จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก  วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)  โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ
จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

รียนรู้ปฏิปทาพระสุปฏิปันโนผู้เดินตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า …

“ไม่ตาย ไม่เลิกทำความดี”

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒)

จาริกบ้านจารึกธรรม 

 โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

       ผู้เขียนได้พูดคุยกับ พระครูปลัดสุพัน สุวณฺโณ ในฐานะที่เป็นพี่เป็นน้อง เป็นครูบาอาจารย์ เป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ย้อนไปประมาณ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ผมได้เจอกับพระครูประโชติฯ หรือ ท่านหว่าง ที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำใส อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ๗ วัน ก็เจอกันที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำใส เรียกได้ว่า สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำใสเป็นที่พบเจอและเป็นที่จากลา

ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๘ ผมเดินทางมาหาหลวงน้าที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำใส แล้วก็ได้พบท่านหว่าง พอพบแล้วก็เลยชวนท่านไปร่วมงานค่ายพุทธบุตร ท่านบอกว่าผมไม่มีความรู้อะไร ผมจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ผมก็บอกไปเถอะช่วยอะไรได้ก็ช่วย พอไปค่ายท่านก็จัดเตรียมที่ล้างจานยกกะละมัง ลากสายยางเปิดน้ำใส่เตรียมที่ล้างจานสำหรับเด็ก มีความตั้งใจสูงมาก พูดอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่เป็น ท่านบอกว่า ขอทำอะไรสักอย่างที่ได้สอนเด็ก คือเริ่มต้นท่านยังพูดไม่เป็น ยังทำอะไรไม่เป็น เวลาแนะนำตัวเองก็พูดน้อยแล้วก็ยิ้ม มีคำหนึ่งที่ท่านพูดตลอดเวลาแนะนำตัวเองคือ “ไม่ตาย ไม่เลิกทำความดี”

คำพูดนี้ ไม่ตาย ไม่เลิกทำความดี คือ ทั้งหมดในชีวิตของท่าน

ท่านทำดีเป็นแบบอย่างให้ทุกคนเห็นตลอดชีวิต ทุกเรื่องราวในชีวิตของท่าน ท่านพูดแล้วจะจบลงด้วยการกระทำ ท่านพิสูจน์ตนเองได้ทั้งหมด ท่านได้ทำหน้าที่ของพุทธบุตร ลูกของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ จนวาระสุดท้ายของชีวิต

วันนั้นท่านทำวัตรเย็น สวดมนต์เจริญจิตภาวนาเสร็จ จีวรสังฆาฏิก็ยังไม่ได้ถอด เดินลงมานั่งสนทนาธรรมกัน ณ ตรงที่จุดเกิดเหตุ พูดคุยปรึกษากันถึงเรื่องงานปิดทองฝังลูกนิมิต จนคำพูดสุดท้ายของท่าน “มันมาอีกแล้ว” แล้วเสียงปืนก็ดังขึ้น

พูดถึงเรื่องความแน่วแน่แห่งจิตของท่าน ถือว่าท่านผ่านได้ทุกเรื่อง

มีครั้งหนึ่งที่ได้ชวนกันพิสูจน์จิตใจตนเอง เพราะเหตุนึกถึงพระพุทธเจ้า หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว พระองค์เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ ก็เลยตกลงกันเจริญรอยตามพระพุทธองค์ปฏิบัติธรรมสร้างบารมี สร้างปณิธานในใจ ด้วยการอดฉันอาหาร ฉันแค่น้ำ ไม่ต้องมากพระพุทธองค์ ๗ สัปดาห์ เราแค่ ๗ วันพอ เมื่อตกลงกันแล้วก็ไปสร้างที่พักเล็กๆ หน้าถ้ำน้ำใส ปฏิบัติธรรมกันที่นั่น นั่งสมาธิ นั่งดูใจตัวเอง จนครบ ๗ วันตามที่ตั้งใจไว้ พอครบเจ็ดวันแล้วอาหารที่เราเคยฉันว่าอร่อย เหม็นหมด ฉันไม่ได้ ฉันได้แต่ข้าวต้มกับเกลือ

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒) พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒) พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ารปฏิบัติธรรมครั้งนั้น คือการพิสูจน์ใจตัวเองด้วยกัน จนความเป็นพี่เป็นน้องเป็นเนื้อเดียวกัน มีอะไรก็แนะนำกันในฐานะกัลยาณมิตร ท่านจะเรียกผมว่า พี่เจ้า (ภาษาใต้คำว่า พี่เจ้า คือการแสดงความนับถือ คนที่อายุมากกว่า บวชก่อน) เวลาเรียกกันก็จะใช้คำธรรมดาเป็นกันเอง ผมก็จะเรียกท่านว่า น้องหว่าง เพราะท่านเป็นน้อง ๓ พรรษา แม้ท่านจะเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะตำบล เป็นเจ้าคณะอำเภอ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม

หลังจากที่ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอเคยไปเยี่ยมท่าน การปฏิสันถารต้อนรับท่านเสมอต้นเสมอปลาย ท่านเดินก็มาต้อนรับบอกว่า คิดถึงพี่เจ้าๆ ขอกอดทีหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ท่านทำเป็นประจำไม่ได้ขาด คือกิจวัตรการไหว้พระสวดมนต์ ท่านจะไม่เลี่ยง ถึงเวลาท่านก็ทำ ทุกครั้งที่มาเยี่ยมท่านก็จะชวน พี่เจ้าทำวัตรกัน

ช่วงที่ทำงานค่ายพุทธบุตรได้สักพักหนึ่งก็ส่งเสริมกันให้ได้พัฒนาตนเอง ผมเป็นคนบอกท่านเองว่า น้องหว่างน่าจะไปเรียน เรียนรู้บ้างไม่รู้บ้างก็ไม่เป็นไร ท่านเรียนแล้วตั้งใจ จิตใจมั่นคง ไม่ละทิ้งภาระกิจที่ตั้งใจไว้ เริ่มเรียนศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้วก็เรียนปริญญาตรี ศึกษาต่อปริญญาโทจนจบ แต่ปริญญาเอกท่านบอกว่า พอแล้ว เอาเวลาไปพัฒนาอย่างอื่นดีกว่า มีสิ่งหนึ่งที่ท่านพูดบ่อยๆ อยากเรียนบาลี ท่านเคยบอกว่า อยากลาออกจากเจ้าคณะอำเภอ แล้วจะไปเรียนบาลี แต่ผมว่าท่านสำเร็จแล้ว ท่านไม่ได้เป็นมหาเปรียญ แต่ส่งลูกศิษย์ลูกหาจบเป็นมหาเปรียญหลายรูป สิ่งที่ท่านสร้างมาทุกอย่างเริ่มเป็นผลแล้ว

อย่างรูปที่รักษาการเจ้าอาวาสแทนท่านก็เป็นลูกศิษย์ที่ท่านเลี้ยงดูมาด้วยมือ ส่งเสริมให้การศึกษา สอนแบบนี้ ทำแบบนี้ อาศัยความรู้อย่างนี้ แน่นอนแหละทุกอย่างมันอาจจะไม่เหมือนท่าน แต่ท่านสร้างลูกศิษย์ ส่งเสริมให้โอกาสในการพัฒนาตนเอง เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ

ผมได้คุยกับลูกศิษย์ที่เคยเข้ารับอารบรมค่ายพุทธบุตรตั้งแต่ยุคแรกๆ ลูกศิษย์ที่เคยอบรมค่ายพุทธบุตรหลายคนก็ไปเป็นครู เป็นอาจารย์ ทำอย่างไรจะให้กิจกรรมที่ท่านทำอยู่ได้คงอยู่ ไม่ให้หายไปพร้อมกับการจากไปของท่าน อย่าให้มันมืด ทำให้มันสว่างสมชื่อของท่าน ทุกปีที่วัดรัตนานุภาพท่านจะจัดกิจกรรมค่ายพุทธบุตร วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรรษา วันออกพรรษา ท่านก็จะจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรม สวดมนต์เจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพุทธบูชา วันพ่อ วันแม่ ท่านก็พาญาติโยมเจริญพระพุทธมนต์ จุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล เรามาก็ช่วยกันคิด อยากจะช่วยประคับประคองให้กิจกรรมเหล่านี้คงอยู่

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

แม้มาวันนี้ท่านจะไม่ได้จัดเอง ถ้าเราได้จัดอุทิศถวายท่าน จัดในศาลาที่บำเพ็บกุศลศพท่าน ให้ท่านได้นอนฟังอยู่อย่างนั้น ท่านคงจะดีใจ ว่างานที่ท่านสร้างไว้ยังคงมีผู้สืบต่อ

การจัดค่ายพุทธบุตรยืนระยะมา ๒๐ กว่าปีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละรูปก็ได้รับภาระหน้าที่แตกต่างกันไป เป็นพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะปกครอง ท่านหว่างก็ยังจัดตลอด เวลาท่านหว่างจัดที่วัดก็ไปช่วยเหมือนเดิม ผมก็ยังยืนหยัดทำหน้าที่เผยแผ่จัดค่ายพุทธบุตรมาถึงทุกวันนี้ ท่านหว่างก็มาช่วยตลอด เป็นการมาทบทวนความหลัง ชีวิตอุทิศพระพุทธศาสนา ท่านหว่างจะพูดเสมอว่า ในฐานะที่เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า ต้องทำตามพระพุทธเจ้าสอน ทำได้มากทำได้น้อยไม่เป็นไร สอนให้ทุกคนเข้าถึงความเป็นพุทธะ สอนให้เข้าถึงความดีที่เรากราบ เราจะไม่มีวันทรยศต่อพระพุทธเจ้า โดยการไม่ปฏิบัติตามคำสอน

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒) พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒) พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

มีหลายเรื่องที่ท่านหว่างได้ทำแล้วเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ท่านรวมความเป็นหนึ่งของชุมชนไว้ได้ ท่านสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ให้มีความรักความสามัคคีกัน ถือว่าท่านหว่างเป็นพระรูปหนึ่งที่นั่งอยู่ในหัวใจของชาวบ้าน ท่านสร้างวัดให้เป็นวัดของชาวบ้านของชุมชน ในต่างจังหวัดถือว่าท่านสร้างได้ยิ่งใหญ่ เพียบพร้อมสัปปายะ แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับวัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ก็ธรรมดา วัดที่ท่านสร้างทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เปรียบเสมือนกับบ่อน้ำ ที่ไม่ใช่บ่อน้ำในป่าลึก ใสสะอาด แต่ทุกคนไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่เป็นบ่อน้ำอยู่ใกล้ๆ กับหมู่บ้านชุมชน เป็นบ่อน้ำที่ใสสะอาด ทุกคนได้ใช้ดื่มใช้อาบ แก้ความกระหาย ทำให้เกิดความร่มเย็นได้เป็นอย่างดี

เสียงสะท้อนจากคนที่รักที่ศรัทธาในตัวท่าน วันที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ผมได้ไปที่วัด ยายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนวัด กล่าวถึงท่านด้วยความอาลัยรักว่า “ทำไมต้องเป็นท่าน ลูกฉันก็โตหมดแล้ว ให้ฉันตายแทนท่านได้ไหม”

ความดีที่ท่านสร้างนั้นไม่ได้ลับลาหายจากสายใจของชาวบ้านญาติโยม ท่านหว่างเคยพูดเสมอว่า “การที่เราบวชอยู่คนได้พึ่ง อยู่ข้างนอกไม่ได้พึ่ง” ก็จริงอย่างที่ท่านว่า เป็นที่พึ่งทั้งทางกาย ทางใจ เวลาวัดมีอะไรก็ถึงชาวบ้าน ข้าวสารอาหารแห้งเวลามีการทำบุญตักบาตรมากๆ ท่านก็นำมาจัดเป็นชุดมอบให้ชาวบ้านที่มีความลำบาก แจกจ่ายทั่วถึงกัน มีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก ชีวิตท่านมองดูจากวัดแล้วก็เหมือนว่ามีเงินทอง เวลาเพื่อนฝูงมาวัดท่านก็ใส่มือเป็นค่าน้ำมัน พันสองพันบาท น้ำใจของท่าน

วันที่ท่านมรณภาพมีเงินในบัญชีไม่กี่บาท ท่านสร้างอย่างเดียว ทั้งสร้างคนลูกศิษย์ลูกหา ทั้งสร้างศาสนวัตถุในพระพุทธศาสนาดังที่ทราบกัน สร้างอุโบสถ และซื้อที่ดินขยายวัด

เรื่องราวชีวิตของท่านหว่างมีหลายสิ่งหลายอย่างให้ได้ศึกษา ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆเป็นนายพราน ชอบยิงสัตว์ หาปลา ยิงนก ยิงกระรอก พอรู้ว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาปก็เลิก พอเล่ามาถึงตรงนี้ พระอาจารย์ท่านก็บอกว่า พระพุทธศาสนาของเราสอนเรื่องการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทำให้อายุสั้น การที่ท่านหว่างเคยทำอย่างนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อายุสั้นก็ได้ ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒) พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here