จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐)

“มรดกอันล้ำค่าจากบรรพชน “

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระเจดีย์สุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง) บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระเจดีย์สุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง) บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

        เมื่อสัปดาห์ก่อน สนทนากับนักศึกษา ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนามนุษย์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บนพื้นฐานของสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์

        เนื้อหาที่เล่าให้นักศึกษาฟัง และชวนให้พวกเขาคิดตามไปด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับท่าทีที่ควรมีต่อพระพุทธศาสนา เมื่อเข้ามาวัด ที่ตอนนี้เรียกได้ว่า อยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ ต้นโพธิ์ต้นใหม่ จะเติบโตแข็งแรงหรือไม่เพียงใด ก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะสานต่อไป ในวันนี้และวันข้างหน้า

 พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ผู้เขียน  (ปีพ.ศ.๒๕๖๐)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน (ปีพ.ศ.๒๕๖๐)

        เมื่อเข้ามาวัดก็ให้เรียนรู้ว่า สิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่เห็น แม้จะเสมอเป็นเพียงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ แต่ก็เป็นวัตถุที่แฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณประกอบศรัทธาอันบริสุทธิ์ของผู้สร้างซ่อนอยู่ทุกอณู

        ท่านเหล่านั้นไม่มีความลังเล เคลือบแคลง สงสัยในพระศาสนา ลงมือสร้างด้วยศรัทธาที่หนักแน่น มั่นคง ทั้งหมด คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากจิตสาธารณะอันประเสริฐของบรรพชน

        วันนี้พวกเรามาเรียนรู้การบริการสาธารณะ การสร้างวัดของบรรพบุรุษไทย จนเกิดวัดกว่าสามหมื่นวัดทั่วประเทศ เป็นแบบอย่างการบริการสาธารณะของบรรพชน บ่งบอกถึงจิตที่เป็นสาธารณะอย่างแท้จริง โดยไม่ผ่านกระบวนการศึกษา แต่จิตเช่นนี้ถูกหล่อหลอมขึ้นจากศรัทธาอันบริสุทธิ์ ท่านเหล่านั้นมองการสร้าง คือ ประโยชน์ที่จะเกิดแก่ส่วนร่วม และอยากให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้สัมผัสความร่มเย็นแห่งพระศาสนาเช่นกับที่ท่านได้สัมผัส

        เราจึงเห็นคนในชุมชน ในหมู่บ้านตามชนบทบริจาคอิฐคนละก่อน ทรายคนละถังปูนคนละกระสอบ กว่าจะเกิดวัดแต่ละวัดขึ้นในหมู่บ้านของตน

        นี่คือความหมายของ คำว่า จิตสาธารณะอันบริสุทธิ์ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ถาวรวัตถุ

        เพราะคำนึงถึงประโยชน์สองด้าน ได้แก่ อัตตประโยชน์ คือ ประโยชน์ตน และ ปรหิตตประโยชน์ ประโยชน์ส่วนรวม เมื่อได้ทำตามคำสอนพระบรมศาสดา ตนเองก็สุขใจ สบายใจ แช่มชื่นใจ ว่า ความเป็นชาวพุทธ สิ่งที่ควรทำเราก็ได้แล้ว และสิ่งนั้นก็ได้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย

        เช่นเดียวกับนักศึกษาในวันนี้ พวกเรากำลังทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ คือ การศึกษาเล่าเรียน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มาปัดกวาดทำความสะอาดวัด ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ ก็ชื่อว่า ได้ทำประโยชน์ทั้งสองด้าน

        เมื่อลงมือทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความเชื่อมั่นว่า เราได้ทำสิ่งที่ควรทำแล้ว จะเกิดความสงบเย็นภายในใจ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็ยิ่งจะมั่นคงขึ้น เป็นอจลศรัทธา ซึ่งจะทำให้ชัดเจนในแนวทางการสานต่อพระพุทธศาสนาไปสู่อนาคต ที่มีรากฐานอันมั่นคงจากอดีต

        ขอให้พวกเราจงเรียนรู้การเสื่อมสลายของพระพุทธศาสนา จากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เพราะนั่นคือ บทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับชาวพุทธฯ

พระเจ้าตากสินมหาราช ภาพวาดในศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระเจ้าตากสินมหาราช ภาพวาดในศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

        ดังเช่น ภาพวาดพระเจ้าตากในศาลาหลังนี้ พระองค์ยืนมองย้อนกลับไปยังอาณาจักรศรีวิชัยทางตอนใต้ของเรา แล้วมองกลับไปยังอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว และมองไปยังบังคลาเทศ อัฟกานิสถาน คาซัคสถาน จนถึงอาณาจักรศรีวิชัย แถบนั้น พระพุทธศาสนาไม่เหลืออยู่แล้ว

        หันมาดูอีกภาพ ซึ่งเป็นฝั่งประเทศไทย เจดีย์ยอดแทงเสียดฟ้า โบสถ์ วิหารแต่ละหลังตระการตา สิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดจากศรัทธาของบรรพบุรุษไทยเรา ที่มีความรัก ความหวงแหนในพระพุทธศาสนา ช่วยกันคุ้มครองอุ้มชู ปกป้อง ให้เป็นมรดกที่ไม่ธรรมดา คือ ทั้งล้ำค่า ทั้งวิเศษ ให้อยู่คู่กับแผ่นดินไทยของเรา

        ขอให้พวกเราหลับตา แล้วมองย้อนจากภาพพระเจ้าตาก ที่กำลังยืนมองย้อนกลับไปในอดีต พระองค์นำทหารต่อสู้ เหนื่อยยาก ให้เราช่วยกันคิดดูว่า พระองค์ท่านสู้เพื่ออะไร ทหารบาดเจ็บล้มตายไปเท่าไหร่ เหนื่อยยากสายตัวแทบขาด เลือดหยดลงบนแผ่นดินไทยมากมายเพียงใด

        เมื่อพระองค์กอบกู้แผ่นดินคืนมาได้สิ่งที่พระองค์ทำหลังจากกอบกู้แผ่นดินมาได้ และบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ก็คือ ทรงถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา ดังพระราชปณิธานของพระองค์ที่ว่า …

        อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก

ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา

ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา

แด่ศาสนา สมณะ พุทธโคดม

       ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี

สมณะพราหมฌ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม

เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม

ถวายบังคม แทบบาท พระศาสดา

       คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า

ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา

พระพุทธศาสนาอยู่ยง คู่องค์กษัตรา

 พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กันฯ

        ดังนั้น เมื่อพวกเราคิดถึงพระองค์ท่านเมื่อใด พระองค์ก็อยู่กับเรา เพราะกรวดทรายทุกเม็ด หินทุกก้อน เป็นผืนดินที่พระองค์ทรงเหยียบย่างไป เป็นลมหายใจของพระองค์ และลมหายใจของพระองค์ ก็เป็นลมหายใจเดียวกับที่เราสูดเข้าไปทุกวัน เป็นลมหายใจเดียวกับที่พระองค์ทรงต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งแผ่นดินนี้

“มรดกอันล้ำค่าจากบรรพชน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here