ยามเย็นวันนี้ ผู้เขียนรู้สึกไม่ค่อยสบาย เป็นไข้ ก็เลยกินฟ้าทะลายโจรไปสองแคปซูล และดื่มน้ำอุ่นตาม แล้วก็จิบน้ำมะนาวผสมกับน้ำมะกรูดเป็นพักๆ ไม่ลืมที่จะสวดมนต์บท “โพชฌงคปริตร” ตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “พุทธานุภาพ” อานุภาพของพระพุทธองค์ เขียนและเรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) สักพักก็ดีขึ้น จึงลุกขึ้นมาเขียนบันทึกนี้ไว้ เกรงว่า ชีวิตอาจจะไม่ผ่านถึงวันพรุ่งก็เป็นได้ โลกนี้ไม่เที่ยงเลยจริงๆ ยิ่งกว่าความไม่เที่ยงก็คือ ความทุกข์

นอกจากความทุกข์ของสังขารที่เป็นธรรมดาแล้ว ทุกข์ของครอบครัว ทุกข์ของสังคม ที่น่าจะแก้ไขได้ แต่หลายอย่างดูเหมือนว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่อยากแก้ไข… บ่อยครั้งที่ผู้เขียนรู้สึกว่า ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารประเทศ มักคิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว มีเข็มทิศที่ดีแล้ว แต่อาจไม่ได้อยู่บนความเป็นจริงอย่่างรอบด้าน ท่านอาจลืมไปว่า ดีที่สุดนั้น อยู่บนพื้นฐานความคิดอะไร ก็เลยตั้งตัวอยู่บนความเที่ยง แต่ทว่า ความจริงนั้นไม่เที่ยง มีแต่คำสั่งทุกอย่างลงมาเป็นแนวเดียว ให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ความตาย จึงรออยู่เบื้องหน้าคนเล็กๆ มากมายที่ไม่กล้าพูด กว่าปี สองปีสามปี สี่ปี ห้าปี หกปี เจ็ดปีแล้ว ที่คนมากมายตกงาน เป็นหนึ้เป็นสิน แต่บ่นไม่ได้ หลายคนยอมตายไปกับความเงียบ ปล่อยให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติพี่น้อง ร่ำไห้อย่างไม่มีทางออกกับการสูญเสียของบุตรหลานที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ในวัยอันกำลังที่สามารถเป็นพลังให้กับครอบครัวและสังคมได้

ความกดดันที่ท่วมทับจิตใจจนกลายเป็นระเบิดออกมา สารพัดที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยา ได้พรากพลังบริสุทธิ์ไปมากมายนับไม่ถ้วน จนมาถึงยุคโควิดครองโลก การแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ไม่สร้างสรรค์ของผู้บริหารประเทศก็ยังปราากฏอยู่ทุกวัน …น่าเสียดาย ที่ผู้อยู่ในจุดที่มีอำนาจจะแก้ไขได้ กลับไม่เคยฟังคนเล็กๆ และไม่เคยคิดที่จะทำให้ชีวิตเล็กๆ รอดอย่างสง่างาม…ไปด้วยกัน ตามสโลแกนที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่เหลือใครมีชีวิตอยู่แล้ว เมื่อหันหลังไป…

หรือจะคงไว้แต่เพียง

บทสวดบังสุกุลตายที่ว่า…

อนิจจา วต สังขารา : สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

อุปปาทวยธัมมิโน : มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา

อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ : บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

เตสัง วูปสโม สุโข : การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข

แต่จะมีสักกี่คนเล่า ที่จะเข้าถึงบังสุกุลตาย ในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่

หรือว่า ความตาย มันง่ายกว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่าไปแล้วในวันนี้…

พระพุทธเจ้าได้กล่าวพระวาจาสุดท้ายว่า “อย่าประมาท” และทรงมอบพระคาถา “มรณานุสติ” ทุกลมหายใจเข้าออกไว้เป็นอริยทรัพย์แก่ชนรุ่นหลัง

ก่อนลมหายใจสุดท้ายมาเยือน (ไม่รู้เมื่อไร) ผู้เขียนก็ขอสวดมนต์บทนี้ไว้ในใจ (โพชฌงคปริตร) จนกว่าจะหลับ ตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ (ใช่แล้ว คนเราต้องมีพ่อแม่ครูอาจารย์ สำคัญมากจริงๆ ) จึงขอนำบันทึกของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มาฝากเป็นกำลังใจให้กันและกัน

ในวันที่ เราอาจคิดว่า ไม่มีใคร แต่อย่าลืมว่า ลมหายใจที่เรามีนั้น แม่กับพ่อ ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษของเราตลอดสายมอบให้มา และ มันมีคุณค่ามากที่จะทำให้ชีวิตของเรามีพลังขึ้นมา และใช้ลมหายใจที่เหลืออยู่สร้างสรรค์ชีวิตของเราอย่างคนที่มีราก และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจที่จะทำให้เป้าหมายชีวิตนั้นเป็นจริง …จนกว่าลมหายใจสุดท้ายจะมาเยือน

และ ก่อนนอนคืนนี้ เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต มาสวดโพชฌงคปริตร ไปด้วยกัน…

โพชฌงคปริตร : ปริตรแห่งองค์คุณเพื่อการตรัสรู้

จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “พุทธานุภาพ” อานุภาพของพระพุทธองค์
เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ

เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค

พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันเสาร์

(และสวดได้ทุกๆ วัน )

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

 

โพชฌงคปริตร

เป็นปริตรที่โบราณจารย์ นำเอาโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตร คือ มหากัสสปโพชฌงคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌงคสูตร และ มหาจุนทโพชฌงคสูตร มาประพันธ์เป็นคาถาเรียกว่า โพชฌงคปริตร โดยน้อมเป็นสัจกิริยาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดเป็นความสุขสวัสดี

เนื้อความในโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตรนั้น กล่าวถึงองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ

๑. สติ ความระลึกได้

๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม

๓. วิริยะ ความเพียร

๔. ปีติ ความอิ่มใจ

๕. ปัสสัทธิ ความสงบ

๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น

๗. อุเบกขา ความวางเฉย

ความเป็นมาของพระสูตรทั้ง ๓ ปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค

อานุภาพกาารป้องกัน

โพชฌงคสูตรทั้ง ๓ นี้ โบราณาจารย์ได้นำมาประพันธ์เป็นคาถาสำหรับเจริญภาวนา โดยน้อมเป็นสัจกิริยา เพื่อให้พระปริตรเป็นธรรมโอสถ บังเกิดพุทธานุภาพขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้อันตรธานไป เกิดเป็นความสุขสวัสดี ภายหลังได้เกิดความนิยมว่า เมื่อเจ็บป่วยไม่สบายก็จะสวดโพชฌงคปริตร ซึ่งเป็นทั้งโอสถ เป็นทั้งพุทธมนต์

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเจ็บป่วยเป็นไข้หนักก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดโพชฌงคปริตรให้ฟัง หรือไม่ลูกหลานจะสวดให้ฟังก็ได้ แม้ในงานทำบุญอายุ พระสงฆ์ก็จะสวดพระปริตรบทนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและให้มีอายุยืน ผู้ไม่ต้องการเจ็บป่วย และปรารถนาความเป็นผู้มีอายุ โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงควรเจริญโพชฌงคปริตรตามแบบอย่างพุทธสาวก

โพชฌงคปริตรนี้ ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์สวดให้ฟังหรือจะให้ลูกหลานสวดให้ฟังก็ได้

ในบทขัดตำนานท่านได้ประพันธ์เป็น คาถาแสดงอานุภาพโพชฌงคปริตรไว้ดังนี้

สังสาเร สังสะรันตานัง สัพพะทุกขะวินาสะเน

สัตตะ ธัมเม จะ โพชฌังเค มาระเสนัปปะมัททิโน

พุชฌิตวา เยปิเม สัตตา ติภะวามุตตะกุตตะมา

อะชาติง อะชะราพยาธิง อะมะตัง นิพภะยัง คะตา

เอวะมาทิคุณเปตัง อะเนกะคุณะสังคะหัง

โอสะถัญจะ อิมัง มันตัง โพชฌังคันตัมภะณามะ เห ฯ

คำแปล

“สัตว์ทั้งหลายตรัสรู้ โพชฌงค์ คือ ธรรม ๗ ประการนี้ใด อันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เป็นธรรมที่กำจัดมารและเสนามาร จึงเป็นผู้พ้นแล้วอย่างยอดเยี่ยมจากภพทั้ง ๓ ถึงพระนิพพาน อันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีภัย เราทั้งหลายจงสวดโพชฌงค์นั้น อันประกอบด้วยคุณตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นทั้งโอสถและเป็นทั้งมนต์ เป็นที่รวมแห่งสรรพคุณเป็นเอนก เทอญฯ”

โพชฌงคปริตร

โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา

วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา

มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา

สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง

คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ

เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง

สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

ปะหี(ออกเสียง ฮี) นา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง

มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

คำแปล

โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗.อุเบกขา ความวางเฉย เหล่านี้เป็นธรรมที่พระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว บุคคล อบรมฝึกฝนให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อพระนิพพาน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลานะ และพระกัสสปะเป็นไข้ ได้ความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองต่างชื่นชมยินดีพระธรรมเทศนานั้น แล้วกลับหายจากโรคทันที ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

ครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเองทรงประชวรไข้ รับสั่งให้พระจุนทะเถระกล่าวโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นถวายโดยเคารพ ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากประชวรนั้นแท้จริง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ฯ

แท้จริงแล้ว อาพาธเหล่านั้นของท่านผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ อันตรธานไปไม่กลับเป็นอีก เหมือนอริยมรรคกำจัดกิเลสลงราบแล้ว ไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่่อฯ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน และเรียบเรียง หนังสือ พุทธานุภาพ จัดพิมพ์โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

“โพชฌงคปริตร” ในโลกแห่งอนิจจัง…เปิดบันทึกของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในวันที่โยมยายจากไป เพื่อเป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่…เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here