนังสือต่อไป แม้ไม่เป็นอาชีพค่ะ

คำนิยมจากดังตฤณ

โรอัลด์ ดาห์ล กับ สตีเฟน คิง เหมือนกันอยู่สองข้อ หนึ่ง คือ เป็นนักเขียนดังที่ใครต่อใครถามเสมอว่า เขาเขียนเทพๆ ขนาดนั้นได้อย่างไร

 และสอง คือ พวกเขาไม่สอนเขียน แต่เล่ารายละเอียดชีวิตของตนเองตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้คนอ่านเกิดความเข้าใจที่มาที่ไปว่า วิธีคิด วิธีเขียนของพวกเขา ตั้งฐานมาจากรสชาติประสบการณ์แบบไหน ชีวิตของพวกเขา ‘สอน’ ให้เขาเขียนอะไรออกมา

ผมเองเป็นนักเขียน แล้วก็เคยคิดๆ อยู่เหมือนกันว่า  อยากถ่ายทอดให้คนร่วมสมัยได้รู้ว่า การเขียนเป็น  การเขียนให้น่าอ่าน  ต้องทำอย่างไร  เช่น ผมเคยถึงขั้นบอกเลยว่า ถ้าไม่มีสมุดพกติดตัว หรือสมัยนี้ไม่รู้วิธีใช้แอพมือถือไว้จดไอเดียในหัวที่อาจผุดขึ้นปุบปับในห้องส้วม  คุณก็ลืมไปได้เลย  อย่าหวังเลยว่าจะเป็นนักเขียน  เพราะคำดีๆ วลีเด็ดๆ มักไม่เกิดขึ้นตอนคุณเค้นคิดที่โต๊ะทำงาน  แต่มักเกิดตอนคุณปล่อยใจสบายๆ อยู่กับชีวิต และให้ชีวิตบอกคุณเองว่า  โลกเป็นอย่างนี้  จะมีวิธีมองอย่างไรให้ตาสว่าง หรือมีแก่ใจอยู่ต่อแบบมีเป้าหมายท้าทาย น่าสนุก

แต่การจดบันทึกสั้นหรือไอเดียดีๆ เป็นแค่จุดเริ่มต้น  ยังมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ เอาเป็นว่า  กว่าที่คนคนหนึ่งจะเขียนหนังสือเป็น  ชีวิตนักเขียนคือชีวิตที่คุณต้องผจญภัยในป่าแห่งความคิด  ถ้าคุณออกจากป่าไม่ได้  จะไม่มีใครติดใจงานของคุณ  เพราะทุกคนที่อยากอ่านงานของคุณ  ลึกๆ แล้วเขาก็อยากออกจากป่ารกในหัวของตัวเองกันนั่นแหละ  หากตัวหนังสือของคุณพาเขาออกจากป่าได้  หนังสือของคุณถึงจะเป็นที่ต้องการได้

ถ้าคุณประทับใจงานเขียนของใคร แล้วอยากรู้ว่าเขาเขียนได้ยังไง ทางที่ง่ายที่สุดคือคุณควรทราบรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิต  อันเป็นทางมาของวิธีคิดแบบเขา

ดังตฤณ

คุณมนมีความทรงจำในวัยเด็กที่แจ่มชัด  แค่อ่านไม่กี่หน้า ก็เหนี่ยวให้ผมนึกถึงรายละเอียดชีวิตตัวเองในวัยเด็กขึ้นมาเช่นกัน  ซึ่งนั่นเท่ากับว่า หนังสือเล่มนี้จะประกาย เป็นข้อแนะนำที่ถูกทิศแก่คนอยากเป็นนักเขียนอื่นๆ เช่นกัน

จำไว้ หากคุณอยากเป็นนักเขียน  คุณต้องทบทวนความเป็นมาของชีวิตตัวเองจนกล้าเขียนสิ่งที่ชีวิตตัวเอง ‘ขอให้เขียน’

ดังตฤณ

น่าดีใจที่หนังสือเล่มนี้สรุปลงด้วยแสงสว่างทางใจ  ที่ผู้เขียนได้รับจากพระศาสดา  ภาพประกอบที่น่ารักตลอดเล่ม  เหนี่ยวนำให้นึกถึงวันคืนที่เรียบง่ายในชั้นเรียน  เหมือนจะช่วยให้คนอ่านรีเซ็ตจิตวิญญาณ  กลับไปพร้อมเรียนรู้วิธีขีดเขียนกันใหม่  ให้ออกมาจากข้างในที่สดใสแบบวัยเยาว์ของตัวเองกัน!

ดังตฤมกราคม ๖๔

คำนิยมจาก “ดังตฤณ” สำหรับ “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑

หมายเหตุ : ภาพไม่เหมือนคุณดังตฤณ ได้รับแรงบันดาลใจภาพหนึ่งซึ่งเป็นภาพคุณดังตฤณยืนยิ้มถือหนังสืออย่างมีความสุข ก็เลยปาดสีชอล์กลงบนกระดาษปรู๊ฟ เพียงไม่กี่นาทีก็ออกมาเป็นภาพนี้ แม้ไม่เหมือน แต่ในความรู้สึกคือ ใช่ ก็โอเคละ

และในหนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงมีเทคนิคง่ายๆ ในการเล่าเรื่อง ยังมีเทคนิคสร้างแรงบันดาลใจให้เรามาวาดภาพกันด้วยค่ะ วาดด้วยอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นดินสอ ปากกา สีเทียน สีไม้ สีน้ำ สีที่คั้นจากดอกไม้ในธรรมชาติ หรือฝ่ามือของเราเอง ก็ลองวาดออกมา และหัดทำพู่กันจากธรรมชาติจากสิ่งที่อยู่รอบตัวก็เยี่ยมไปเลยค่ะ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here