เรียนรู้ดูความทุกข์จากความคาดหวังที่มองไม่เห็น จนเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ของเรา
จากการเจริญสติ โดยการเคลื่อนไหว ด้วยความรู้สึกตัว …
ไขทุกข์เปิดใจ
โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย (พระอาจารย์จ๊อดส์ )
โครงการปฏิบัติธรรมแบบการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว วัดนิโครธาราม จังหวัดตรัง ตั้งแต่วันที่ ๖ ถึง ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ระยะเวลาสามวันสองคืน มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติจำนวน ๓๐ คน
วันสุดท้าย โยมผู้หญิงวัยเกษียณอายุท่านหนึ่งตามเพื่อนเข้ามาวัดเพื่อจะมาฟังธรรมะคลายความทุกข์ใจ ผู้เขียนกำลังนั่งสร้างจังหวะอยู่ที่อาสน์สงฆ์
พระครูปลัดทรัพย์ชู มหาวีโร ท่านบอกว่า “มีโยมมาใหม่ให้พระอาจารย์นำพาโยมไปแนะนำเรื่องสติ (ความรู้สึกตัว) เบื้องต้น ด้านนอกหน้าศาลาหน่อยครับ”
ผู้เขียนเดินเข้าไปหาโยมแล้ว เชิญชวนไปนั่งเก้าอี้คุยกันอยู่ด้านนอกศาลาปฏิบัติธรรม ส่วนพระอาจารย์ทรัพย์ชูพาญาติโยมเจริญสติในศาลานั้น ขณะนั้นฝนก็เทลงมาพอดีเข้ากับบรรยากาศเหมาะสำหรับการสนทนาธรรมกันในท่ามกลางสายฝน
พระถามว่า “สบายดีนะโยม”
โยมว่า “ไม่ค่อยสบายหรอกท่าน มันปวดขา ปวดหลังและเป็นเส้นเลือดตีบ เวลาพูดนานๆ มันจะรู้สึกเหนื่อยค่ะท่าน”
พระถามว่า “ป่วยแต่ร่างกายใจยังดีอยู่นะ”
โยมว่า “ ไม่หรอกท่าน ใจก็หนัก คิดไม่ออกสักที มืดมน คิดแล้วคิดอีก ทำให้ทุกข์มากๆเลยค่ะท่าน”
เสียงหายไปสักพักในแววตาอันเศร้าโศกคู่หนึ่งนั้นเห็นได้ชัดเจนมาก น้ำตาเริ่มไหลออกมาทางด้านขวามือโยม ซ้ายมือพระ พลางถามต่อว่า เรื่องมันเป็นอย่างไรเหรอ
โยมว่า “หนักใจเรื่องลูกคนเล็กคิดไม่ตกเลยค่ะ เขาไม่เข้ามาหาไม่ค่อยพูดกับโยม แต่ก่อนเป็นเด็กนิสัยดีเชื่อฟังแม่ทำตามใจแม่ พอโตขึ้นแล้วไม่ค่อยฟังค่ะ แต่ไม่ใช่เขาจะเกเรไปในทางที่ไม่ดียุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนะ เขาจะเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว”
แม่อยากให้ลูกไปทำความรู้จักกับคนทำงานสวนบ้างจะได้คุ้นเคยกัน เพราะแม่ทำสวนอยู่ทุกวันนี้ เพื่อลูกหลานจะได้มีสมบัติไว้ติดตัวบ้าง นี่พอคนสวนเข้ามาหาแล้วกลับเดินหนีไปนั่งอยู่ในรถขับกลับไปบ้านอยู่ในห้องคนเดียว
“ไม่รู้จะทำอย่างไรให้เขามาทำงานที่สวนแต่เขาไม่มา คิดจนหนักหัวแล้วค่ะท่าน”
พระถามว่า “ลูกเขาชอบอะไร”
โยมว่า “ ไม่รู้ว่าชอบอะไรนะ แต่ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว”
พระว่า “ก็เป็นธรรมดา ผู้ชายจะชอบอยู่คนเดียวมีโลกส่วนตัวเขาบ้าง ก็ดีแล้วที่เขาไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด”
โยมว่า “คิดไม่ตกสักทีอยากให้ลูกมาที่สวนบ้างต่อไปเขาจะได้เป็นเจ้าของสวนกับพี่สาวให้มารู้จักคนทำสวนบ้างนี่ไม่เห็นมาหลายวันแล้ว รู้สึกเหนื่อยอ่อนแรงไปหมดเลย เหมือนจะตายให้ได้ หรือ ตายให้ลูกเห็น แต่ก็เป็นห่วงลูกอยู่กินอย่างไร หนักใจ ทุกข์ใจ มืดไปหมด หนีออกมาอยู่ที่สวนลูกก็ไม่มาหาเลยค่ะหลายวันแล้วค่ะ”
พระว่า “คุณโยมทุกข์ใจ มืดมนหนักใจ นอนไม่หลับมีความทุกข์กับลูกคิดมาก อยากให้ดูแลธุรกิจนี่แทนตน แม่ตั้งใจออกจากงานธนาคารมาซื้อสวน ทำสวน จนประสบผลสำเร็จแล้วในอนาคตแม่จะยกมรดกนี้ให้ลูกดูแลทั้งหมดแต่ลูกไม่สนใจ
“แม่ก็มาทุกข์ใจ เพราะความคิดของตนเอง ลูกเขาไม่มาทุกข์ใจกับเรา เพราะลูกเขาไม่มาคิดกับแม่”
ใจเรา เมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตไว้สำหรับลูกแล้ว เป้าหมายจะมีผลออกมา ๒ อย่างเสมอ คือ “ความสมหวัง… ก็ดีใจ ไม่สมหวัง… ก็เสียใจไป”
อันหลังนี่น่าจะทำให้เราเสียใจจมปลักกับมันจนกลายเป็นความทุกข์ใจ หรือใจกำลังป่วย ออกจากความคิดตนไม่ได้ เราต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหนก็ตาม เพราะเราเป็นผู้เลือกเองแล้ว
ส่วนแม่หวังดี ปรารถนาดี มีความรักต่อลูกมันดี แต่รักมากเกินไปมันไม่ดีจะให้ดีต้องรักให้พอดี เดียวจะเข้าตำราที่ว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” แม่ต้องรู้จักปล่อยวางใจให้เป็น ไม่ใช่เอาความอยากของตนไปให้ลูกอย่างเดียว
บางครั้งต้องให้บทเรียนลูกได้เรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับสังคมบ้าง ธรรมชาติของคนเราจะไม่ค่อยอยู่คนเดียว และจะไม่ปล่อยให้ตนเองอด ตายต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดจนได้ เพื่อการดำรงชีพตนผ่านไปให้ได้ในวันหนึ่งๆ
โยมว่า “แม่ของโยมก็เคยสอนวิธีการเลี้ยงลูกว่า มันยากก็ต้องใช้อดทนเป็นหลัก พอโยมมีลูกแล้ว มันยากจริงๆ จะเลี้ยงให้โตและเป็นคนดี นี่เลยเข้าใจอย่างลึกซึ้งคำสอนแม่แล้ว”
พระว่า “ถูก ทุกข์มันเกิดที่ไหน…ที่ใจ…มันก็ต้องดับที่ใจเช่นเดียวกัน ทุกข์เพราะความคิดของตน ที่โยมทุกข์นี่มันเป็นความคิดทั้งหมด ออกจากความคิดไม่ได้ ต้องรู้จักฝึกปล่อยวางความคิดให้เป็น ปล่อยวางแต่ไม่ได้ปล่อยทิ้ง
“ ลูกก็เช่นกัน ที่คิดไปเองก็ทุกข์ใจไปเอง ถึงแม้จะไปอยู่ที่สวนคิดว่าจะหายทุกข์ใจ มันก็ยังหนีไม่พ้น เพราะทุกข์มันเกิดที่ใจก็ให้มันดับที่ใจ ทุกข์มันที่ความคิดก็ให้ดับที่ความคิด”
โยมถามว่า “จะแก้ทุกข์ได้อย่างไร”
พระว่า “แก้ด้วยตัวสติ(ความรู้สึกตัว) เจริญสติให้มาก หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ สอนไว้ว่า “ยาเม็ดเดียวรักษาได้ทุกโรค” เมื่อป่วยกายโรคกายไปให้หมอรักษา ป่วยจิตโรคใจไปให้ธรรมะ (ความรู้สึกตัว) รักษา
วิธีการสร้างสติ(ความรู้สึกตัว)
๑. โยมยกมือขวาขึ้นตีที่เข่าเบาๆ รู้สึกไหม รู้สึกเบาๆ ที่เข่า
๒. ยกมือขวาขึ้นมาแล้วยื่นไปข้างหน้า กำมือ รู้สึกว่ากำไหม แบมือ รู้สึกว่าแบไหม นี่ต้องรู้โดยธรรมชาติไม่เพ่งบริกรรมอะไรเลยว่า กำมือรู้สึกๆ แบมือรู้สึกๆ ไม่ต้องบริกรรม
ให้รู้ชื่อๆ ตามธรรมชาติ เมื่อกายเคลื่อนไหวให้ใจรับรู้การเคลื่อนไหว
๓. นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ข้างใดข้างหนึ่งชิดติดกัน คลึงๆ นุ่มๆ รู้สึกที่นิ้วมันคลึงไปเรื่อย เวลานอนไม่หลับเอาวิธีนี้ไปใช้ได้กับมือซ้ายหรือขวาก็ได้ข้างเดียว เพราะความรู้สึกตัวมันจะชัดกว่าทำสองข้างมันแย่งความรู้สึกกัน
โยมลองทำตาม กำมือ รู้สึกที่มือกำไหม… รู้
แบมือ รู้สึกที่มือแบไหม…รู้
ขณะที่กำมืออะไรกำ…มือกำ…
ถูก…นี่เรียกว่า กาย รูป …
ขนาดที่กำมืออะไรรู้… ใจ…
ถูก… นี่เรียกว่า ใจ จิต ทำต่อกันไปเรื่อยๆ
เวลาที่กำมือแบมือไปต่อเนื่องใจเราคิดเรื่องอื่นไหม… ไม่คิดค่ะ… เพราะใจมันมีที่ทำงานก็เลยไม่คิด มีสติอยู่กับการกำมือแบมือนั้นเอง นี่แหละคือ ตัวสติ หรือ ความรู้สติตัว ให้ทำมากๆ จะเป็นการป้องกันจิตใจเราไม่ให้หลงตัวไปกับความคิดที่ฟุ้งซ่านแล้ว ใช้ชีวิตจะง่ายขึ้น
เวลาที่กำมือแบมือไปต่อเนื่องใจเราคิดเรื่องอื่นไหม… ไม่คิดค่ะ… เพราะใจมันมีที่ทำงานก็เลยไม่คิด มีสติอยู่กับการกำมือแบมือนั้นเอง นี่แหละคือ ตัวสติ หรือ ความรู้สึกตัว ทำให้มากๆ จะเป็นการป้องกันจิตใจเราไม่ให้หลงตัวไปกับความคิดที่ฟุ้งซ่านแล้ว ใช้ชีวิตจะง่ายขึ้นเพราะการเจริญสติเป็นประจำ รู้สึกตัวในขณะที่ทำ พูด คิด ร่วมไปถึงกิจกรรมอิริยาบถย่อยต่างๆ ในชีวิตประจำ ถ้าความรู้สึกตัวมากๆ สามารถตัดความคิดรู้เท่าทันความคิดได้ ก็ไม่ไปทุกข์กับความคิด ชีวิตก็จะมีความสุขเบาสบายใจใจโล่ง
โยมพอจะเห็นทางออกจากความคิดแล้ว มันทุกข์เกิดที่ใจให้มันดับที่ใจ เราต้องปล่อยวางความคิดบ้างแล้วล่ะ เพราะความคิดมันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดความคิดนี่ก็ไม่อยู่กับเราตลอดเวลา เรื่องนี้จบ เรื่องใหม่ขึ้นมาอีกไปเรื่อยๆ เราไปยึดมันไว้ก็เลยทุกข์
“ อ๋อ.. โยมพอเข้าใจแล้ว รู้สึกดีขึ้นแล้ว จะไปเพิ่มสติให้มากขึ้นแล้วจะฝึกปล่อยวางความคิดทำใจให้เป็นกลาง ไม่ว่าสมหวังก็จะไม่ดีใจเกินไป หรือ ไม่สมหวังก็จะไม่เสียใจจนเกินไปต้องยอมความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้ได้”
พระว่า “สาธุอนุโมทนาบุญด้วย…”
เรามีความทุกข์เพราะจิตใจมันไม่รู้เท่าทันความอยาก ความคิดฟุ้งซ่าน กิเลสที่เป็นอวิชชาความไม่รู้มืดมนหนักอกหนักใจ เมื่อเรามีสติ (ความรู้สึกตัว) เท่าทันความอยาก ความคิดฟุ้งซ่าน จากกิเลสที่เป็นอวิชชามาเป็นวิชชาคือผู้รู้ รู้สึกตัว รู้เนื้อรู้ตัว
ฉะนั้น การที่เราจะไขทุกข์เปิดใจได้ด้วยตัวสติ(ความรู้สึกตัว) ยาเม็ดเดียวรักษาได้ทุกโรค(จิตใจ) เมื่อทุกข์ที่กักขังความอิสระทางใจไว้เปรียบเสมือนแม่กุญแจ
ตัวความรู้สึกตัวเอาไขทุกข์เปรียบเสมือนลูกกุญแจ เปิดใจคือ ใจที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ใจเบาสบาย ใจโล่งๆ เพียงแค่นี้ชีวิตก็สุดยอดแล้ว
พระอาจารย์จ๊อดส์
๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒
จากคอลัมน์ ธรรมลิขิต หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒)