พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๙

ด้วยความเคารพบูชาพระรัตนตรัยเป็นที่สุด ผู้เขียนขอกราบอาราธนาน้อมนำคำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียนมาเป็นพละ เป็นแรงใจในการก้าวไปอย่างมีสติในวันนี้ …

ทุกครั้งที่ผู้เขียนขาดสติ ทำให้เป็นทุกข์มาก ก็ระลึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้นอยู่เสมอ ท่านสอนว่า “ทุกขสัจจ์คือของขวัญแห่งชีวิต” ท่านว่าอย่าไปกลัวความทุกข์ เพราะเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม พระพุทธเจ้าทรงเห็นทุกข์จากความคิด ทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย พระองค์ทรงหาหนทางในการออกจากทุกข์ในสังสารวัฏเหล่านี้จนพบ และมอบอริยสัจสี่ประการให้กับมนุษยชาติมากว่า ๒๖๐๐ ปีที่ผู้ในบนโลกใบนี้ได้รับความร่มเย็นจากการมีศีล สมาธิ และปัญญาจนสามารถเห็นสัจธรรมของกายใจตามความเป็นจริงคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเพราะ พระพุทธศาสนามีความงดงามมาก ดังนั้น ไม่ว่าเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะไปเติบโตอยู่ที่ใด ก็จะนำความร่มเย็นไปที่นั้นต่อไปไม่สิ้นสุด

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับคณะสงฆ์กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม และกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม

ผู้เขียนเปิดบันทึกธรรม เมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเมตตาเขียนบทความให้เป็นธรรมทานในนสพ.คมชัดลึก คอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” อยู่ช่วงหนึ่งในปีพ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๐ ซึ่งเป็นเนื้อหาจากการที่ท่านได้บรรยายธรรมให้นักศึกษาฟังเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมีความสำคัญกับการเติบโตทางจิตใจของเยาวชนไปในทางที่ดีงามอย่างไร จึงขอน้อมนำบทความที่ท่านเขียนมา เป็นกำลังใจในวันนี้

“เติบใหญ่จากจิตใจที่มั่นคง”

จากคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน”

โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐

"เติบใหญ่จากจิตใจที่มั่นคง" จากคอลัมน์ "ต้นรากเดียวกัน" โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐
“เติบใหญ่จากจิตใจที่มั่นคง” จากคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน”
โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐
เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น เมตตามอบหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ แด่ นายกิตติศักดิ์ หนูชัยแก้ว ประธานคณะกรรมการบริหารชมรมเด็กและเยาวชนดีเด่น  สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำมาปลูกประดิษฐาน ณ บริเวณหลังวิหาร “พระพุทธเมตตาบารมี ศรีชินราช ประสาธน์บรมบพิตร” ภายใต้โครงการ “พุทธปฏิมา ใต้ร่มพระบารมี” ณ มณฑลพิธีวัดมิ่งฟ้าคุณจักร ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ในวันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อที่จะเป็นของมงคลประดิษฐานคู่กับพระประธานวิหาร อันเป็นพุทธสถานที่สำคัญไว้ในบวรพระพุทธศาสนาสืบไปในภายภาคหน้า โดยหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ดังกล่าว คณะพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล นำมาถวายแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ องค์อุปถัมภ์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เมื่อครั้งเดินทางมาเข้าเยี่ยมถวายสักการะ และรายงานการปฏิบัติศาสนกิจ

เมื่อปีที่แล้ว มีโอกาสได้สนทนากับคณะกรรมการบริหารชมรมเด็กและเยาวชนดีเด่น  หลังจากที่มอบหน่อพระศรีมหาโพธิ์ ให้กับพวกเขาแล้ว ได้พูดให้อนุสติเป็นอนุสรณ์ว่า การปลูกต้นโพธิ์ก็คือ เป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า และถามพวกเขาว่า ต้นโพธิ์ที่โตได้นั้นเพราะอะไร

         รากโพธิ์ต้องหยั่งลงไปในดิน

        นั่นหมายความว่า ต้นโพธิ์เริ่มจะแข็งแรงแล้ว จากนั้น เมื่อเติบโตขึ้นก็แผ่กิ่งก้านสาขาออกไป สัตว์น้อยใหญ่ก็ได้รับความร่มเย็น เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ต้นโพธิ์ก็ให้ความร่มเย็นแก่พระองค์ตลอดเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียรอันอุกฤษฏ์ ธรรมะที่พระองค์ค้นพบก็ร่มเย็นประดุจต้นโพธิ์ที่หยั่งลงไปในแผ่นดิน และยังนำความร่มเย็นแผ่ขยายออกไปสู่ผู้ที่ได้เข้ามาในร่มเงาของพระพุทธศาสนา หรือร่มธรรมของพระพุทธเจ้าไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

        ใกล้เข้ามาในประเทศไทย เมื่อรากโพธิ์หยั่งลงไปในแผ่นดินไทย ทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง มีความร่มเย็น อย่างเช่นพวกเรานี้ก็ได้ร่มเงาจากพระพุทธศาสนาทำให้เกิดความร่มเย็นใจ สังคมก็ร่มเย็น ประเทศชาติก็ร่มเย็น

        แต่ว่า กาลเวลาเปลี่ยนไป เมื่อต้นโพธิ์เติบโตสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นมาร่วมพันปีนับแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ตอนนี้ต้นโพธิ์เริ่มแก่ ไม่ได้แก่ธรรมดา แต่มีกาฝากมาเกาะตามกิ่งก้านสาขา ในเบื้องต้น กาฝากดูดอาหารจากกิ่งโพธิ์ กาฝากก็เริ่มเติบโต  คราวนี้ กิ่งกาฝาก ไม่ได้ดูดอาหารจากกิ่งก้านและลำต้นแค่นั้น แต่กาฝากนั้นได้หยั่งรากลงไปในดินแล้วเช่นกัน  เรียกว่า กิ่งเกาะกิ่ง ก้านเกาะก้าน ลำต้นเกาะลำต้น รากเกาะราก ต้นโพธิ์ก็จะถูกโอบรัดจนยืนต้นตาย

        เพราะฉะนั้น โพธิ์ต้นเก่าใกล้จะตายแล้ว เราต้องช่วยกันปลูกโพธิ์ต้นใหม่ แล้วช่วยกันฟูมฟัก ดูแลรักษาโพธิ์ต้นใหม่ ให้หยั่งรากลงไป ทดแทนต้นเก่า อย่างเช่นพวกเรานักศึกษานี้ จิตแห่งพุทธะของเรากำลังเติบโตขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่า

        พระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่เติบโตมาได้ทุกวันนี้ เพราะกฎหมาย ช่วยคุ้มครองพระพุทธศาสนาไว้ ในอดีต พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกฎหมาย ให้ความคุ้มครอง พระพุทธศาสนาจึงเติบโตขึ้นมาได้ในแผ่นดินไทยของเรา

        พระมหากษัตริย์จึงเป็นปราการอันแข็งแกร่งเปรียบเหมือนหินรักษาไข่ ไม่ให้มีอะไรมากระทบพระพุทธศาสนาได้  แต่วันนี้ สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป กฎหมายไปอยู่ในมือของราชการบ้านเมือง  และยังไม่ได้ทำการคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่จะเป็นรากที่เข้มแข็งหยั่งลงไปในแผ่นดินได้

        เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้โพธิ์ต้นใหม่นี้เข้มแข็งได้ ก็ต้องทำอย่างไร จึงจะให้กฎหมายเข้มแข็งขึ้นไปอีก นั่นคือ ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อยู่ในกฎหมายใหญ่ คือ รัฐธรรมนูญ

        ถ้าวันนี้ กฎหมายที่เข้มแข็งไม่รักษาพระพุทธศาสนา โพธิ์ที่ปลูกใหม่นี้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะแผ่นดินนี้ไม่พร้อมที่จะให้โพธิ์ต้นนี้เติบโต พอปลูกลงไป อากาศก็เป็นพิษ ดินก็เป็นพิษ น้ำก็เป็นพิษ แล้วต้นโพธิ์นี้จะเติบโตไหม ถึงโตก็แคระแกรน ไม่สามารถที่จะเจริญงอกงาม ไม่สามารถแผ่กิ่งก้านสาขาออกไป ให้ร่มเงาแก่คนที่มาอาศัย ไม่สามารถเติบโตพอที่จะให้นกกาได้อาศัย

        เราเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจพระพุทธศาสนา ห่วงใยพระพุทธศาสนา นั่นก็หมายความว่า เรากำลังทำความมั่นคงสองอย่าง คือ ถาวรวัตถุมั่นคงเพราะแม้เรายังเป็นเยาวชน แต่ก็สร้างพระพุทธปฏิมากร ยังรวมศรัทธาสร้างวิหาร ปรับปรุงสถานที่ต่างๆ ให้มีความร่มรื่น งดงาม แล้วเอาต้นโพธิ์ไปปลูก เรียกว่า วัตถุมั่นคง

        วัตถุมั่นคงก็มาจากจิตใจที่มั่นคง คือมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาตามบรรพบุรุษของเรา เราจึงทำความมั่นคงให้กับถาวรวัตถุได้ ถ้าศรัทธาเราไม่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ไม่รัก ไม่หวงแหนไม่ผูกพัน ไม่ลึกซึ้งกับพระพุทธศาสนา เราก็สร้างถาวรวัตถุไม่ได้

        เพราะฉะนั้น ทฤษฎีใหม่ที่พูดกันว่า ไปสร้างทำไมถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา ถาวรวัตถุไม่ได้ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคง จึงไม่จริง เพราะถ้าจิตใจไม่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ไม่ลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา เราจะไปสร้างพระพุทธรูป สร้างถาวรวัตถุได้หรือ ที่เราเห็นพระพุทธรูปน้อยใหญ่ก็ตาม เจดีย์น้อยใหญ่ก็ตาม วิหารน้อยใหญ่ก็ตาม ก็มาจากการที่เรามีศรัทธามั่นคงจนเป็นอจลศรัทธา แล้ว จึงสร้างได้ หมายความว่า พระพุทธศาสนาบ่มเพาะจนเรามีคุณธรรมในจิตใจสูงส่งเพียงพอที่จะสร้างถาวรวัตถุได้

        ผู้ที่ศรัทธายังไม่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ยังหวั่นไหวคลอนแคลนไปตามเหตุการณ์อยู่ จึงไม่สามารถสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาได้

การสร้างถาวรวัตถุเป็นความละเอียดแห่งจิตที่ลึกซึ้งมาก ที่คนสมัยนี้ จะพากันเลือกเอาแต่แก่น และละทิ้งเปลือกเสีย ดังเช่นต้นโพธิ์ ถ้าไม่มีเมล็ดก่อห่อหุ้ม ก็ไม่สามารถเจริญเติบโตภายในออกมาหยั่งรากลงสู่แผ่นดินได้ และถ้าต้นโพธิ์เติบโตขึ้น โดยปราศจากรากและเปลือกห่อหุ้ม ต้นโพธิ์ก็จะตายเสียตั้งแต่ยังเป็นต้นอ่อน หากเราปฏิเสธอย่างหนึ่ง เพื่อเลือกอย่างหนึ่งให้ดำรงอยู่ สุดท้ายก็จะไม่เหลืออะไรเลย เพราะทุกอย่างเคลื่อนไปด้วยกัน พระพุทธองค์ไม่เคยปฏิเสธเรื่องการสร้างเสนาสนะ เพื่อการปฏิบัติธรรม ไม่เช่นนั้น วัดเวฬุวันคงไม่เกิดขึ้น และอีกหลายๆ วัดเป็นหมื่นเป็นแสน เป็นล้านๆวัด คงไม่เกิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สัปปายะให้พระสงฆ์ปฏิบัติธรรม และช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากทุกข์ทางใจมาจนถึงทุกวันนี้ ๒๖๐๐ กว่าปีผ่านไปแล้ว

ด้วยความรักในพระพุทธศาสนายิ่งชีพของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดยิ่งชีวิต ทำให้ผู้เขียนมีต้นแบบของครูบาอาจารย์ผู้เสียสละและอุทิศชีวิตเพื่อธรรม จึงขอน้อมนำปฏิปทา และมโนปณิธานของท่านมาเป็นกำลังใจในการก้าวเดินไปตามรอยธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปจนลมหายใจสุดท้ายตลอดจนทุกภพชาติจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๕๙

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๕ “เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะไปเติบโตอยู่ที่ใด ก็จะนำความร่มเย็นไปที่นั้นต่อไปไม่สิ้นสุด” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” ตอนที่ ๒๐

จิตปัจจุบันเห็นจิตอดีต

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

            จิต มโน วิญญาณ มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน คือ ความรู้สึกนึกคิดเป็นกระแสชีวิตที่ไหลไปเป็น ๒ อย่าง คือ อวิชชา ความไม่รู้ และ วิชชา คือ ความรู้ เมื่อไหร่ไม่มีสติเผลอเลอปล่อยให้ความคิดไหลไปตามอำนาจการนำพาของกิเลส ก็เป็นอวิชชา ความไม่รู้ เมื่อไหร่ที่มีสติ ความคิดไหลไปตามทิศทางที่สติระลึกรู้ ก็เป็นวิชชา ความรู้

            แท้จริง จะเป็นวิชชาหรืออวิชชาก็จิตนั่นเอง ที่เป็นผู้รู้หรือผู้ไม่รู้ แต่เป็นคนละขณะความคิด จิตดวงปัจจุบันเห็นจิตดวงอดีตที่ดับไป คือ จิตดวงปัจจุบันมีสติรู้จิตดวงอดีตที่ดับไปว่า ที่คิดไปเมื่อสักครู่เป็นความคิดที่มีความรู้สึกโกรธขัดเคืองไม่พอใจ หรือไม่ เรียกตามการปฏิบัติว่า “รู้ปัจจุบันขณะ” ฝึกให้จิตรู้จิตดวงที่ดับไปอยู่อย่างนี้เนื่องๆ

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

เมื่อรู้แล้วก็พิจารณาต่อไปอีก ถึงความไม่เที่ยงของจิตดวงที่ชอบเกิดขึ้นแล้วดับไป  ไม่เที่ยง จิตดวงที่ชังเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เที่ยง เกิดความคิดมาอย่างไร รู้อย่างนั้น พอมีสติรู้ตัวขึ้นมานั่นแหละรู้ปัจจุบันขณะ เช่น นึกขึ้นได้ว่าทำสิ่งนั้นๆ ลงไป นึกขึ้นได้ว่า พูดสิ่งๆ นั้นลงไป และนึกขึ้นได้ว่า คิดสิ่งนั้นๆ ไปนึกขึ้นมาได้ว่า ลืมสิ่งของทิ้งไว้ตรงไหน

            ฝึกให้จิตดวงปัจจุบันเห็นจิตดวงอดีตที่ดับไปอย่างตามติดเช่นนี้ เหมือนเจ้าของควายตามแกะรอยเท้าควายที่ถูกโจรขโมยไป

            ความชอบความชัง ความโกรธ ความขัดเคือง ความไม่พอใจ คือ จิตดวงอดีต จิตที่มีสติระลึกรู้ความชอบ ความชังนั่นคือ จิตดวงปัจจุบัน

ที่จริง จิตปัจจุบันเห็นจิตอดีต ก็เรียกว่า อยู่กับปัจจุบันขณะ

ขณะคิดปรุงแต่ง จินตนาการไปจนสุดความคิดก็เรียกว่า ดับไป เพราะเกิดจิตมีสติระลึกรู้ขึ้นมาตัดให้ขาดตอน จะเปรียบก็เหมือนมีเก้าอี้ตัวเดียว เวลานั่งจะนั่งได้ที่ละคน แม้จะมีคนอยู่กี่คนก็ตาม ก็ขึ้นนั่งได้ที่ละคน  คนหนึ่งขึ้นนั่ง อีกคนหนึ่งก็ต้องลง จิตก็คิดทีละขณะ แม้จะมีความคิดมากมายแค่ไหนก็คิดที่ละขณะ พอความระลึกรู้เกิด ก็หมายความว่า ความไม่รู้ดับ พอความไม่รู้ดับ ก็หมายความว่า ความระลึกรู้เกิด

เมื่ออวิชชาเกิด วิชชาก็ดับ

เมื่อเกิดความเผลอเรอลืมสติ ความมีสติระลึกรู้ก็ดับ

เมื่อความมีสติระลึกรู้เกิด ความเผลอเรอลืมสติก็ดับ

สลับกันเกิดดับอยู่อย่างนี้

            ขณะจิตออกจากความระลึกรู้ไปรับอารมณ์ภายนอกผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อรับอารมณ์แล้ว ไม่มีสติตามระลึกรู้ทัน ก็หน่วงอารมณ์นั้นเข้ามาคิดปรุงแต่งจินตนาการเป็นชอบชัง พอใจ ไม่พอใจ ขณะจิตนั้น ก็เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด แต่ถ้ารับอารมณ์แล้ว มีสติตามระลึกรู้ทัน ไม่คิดปรุงแต่งจินตนาการต่อไปเป็นชอบชัง พอใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ ขณะจิตนั้น ก็ไม่ก่อปัจจัยให้ทุกข์เกิด คือ ไม่ก่อภพ ก็เป็นแต่เพียงรู้ตามหน้าที่ของจิตเท่านั้น รู้แล้วก็จบหน้าที่ลง เพราะจิตมีหน้าที่รับรู้

            คือ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์ แต่เมื่อรู้อารมณ์แล้วไปทำเกินหน้าที่เพราะอำนาจกิเลสชักนำ ก็ปรุงแต่งจินตนาการต่อเป็นชอบ ชัง พอใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ จึงเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ภพชาติก็เกิดตรงนี้ตรงที่เกิดความชอบชัง พอใจ ไม่พอใจนี่แหละ

แล้วก็จะเกิดตัณหา เกิดอุปาทานยึดมั่นต่อไป ชอบก็ยึดแบบชอบ ชังก็ยึดแบบชัง พอใจก็ยึดแบบพอใจ ไม่พอใจก็ยึดแบบไม่พอใจ กลายเป็นภพชาติใหญ่พัวพันกันในสังสารวัฏวนเวียนซ้อนทับชุลมุนชุลเกกันอยู่อย่างนี้  เหมือนเซตและสับเซตทางคณิตศาสตร์ที่ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น คนไม่รู้วิธีก็วุ่นวายหาทางแก้โจทย์ไม่เจอ

ภาพประกอบโดย หมอนไม้

            ที่รับอารมณ์แล้วเกิดความพอใจ ก็เพราะว่าจิตมีกามราคะแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ หรือรับอารมณ์แล้วเกิดความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ เดือดดานใจ ก็เพราะว่าจิตมีปฏิฆะแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ 

อารมณ์บางอย่างมีกำลังอ่อน จิตกระทบแล้วก็แค่ไหวกระเพื่อม เพียงแค่เล็กน้อยแล้วจางหายไปเหมือนระลอกคลื่น แค่รับรู้ตามลักษณะของจิต โดยไม่มีการปรุงแต่งต่อไป 

แต่อารมณ์บางอย่างมีกำลังกล้า จิตกระทบแล้วเกิดการสั่นสะเทือนแรง จะเรียกว่ามีผลกระเทือนต่อจิตใจมากก็ได้ ก็จะคิดปรุงแต่งสืบเนื่องเป็นพอใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ  เดือดดาลใจอย่างรุนแรง แล้วก็ผูกใจเจ็บกลายเป็นอาฆาตพยาบาท แล้วก็รบรันพันตูต่อสู้กัน เนื่องจากอารมณ์เหล่านี้มีความละเอียดเหมือนฝุ่นละเอียดแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิต เมื่อเกิดการกระทบขึ้นมา ก็จะมีกำลังกล้า เราก็เรียกว่า คนนั้นมีอารมณ์รุนแรง 

บางครั้ง เมื่อต้องเจอเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกรุนแรง เราจะเห็นความรู้สึกรุนแรงฟุ้งขึ้นมา จนจับอารมณ์ไม่ทัน ก็ปล่อยให้ฟุ้งขึ้นมา อย่ากดทับไว้ ฟุ้งขึ้นมาก็ให้ใช้สติจับจ้องไว้ อย่าให้คลาดจากสติไปได้  เราก็จะได้เรียนรู้อารมณ์ทุกอย่างที่แอบแฝงอยู่ในจิต

เมื่อมีคำพูด มีบุคคล หรือมีเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึกเราแรงๆ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ให้เพ่งกลับเข้ามาที่จิตแล้ว  ดูความรู้สึก อย่าเพ่งไปที่คำพูด บุคคล หรือเหตุการณ์ เพราะจะทำให้ไม่ได้รู้ว่า  มีความคิดอะไรฟุ้งขึ้นมาบ้าง

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

ไม่ว่าจะกระทบอารมณ์อะไรก็ตาม ก็ต้องปล่อยให้จิตได้รับรู้อารมณ์เหล่านี้บ้าง เพื่อให้จิตได้เรียนรู้ เมื่อเกิดขึ้นจะได้จัดการได้ถูก อย่ากดทับไว้ โดยไม่ยอมปล่อยให้ฟุ้งขึ้นมา เดี๋ยวจะคุ้นชินกับอารมณ์เก็บกดจนติดนิสัยเก็บกด ต้องปล่อยให้ฟุ้งขึ้นมา และปล่อยให้จิตได้กระทบกับอารมณ์แรงกล้าเช่นนี้บ้าง เมื่อกระทบแล้วให้ดูกลับเข้ามาที่จิต อย่าส่งใจเพ่งไปที่อารมณ์ที่รับมา แต่ให้ดูกลับเข้ามาที่จิตว่า มีความคิดอะไรฟุ้งติดพ่วงขึ้นมาบ้าง แล้วก็เรียนรู้จะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็อย่าตำหนิตัวเอง อย่าบ่น อย่าว่า ให้มองเป็นธรรมดา

บางครั้งก็ทัน บางครั้งก็ไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร ให้ทำเรื่อยไป เมื่อของหนักมีการกระทบแรง แรงสั่นสะเทือนก็มาก แผ่นดินไหวแรงมากเท่าไหร่ แรงสั่นสะเทือนก็มากเท่านั้น อารมณ์ก็ไม่ต่างจากวัตถุ หากเกิดการกระทบแรง แรงสั่นสะเทือนทางความคิดก็มาก ทำให้คิดวกวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะระงับ โลภะ โทสะ โมหะได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

            ถ้าทำบ่อยๆ ก็จะรู้บ่อยๆ จนกลายเป็นอุปนิสัย เมื่อเกิดความคิดเป็นอวิชชาคือความไม่รู้ วิชชาคือความระลึกรู้ก็จะผุดขึ้นมาตัดให้อวิชชาขาดออกเป็นท่อน ก่อนแต่ที่จะเจริญงอกงามไปไกลจนก่อความเสียหายใหญ่หลว ต้องฝึกหัดอบรมตัวเองให้คิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๙

โปรดติดตาม บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here