จากบทความเรื่อง “อานาปานสติภาวนา พูดกับผู้เข้าปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกข์นานาชาติ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” โดย คุณเมตตา พานิช : วารสาร “ธรรมมาตา” ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๑ พฤษภาคม -มิถุนายน-กรกฎาคม -สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ : อุบาสิกาสุภาวิณี วิบูลย์เขตร์ บรรณาธิการ

เมื่อตอนหัวรุ่ง เราได้รู้เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธศาสนา เราได้สวดมนต์บทสำคัญ คือ อริยมรรคมีองค์แปด ทางเดินชีวิตของอริยบุคคล มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ


อริยมรรคมีองค์แปด

เมื่อพระพุทธองค์ทรงอธิบายเรื่องอริยมรรค หรือเฉพาะที่สำคัญคือ มรรคองค์แรก สัมมาทิฐิ พระพุทธองค์ได้ทรงยกตัวอย่างการสอน พระพุทธองค์มีตัวอย่างให้เปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จะเปรียบเทียบกับอะไรเมื่อจะสอนสัมมาทิฐิ ทรงชี้ให้มองไปข้างหน้าในเวลาหัวรุ่ง และมองไปข้างหน้าทางทิศตะวันออก แล้วเห็นอะไรในเวลาหัวรุ่ง พระอาทิตย์ขึ้นมา เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมา ก็ทำให้มีแสงสว่างเกิดขึ้นในโลก ในโลกข้างนอก พูดถึงโลกข้างนอกก่อน เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น แสงสว่างของพระอาทิตย์ได้ทำลายเมฆหมอกความมืดมิดในโลกให้หายไป


เมื่อโลกข้างในในตัวเราแต่ละคนมีสัมมาทิฐิเกิดขึ้น ก็ทำให้อวิชชาถูกทำลายไป เมื่อในจิตเราเกิดสัมมาทิฐิอวิชชาในจิต ความโง่ ความไม่รู้ในจิตถูกทำลาย แสงสว่างก็ปรากฏ ชีวิตก็พบแสงสว่าง เป็นทางเดินของชีวิต ในองค์มรรคเริ่มจากสัมมาทิฐิ ในทางเดินของชีวิตไปสู่เป้าหมายที่สูงสุด ไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ หรือสูงสุดของพุทธศาสนา เราเป็นพุทธบริษัท เราควรจะตั้งเป้าหมายชีวิตให้ได้สิ่งสูงสุดที่พุทธบริษัท หรือผู้ที่นับถือพุทธศาสนาควรจะได้รับ

“จงไปให้ถึงชีวิต

เราต้องไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์

ด้วยการปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในองค์มรรค

อริยมรรคมีองค์แปด

เริ่มจากสัมมาทิฐิต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง”

เมตตา พานิช


ถ้าคนในโลกมีสัมมาทิฐิ อะไรเกิดขึ้นกับโลก ปัญหาทั้งหมดในโลกที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หรือที่เรียกว่าวิกฤตการณ์ มาจากคนในโลกไม่มีสัมมาทิฐิ เมื่อไม่มีสัมมาทิฐิ ก็มีสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ เป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อมีมิจฉาทิฐิ ความคิดความเห็นที่ผิด ก็ตั้งเป้าหมายในชีวิตผิดหมดเลย

ชีวิตมุ่งแต่เรื่อง กิน กาม เกียรติ เอาผลประโยชน์ หาความสะดวกสบายแก่ตัวเอง เห็นแก่ตัวจนถึงที่สุด นี่มิจฉาทิฐิ ถ้าโลกมีสัมมาทิฐิก็จะตรงกันข้าม วิกฤตการณ์ต่างๆ ในโลก จะสลายไปหมด สันติภาพของโลกจะเข้ามาแทนที่วิกฤตการณ์ ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ จึงต้องมาก่อนองค์มรรคอื่นๆ


เมื่อพระพุทธองค์จะประชุมคณะสงฆ์ ลงมติในเรื่องใดๆ หมู่สงฆ์จะตกลงกันว่า จะมีข้อปฏิบัติร่วมกันอย่างไร พระพุทธองค์ก็จะประชุมสงก่อน เรามารู้จักสภาของพระพุทธองค์บ้าง ในที่ประชุมประกอบด้วยอริยสงฆ์ ในที่ประชุมนั้นพระสงฆ์นั่งกันอย่างสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย เหมือนกับไม่มีคนอยู่ในที่ประชุม ทุกคนมีสติ มีสมาธิ ประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วตั้งใจที่จะประชุมในเรื่องนั้น ๆ เมื่อมีการลงมติในที่ประชุม พระพุทธองค์ไม่ได้เอาเสียงส่วนใหญ่ ไม่ได้นับจำนวนไหน ข้างไหน เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ในที่ประชุมของอริยสงฆ์ ถือเอาเสียงทั้งหมด มีเสียงคัดค้านเสียงเดียว เรื่องนั้นก็ไม่ผ่าน

สภาของพระพุทธองค์

เราลองคิดดูว่าเป็นอย่างไร สภาลักษณะนี้เป็นอย่างไร มันมีแต่ความสงบ มีแต่ความเป็นมิตรไมตรี มีแต่เหตุและผล ประชุมสภาเสร็จก็รักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่ใช่ออกมาชกต่อยกันข้างนอก หรือบางทีทนไม่ไหวชกต่อยกันในสภา มีในหลาย ๆ ประเทศ ถ้าเรามาดูสภาพปัจจุบัน เปรียบเทียบกับสภาของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตัดว่า สภาจะเรียกว่าสภาได้ต่อเมื่อมีสมาชิกที่ร่วมประชุมเป็นสัตบุรุษ

“มาถึงยุคนี้สมัยนี้ เราหาสัตบุรุษได้ไหม”

ดังนั้น เราจะเรียกการประชุมทุกวันนี้ว่าเป็นสภา ตามความหมายในทางพุทธศาสนา จะเรียกว่าสภาได้ ต้องประกอบด้วยสัตบุรุษ หรือ คนที่มีสัมมาทิฏฐิ

ดังนั้น ประชาธิปไตยจะมีไม่ได้เลย ถ้าคนไม่มีธรรมะ คนดีก็ยอมเลือกคนดี คนพาลก็ย่อมเลือกคนพาล ถ้าคนดีเลือกคนดีเข้ามา มีสัมมาทิฐิ สภาก็จะเป็นสภาที่แท้จริง แล้วแก้ปัญหาทุกอย่างได้จริงประชาธิปไตยก็จะประเสริฐสูงสุด เพราะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ แต่สภาที่เลือกเข้ามาทุกวันนี้ ทุกคนก็ทราบดี ไม่ต้องถามว่านโยบายของพรรคเป็นอย่างไร ไม่ต้องถามแล้ว คำถามนี้ไม่ต้องถาม ถามแต่ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ หนึ่งเสียงจะจ่ายเท่าไหร่ เสนอมาเลย แล้วเราก็ลองคิดดูว่า มันจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

อานาปานสติภาวนา พูดกับผู้เข้าปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกข์นานาชาติ (๑) “สภาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ” โดย คุณเมตตา พานิช

จากบทความเรื่อง “อานาปานสติภาวนา พูดกับผู้เข้าปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกข์นานาชาติ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” โดย คุณเมตตา พานิช : วารสาร “ธรรมมาตา” ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๑ พฤษภาคม -มิถุนายน-กรกฎาคม -สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ : อุบาสิกาสุภาวิณี วิบูลย์เขตร์ บรรณาธิการ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here