“กรรมฐานตัดกรรมได้จริง?
หรือว่าทำให้เบาบางลง
แต่ในที่สุด เราก็ต้องใช้กรรมอยู่ดี”
ปุจฉา-วิสัชนา กับ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
วิสัชนา โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
“การพิจารณา กรรมฐาน
ในฐานะที่เป็นอุบายสงบใจได้แก่
สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
คือกรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา
โดยกรรมฐานทั้ง ๒ นี
้ แง่หนึ่งเป็นไปเพื่อความดับทุกข์”
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
คำว่า ดับทุกข์ ในที่นี้อาจจะนิยามได้ว่า ไม่ใช่เป็นการดับทุกข์ประจำสังขารร่างกาย กล่าวคือ ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้เกิดทุกข์ ความร้อน ความหนาว ความเจ็บป่วย การแก่ ล้วนเป็นทุกข์ ซึ่งความทุกข์นั้นไม่สามารถดับได้ด้วยการเจริญกรรมฐาน แต่การเจริญกรรมฐานเพื่อดับความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ หรือเรียกว่า ทุกข์ทางใจ
“ฉะนั้น ในแง่ของกรรมก็มีลักษณะเดียวกัน
“กรรม” เป็นชื่อที่อธิบายเจตนา (กิเลส)
การกระทำ (กรรม)
และผลของการกระทำ (วิบาก)
ผู้ที่ทำกรรมย่อมมีผลกรรมตามมาทั้งทางกายและใจ
การห้ามกรรมและผลกรรมนั้นไม่มีใครห้ามได้”
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
แต่หากจะทำให้เบาบางลงได้ เช่นเดียวกับการที่พระนาคเสนอุปมาให้พระยามิลินท์ฟังว่า ระหว่างคนที่รู้ว่าไฟร้อนกับไฟไม่ร้อน ใครจับจะร้อนกว่ากัน คำตอบคือคนที่ไม่รู้จับเพราะจะจับเต็มกำลัง การที่เราพิจารณาว่า คนไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกรรมแล้วทำจะต้องทนทุกข์มากกว่าคนที่รู้ เพราะคนที่รู้จะหลีกเลี่ยงหรือรู้ว่าจะทำอย่างไรจะหลีกเลี่ยงการทำกรรมเหล่านั้นได้
“การเจริญกรรมฐาน
จึงเป็นการสร้างปัญญาให้เข้าใจความจริงว่า
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีที่สุด”
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
“กรรมที่ทำแล้วในอดีตแม้จะให้ผลก็เป็นเรื่องปกติ แต่การปฏิบัติกรรมฐานเป็นไปเพื่อผลที่จะมีในอนาคต ไม่ใช่ลบล้างผลที่มีในอดีต เพียงแต่ทำให้ผลของปัญญานั้นจะช่วยทำให้ผู้ที่ได้รับผลกรรมนั้นจะไม่ทุกข์ใจไปตาม“
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
กรรมที่ทำแล้วในอดีตแม้จะให้ผลก็เป็นเรื่องปกติ แต่การปฏิบัติกรรมฐานเป็นไปเพื่อผลที่จะมีในอนาคต ไม่ใช่ลบล้างผลที่มีในอดีต เพียงแต่ทำให้ผลของปัญญานั้นจะช่วยทำให้ผู้ที่ได้รับผลกรรมนั้นจะไม่ทุกข์ใจไปตาม แม้จะทุกข์กายบ้างก็ตาม หรือในอีกแง่หนึ่ง ก็เหมือนในขวดน้ำที่มีน้ำสีดำอยู่ในขวด หากเราเติมน้ำสะอาดลงไปก็อาจทำให้น้ำดำนั้นค่อยๆ สีจางลงได้ แต่หากจะให้น้ำนั้นสะอาดทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้
การที่เราเชื่อว่าเราจะแก้กรรมด้วยวิธีการต่างๆ จึงเป็นวิธีการเยียวยาจิตใจของคนให้ดีขึ้นทำให้เกิดพิธีกรรม เช่น ลอยบาป, สารภาพบาป, สะเดาะเคราะห์ ให้ตนเองรู้สึกบริสุทธิ์และห่างไกลจากผลกรรม หรือการทรมานตนเองให้รับทุกข์เพื่อให้วิบากกรรมของตนเองหมดสิ้นไปไว้ ได้กลายเป็นวิธีที่ถูกนำมาพิจารณาให้กับคนที่ทำบาปมาแล้วเชื่อว่าตนเองสามารถลบล้างสิ่งเหล่านั้นได้ แต่…
“กรรมฐานที่เราทำได้ไม่ใช่การลบล้างสิ่งที่ทำไปแล้ว แต่เป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่ดีหรือเป็นกุศลให้เกิดขึ้น และให้ได้ปัญญาในการเข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นต่อไป”
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
กรรมฐานตัดกรรมได้จริง? หรือว่าทำให้เบาบางลง แต่ในที่สุด เราก็ต้องใช้กรรมอยู่ดี : ปุจฉา-วิสัชนา กับ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ