จากการทำหนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท สู่ สารคดีชุด “ปกาเกอะญอ…นักบุญแห่งขุนเขา” โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส
แสงแรกแห่งศรัทธา
“แสงแรกแห่งศรัทธา” … บทแรกของหนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ได้เล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้
สู่สารคดีสั้นๆ อันงดงาม …
“ปกาเกอะญอ นักบุญแห่งขุนเขา”
สารคดีชุด “ปกาเกอะญอ นักบุญแห่งขุนเขา” จัดทำเป็นตอนๆ โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส
https://www.youtube.com/channel/UCgN539G9QLZqWSAivR_Jdvg
จริยธรรมแชนแนล ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ และอาศรมพระบัณฑิตอาสา บ้านดอกแดง ต.บ่อสลี อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ในช่อง Youtube iPONG CH https://www.youtube.com/watch?v=MlyquXSI2Tc ขอเชิญทุกท่านรับชม คลิก
“งานนี้จึงเป็นการเสริมงานที่เป็นประโยชน์ต่อ ชาวบ้านที่อาศรมบ้านดอกแดง จากโครงการ เยี่ยมพระพบปะโยม ที่พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเยี่ยมพระและชาวบ้านถึงที่นี่ ก็เป็นกำลังใจให้กับพระที่ทำงานอยู่ตรงนี้ เรียกว่า เข้าใจหัวอกเดียวกัน“
“โดยในวันแรก ก็ออกเยี่ยมชาวบ้าน แจกสิ่งของจำเป็นกัน และในวันที่สองก็เยี่ยมชมโครงการสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งชาวบ้านได้บอกว่า สัจจะออมทรัพย์ ทำให้รู้จักเก็บออม แม้จะเป็นเงินไม่มาก แต่ สัจจะออมทรัพย์สอนให้มีสัจจะ” พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ กล่าว
จากการทำงานของพระบัณฑิตอาสาที่อาศรมบ้านดอกแดง สู่การเดินเท้าของพระธรรมทูตจากภาคใต้ขึ้นเยี่ยมการทำงานของพระธรรมทูตภาคเหนือ ในโครงการ “เยี่ยมพระพบปะโยม” ที่ให้กำลังใจพระธรรมทูตอาสาในพื้นที่อย่างเข้าใจหัวอกของการทำงานจิตอาสาด้วยกัน จากหนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
บทแรก…
แสงแรกแห่งศรัทธา
จากหนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
ใกล้ถึงวันธรรมสัญจร เยี่ยมพระ พบปะโยม ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูง แบ่งปันน้ำใจคนบนดอย ในจังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๑๒ -๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้นั่งคุยกับพระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส เราคุยกันถึงเรื่องราวต่าง ๆ นานา ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นจนถึง ๖ ทุ่ม เรื่องส่วนใหญ่ที่คุยกันก็เป็นการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิธีคิด มุมมองในการทำงาน จนในที่สุดก็มาจบลงที่ความคิดอยากจะเผยแพร่การทำงานของพระสงฆ์ในพื้นที่ห่างไกลถิ่นทุรกันดารในรูปแบบของภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว
ผู้เขียนได้ยินดังนั้นก็พูดขึ้นว่า “เอาสิ เราไปบนดอยกัน ไปที่อาศรมของพระอาจารย์รูปหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านก็ให้ทีมจริยธรรมแชนแนล (สื่ออาสา) ถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายภาพเคลื่อนไหว ส่วนผมจะเขียนเรื่องเล่าการเดินทางนำเสนอ เราก็จะได้งานทั้งสามส่วน” ท่านก็ตอบตกลงอย่างไม่ต้องคิด
คำถามเกิดขึ้นว่า แล้วเราจะเริ่มอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าแสงแรกแห่งศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว ก็เลยนำแนวคิดไปปรึกษาครูบาอาจารย์ ท่านก็บอกว่า ได้สิทำเลย เราจึงเริ่มโทรศัพท์ไปสำรวจเส้นทาง สำรวจอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม กำหนดวันเดินทาง ตั้งชื่อโครงการ วางแผน คิดหาวิธีการที่จะได้ทุนมาดำเนินการ ทุกอย่างก็ดำเนินการไปเรื่อย ๆ ตามกำลังที่เราจะทำได้ เพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมาย หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ได้
ใจหนึ่งของผู้เขียนก็อยากจะเสนอไปที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะสนุก เพราะการทำงานของพระธรรมทูตอาสาในพื้นที่ก็มีความน่าสนใจ แต่น่าจะเป็นไปไม่ได้ ครั้งนี้ก็เลยถือโอกาสนิมนต์พระธรรมทูตอาสาจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย เหตุผลที่ผู้เขียนเสนอสถานที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามวิถีการจาริกบุญ จารึกธรรมของพระมหา ดร.ฐานันดร เขมปญฺโญ เพราะเคยได้ยินประวัติ และเห็นการอุทิศตนในการเรียน การทำงานเพื่อบ้านเกิดของท่าน แล้วทำให้เกิดความศรัทธา
ด้วยความรักในสถาบันพระพุทธศาสนา ตระหนักถึงการคุกคามของวัฒนธรรมสมัยใหม่ต่อแผ่นดินบ้านเกิด ท่านจึงได้ตัดสินใจหันหลังให้เมืองหลวงที่ได้เคยมาอยู่อาศัย ศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แล้วเดินทางกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปกป้อง และพัฒนาผืนแผ่นดินบ้านเกิด โดยได้ร่วมกับเพื่อน ๆ สหธรรมิกในท้องถิ่น บุกเบิกและก่อตั้งอาศรมพระธรรมจาริก ทำหน้าที่เผยแผ่บนพื้นที่สูง แต่ท่านก็ไม่ได้ทิ้งการเรียน นั่งรถไป-กลับ ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบปริญญาเอก
นับเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ที่ท่านได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ กิจกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนบ้านเกิด และการสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้แก่ชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ห่างไกลบนพื้นที่สูง เช่น โครงการบรรยายธรรมะสัญจร โครงการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา โครงการบวชป่า โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี โครงการสัจจะออมทรัพย์ของชาว ปกาเกอะญอ เป็นต้น
ก่อนที่ผู้เขียนจะโทรไปปรึกษาการทำกิจกรรมในพื้นที่ และสอบถามความต้องการสิ่งของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในการทำกิจกรรมกับพระอาจารย์ท่าน ก็มีความกังวลอยู่พอสมควร เพราะมีเวลาเตรียมการน้อย กลัวไม่มีสิ่งของอะไรจะไปทำกิจกรรมกับชาวบ้าน แต่พอได้พูดคุยกับท่านแล้ว ท่านก็เล่าให้ฟังว่า การที่เราไป เราไม่ได้เน้นไปที่การมอบของช่วยเหลือ แต่เราไปเพื่อดูวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ มีโอกาสก็ให้ธรรมะ ของที่เราแบ่งปันก็เพื่อเป็นสะพานเชื่อมญาติโยมเข้าหาธรรม ก็ทำให้คลายความกังวลลงไปบ้าง
ท่านเล่าให้ฟังถึงวิธีการที่เราจะจาริกบุญ จารึกธรรมไปตามอาศรมและชุมชนต่าง ๆ เราจะไม่ใช้วิธีการรวมชาวบ้าน เราจะไปเยี่ยมแบบธรรมชาติ ไปตามบ้านที่มีคนเฒ่าคนแก่ เจอผู้ป่วยติดเตียงก็ไปนั่งพูดคุยสนทนาธรรม เรามีผ้าขนหนูสักผืน มียาหม่องสักขวด ก็มอบให้ พาไหว้พระสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา เราไปเจอคนรองเท้าขาดก็มอบให้ เราจะได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของเขา
เราไปที่โรงเรียนก็ไปทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ เข้าฐานธรรมะ เสร็จแล้วก็มอบอุปกรณ์การเรียน มอบขนมเป็นของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ประมาณนี้ ในช่วงเย็น ๆ เราก็ไปพักที่อาศรม ทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา บรรยายธรรม สนทนาธรรมกับชาวบ้านที่มาร่วมสวดมนต์ ตอนเช้าก็ออกรับบิณฑบาต สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน
ในส่วนของอาศรม เราก็จัดเตรียมเครื่องไทยธรรมแห่งละ ๑ ชุด พร้อมกับถวายบำรุงค่าน้ำค่าไฟช่วยท่าน เป็นการให้กำลังใจพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ในการเผยแผ่บนพื้นที่สูง แล้วเราก็จาริกบุญ จารึกธรรมไปเรื่อย ๆ ตามที่เรากำหนด
สำหรับหมู่บ้านที่จะไปก็มี ชุมชนบ้านแม่ริด ชุมชนบ้านแม่สวรรค์หลวง อาศรมบ้านแม่ปูน ชุมชนบ้านแม่แอบ ชุมชนบ้านผาแดงใต้ อาศรมบ้านผาแดงใต้ อำเภอแม่สะเรียง ชุมชนบ้านแม่เอาะ ชุมชนบ้านอุดาเหนือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนบ้านดอกแดง ชุมชนบ้านอมลอง อำเภอฮอด และชุมชนบ้านแม่ลอง อาศรมบ้านแม่ลอง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ระยะทางก็มีทั้งใกล้และไกล ชุมชนที่ใกล้สุดก็ประมาณ ๓ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง ผู้เขียนได้ยินก็ตกใจ ทำไมใช้เวลานานจัง พระอาจารย์ท่านบอกว่า ส่วนใหญ่ชุมชนหมู่บ้านที่ไปจะเป็นเส้นทางไต่ไหล่เขา วิ่งเร็วไม่ได้ ถ้าพลาดมาก็ลงเหวกัน ก็ทำให้พอจะนึกภาพออก ทำไมถึงวิ่งเร็วไม่ได้
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ทีมงาน (มี ๒ รูปแต่ก็ขอเรียกทีมงานก่อน) ก็ได้มาวางแผน เตรียมเขียนรายการ ทำโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์สิ่งของที่เราต้องการจะไปแบ่งปันว่ามีอะไรบ้าง อาทิ ๑. ยาหม่อง ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวน ทำไร่ ทาแล้วจะได้หายปวดหลัง หายปวดเอว ๒. รองเท้า ต้องเป็นร้องเท้าดาวเทียม ถึงจะทน ชาวบ้านใช้เดินขึ้นเขาจะได้ไม่ขาดง่าย ๓. ผ้าขนหนู มอบให้คนเฒ่าคนแก่ ๔. อุปกรณ์การเรียน ขนม ของขวัญมอบให้เด็ก ๆ ๕. วิทยุ รุ่นเสียบยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ตอนแรกก็สงสัยทำไมต้องเป็นเสียบยูเอสบีได้ พระอาจารย์ท่านบอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกปาเกอญอ ที่ผ่านมาผมบรรยายธรรมเป็นภาษาปกาเกอะญอแล้วบันทึกใส่แฟลชไดรฟ์ไว้ เวลาเดินทางไปไหนเจอครอบครัวไหนที่สนใจก็มอบให้ เครื่องเดียวฟังได้ทั้งครอบครัว
หนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร สนใจหนังสือติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร โทร. ๐๘๖-๗๖๗-๕๔๕๔
และติดตามสารคดีชุด “ปกาเกอะญอ…นักบุญแห่งขุนเขา” โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ที่ช่อง Youtube iPONG CH