วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕
เรียนรู้ศึกษาปฏิปทาพระมหาเถระ
ผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก
“เข้าสู่เมืองกรุง มุ่งเรียนบาลี
เพราะหนทางนี้จะได้พบกับ
คำสอนของพระพุทธเจ้า
กับการเดินทางจากทะเล ขึ้นบก
ด้วยเงิน ๒๐ บาท”
วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
๑๔. เข้าเมืองกรุง มุ่งเรียนบาลี ๑๕.กระเป๋าสตางค์ของโยมพี่สาว
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
๑๔.
เข้าเมืองกรุง มุ่งเรียนบาลี
จากการสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปีแรก ทำให้สามเณรเกี่ยวเกิดความภาคภูมิใจ แม้จะมีสามเณรบวชก่อนอยู่หลายรูป แต่ก็ไม่สามารถสอบผ่านได้ในปีนั้น จึงคิดอยากเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไปอีก
ความรู้ทางธรรมที่ได้เรียนในนักธรรมชั้นตรี มีส่วนเร่งเร้าให้สามเณรเกี่ยวสนใจเรื่องราวของพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น ทำให้อยากรู้เรื่องอื่นๆ มากกว่าที่ได้เรียนในหนังสือนักธรรมชั้นตรี หลวงพ่อพริ้งได้แนะนำสามเณรเกี่ยวว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดถูกบันทึกอยู่ในภาษาบาลี การศึกษาภาษาบาลี จะทำให้รู้พุทธประวัติ ตลอดจนมีความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
สามเณรเกี่ยวเกิดความคิดว่า หากได้เรียนภาษาบาลีตามที่หลวงพ่อพริ้งแนะนำ ก็จะทำให้ได้รู้ธรรมะกว้างขวางยิ่งๆ ขึ้น จึงตั้งใจจะเรียนบาลีไปด้วย
เมื่อตั้งใจที่จะเรียนภาษาบาลี จึงได้บอกความประสงค์ให้หลวงพ่อพริ้งทราบ
หลวงพ่อพริ้งบอกสามเณรเกี่ยวว่า ถ้าต้องการเรียนบาลี ต้องไปเรียนที่กรุงเทพมหานคร เพราะว่า ที่นั่นเป็นศูนย์รวมทุกอย่างของการศึกษา จะเรียนอะไร ก็ไม่เป็นที่ลำบาก
เมื่อสามเณรเกี่ยวทราบความนั้น ก็เกิดฉันทะที่จะเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพมหานคร แต่ในใจยังมีความหวาดหวั่นอยู่ว่า จะไปอยู่กับใคร เรียนกับใคร และอยู่ที่ไหน อย่างไร
เหมือนผู้เป็นพระอาจารย์จะรู้ใจ จึงบอกสามเณรเกี่ยวด้วยความเมตตา ว่า ถ้าต้องการไปศึกษาหาความรู้จริงๆ ท่านจะพาไปฝากฝังสำนักเรียนให้
คำพูดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณาของหลวงพ่อพริ้งนำความปีติยินดีมาสู่สามเณรเกี่ยวผู้รักในการศึกษา พร้อมที่จะฝึกฝนอบรมตนตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ ที่มองเห็นอุปนิสัย และแววตามุ่งหวังที่จะศึกษาหาความรู้ของศิษย์
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าถึงความกรุณาของพระอาจารย์ว่า “กรุงเทพสมัยนั้น ไปมาแสนยาก ตอนนั้น ที่พุมเรียง สุราษฎร์ธานี ก็มีการสอนบาลีอยู่บ้างแล้ว หลวงพ่อพริ้งจะเอาไปฝากเรียนบาลีที่นั่นก็ได้ แต่เพราะหลวงพ่อพริ้งมีความกรุณาสูง ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก ท่านคุ้นเคยอยู่กับอาจารย์มหาเกตุและครูปลัดเทียบ วัดสระเกศฯ จึงพาหลวงพ่อมาฝากเรียนบาลีไกลถึงกรุงเทพ ”
ในเวลาต่อมา สามเณรเกี่ยวจึงได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อยังเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความเมตตานุเคราะห์ฝากฝังให้อยู่กับอาจารย์มหาเกตุ
ต่อมา เมื่ออาจารย์มหาเกตุลาสิกขา ก็ได้อยู่ในการดูแลของพระครูปลัดเทียบ ธมฺมธโร ซึ่งต่อมาท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระธรรมเจดีย์” เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ลำดับต่อจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
๑๕.
กระเป๋าสตางค์ของโยมพี่สาว
ภายหลังเมื่อหลวงพ่อพริ้ง วิปัสสนาจารย์ใหญ่แห่งเกาะสมุย รับสามเณรเกี่ยวไว้เป็นศิษย์โดยการฝากฝังของโยมบิดามารดาแล้ว หลวงพ่อพริ้งก็เมตตาสามเณรเกี่ยวดังหนึ่งบุตร ด้วยเป็นบุตรคหบดีแห่งเกาะสมุย ไม่เคยผ่านความตรากตรำ เกรงจะได้รับความลำบากอันเกิดจากวัตรปฏิบัติแห่งสมณะ อีกทั้งอายุยังน้อยนัก แต่ก็คิดละทางโลกบวชอุทิศชีวิตในพระศาสนา
“ด้วยความที่เกาะสมุยในเวลาโน้น
การจะมีผู้บวชเณรเดินตามเส้นทางแห่งพระอริยสงฆ์
ตั้งแต่อายุยังน้อยก็หายากยิ่ง”
เพราะความที่สามเณรเกี่ยวเป็นคนสุขุมลุ่มลึก ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจสูงอย่างเป็นเอก และเป็นลูกศิษย์ที่ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ทำให้หลวงพ่อพริ้งมองเห็นอัจฉริยภาพฉายอยู่ในแววมุ่งมั่นของสามเณรเกี่ยว หลวงพ่อพริ้งคิดจะส่งเสริมศิษย์ผู้นี้ให้มีความเจริญงอกงามในทางพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นไป ท่านได้บอกสามเณรเกี่ยวให้รู้ว่า ภาษาบาลีเป็นหลักพระศาสนา การจะเรียนบาลีได้อย่างแตกฉาน ต้องเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพ
เมื่อถึงเวลาอันสมควร หลวงพ่อพริ้ง โกสโล ก็ได้พาสามเณรเกี่ยวเดินทางไปศึกษาต่อในกรุงเทพ โดยฝากฝังให้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอาจารย์มหาเกตุและพระครูปลัดเทียบ เพื่อจะได้มีโอกาสก้าวหน้าในพระศาสนา เมื่อหลวงพ่อพริ้งฝากลูกศิษย์แล้ว ก็เดินทางกลับเกาะสมุย
ประกายไฟอัจฉริยภาพแห่งปราชญ์ได้เจิดจรัสอยู่ในความมุ่งหวังของสามเณรเกี่ยวนับแต่นั้นมา แม้เหตุการณ์บ้านเมืองจะไม่อยู่ในสภาพปกติ ข่าวคราวเรือบรรทุกสินค้าที่รับจ้างส่งเสบียงให้ทหารญี่ปุ่นตลอดจนเรือรับจ้างถูกเครื่องบินพันธมิตรทิ้งระเบิดจมลงสู่ทะเล มีให้ได้ยินอยู่เป็นประจำ แต่สิ่งเหล่านี้ก็หาได้ทำให้สามเณรเกี่ยวเกิดความย่อท้อ หวาดกลัว หรือเปลี่ยนความตั้งใจแต่อย่างไรไม่
ก่อนเรือออกจากสมุย โยมพี่สาวเอากระเป๋าสตางค์ใส่ย่ามถวายสามเณรเกี่ยว บอกว่า เอาไว้ซื้อน้ำฉันระหว่างทาง ในกระเป๋าสตางค์มีเงิน ๒๐ บาท แต่สามเณรเกี่ยวก็ไม่ได้ใช้เงินนั้นเลย ยังเก็บเงินนั้นไว้อยู่ในเป๋าเหมือนเดิม เพราะเห็นว่า เป็นเงินที่โยมพี่สาวถวายมา
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า
“พอเรือจะออกจากสมุย โยมพี่สาวของหลวงพ่อ แม่ของอิสระ เอากระเป๋าสตางค์ใส่ย่ามให้บอกว่า เอาไว้ซื้อน้ำระหว่างทาง เปิดออกดู ในกระเป๋าสตางค์มีเงินอยู่ ๒๐ บาท เงิน ๒๐ บาท สมัยโน้น ก็นับว่ามากโขอยู่ แต่หลวงพ่อก็ไม่ได้ใช้ เพราะเห็นว่า เป็นเงินของพี่สาวให้มา ยังเก็บไว้อยู่ในกระเป๋าจนทุกวันนี้ ”
โกอิส (อิสระ พรหมสวัสดิ์) ซึ่งเป็นลูกชายโยมพี่สาวเจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า “ มีอยู่วันหนึ่ง หลังแม่เสียไม่นาน หลวงพ่อสมเด็จฯ เรียกไปพบ แล้วเอากระเป๋าสตางค์เก่าๆ มาให้ บอกว่า โยมพี่สาวเอาใส่ย่ามให้ตอนลงเรือจะมาเรียนที่กรุงเทพ มีเงินอยู่ ๒๐ บาท ยังไม่ได้ใช้ เราเป็นลูกเอาไปเก็บรักษาไว้ ”