คำถามที่มีคำตอบอย่างชัดเจนในชีวิตดเ้วยตัวเราเองถะามและตอบตัวเอง
จะนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน
เราจะก้าวไม่พลาดในแต่ละวันจนกว่าจะถึงเส้นชัย แม้ตอนนี้ยังมองไม่เห็น
ในภาคปฏิบัติ แน่นอนว่าจะต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา
นั่นไม่ถือว่าเป็นการพลาด แต่เป็นการเรียนรู้
และทักษะใหม่ๆ จะเกิดขึ้นเพื่อถากถางทางไปสู่เป้าหมายในที่สุด
…ว่าแต่ว่า…
เคยถามตัวเองไหมว่า “ทำไปเพื่ออะไร”
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
มีเรื่องที่เล่าอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่เพราะชอบเป็นพิเศษ แต่เพราะมีเหตุให้ใช้เรื่องนี้เล่าเพื่อตอบคำถามสำหรับบางคน ที่ทำงานแล้วเกิดอาการหมดไฟ หรือมีเหตุให้รู้สึกท้อแท้ใจที่จะต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิต เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นผิดพลาดจากสิ่งที่คาดคิด
เรื่องมีอยู่ว่า มีคน ๓ คนกำลังก่อกำแพงวัดอยู่ ขณะนั้นก็มีคนไปถามคนที่ ๑ ว่า “กำลังทำอะไรอยู่”
เขาตอบว่า “กำลังทำงานอยู่”
จากนั้นก็ไปถามคนที่ ๒ ด้วยคำถามเดียวกันว่า “กำลังทำอะไรอยู่”
เขาตอบว่า “กำลังก่อกำแพงวัด”
และถามคนที่ ๓ ด้วยคำถามเดียวกันอีกว่า “กำลังทำอะไรอยู่”
คนสุดท้ายตอบว่า “กำลังสืบอายุพระพุทธศาสนา”
งานเหมือนกันแต่แรงจูงใจในการทำงานแตกต่างกัน!
ท่านผู้อ่านลองคิดสิว่า “ใครจะมีความสุขกับการทำงานมากกว่ากัน”
ผู้เขียนเคยสำรวจมาแล้วเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ตอบว่า คนที่ ๓ เพราะดูเป้าหมายของใจยิ่งใหญ่เหลือเกิน แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นภาพลวงตา เราไม่ได้รับรู้ความสุขความทุกข์ของคนทั้งสามจริงๆ
เราไม่ได้ถามเลยว่า คุณมีความสุขกับการทำงานนี้มากน้อยแค่ไหน
คนที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่บางครั้ง อาจจะทุกข์ใจมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่าจะสำเร็จตามประสงค์หรือเปล่า
ผู้เขียนเคยถามทั้งพระและฆราวาสที่ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและเพื่อสังคม ทุกคนตอบแทบจะเหมือนกันว่า “ทุกข์และบางครั้งท้อกับอุปสรรค” แต่เพราะรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ทำให้มีพลังที่จะก้าวต่อไปแม้รู้ว่าอุปสรรคจะขัดขวางมีอีกมากมาย
สำหรับคนที่ตอบว่า “มีความสุขกับการทำงาน” ผู้เขียนก็ถามต่อว่า “ทำงานยังไงให้รู้สึกมีความสุขกับการทำงาน”
ท่านตอบว่า “ทำงานเพื่อทำงาน” มีเป้าหมายแต่ไม่ได้คาดหวัง อยู่กับปัจจุบันของงานบนพื้นฐานของความตั้งใจในขณะที่ทำงาน คนที่มีความสุขกับงานไม่ใช่แค่รู้ว่า ตนเองทำไปเพื่ออะไร แต่รู้ด้วยว่า ตนเองกำลังทำอะไรอยู่
มาถึงตรงนี้เราเริ่มจะเห็นแล้วว่า แค่หนึ่งคำถามไม่อาจจะทำให้เราเข้าใจได้ทั้งหมด เราจึงไม่ควรตัดสินใครหรืออะไรเพียงเพราะเขาตอบคำถามแค่ ๑ คำถาม หรือ แค่แง่มุมเดียวที่เขาสะท้อนออกมา
ตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน บางครั้งเราก็อาจจะต้องตั้งคำถามสำหรับตนเอง ให้หลายๆ คำถามหน่อยว่า กำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ทำนี้เพื่ออะไร ทำอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น และเราควรจะปรับตัวยังไงกับปัญหาที่เกิด?
บางทีคำตอบที่ได้อาจไม่ชัดเจนไปเสียทุกข้อหรอก แต่บางครั้งมันเป็นการได้กลับมาทบทวนในสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ ว่ามัน “ใช่” หรือ “แค่ชอบ” และ เรายินดีที่จะทนปนทุกข์สุขกับสิ่งนี้หรือเปล่า
อยากจะแบ่งปันหลักคิดสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต เพื่อเสริมแรงใจในการทำงานและต่อสู้ชีวิตในวันข้างหน้า หรือว่า เผื่อใครที่กำลังท้อใจในการทำงาน ให้ถามตนเองให้ชัดใน ๓ ข้อต่อไปนี้ เรียกว่า ๓ ค
๑ คุณค่า ตอบตนเองให้ได้ว่างานที่เราทำหรือชีวิตของเรานี้มีคุณค่าอย่างไร เราต้องเห็นคุณค่าของตนเองก่อน เพราะถ้าเราเห็นคุณค่าของชีวิตและสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราจะไม่เรียกร้องการมองเห็นจากคนอื่นมากเกินไป เพราะฉะนั้น คนที่เห็นคุณค่าในตนเองและงานที่กำลังทำอยู่ชัดเจน ต่อให้ใครจะมองไม่เห็นก็จะไม่เป็นทุกข์
๒. ความหมาย ตอบตัวเองให้ชัดว่าอะไรคือความหมายของการใช้ชีวิต และงานที่กำลังทำอยู่ เช่น ความหมายที่แท้จริงของการเป็นข้าราชการคืออะไร? ถ้าข้าราชการตอบชัดเจน ก็จะเป็นข้าราชการที่ดีไม่มีทุจริต ชีวิตของการทำงานก็งดงามมีความสุข หรือ ความหมายของครู คืออะไร ครูที่รู้ชัดในความหมายของความเป็นครู เขาหรือเธอคนนั้นจะมีความหมายต่อลูกศิษย์อย่างยิ่ง
๓. คืนสังคม เราอาจจะเห็นคุณค่าและความหมายของชีวิตตนเองและงานที่ทำแล้ว สิ่งที่จะเพิ่มเติมจากนั้นก็คือ เราได้คืนคุณค่า ความหมายของงานหรือคุณประโยชน์ที่เราทำทำงานนี้มีต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าต้องให้เท่ากันทุกคนนะ แต่การได้ทำอะไรคืนสังคมบ้างนั้น มันเป็นการเติมเต็มคุณค่าและความหมายให้ชีวิต อีกทั้งทำให้การทำงานของเราเต็มอิ่มเองเช่นเดียวกัน
เช่น บริษัทใหญ่ๆ ที่มี CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาได้ตอบแทนสังคมอย่างไรบ้าง และมีคนเด่นดังมากมายออกมาทำงานหรือ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม มันเป็นการตอบโจทย์ชีวิตของตนเองอย่างหนึ่ง
ในทางพระมีคำว่า สัมมากัมมันตะ แปลว่า การทำงานชอบ หรือ การทำงานที่ถูกต้องดีงาม ส่วนใหญ่เราก็จะเห็นการอธิบายไปถึงการเจริญสติวิปัสสนา แต่ว่าในที่นี้ผู้เขียนมุ่งให้เห็นการงานและการใช้ชีวิตในประจำวัน ว่าชีวิตการทำงานของเรานั้นไม่ว่าจะแบบไหนงานอะไร ก็ให้เห็นคุณค่า ความหมายและสุดท้ายสามารถตอบแทนคืนสู่สังคมได้ ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจริญธรรมที่ชื่อว่า สัมมากัมมันตะ เป็นงานที่ไม่เบียนเบียนตนและคนอื่น เพิ่มพูนคุณธรรมให้งอกงาม
ยิ่งถ้าเราเป็นคนทำงานเพื่อสังคม หรือประชาชนด้วยแล้ว ก็อยากให้งานนั้นเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณของเราไปด้วย อย่าให้ยิ่งทำก็ยิ่งเพิ่มพูนอัตตาตัวตน ยึดมั่นถือมั่น หรือใช้มันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนด้วยความหลง ความทุกข์จะเกาะกุมหัวใจ และกัดกร่อนแรงบันดาลใจในการมีชีวิต จนอยากจะเป็นหุ่นยนต์ ทำๆ ไปแต่ไร้ความรู้สึก แล้วเราก็จะตอบตัวเองไม่ได้ว่า ทำไปเพื่ออะไร?