โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนพุทธศากยบุตร “ฮ่องธรรม ฮ่องคำอิสาน” เป็นการ “ฝึกฝนกาย พัฒนาจิตใจ สร้างบุญบารมี” ในช่วงวันที่ ๓๑ มีนาคม – ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ณ พุทธสถานฮ่องธรรม ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จัดโดย พระมหาติ่ง มหิสฺสโร,ดร. ประธานสงฆ์ / ประธานมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์ , พระมหาสิทธิชัย สิทฺธิญาโณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ พระบุรินทร์ ฐานสมฺปนฺโน สำนักสงฆ์ พุทธสถานฮ่องธรรมอีสาน จังหวัดศรีสะเกษ ก็ได้ผ่านไปแล้ว แต่ภาพความประทับใจในความเพียรของสามเณรน้อยยังดำรงอยู่
อนุโมทนาบุญกับ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานในพิธี โครงการบรรพชาสามเณรพุทธศากยบุตร รุ่นที่ ๑ จำนวน ๕๐ รูป เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
และกราบขอบพระคุณในความเมตตาเป็นอย่างสูง คณะสงฆ์จากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร นำโดย พระเดชพระคุณพระปัญญาวชิราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร, พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร และ พระครูสิริวิหารการ เมตตาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจคณะสงฆ์พุทธสถานฮ่องธรรม และให้กำลังใจสามเณรโครงการบรรพชาสามเณรพุทธศากยบุตร “ฮ่องธรรม ฮ่องคำอิสาน” ในการ “ฝึกฝนกาย พัฒนาจิตใจ สร้างบุญบารมี”
จึงขอนำมาร้อยเรียงเรื่องราวผ่านธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร แห่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ซึ่งมีเนื้อหาบอกเล่าความสำคัญของการบวชเรียนในพระพุทธศาสนา อันเป็นหลักสูตรชีวิตที่ควรจะนำไปบรรจุลงในหลักสูตรเสริมทุกระดับชั้นการศึกษา เพื่อให้เด็กชาย เด็กหญิง เยาวชนทั้งชายและหญิง ตลอดจนหนุ่มสาว ได้มีโอกาสบวชเรียนในช่วงปิดภาคฤดูร้อนทุกปีจนกว่าจะจบปริญญาตรี
กับคณะแม่ชี ซึ่งเป็นชาวจีนที่มาบวชเนกขัมมะในประเทศไทยเป็นเวลา ๑ เดือนในปีพ.ศ.๒๕๕๘
ทั้งนี้ โดยผู้หญิงก็สามารถบวชเป็นแม่ชี หรือ รักษาศีล ๘ เป็นธรรมจาริณี ได้เช่นกัน แล้วจะพบว่า การฝึกตนตามรอย พระพุทธเจ้า เป็นพุทธสาวก และพุทธสาวิกาเเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ปีละหนึ่งเดือน หรือ ๒๐ วัน หรือ ๑๐ วันนั้นมีคุณค่าต่อชีวิตมากมายมหาศาลที่จะก่อให้เกิดสติปัญญาในการรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ สามารถดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางที่ตนเองเลือกอย่างรับผิดชอบ มีความสุขสงบเย็นใจไปตลอดเส้นทาง และนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น Spiritual Wisdom Power พลังทางจิต ทางวิญญาณ ทางปัญญาญาณ ที่จะช่วยให้ผู้คนตื่นรู้อย่างแท้จริง ช่วยชาวโลกให้ออกจากทุกข์ใจได้อย่างมีเหตุผลในปัจจุบันและอนาคต
“การบวชจึงเป็นการศึกษาที่สามารถพัฒนาคน
ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้”
“ฝึกฝนกาย พัฒนาจิตใจ สร้างบุญบารมี”
จึงขอนำเนื้อหาในบรรพ์แรกของธรรมนิพนธ์ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร มาเป็นกำลังใจในการก้าวเดินบนเส้นทางสู่ความพ้นทุกข์นี้ ต่อไป
“การบวช คือ การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่”
ความกตัญญูเป็นหลักธรรมประจำใจที่สำคัญที่คนไทยยึดถือ หากมีโอกาสในชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่ง สิ่งที่จะให้ตกหล่นหายไปไม่ได้ คือการแสดงความกตัญญู และความกตัญญูสูงสุดสำหรับลูกผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาควรทำ คือ การมีโอกาสบวชในพระพุทธศาสนา
การทำได้เช่นนี้ ชื่อว่าได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอย่างสมบูรณ์ จัดได้ว่าเป็นบุตรที่ประเสริฐ เพราะยกบิดามารดาสู่มรรคาแห่งสวรรค์ ในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกบุตรไว้ ๓ ประเภท ดังนี้
(๑) อวชาตบุตร ลูกเลว
ลูกที่ไม่ทำหน้าที่ของลูกต่อพ่อแม่เหมือนลูกคนอื่นๆอวชาตบุตรเกิดมาเพื่อล้างผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ ทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูล แม้พ่อแม่จะเจ็บปวดทุกข์ระทมใจเพราะพฤติกรรมของลูกเช่นนี้ แต่เพราะรักลูกจึงไม่กล้าแม้แต่จะว่ากล่าวตักเตือน หรือทำโทษ แม้ลูกจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็พยายามปกป้องลูก
(๒) อนุชาตบุตร ลูกที่ทำหน้าที่ของลูก
ลูกที่ไม่ทำให้พ่อแม่ทุกข์ร้อนใจตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอน มีความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ตามหน้าที่ของลูกที่พึงกระทำต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ เมื่อมีความผิดพ่อแม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำโทษตามความ ผิดก็น้อมรับด้วยความเชื่อฟัง
(๓) อภิชาตบุตร ลูกที่ประเสริฐ
ลูกที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ของลูก ด้วยการเชื่อฟังคำสอน
เลี้ยงดูพ่อแม่ ด้วยความกตัญญูเท่านั้น แต่ยังนำพ่อแม่เข้าสู่ทางทางแห่งสวรรค์ด้วย
ความกตัญญูที่บ่งบอกถึงความเป็นอภิชาตบุตรนั้น ได้แก่คุณค่าแห่งจิตใจที่งดงามอ่อนโยนงดงาม ไม่แสดงอาการก้าวร้าวรุนแรงต่อผู้มีพระคุณทั้งความคิด คำพูดและการแสดงออกทางกาย รู้จักคุณความดีที่ท่านทำแก่ตนแล้วจดจำใส่ใจไว้ ตระหนักนึกอยู่เสมอถึงคุณความดีนั้น ไม่ลบหลู่ ไม่ดูหมิ่นดูแคลน ไม่เหยียดหยาม ไม่เสแสร้งแกล้งทำ มีความอ่อนน้อมโดยธรรมชาติ เมื่อมีโอกาสก็ตอบแทนด้วยสำนึกในพระคุณนั้น
ความกตัญญูนี้เองเป็นมงคลสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิต คนเรามักมองข้ามมงคลอันหาประมาณมิได้คือความกตัญญูนี้ไปไขว่คว้าหามงคลจากที่อื่น เขาย่อมผิดหวังอยู่ร่ำไป เพราะชีวิตอย่างชาวบ้านไม่มีมงคลใดจะอำนวยประโยชน์แก่ลูกๆ ได้อย่างสมบูรณ์เท่าความกตัญญู
บางคนน่าสงสาร เที่ยวกราบไหว้ต้นไม้ จอมปลวก ภูผา เทวรูป ก้อนหิน ฯลฯ โดยหวังที่จะให้เกิดมงคลสุขสวัสดิ์แก่ชีวิต แต่ไม่เคยกราบไหว้พ่อแม่ของตน เพราะเหตุที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ทราบว่าพ่อแม่ผู้มีพระคุณเป็นมงคลสูงสุดสำหรับตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ความสุขสวัสดีจะเกิดแก่ตัวเราได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสิ่งที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิตคนเราไว้ ๓๘ ประการ หนึ่งในมงคล ๓๘ ประการนั้น คือ “ความเป็นผู้กตัญญู” รู้จักเลี้ยงดูบิดามารดา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า
“มาตาปิตุ อุปัฏฐานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง”
แปลว่า
“การเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นมงคลสูงสุด”
ถ้าขาดความกตัญญูเสียอย่างแล้ว อย่าได้หวังว่าชีวิตจะมีมงคล
คำว่า “กตเวที” คือ การแสดงออกว่าตนเป็นคนกตัญญู หรือการตอบแทนคุณความดีของผู้มีพระคุณ เมื่อผู้ใดทำอุปการคุณแก่เราแล้วก็พยายามหาทางตอบแทนคุณเมื่อมีโอกาส เช่น ลูกๆได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่จนเติบโต มีสติปัญญาประกอบสัมมาอาชีพมีรายได้เป็นหลักฐานแล้ว ก็เลี้ยงดูพ่อแม่เพื่อสนองพระคุณท่านตอบแทน โดยพื้นฐานจิตใจแล้ว พ่อแม่ไม่ต้องการอะไรจากลูก แต่เป็นภาระโดยหน้าที่ของลูกที่จะต้องทำ ทำเพราะความเป็นลูกซึ่งไม่มีคำอธิบายมากไปกว่าเป็นการแสดงความกตัญญู มิใช่ทำเพราะพ่อแม่อยากให้ทำ หรือทำตามค่านิยมของสังคม
โดยมากคนมักคิดกันว่าเลี้ยงดู คือการให้ข้าวปลาอาหาร ให้สิ่งของเท่านั้นก็ถือว่าเลี้ยงแล้ว จะชื่อว่าเลี้ยงต้องเลี้ยงทั้งกายและใจ เพราะบางคนพ่อแม่แก่แล้วให้กินข้าวปนน้ำตาก็มี ความจริงเขาก็เลี้ยงด้วยข้าวปลาอาหาร แต่ก็มีคำพูดหรือกิริยาทิ่มแทงให้เจ็บใจ คนแก่ก็เลยต้องกินข้าวกับน้ำตา เรียกว่าเลี้ยงกายแต่ไม่ได้เลี้ยงใจ ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงการเลี้ยงพ่อแม่ไว้ ๒ ประการ คือ
· เลี้ยงกาย ได้แก่ การให้ข้าวปลาอาหารเครื่องใช้สอย โดยตระหนักนึกความกตัญญูที่มีต่อท่าน
ด้วยคิดว่าพ่อแม่แก่แล้ว หมดเรี่ยวแรง หากินเองไม่ได้ต้องอาศัยเรา และท่านเป็นพระอรหันต์ของเรา เป็นอรหันต์ในบ้าน เป็นพระในบ้าน ปฏิบัติต่อพระภิกษุอย่างไรจงปฏิบัติต่อพ่อกับแม่อย่างนั้น กราบพระภิกษุด้วยใจอย่างไรจงกราบพ่อแม่ด้วยใจอย่างนั้น อธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์อย่างไร จงอธิษฐานขอพรจากพ่อแม่อย่างนั้น อย่าดีแต่ทำกับพระภิกษุ อย่าดีแต่ทำกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้อีกว่า ทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากที่สุด ส่วนทำบุญกับคนธรรมดา การทำบุญกับพ่อกับแม่ได้บุญมากที่สุด ปฏิบัติบำรุงให้ท่านมีความสุขด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เมื่อป่วยไข้ก็หาหยูกยารักษาโรคให้ท่าน พ่อแม่ที่แก่ตัวก็หวังพึ่งลูก ถ้าไม่พึ่งลูกก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร
ลูกๆ จึงควรตระหนักในการเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มาก ยิ่งอายุมากยิ่งต้องเอาใจใส่ นึกให้เห็นด้วยใจว่าคนแก่ทำอะไรเองไม่ได้ หาอยู่หากินเองไม่ได้ คนแก่ต้องการกำลังใจอายุยิ่งเหลือน้อย เรี่ยวแรงยิ่งนับวันมีแต่จะหมดตามอายุจะอาศัยใครถ้าไม่อาศัยลูก ลูกให้กิน ก็ได้กิน ลูกไม่ให้ ก็ไม่ได้กิน
· เลี้ยงใจ ได้แก่ การทำให้ท่านเกิดความสบายใจ ไม่สร้างปัญหา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านเกิดความไม่สบายใจเป็นทุกข์ใจ ซึ่งเป็นการเลี้ยงใจแบบสามัญทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีเลี้ยงใจแบบที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ คือ หล่อเลี้ยงจิตใจท่านให้เจริญงอกงามด้วยธรรมพยายามหล่อเลี้ยงจิตใจของพ่อแม่ให้ท่านสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม เช่น พ่อแม่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนาเราปลูกศรัทธาให้งอกงามไพบูลย์ในใจท่านท่านไม่มีการรักษาศีลก็ชักชวนให้มีโอกาสได้รักษาศีล ท่านไม่มีการสละวัตถุสิ่งของทำบุญให้ทานก็ชักชวนให้มีโอกาสได้ทำบุญให้ทานท่านไม่มีปัญญาก็ชักชวนให้ท่านเกิดปัญญา บางครั้งนำท่านไปทำบุญให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามโอกาส ถึงวันเกิดท่านก็ชวนไปตักบาตรหรือทำบุญวันเกิดให้ท่านครั้งหนึ่ง เป็นต้น
การเลี้ยงอาหารใจดังกล่าวนี้พระพุทธองค์ ตรัสเรียกว่า อภิชาตบุตร หมายถึง ลูกที่ดีที่ประเสริฐ เพราะสามารถให้ทรัพย์ที่ประเสริฐแก่พ่อแม่ได้ ลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่ ด้วยข้าวปลาอาหารและเครื่องใช้สอยต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติภายนอกนั้นมีมาก เพราะทำได้ง่ายแม้จะเลี้ยงกายให้มีความสุขไม่ให้ลำบากเดือดร้อน พ่อแม่ยังมีโอกาสไปอบายภูมิ แต่ที่ให้ทรัพย์ที่แท้จริงได้นั้นมีน้อยเพราะลูกที่ปิดประตูอบายภูมิให้พ่อแม่นั้นทำได้ยาก เช่น ชักนำพ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนาให้เกิดศรัทธา ไม่มีศีลมีธรรมชักชวนให้มีศีลมีธรรม ไม่มีการทำบุญให้ทานเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ก็ชักชวนไม่ให้เป็นคนตระหนี่ ให้รู้จักทำบุญให้ทานเป็นการหยิบยื่นสวรรค์ให้ ทำเช่นนี้ทำได้ยาก หากลูกคนใดทำได้ก็เป็นลูกที่ประเสริฐ พระพุทธองค์ตรัสเรียกลูกเช่นนี้ว่า อภิชาตบุตร
ทรัพย์ที่แท้จริงนี้ไม่ว่าจะเป็นในชาติใดภพใด จะตามไปช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้ลำบากเดือดร้อนตลอด
คนไทยแต่โบราณจึงถือว่าการบวชเป็นการตอบแทนอย่างสูงสุด เพราะถือว่าเป็นการจูงมือพ่อแม่ออกจากมุมมืดคืออบายภูมิเข้าสู่มรรคาแห่งสวรรค์
ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญและจำเป็นแก่มนุษย์อย่างยิ่ง เพราะเป็นคุณธรรมที่สร้างสรรค์มนุษย์ให้เป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้าและช่วยพยุงสังคมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกๆ ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความกตัญญูเช่นไร จงปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนด้วยความกตัญญูเช่นนั้น เพราะเราปฏิบัติกับพ่อแม่ของตนอย่างไร แล้วจะได้รับการปฏิบัติตอบจากลูกๆ ของเราอย่างนั้นเช่นกัน หากเราปฏิบัติต่อพ่อแม่ของเราด้วยความกตัญญู ลูกๆ ของเราก็จะจำเป็นแบบและปฏิบัติต่อเราด้วยความกตัญญูเช่นกัน ตรงกันข้ามหากเราปฏิบัติไม่ดีกับพ่อแม่ ก็จะได้รับการปฏิบัติไม่ดีเช่นนั้นตอบจากลูกของตน นี่เป็นความอัศจรรย์ของความกตัญญูและอกตัญญู บางคนคร่ำครวญว่าทำไมลูกเราไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนลูกคนอื่น แต่เขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเราเองเคยปฏิบัติกับพ่อแม่เช่นนั้นบ้างหรือเปล่า
ความกตัญญูเป็นสายใยที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างแน่นแฟ้น หากขาดความกตัญญูสายใยที่เชื่อมความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกก็ขาดสะบั้นลง และหากสังคมขาดความกตัญญูกตเวที คนทุกคนไม่มีความสำนึกในบุญคุณและตอบแทนบุญคุณของท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน จนถึงขนาดลูกเนรคุณได้ก็เท่ากับว่าเขาได้ฆ่าตนเองให้ตายจากความดี
ลูกไร้ความกตัญญูอย่าได้หวังว่าจะสามารถพอกพูนคุณความดีอย่างอื่นให้เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นในจิตใจได้ อย่าได้หวังว่าเขาจะทำความดีอย่างอื่นได้ และจะทำให้ชีวิตเขาบกพร่อง กลายเป็นคนมีจิตใจต่ำ หยาบกระด้าง ก้าวร้าว น่าขยะแขยง มีแต่ความเห็นแก่ได้ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า
“สำหรับคนอกตัญญูแล้ว แม้จะให้แผ่นดินทั้งหมด
ก็ไม่สามารถทำให้คนอกตัญญูพอใจได้”
ภาษาบาลี ว่า
“อะกะตัญญุสสะ โปสัสสะ นิจจัง วิวะระทัสสิโน สัพพัญเจ ปะฐะวิง ทัชชา เนวะ นัง อะภิราธะเยฯ”
นอกจากนั้น ความกตัญญู ยังเป็นคุณธรรมที่ท่านใช้เป็นเครื่องวัดระดับจิตใจของคนด้วย ถ้าอยากรู้ว่าคนๆ นั้น มีจิตใจสูงหรือต่ำท่านให้สังเกตที่ความกตัญญูเป็นข้อสังเกตสิ่งแรก
เมื่อคนขาดความกตัญญูซึ่งเป็นคุณธรรมของมนุษย์แล้ว จะต่างอะไรจากสัตว์ อย่างที่ได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า ลูกคนโน้นคนนี้เนรคุณ ฆ่า หรือทำร้ายพ่อแม่ตน ลูกเช่นนี้เป็นมนุษย์เพียงรูปร่าง แต่จิตใจเลวทรามต่ำช้ากว่าสัตว์เดรัจฉาน
พระพุทธองค์แสดงโทษคนอกตัญญูเนรคุณพ่อแม่จนถึงฆ่าว่าเป็น “อนันตริยกรรม” คือ กรรมหนักที่สุด เท่ากับฆ่าพระอรหันต์และทำร้ายพระพุทธเจ้า ประตูสวรรค์ปิดแต่ประตูนรกเปิดรอเขาอย่างเดียว ความกตัญญูกตเวทีนี้จึงเป็นคุณธรรมสำคัญและจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องตระหนักให้มากและนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
นอกจากความกตัญญูกตเวทีจะเป็นเครื่องวัดระดับคุณค่าจิตใจมนุษย์แล้ว ยังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้รู้ว่าใครเป็นคนดีด้วย แม้คนรอบข้างก็ตาม เราคิดจะคบค้าสมาคมกับใคร เราก็ต้องการที่จะคบคนดี และเราจะรู้ว่าใครเป็นคนดี ก็ต้องสังเกตสิ่งดีที่มีอยู่ในตัวเขา คือสังเกตความประพฤติดีนั่นเอง ความประพฤติที่พอจะบ่งบอกได้ว่าใครเป็นคนดี และเป็นที่สังเกตได้ง่ายนั้น คือ ความกตัญญูกตเวที คนรอบข้างถ้าอยากรู้ว่าเป็นคนดีหรือไม่ ก็ต้องดูว่าเขาแสดงพฤติกรรมต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณอย่างไร
ถ้าคนใดไม่รู้บุญคุณของผู้มีพระคุณแสดงพฤติกรรมที่หยาบกระด้างก้าวร้าวร้ายกาจ มีวาจาที่เหมือนเข็มทิ่มใจพ่อแม่ พูดกับพ่อแม่ไม่นุ่มนวลชวนฟัง ก็พึงให้รู้ว่าเขายังไม่มีเครื่องหมายของคนดี ควรตั้งข้อสังเกตในการคบค้าสมาคม และอาจเป็นคนไม่น่าคบหาสมาคม
คนที่มีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณและตอบแทนคุณผู้อื่นนั้น เป็นคนดีอย่างแท้จริง เราสามารถคบค้าสมาคมกับคนประเภทนี้ได้ ไม่มีโทษภัยประการใด และเป็นที่มาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ตรงข้ามหากเราไปคบกับคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน และขาดความกตเวที ไม่รู้จักตอบแทนคุณผู้อื่นเป็นผลดีแก่ผู้ที่ไปคบด้วยเลย มีแต่จะนำโทษภัยมาให้ และเป็นที่มาแห่งความพินาศล่มจมในที่สุด เพราะคนอกตัญญูมีเสนียดในตัวเอง
คนที่มีความกตัญญูนั้น เป็นผู้มีสิริมงคลในตัวโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิริมงคลจากที่ไหนมาเสริม เขาย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในหน้าที่การงานโดยธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ที่มีดินน้ำ ปุ๋ย และอากาศดีพร้อม ย่อมมีความเจริญงอกงามออกดอกออกผลโดยธรรมชาติ
ตรงข้ามหากบุคคลใดขาดความกตัญญู มีความประพฤติเนรคุณต่อผู้อื่น ย่อมประสบความวิบัติอย่างน่าประหลาด เพื่อนฝูงมักห่างหาย ไม่มีผู้เคารพนับถือ ในเบื้องแรกพี่น้องร่วมท้องเริ่มทำตัวเหินห่าง ต่อมาญาติใกล้ชิด ตลอดจนคนรู้จักมักคุ้นเริ่มห่างหาย เช่น ลูกเนรคุณพ่อแม่ ศิษย์เนรคุณต่อครูบาอาจารย์ เขาเหล่านี้หาความเจริญไม่ได้ แม้ดูเหมือนว่าเจริญก็เพียงเพราะกรรมยังไม่ได้ช่อง แต่เมื่อใดกรรมได้ช่องก็จะตกต่ำในเบื้องปลายกลายเป็นหนักสองเท่า ที่เบาก็กลายเป็นหนัก ที่หนักก็ยิ่งหนักมากยิ่งขึ้น เขาจะถูกสาปแช่งว่าเป็นคนชั่วช้าเลวทรามไม่รู้คุณคน
สำหรับผู้ที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญและเป็นผู้มีความก้าวหน้า ที่ดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อถึงคราวเคราะห์ ที่หนักก็จะกลายเป็นเบา เพราะผลของเกราะแก้วคือความกตัญญูของตนนั่นเอง
คุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวทีคุณธรรมสำคัญของมนุษย์ เป็นเครื่องหมายเชิดชูมนุษย์ให้เป็นคนดี ผู้ใดมีความกตัญญูกตเวที ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าไม่ตกต่ำ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป และผลของความกตัญญูกตเวทีนี้ ยังเป็นอานุภาพปกป้องคุ้มครองเขาให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ได้ด้วย เพราะคุณบิดามารดามีค่ายิ่ง จึงควรกตัญญู ๕ สถาน
บุตรธิดาผู้มีความกตัญญู เมื่อหวนระลึกถึงพระคุณของบิดามารดาที่ได้ทำแก่ตนตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาสถาน ๕ ดังนี้
(๑) ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบโต พึงเลี้ยงพ่อแม่ให้เป็นสุข ถึงคราวท่านเจ็บป่วย ลูกๆ พึงตั้งใจรักษาพยาบาลท่าน
(๒) ทำกิจการงานท่านแสดงความกระตือรือร้นขวนขวายช่วยกิจการงานของพ่อแม่ กิจการงานใดที่พ่อแม่กระทำ หรือที่ท่านใช้ให้ทำ ลูกๆ มีความสามารถจะช่วยเหลือท่านได้ก็พึงกระทำ เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพ่อแม่
(๓) ดำรงวงศ์สกุล เกิดในตระกูลใดพึงดำรงตระกูลของตนมิให้เสื่อม อย่าให้ใครดูหมิ่นตระกูลของตนได้ ควรพยายามทำตระกูลของตนให้เป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป ทำให้คนยกย่องเชิดชูตระกูลของตนให้ได้
(๔) ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้ใจได้ว่าจะสืบทอดสมบัติของตระกูลได้ ลูกๆ ผู้สมควรรับทรัพย์มรดกของพ่อแม่ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี น่าไว้ใจ ละเว้นจากอบายมุข ละเว้นจากการดื่มเหล้าเมาสุรา คือทำตนให้น่าไว้ใจได้ว่า เมื่อรับสมบัติของตระกูลแล้วจะรักษาไว้ได้ ไม่ล้างผลาญเสียหมด
(๕) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน พ่อแม่ผู้มีความกตัญญูกตเวที ในเมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้ว ควรทำบุญให้ท่าน อุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านตามกำลังความสามารถของตน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ลูกๆ ควรนำไปปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนเอง ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้รู้คุณและตอบแทนคุณของพ่อแม่
ชีวิตที่ดำเนินไปภายใต้โลกที่งดงาม อบอุ่นด้วยความห่วงใย เอื้ออาทร ท่ามกลางความอ่อนโยนของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ตลอดจนญาติพี่น้องคนที่รักทั้งหลาย ชีวิตเช่นนี้งดงามควรค่าแก่การจดจำ มีผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พ่อแม่” ร่วมกันสร้างเพื่อลูก ชีวิตเป็นของเรา และเราสามารถทำความดีมากมายเพื่อพ่อกับแม่ด้วยตัวเราเอง แต่ถ้าเลือกได้ น่าจะเลือกทำให้พ่อกับแม่ ได้เห็นผ้าเหลืองของลูกชาย ภายใต้ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา ในขณะที่พ่อกับแม่ยังมีโอกาสได้เห็น
การบวชเพื่อพ่อกับแม่เมื่อท่านจากไปโดยไม่มีโอกาสรับรู้ จะมีประโยชน์อะไร