เมื่อการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ผ่านการออนแอร์แบบเรียลิตี้

มากว่า ๘ ปี ถึงวันนี้ มีเบื้องหลังเรื่องราวของทีมงาน กับน้องเณร ที่เรียลิตี้ธรรมะ ยิ่งกว่า

มาฝาก…

ข้างหลังภาพเรียลิตี้ ปีที่ ๘

“สามเณรปลูกปัญญาธรรม” ที่สวนโมกข์

โดย

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

          ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ได้รับนิมนต์ให้เป็นพระวิทยากรในโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๒ ซึ่งจัดโดย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นรายการธรรมะเรียลลิตี้ถ่ายทอดตลอดหนึ่งเดือนเต็มให้ผู้ชมทางบ้านได้รับชมวิถีของสามเณร ซึ่งคัดเลือกผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากทุกภาคทั่วประเทศ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนหลายพันคน โดยคัดเลือกผู้บวชเข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๒ คน

ขอขอบคุณ ภาพจาก facebook /trueplookpanya
ขอขอบคุณ ภาพจาก facebook /trueplookpanya

           แนวความคิดเกิดขึ้นจากการที่คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้บวชพร้อมกับลูกชายแล้วเกิดความศรัทธาซาบซึ้งใจในคำสอน มองเห็นว่า ธรรมะจากการบวชเรียนมีประโยชน์สำหรับชีวิตประจำวัน ก็เลยคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนทางบ้านได้ศึกษาธรรมะผ่านการบวชเรียนของเด็กๆ ก็เลยไปปรึกษาพูดคุยแนวทางกับพระอาจารย์วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เกิดเป็นรายการธรรมะเรียลิตี้ เริ่มจัดเป็นปีแรกในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อยมาถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ ๘

ปีที่ ๑-๒ จัดที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ปีที่ ๓-๔ จัดที่ไร่เชิญตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ปีที่ ๕-๖ จัดที่วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ปีที่ ๗ จัดที่วัดป่าไทรงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี และปีที่ ๘ วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ ๑๙ เมษายน – ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

           ผู้เขียนได้เข้าร่วมเป็นพระวิทยากรโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๒,๕,๖,๗ และปี ๘ ขอเล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในปี ๒ เป็นปีแรกของการทำหน้าที่พระวิทยากร เป็นความทรงจำที่ไม่เคยลืมในขณะที่บรรยายอยู่ สามเณรมีความเคืองใจกัน เกิดทะเลาะกัน เดินไปจะต่อยกันกลางรายการ ผู้เขียนไม่รู้จะทำอย่างไรก็นั่งดู พระอาจารย์พี่เลี้ยงที่อยู่ด้วยต้องมาคว้าตัวทั้งสองแยกออกจากกัน ความน่ารักของเด็ก เมื่อเหตุเกิดทะเลาะกัน ก็แสดงออกทางอารมณ์เต็มที่ พอทุกอย่างจบแล้วก็จบไม่ได้เก็บมาไว้ในความรู้สึก ทุกอย่างปกติ ถึงเวลาฉัน ก็ฉันร่วมกัน ล้างบาตร ปัดกวาดเช็ดถูที่ฉันร่วมกัน เย็นๆก็ฟังนิทาน จำวัดร่วมกัน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อยากจะให้ผู้ใหญ่มีความรู้สึกเหมือนเด็กๆ จังเลย เด็กโกรธง่ายหายเร็ว เก็บแต่ความรู้สึกดีๆ ไว้ในใจ

พูดถึงกระบวนการเรียนการสอน การเรียนรู้ของเหล่าสามเณรในบางครั้ง ก็ทำให้เกิดความสงสัย ผู้ใหญ่ทีมงานหลายๆคนก็สงสัยเหมือนกันว่า สามเณรอายุน้อยสุด ๖ ขวบจะสามารถที่จะเข้าใจธรรมะในเรื่องยากๆได้ไหม จะเข้าใจบทเรียนที่คณะพระอาจารย์ ที่พระวิทยากร ตลอดถึงวิทยากรพิเศษต่างๆเดินทางมาถวายความรู้หรือเปล่า และจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่

จากการสังเกตดูน้องๆสามเณรจะชอบการสอนด้วยนิทาน เพราะเป็นการสอนที่ทำให้ผู้ถูกสอนไม่รู้ตัวว่า ตัวเองถูกสอน ฟังแล้วก็ยังประทับใจกับการประยุกต์ใช้ กับความเข้าใจที่น้องๆสามเณรได้เรียนรู้ ขอพูดถึง ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งอาจารย์ได้เล่านิทานไว้หลายเรื่อง ขอยกตัวอย่างเรื่อง “ลิงกำถั่ว” การให้รู้จักปล่อยวาง อาจารย์ได้เล่าว่า

สมัยก่อนชาวสวนปลูกพืชผัก ผลไม้ต่างๆ ไว้ในสวนเป็นจำนวนมาก ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ที่มีผลกำลังจะสุก ก่อนที่ชาวสวนจะเก็บเกี่ยวผลไม้ ก็มักจะมีลิงมาแอบขโมยผลไม้ไปกิน ทำความเสียหายให้กับชาวสวน ชาวสวนก็จะหาวิธีการจับลิง โดยเอาลูกมะพร้าวมาเจาะรูพอดีเท่ากับมือของลิง ที่ลิงสามารถล้วงมือเข้าไปข้างในได้ ชาวสวนก็จะเอาของที่ลิงชอบไว้ในข้างใน เช่น ถั่ว เป็นต้น ลิงมันก็จะล้วงมือเข้าไปกำเอาถั่ว เมื่อมันกำถั่ว มันก็ไม่สามารถที่จะนำมือออกมาจากลูกมะพร้าวได้ ทำให้โดนชาวสวนจับได้อย่างง่าย

ถ้าเป็นเราก็คงคิดว่า ลิงเพียงแค่ปล่อยมือออกจากถั่ว ไม่กำถั่ว ก็สามารถที่จะเอามือออกมาได้แล้ว ลิงมีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือ เรียนรู้จากการจำ ไม่สามารถจะคิด แยกแยะ วิเคราะห์แก้ปัญหาได้เหมือนมนุษย์ มีการทดลองโดยเอากะปิซึ่งเป็นสิ่งที่ลิงเกียจที่สุดไปทาที่มือของลิง ลิงมันก็จะดมที่มือ พอมันดมแล้วมันไม่ชอบกลิ่นของกะปิ มันก็จะใช้มือของมันไปถูกับพื้น มันคิดว่าเมื่อถูแล้วกะปิจะหายไป แล้วมันก็นำกลับมาดมใหม่ มันทำอยู่อย่างนั้น จนมือของมันมีเลือดออกมามันก็ไม่ยอมหยุด เพราะมันยังมีกลิ่นของกะปิ ความรังเกียจกลิ่นของกะปิ จึงทำให้มือของลิงเลือดออก

บางครั้งคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีใครทำให้เราโกรธ ทำให้เราไม่พอใจ แม้จะนานแค่ไหนก็ตาม แต่เราก็ยังนำคำพูดเหล่านั้นมาทำร้ายใจของเรา มาทำร้ายความรู้สึกๆ ดีของตนเอง  รู้ไหม คนอื่นเขาเพียงแค่ว่าเราทำให้เราโกรธเพียงครั้งเดียว แต่เราต่างหากที่นำคำพูดนั้นมาทำร้ายใจตนเอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในการเรียนรู้อาจจะมีงอแงบ้าง ไม่ยอมใส่ผ้าจีวรตอนเรียนบ้าง บางครั้งไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรม อยากทำตามใจตนเอง ถ้าเรามองดูด้วยความเข้าใจ เขาก็คือเด็กคนหนึ่งที่มาเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง บางครั้งผู้ใหญ่คาดหวังอยากจะให้เขาเป็นอย่างที่ใจเราอยากจะให้เป็น โดยที่ไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ภาพจาก facebook /trueplookpanya 
ขอบขอบคุณ ภาพจาก facebook /trueplookpanya

วันหนึ่งทีมงานได้มากราบเรียนให้สามเณรสำรวมในการทำกิจกรรม และอยากให้สามเณรได้แสดงออก แสดงความคิดเห็นในการทำกิจกรรมให้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด ด้วยความคาดหวังในสิ่งที่ตนเองอยากจะให้เป็น สามเณรก็คงจะเข้าใจในเจตนาของพี่ๆ ทีมงาน ก็เลยให้ธรรมะเป็นข้อคิดว่า คุณโยมอย่าคาดหวัง ถ้าคาดหวังจะผิดหวัง คุณโยมกำลังเป็นเหมือนลิงกำถั่ว คุณโยมนะไม่เลิกกำถั่ว โยมก็ทุกข์อย่างนี้ล่ะ โยมพี่ๆ ทีมงานได้ฟังอย่างนี้ จากการที่คิดว่าสามเณรจะไม่เข้าใจในธรรมะ เมื่อได้ฟังแล้วก็อยากเลิกกำถั่วไปเลย

ผู้เขียนฟังพี่ๆ ทีมงานเล่าให้ฟังที่น้องสามเณร สอนพี่ๆ ทีมงาน “ให้เลิกกำถั่ว” ก็ทำให้หายสงสัยทันที ในการบวนการเรียนการสอน การเรียนรู้ของน้องสามเณรว่า สามเณรจะเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งไหม จะสามารถนำธรรมะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ไหม

กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ธรรมะสามารถที่จะเปลี่ยนสามเณรให้พัฒนาขึ้น เปลี่ยนจากคนที่ไม่มีความอดทน ให้มีความอดทน เปลี่ยนจากคนอ่อนแอ ให้มีความเข้มแข็ง เปลี่ยนจากคนที่เอาแต่ใจ ให้รู้จักไม่เอาแต่ใจ เปลี่ยนจากคนที่มักโกรธ ให้รู้จักให้อภัย เปลี่ยนจากคนที่ไม่เปิดใจรับฟังคนอื่น ให้เปิดใจรับฟังคนอื่น  เปลี่ยนจากคนคิดลบ ให้คิดบวก เปลี่ยนจากผู้รับ มาทำหน้าที่ของผู้ให้ สามเณรทุกรูปมีความสามัคคี มีความเมตตาเอื้ออารีต่อกัน ต่อเพื่อนมนุษย์

มีตัวอย่างหนึ่ง วันหนึ่งญาติโยมเตรียมอาหารมาใส่บาตรไม่ครบกับจำนวนสามเณร ก็เลยนำปัจจัยใส่บาตร พระอาจารย์ก็สงสัยว่า สามเณรจะเอาไปทำอะไร ก็เลยถามว่า สามเณรได้ปัจจัยแล้วจะเอาไปทำอะไร เสียงใสๆ ตอบโดยไม่ต้องคิดในขณะนั้นว่า จะแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ ๑.จะแบ่งให้พี่เณรไปสร้างโรงเรียน  ๒.จะเก็บไว้สร้างวัด ๓.จะแบ่งให้เป็นค่าพาหนะพระอาจารย์ ๔.จะแบ่งให้เป็นค่ารถตู้พี่ๆ ทีมงาน ฟังคำตอบของสามเณรแล้วก็แอบทึ่งนิดๆ ว่า สามเณร ๖-๗ ขวบไม่ได้คิดถึงตนเองเลย จิตใจที่ถูกหล่อหลอมด้วยความรัก ความเมตตา การรู้จักให้ แบ่งปัน สามเณรได้สัมผัสในสิ่งที่ญาติโยมได้ทำ ก็ทำให้สามเณรมีความคิดในการที่จะทำความดีเพื่อคนอื่น

ภาพจาก facebook /trueplookpanya 
ขอขอบคุณ ภาพจาก facebook /trueplookpanya

 พูดถึงการออกรับบิณฑบาต เป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพระสงฆ์ สามเณรกับญาติโยม ในข้อนี้พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะให้พระสงฆ์ สามเณรที่ออกบวชจากเรือน ศึกษาธรรมะเข้าถึงธรรมะแล้วมีความสุขแต่เพียงผู้เดียว จึงบัญญัติให้พระสงฆ์สามเณรได้พึ่งพาอาศัยญาติโยมด้วยปัจจัย ๔ มีเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น พระสงฆ์สามเณรจะได้ไม่ลำบากในการแสวงหาปัจจัย ๔ จะได้มีเวลาในการศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ แล้วให้พระสงฆ์สามเณรสงเคราะห์ญาติโยมด้วยธรรมะ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน

ที่เล่าให้ฟังเรื่องราวของสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๒ ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการเรียนการสอน เป็นส่วนเล็กๆ ในคำสอน สิ่งที่พระอาจารย์ทุกรูปได้เน้นก็คือ การทำให้เด็กๆ ได้มีความรู้สึกดีในการเรียนการสอน มีความประทับใจในการบวช เพราะว่า ทุกคนไม่สามารถจะจำทุกคำสอนของคณะพระอาจารย์ทุกรูปได้ แต่ถ้าเราทำให้เขาประทับใจในการบวช เขาจะจำไม่ลืม เขาจะเก็บความประทับใจนั้นไว้ตลอด วันที่เขามีความทุกข์ ท้อแท้ มีปัญหาในชีวิต เขาจะนำธรรมะมาไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตของเขาเอง

ข้างหลังภาพเรียลลิตี้ ปีที่ ๘ “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” ที่สวนโมกข์  โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
ข้างหลังภาพเรียลลิตี้ ปีที่ ๘ “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” ที่สวนโมกข์ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
จาก คอลัมน์ “จาริกบ้าน จารึกธรรม ” หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here