เรียนรู้ความตั้งใจ กับความจริงที่จะต้องยอมรับ เมื่อเกิดการผิดหวัง
หากทว่า การที่ได้เรียนรู้สภาวะของจิตใจ ด้วยสติ ความรู้ตัวทั่วพร้อม
ไม่ว่าจะสมหวัง หรือ ผิดหวังนั้นสำคัญกว่า …
เพราะทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ?
เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗”
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องราวของเหล่าเยาวชนว่าที่สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ ว่าจะเป็นอย่างไร ขอเล่าถึงการสร้างวัดป่าไทรงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสาขาที่ ๑๐ ของวัดหนองป่าพง ก่อนที่จะมาเป็นวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้นานาพันธ์บนพื้นที่กว่า ๒๐๐ ไร่ พระครูนิโครธรรมาภรณ์ หรือ หลวงพ่อเอนก ยสทินฺโท ได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านไปนิมนต์พระสงฆ์จากวัดหนองป่าพงให้มาจำพรรษา หลวงปู่ชาก็เลยส่งหลวงพ่อมา เดิมทีวัดยังเป็นสำนักสงฆ์บนพื้นที่เล็กๆ และยังไม่ได้ตั้งชื่อ วันหนึ่งหลวงปู่ชาก็มาเยี่ยมวัด ท่านก็เดินดูวัดก็ไปเจอต้นไทรต้นหนึ่งซึ่งโตกว่า และงามกว่าต้นไม้ต้นอื่นๆ ท่านก็เลยบอกว่าเอาชื่อนี้แหละ วัดป่าไทรงาม” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อเอนกท่านก็พัฒนาวัด และซื้อที่ดินขยายวัดเรื่อยมา
แนวความคิดในการสร้างวัดของหลวงพ่อเอนก ท่านรักต้นไม้มาก ท่านปลูกต้นไม้ วางแผนสร้างวัดให้สัปปายะ สงบร่มเย็น เริ่มจากริมรั้วรอบวัดท่านก็ขุดเป็นคลองให้มีน้ำ รอบนอกท่านก็ปลูกไผ่ ในยามค่ำคืนต้นไผ่ สายน้ำจะเป็นที่กำบังทำให้เสียงรถที่ดังไม่ผ่านเข้ามารบกวนการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณร
ท่านเล่าให้ฟังถึงภาพฝันในการสร้างลานธรรม ท่านอยากจะมีลานธรรมที่อยู่ใต้ต้นไทรที่โค้งเข้าหากัน ท่านเล่าให้ฟังว่า ผมต้องรอเวลาร่วมกว่า ๖๐ ปี กว่าต้นไทรจะใหญ่โต แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาอย่างเช่นทุกวันนี้ องค์พระพุทธรูป ซุ้มประดับก็สร้างด้วยหิน พื้นก็ปูด้วยแผ่นหิน ที่นั่งอาสนะสงฆ์ก็ทำด้วยหิน ธรรมมาสที่แสดงธรรมก็ทำด้วยหิน เวลาเจอแดด เจอฝนก็ไม่ต้องห่วงว่าจะผุพัง เมื่อถึงเวลาใช้ เพียงแค่ทำความสะอาดก็เป็นอันใช้ได้
ทุกอย่างลงตัวด้วยธรรมชาติที่มนุษย์จัดสรร บริเวณวัดไม่มีเจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิ ทุกคนที่เอากระดูกบรรพบุรุษมาไว้ที่วัด มาด้วยความยินดีพร้อมใจที่จะเอาไว้ตามโขดหิน ฝังดิน อยู่กับธรรมชาติ เรียกได้ว่า เมื่อสิ้นลมหายใจแล้ว ดิน น้ำ ลม ไฟ กับคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง คืนสู่ธรรมชาติ ตามความเป็นจริง
ตัดภาพมาที่เยาวชนที่จะได้มาบวชเรียนรู้วิถีสามเณร ในปีที่ ๗ นี้ผู้เขียนกับพระอาจารย์ชูชัย ธีรเมธี ได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมค่ายปลูกปัญญาธรรมร่วมให้กำลังใจผู้เข้าอบรม และคณะผู้ปกครอง ในการคัดเลือกเยาวชนผู้ผ่านเข้ารอบ ๓๐ คน ในโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เฉลิมพระเกียรติ ปทุมธานี (ศูนย์ ๒)
การพบเจอกันครั้งแรก แม้จะยังไม่ได้คุ้นเคย แต่ก็เห็นความตั้งใจของทุกคน วันนั้นจำได้ว่าได้แต่บอกทุกคนว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ เท่ากับทำปัจจุบันให้ดีที่สุด การคัดเลือกเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ การทำเหตุให้ดีเป็นหน้าที่ของเรา ทำดีเยอะๆ ไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตาทุกวัน ทำดีให้เป็นนิสัย
พระอาจารย์ขอให้กำลังใจทุกคน อยากให้ทุกคนเข้ารอบ แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะโครงการคัดเลือกผู้เข้ารอบแค่ ๑๒ คน นั่นหมายความว่า ๑๘ คน ก็ไม่ได้เข้ารอบ ณ วันนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ได้ไปต่อ ไม่ได้สำคัญแล้ว เพราะเราสำเร็จแล้วจาก ๔,๐๐๐ คน เข้ารอบ ๓๐ คน ถ้าได้เข้ารอบ ๑๒ คนก็ถือว่ากำไรของชีวิต ได้เข้ารอบก็ให้ดีใจพองาม ไม่ได้เข้ารอบก็ไม่ต้องเสียใจ คนที่เข้ารอบก็ไม่รู้หรอกว่า ทางข้างหน้าที่กำลังเดินไปนั่นจะเป็นอย่างไร
ทำเหตุให้ดีก็พอ โดยเฉพาะไหว้พระสวดมนต์ อาจจะไม่แน่หรอก เล่าให้ฟังเป็นกำลังใจว่า ถ้าเกิดคณะกรรมการคัดเลือก ดูจากด้านต่างๆ แล้ว บุคลิกภาพ ความสามารถ ความพร้อม ความเรียบร้อย ความสงบ ทุกอย่างมีเท่ากันหมด คะแนนเท่ากัน อาจจะเป็นที่หนักใจของกรรมการก็เป็นได้ และแล้วภาพของเด็กตัวน้อยๆ ที่นั่งทำวัตรสวดมนต์ ทำใจอิ่มๆ ยิ้มๆ ที่ทำวัตรสวดมนต์ แผ่เมตตาทุกวัน ก็ปรากฏขึ้นมาให้คณะกรรมการได้เห็น ใช่เลยๆ คนนี้แหละ
พอเล่ามาถึงตรงนี้เด็กๆ หลายคนบอกว่า กลับไปผมจะทำวัตรสวดมนต์ แผ่เมตตาทุกวัน ผมได้แน่นอน มาถึงตรงนี้ความหนักใจเริ่มจะเปลี่ยนมาอยู่ที่พระอาจารย์แทนคณะกรรมการแล้วนะ แต่ถึงอย่างไรก็หวังว่า คงจะเข้าใจว่า การสวดมนต์ สวดเพื่อสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย ทำให้จิตใจสงบร่มเย็น หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของเทวาและมนุษย์ เป็นอาทิ ไม่ใช่เพื่อจะได้เข้ารอบทุกคน
ได้คุยกับผู้ปกครองหลายท่านว่า ถ้าไม่ได้เข้ารอบก็ไม่เป็นไร ถ้าลูกอยากบวช บวชสามเณรภาคฤดูร้อนตามที่ต่างๆ ก็ได้ หรือจะให้ไปบวชเรียนเลยก็ยังได้ เพราะมหาวิทยาลัยสงฆ์มีสอนถึงปริญญาตรี โท เอก บวชเรียนไปเลย เอ๊ะ คุณพ่อตอนนี้ลูกเพิ่งอายุ ๗ ขวบเองนะ ถึงอย่างไรก็ขอให้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ก่อนค่อยบวชเรียน ถ้าบวชตอนนี้คุณพ่อต้องบวชด้วย จะได้มีคนเลี้ยงดูลูกเณร แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้ทุกครอบครัวโชคดี ใจฟูก็ให้ข่มใจ ใจตกก็ให้ยกใจ
ก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระพี่เลี้ยง พระวิทยากร ณ วัดป่าไทรงาม พระวิทยากรส่วนหนึ่งจากกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ได้ไปกราบอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในฐานะเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติงาน
“เราเป็นใคร สิ่งที่เราทำคืออะไร
อะไรที่ให้เราได้ทำอย่างที่เราทำอยู่ทุกวันนี้
มันคือ ศรัทธาของเราเอง”
คำถามที่อาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ได้ชวนคณะพระอาจารย์กลุ่มเพื่อชีวิตดีงามได้คิด เป็นแนวทางในการทำงานพระศาสนา ที่เราทำไม่ได้เอาไปเปรียบเทียบกับใคร ไม่ได้เอาไปข่มใคร ไม่ได้เอาไปทำลายใคร ที่สำคัญเราทำเพราะความศรัทธาของเรา
มุมหนึ่งของชีวิตพระวิทยากร เราออกจากวัดแต่เช้า เพื่อนพระสงฆ์อุ้มบาตร แต่เราสะพายคอมพิวเตอร์ เดินผ่านกัน ทุกรูปต่างรู้หน้าที่ของตน ทุกรูปต่างภูมิใจในหน้าที่ของตน เราได้แต่คิดว่า ไม่มีรูปที่อยู่วัด เราก็คงไม่ได้ออกมาทำอย่างนี้
ต้องขอบคุณหลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงตาที่ทำหน้าที่ดูแลวัด ทำให้พระหนุ่มเณรน้อย ได้ออกมาทำหน้าที่นอกวัด ต่างคนต่างทำหน้าที่ทดแทนซึ่งกันและกัน หลายคนสงสัยว่าเป็นพระวิทยากรแล้วมีเงิน (มีปัจจัย) จริงๆ ก็มีแต่พอใช้จ่าย ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเรียน การเดินทาง ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายเหมือนกันหมด คงไม่พูดไปให้ยาวความ แต่ที่ยังทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะนึกถึงสิ่งที่เรามีวัดอยู่อาศัย มีคนทำบุญ มีคนใส่บาตร ถวายทาน เพราะเหตุแห่งครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนได้ทำหน้าที่ปลูกฝังความดีงาม สอนเรื่องราวของพระพุทธศาสนาให้คนสมัยโน้นได้ศรัทธา เมื่อคนเหล่านั้นได้มีงานทำ มีครอบครัว ก็ทำให้เขาเหล่านั้นได้นึกถึงพระพุทธศาสนา ถ้าหากครูบาอาจารย์สมัยโน้นไม่ทำหน้าที่ ก็คงไม่มีคนศรัทธาสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
“เป็นพระ อย่างที่พระรูปอื่นไม่ได้เป็น” แวบแรกของความรู้สึกที่ได้ยินคำนี้ ทำให้ภาพหลายๆ อย่างปรากฎขึ้นในความรู้สึก ทำให้นึกถึงชีวิตพระวิทยากร ไม่ได้สุขสบายอย่างที่หลายๆคนคิด ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการเดินทาง ค่ำไหนจำวัดนั่น ไปในบางโรงเรียนมีหมอน ๑ ใบ มีเสื่อ มีผ้าห่มอย่างละ ๑ ผืนให้
เล่ามามากมายจริงๆ อยากจะเล่าถึงประโยคหนึ่งที่อาจารย์เจ้าคุณเล่าว่า การที่เราทำอย่างนี้มันเป็นโอกาสที่เราจะได้ส่งต่อธรรมะ ส่งต่อความดีงาม ส่งต่อความสุข จากร้อยคนอาจจะเป็นพันคน หรือหลายๆพันคน ส่งต่อไปเรื่อยๆ ทำต่อไปชั่วอายุของเรา สิ่งสำคัญมันเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา จากยุคเราส่งต่อถึงยุคของลูกศิษย์ ให้รักษาพระพุทธศาสนาต่อไป จากยุคของลูกศิษย์ส่งต่อไปถึงลูกศิษย์ของลูกศิษย์ต่อไป ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำอะไรเลย ลองนึกดู ใครจะมีโอกาสที่ได้ทำอย่างที่เราได้ทำทุกวันนี้
ที่เล่าเรื่องของการสร้างวัดของหลวงพ่อเอนก การเปิดรับสมัครคัดเลือกเยาวชนที่จะเข้าร่วมในโครงการ การเตรียมตัวของพระพี่เลี้ยง พระวิทยากร ทุกอย่างที่เกิดขึ้นอาศัยความศรัทธา อาศัยกาลเวลา ไม่ใช่เพียงแค่ธรรมชาติ การปลูกต้นไม้ การสร้างป่าให้มีความสมบูรณ์ ความศรัทธาในการอยากบวช ความเพียรพยายามฝึกฝนตนเองในการที่จะเป็นพระพี่เลี้ยง พระวิทยากร ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัย ที่เล่าอย่างนี้เพียงแต่อยากจะบอกว่า การเลือกวัดที่จัดโครงการก็ดี วัดมีมากแต่เพราะอะไรทางโครงการถึงเลือกที่นี่ การคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการก็ดี คนสมัครเยอะ เพราะอะไร ๑๒ คนถึงถูกเลือก การนิมนต์พระพี่เลี้ยงพระวิทยากรก็ดี พระอาจารย์พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เผยแผ่ในประเทศไทยมีเยอะ เพราะอะไรถึงได้มาเจอกัน
ผู้เขียนเชื่อว่า พระพุทธศาสนาไม่มีคำว่าบังเอิญ
เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมทำให้ทุกคนทุกสิ่งอย่างได้มาพบเจอกัน
เป็นความดีงามที่เกิดขึ้นส่งต่อให้กับผู้คนในสังคม
ห่างออกไปจากตัวเมืองอุบลราชธานีราว ๕๐ กิโลเมตรเศษ วัดป่าไทรงามอันเงียบสงบร่มรื่นแห่งอำเภอเดชอุดม กำลังรอคอยที่จะมอบประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ให้แก่น้องๆ เยาวชนทุกคน ติดตามเรื่องราวการบวชของเยาวชนทั้ง ๑๒ คน ในสัปดาห์ต่อไป