เนื่องด้วยวันเฉลิมพระชนมพรรษา…

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่จะมาถึงนี้ กรมประชาสัมพันธ์ https://phralan.in.th/ แจ้งข่าวดีมายังประชาชนทุกท่าน ประชาสัมพันธ์การขยายเวลารับสมัครจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร.

ขอเชิญประชาชนผู้สนใจสมัครเป็นจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร.
สามารถลงทะเบียนสมัครเป็นจิตอาสาใหม่ พร้อมกันทั่วประเทศ

ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ (ในเวลาราชการ)

ฉพาะผู้ที่มีทะเบียนบ้านในเขตอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด สำหรับอำเภออื่นๆ ของแต่ละจังหวัด จะกำหนดเวลาการรับสมัครและแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่งในส่วนกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนสมัครจิตอาสาได้ ณ สำนักงานเขต ทั้ง ๕๐ เขตระหว่างวันที่ ๒๑ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒สำหรับการกำหนดพิธีรับพระราชทานหมวกและผ้าพันคอจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร. จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปโดยสามารถติดตามข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่าน แอพพลิเคชั่น ประชาชนจิตอาสา

การทำความดี เป็นจิตอาสา พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เป็นหนึ่งใน “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐”

หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ ได้แก่

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

๑. ให้ทาน หรือ ทานมัย หมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น  เพราะการให้ทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง ทำให้เราไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ อีกทั้งสิ่งที่เราบริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับ และสังคมโดยส่วนรวม การให้ทานนี้อยู่ที่ไหนๆ ก็ทำได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน เช่น การแบ่งของกินให้กับแม่บ้านดูแลห้องน้ำสาธารณะ คนยากจนบนท้องถนน ส่งหนังสือธรรมะและหนังสือการเรียนรู้วิชาชีพต่างๆ เข้าห้องสมุดประชาชน หรือห้องสมุดเรือนจำทั่วประเทศ ผลการให้ทานดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ โดยเฉพาะการใส่บาตรยามเช้า นอกจากจะได้ทำบุญก่อนเริ่มทำงาน ก่อนที่จะไปทำกิจวัตรต่างๆ แล้ว หากได้หุงข้าวทำกับข้าวเอง ก็จะได้สร้างสรรค์เมนู เป็นการเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และการตื่นรู้แต่เช้าเลยค่ะ

๒. รักษาศีล หรือ สีลมัย  คำว่า ศีล หมายถึง การฝึกหัดขัดเกลากาย วาจา เบื้องต้น ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนา ที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ หรืออาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีล เป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการลด ละ เลิกความชั่ว  มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิให้ตกต่ำลง ซึ่งผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น สุขุมด้วยค่ะ

๓. เจริญภาวนา หรือภาวนามัย เป็นการทำบุญที่สำคัญมาก มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ฝึกสติ เจริญสมาธิ วิปัสสนา ในชีวิตประจำวัน ทั้งเป็นรูปแบบ และมีสติในทุกอิริยาบถ และ/หรือ อาจจะทำง่ายๆ ด้วยวิธีการสวดมนต์เป็นคาถาสั้นๆ บูชาพระที่เราเคารพบูชาก่อนนอนทุกคืน เช่น คาถาบูชาพระรัตนตรัย เป็นต้น การสวดมนต์เป็นประจำ อย่างน้อยก็เป็นการน้อมนำจิตใจของเรา ไปสู่สิ่งที่เป็นมงคลในชีวิต ยังทำให้เกิดสมาธิ สงบเย็นใจ ทำให้สมองปลอดโปร่ง หลับสบาย ตื่นก็ไม่งัวเงีย และผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติด้วยค่ะ

๔. การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย  การเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เรียกว่าเป็นบุญใหญ่อีกอย่างก็ว่าได้ เพราะว่าการอ่อนน้อมถ่อมตน มาจากจิตที่มีเมตตา กรุณา เคารพผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า การอ่อนน้อมถ่อมตนสามารถเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรได้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะคะ หากใครมาร้าย เราดีตอบ อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้ ไม่ตอบโต้ ก็จะทำให้ผู้มาร้ายจิตใจอ่อนโยนลง บุญข้อนี้ใหญ่มากจริงๆ นอกจากนี้ การอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อความคิด ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคล หรือสังคมอื่นที่แตกต่างจากเรานั้น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเรา ช่วยให้สังคมทุกระดับเกิดความเข้าใจต่อกัน และช่วยให้ชาติบ้านเมืองเกิดความสงบสุข จึงถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน

๕. การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือไวยาวัจจมัย บุญข้อนี้ เป็นการตื่นรู้จริงๆ ค่ะ เรียกว่า ไปไหนไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่เอาใจใส่ทุกอย่างที่สามารถช่วยได้ เรียกว่า อยู่ที่ไหนไม่หายใจทิ้งเปล่า ทำประโยชน์ให้กับทุกที่ที่เราไปเสมอ เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้าง ในการทำกิจกรรมความดีต่างๆ ไม่ทอดธุระกับงานกุศลเล็กๆ น้อยๆ เช่นเก็บขยะบนถนนที่เดินผ่าน กวาดสิ่งสกปรกบนฟุตบาทให้สะอาด และอื่นๆ อีกมากมาย ผลบุญในข้อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นด้วย

๖. การชวนให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย ข้อนี้ บางท่านอาจคิดว่า เป็นการบอกบุญให้มาร่วมปัจจัยทำบุญงานต่างๆ อันนี้ก็อย่างหนึ่งนะคะ เราสามารถทำจิตให้เป็นกุศลได้ตลอดเลย หากไม่มีก็โมทนา หากมีและยินดีจะร่วมบุญก็ทำให้ใจเบิกบาน ซึ่งอยู่ในข้อ ๗ ที่จะอธิบายต่อไปค่ะ นอกจากนี้ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมบุญ  ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญในข้อนี้ด้วย ผลบุญดังกล่าว จะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้าง และปราศจากอคติต่างๆ เพราะพร้อมเปิดใจรับผู้อื่น

๗. การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น  เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น เช่น เพื่อนเดินทางไปแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย ก็อนุโมทนา เพื่อนได้ช่วยงานบุญวัดต่างๆ ก็ไม่คิดในแง่ร้าย เพราะจะทำให้เรามีจิตใจเศร้าหมอง ไม่แช่มชื่นอยู่เสมอ การอนุโมทนา จึงต้องเปี่ยมไปด้วยจิตที่มีสติ ปัญญา มีเมตตา กรุณาอย่างแท้จริง จึงจะเปล่งวาจาอนุโมทนาอย่างไม่เสแสร้งได้ เมื่อจิตเราดี ไม่ได้ปกคลุมด้วยกิเลสมายาห่อหุ้ม เมื่อรับทราบว่าใครทำบุญ จิตจะแช่มชื่นก่อน โดยไม่ต้องเปล่งวาจาด้วยซ้ำ กุศลผลบุญต่างๆ ก็เกิดขึ้นในจิตอยู่ตลอดเวลา แม้จะมิได้ทำเองโดยตรงก็ตาม

๘. การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรม จะทำให้เราได้ข้อคิดน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ มีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต  การฟังธรรมนี้ ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัด หรือจากพระท่านโดยตรง แต่อาจจะฟังจากเทป ซีดี หรือจากยูทูปก็ได้ ข้อสำคัญ เวลาฟังต้องมีสติจดจ่อกับธรรมะที่กำลังฟังอยู่ ก็จะได้สมาธิอีกอย่างหนึ่งไปพร้อมกัน มากไปกว่านั้น หากฟังแล้ว โอปนยิโก น้อมเข้ามาใส่ใจ จนเกิดปัญญาเห็นสภาพกายใจตามความเป็นจริง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดโลกุตรปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งในความจริงปรมัตถ์มากขึ้น

๙. การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ ตามที่เราเข้าใจถูกต้อง หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้  แนะหลักธรรมที่ดีที่เราได้ยินได้ฟังมา และปฏิบัติได้ผลแก่เพื่อนๆ เป็นต้น ผลบุญในข้อนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้บอกกล่าวได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกด้วย เป็นการขยายความดีต่อไปไม่สิ้นสุด

๑๐. การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ  เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ  คือมีสัมมาทิฐิที่ถูกต้อง ถูกธรรม อยู่บนทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปทั้งสองทาง ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้อง ตามทำนองครองธรรมก็ได้ การทำความเห็นให้ถูกต้องสำคัญมากๆ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของจิตใจที่เห็นแล้วว่า ทานมัยจนถึงการแสดงธรรมนั้น มีความสำคัญต่อชีวิต ครอบครัว และสังคมสันติสุข จึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง ในข้อนี้ จึงอาจเป็นข้อแรกของบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็เป็นได้ เพราะเมื่อเห็นถูกแล้ว การสละ การแบ่งปัน จากจิตที่มีความเมตตา กรุณาก็เกิดๆได้โดยง่าย ตามกำลัง

(ส่วนหนึ่งจากเวบไซด์ www.thaihealth.or.th เรื่อง “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” ทำบุญ ๑๐ วิธี )

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอขอบคุณ ภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

สำหรับความหมายของ “จิตอาสา” นั้น พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ไว้ในเวบไซด์ https://www.thaihealth.or.th/ เรื่อง “จิตอาสา สุขสร้างง่ายๆ แค่ลงมือทำ ตอนหนึ่งว่า

“จิตอาสา”ส่วนใหญ่ใช้ความหมายในทางโลก คือ การเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือส่วนรวมหรือผู้ทุกข์ อย่างไรก็ตามคำว่า จิตอาสาก็มีมิติในทางธรรมด้วย เพราะเกิดจากความเมตตากรุณา การคิดถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดละตัวตน พูดได้ว่าจิตอาสาเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา

“จิตอาสาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความตระหนักว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นจิตอาสาไม่ได้มีความหมายแค่ว่า การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือส่วนรวม ซึ่งเกิดจากความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่มีจิตอาสานอกจากจะทำงานสังคมสงเคราะห์หรือบำเพ็ญประโยชน์แบบมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแล้ว ยังทำงานในลักษณะอื่นด้วย เช่นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการปฏิรูปสังคมหรือช่วยให้สังคมดีขึ้น เช่น เป็นอาสาสมัครรณรงค์ส่งเสริมประชาธิปไตย ต่อต้านคอรัปชั่น อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตอาสาทั้งสิ้น

หากพูดให้กระชับมากขึ้น จิตอาสา ก็คือ จิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทานให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จุดที่ควรเน้นก็คือจิตอาสาไม่ใช่แค่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นหรือเพื่อส่วนรวมอย่างเดียว แต่ยังเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วย

ภาพพระราชทาน
ประกาศ เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อของจิตอาสาและภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาใหม่
ประกาศ
เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อของจิตอาสาและภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาใหม่
 
เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศ ให้ทราบโดยทั่วกันว่า
ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดโครงการ หน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา “เราทําความ ดี ด้วยหัวใจ”
และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อของจิตอาสาและภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาพระราชทาน
เพื่อพระราชทานกําลังใจแก่ประชาชนทุกคนที่มีจิตอันเป็นกุศลในการทําความดีเพื่อส่วนรวมและ ประเทศชาติ นั้น
 
ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อของจิตอาสาและ ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาใหม่
เพื่อทดแทนซื้อของจิตอาสาและภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาที่ได้ พระราชทานไว้แต่เดิม เพื่อเชิญไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับจิตอาสาพระราชทาน โดยมี รายละเอียด ดังนี้
 
๑. พระราชทานชื่อจิตอาสา ว่า “จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร.”
๒. ให้ใช้ชื่อและภาพการ์ตูนจิตอาสาใหม่ ในกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับจิตอาสาพระราชทาน
และในการจัดทําสิ่งของพระราชทานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตามรูปแบบและรายละเอียดที่แนบมาพร้อมนี้
 
ทั้งนี้ สิ่งของพระราชทานที่มีภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาเดิมยังคงใช้ได้ควบคู่กันไป ไม่ได้ยกเลิกจนกว่าสิ่งของพระราชทาน ฯ เดิม จะชํารุดหรือเสื่อมสภาพ ใช้ปฏิบัติภารกิจไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
สํานักพระราชวัง

อย่าลืม ชวนกันมาเป็นจิตอาสา

ทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กัน ตลอดปี ตลอดไป…

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here