จากบทบรรณาธิการ วารสาร “ธรรมมาตา” ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒ กันยายน – ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เขียนโดย อุบาสิกาสุภาวิณี วิบูลย์เขตร์

เดิมทีเบี้ยยังชีพคนชราเพียงเล็กน้อย เป็นเงินบำนาญของประชาชนที่มีอายุครบ ๖๐ ปีขึ้นไป ด้วยการใช้ระบบขึ้นทะเบียนเป็นการยืนยันสิทธิ์ โดยไม่มีเงื่อนไข หรือคุณสมบัติด้านรายได้ ก็คือเป็นระบบถ้วนหน้า มีเพียงการระบุว่า จะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด จากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอยู่ก่อนแล้ว

ก่อนเปลี่ยนผ่านมายังรัฐบาลใหม่ รัฐบาลรักษาการมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเบี้ยยังชีพว่า เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฏหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ซึ่งเป็นการถอยหลังกลับไปสู่ระบบเดิมก่อนที่จะมีระบบถ้วนหน้า คือพิสูจน์ความยากจน แต่อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการประกาศใช้ระเบียบนี้ ให้ยังคงได้รับสิทธิ์ต่อไป

หากการเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นนี้ ผู้สูงอายุล่าสุดที่รัฐเปิดให้ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพ ต้องมีการพิสูจน์สิทธิขอรับเบี้ยยังชีพตามคุณสมบัติใหม่ของการประกาศกระทรวงมหาดไทย

ดังนั้น การไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐจะกำหนดการจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว

จากการเปลี่ยนแปลงก่อนเปลี่ยนผ่านมายังรัฐบาลใหม่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพถูกตัดสิทธิ์ถึง ๖,๐๐๐,๐๐๐ คน จาก ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ คน ที่ได้สิทธิ เนื่องจากกระทรวงการคลังจะเลือกจ่ายเบี้ยยังชีพเฉพาะผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้น้อย) โดยอ้างว่าจะช่วยลดรายจ่ายงบประมาณไปได้เป็นจำนวนมาก

แนวคิดเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้คนชรารู้สึกไม่มั่นคงทางใจกับสวัสดิการของชีวิตเพียงน้อยนิดที่มีอยู่ ทำให้คนชรายิ่งรู้สึกขาดความเชื่อมั่น รู้สึกว่างเปล่า เคว้งคว้างยิ่งขึ้น เมื่อมีวิธีคิดที่จะตัดจำนวนผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามจำนวนที่ได้กล่าวมาข้างต้นจากรัฐบาลรักษาการที่ผ่านมา

ทำไมต้องให้ตัดเบี้ยยังชีพเพียงน้อยนิดทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ของคนชราเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐ ทั้งๆ ที่รายได้ของรัฐก็ต้องกลับคืนสู่สังคมทุกด้านอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม คนชราไม่ใช่ส่วนเกินของสังคม แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขของการรับเงินชราภาพ แล้วยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชน เพียงถ้าต้องการอยากได้เงินเดือนละ ๖๐๐ – ๑,๐๐๐ บาท ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจน ทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐโดยถ้วนหน้า เพราะไม่ว่าคนมีรายได้น้อย หรือรายได้มากก็เสียภาษีให้แก่รัฐเช่นเดียวกัน

เลิกทำให้คนเป็นคนจนได้แล้ว ด้วยการให้สวัสดิการแห่งความจริงใจต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายของทุกคน ให้ เกิดความมั่นคงต่อผู้สูงวัย สร้างงานที่มีคุณค่าต่อชีวิตและจิตใจของผู้สูงวัยหลังเกษียณ ให้เกียรติที่ทุกคนทำงานเสียภาษีส่งรัฐบาลมาตลอดชีวิต และความเป็นจริง ควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุทุกคนให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละวัน ให้สัมพันธ์กับค่าครองชีพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

รัฐบาลควรเลิกทำให้ประชาชนกลายเป็นคนอนาถา ควรวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงคุณค่าของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิอันชอบธรรม งบประมาณส่วนไหนที่มีมากเกินความจำเป็น ก็ควรตัดงบนั้นมาเพิ่มในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกวัยให้มากขึ้น

จึงขอฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่ คงจะไม่คล้อยตามรัฐบาลรักษาการที่ผ่านมา กรุณาคืนคุณค่า และศักดิ์ศรีของความเป็นคน ให้แก่ประชาชน

“เบี้ยยังชีพคนชรา” ควรถ้วนหน้า คืนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคน : อุบาสิกาสุภาวิณี วิบูลย์เขตร์ เขียน

จากบทบรรณาธิการ วารสาร “ธรรมมาตา” ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒ กันยายน – ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

วารสาร “ธรรมมาตา” ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒ กันยายน – ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เพศมารดา มีความสนใจความเป็นบัณฑิตในทางธรรมให้มากยิ่งขึ้น
๒. เพื่อเผยแผ่งานและกิจกรรมของธรรมาศรมธรรมมาตา
๓. เพื่อเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับธรรมาศรมธรรมมาตา
๔. เพื่อเป็นเพื่อนธรรมของผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ธรรมทานมูลนิธิ เจ้าของ
ติดต่อขอรับวารสารได้ที่ สำนักงาน ธรรมาศรมธรรมมาตา (วารสารธรรมมาตา)
อาคารคณะธรรมทาน ๖๘/๑ หมู่ ๖ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๘๔๑๑๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here