ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ อนัตตา ปล่อยวางตัวตนที่ว่างเปล่า ”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑

(ตอนที่ ๖)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)

“ อนัตตา ปล่อยวางตัวตนที่ว่างเปล่า ”

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง 

คราวที่แล้วอธิบายเรื่อง ไตรลักษณ์ในชีวิต ในชีวิตมีไตรลักษณ์ เพราะความจริงแห่งชีวิตคือ อนิจจัง เปลี่ยนแปลงแล้วผ่านเลย เห็นว่าร่างกายเรามันไม่เที่ยง    มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  จากเด็กเป็นหนุ่ม  จากหนุ่มเป็นแก่  ปรวนแปรอยู่เช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด และเพราะมีทุกขัง บีบคั้นจึงเจ็บปวด เห็นว่าชีวิตคนเราเป็นทางผ่านของความทุกข์ การเกิดก็เป็นทุกข์  ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์  ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์   กล่าวโดยสรุป กายของเรานี้แหละ   เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ 

โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)

ฉบับนี้จะอธิบายเรื่อง

อนัตตา ปล่อยวางตัวตนที่ว่างเปล่า

เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรา คิดว่าตัวเราของเรา เป็นลูกเราเป็นหลานเรา แท้จริงแล้ว มันไม่เป็นของเราทั้งนั้น มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง  มีแต่ความว่างเปล่า ลูกก็ ไม่ใช่ของเรา หลานก็ไม่ใช่ของเรา นาก็ไม่ใช่ของเรา สวนก็ไม่ใช่ของเรา ทรัพย์สมบัติกิจการต่างๆ ก็ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง  เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นอนัตตา มิใช่ตัวมิใช่ตน มิใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ที่จะเข้าไปยึดถือว่าเป็นของเรา

แต่ให้นึกว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตเราอย่างไม่ลำบากฝืดเคืองเพราะวันหนึ่งลูกจะจากเราไป  หรือเราจะจากลูกไป วันหนึ่งหลานจะจากเราไปหรือเราจะจากหลานไป  วันหนึ่งเราจะจากทรัพย์สมบัติกิจการต่างๆ ไป เมื่อวันนั้นมาถึงของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ก็ไม่ใช่ของเราแต่จะเป็นของโลกให้คนอื่นครอบครองต่อไป 

แล้วเราจะได้อะไรติดตัวไป  ไม่มีอะไรเลย มามือเปล่า  ไปมือเปล่าด้วยกันทั้งนั้น

เวลาจากโลกนี้ไป ไม่มีใครนำลูกหลาน ไร่นาสาโท ทรัพย์สมบัติไปด้วย  ไม่เคยมีมาในอดีต ไม่มีในปัจจุบันและจะไม่มีในอนาคต  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา  มันเป็นของมีอยู่คู่กับโลกนี้  เป็นสมบัติของโลก  จะเป็นของเราจริงๆ ก็แต่บุญและบาปเท่านั้น บุญเท่านั้นจะไปกับเรา บาปเท่านั้นจะไปกับเรา  จะเกาะติดในจิตวิญญาณของเราตลอดไป

ท่านจึงสอนว่า มีทรัพย์สมบัติให้เอาประโยชน์ ๒ ด้านคือ

ประโยชน์ที่ ๑ ให้ทรัพย์สมบัติได้เกื้อกูลแก่เราและญาติๆ เหมาะสมแก่การเลี้ยงชีพโดยไม่ลำบาก ให้ทรัพย์สมบัติอำนวยประโยชน์สุขอย่างชาวโลกแก่เรา ซึ่งเป็นประโยชน์ในโลกนี้

ประโยชนที่ ๒ ให้ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งเกาะติดจิตใจเรา คือให้ทรัพย์สมบัติเป็นสื่อต่อเอาบุญมาไว้ในจิตใจเรา  ให้สมบัติเป็นส่วนช่วยให้เราได้มีโอกาสพัฒนาจิตวิญญาณให้งดงามขึ้น ได้มีโอกาสทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ตามโอกาสเหมาะสม เพราะบุญ(และบาป)เท่านั้นจะเกาะติดจิตวิญญาณเราไปยังโลกหน้า  ถ้าบุญมากกว่าบาป  จิตใจก็ผ่องใส เมื่อจิตใจผ่องใสรื่นเริงเบิกบานก็ไปที่ดีขึ้นกว่าชาตินี้ตามบุญที่เกาะติดใจนำไป  ถ้าบาปมากกว่าก็ไปเกิดยังที่ที่ต่ำกว่าชาตินี้ ส่วนทรัพย์สมบัติจะอยู่คู่โลก  เป็นสมบัติของคนอื่นต่อไป

คนที่เข้าใจความข้อนี้  จึงใช้จ่ายทรัพย์ไปเพื่อประโยชน์ทั้ง ๒ ประการดังกล่าวข้างต้นเหมือนผึ้งดูดเอาแต่เฉพาะน้ำหวานจากเกสรดอกไม้  เมื่อผึ้งบินไปยังสวนดอกไม้ก็ดูดเอาแต่น้ำหวานของดอกไม้เท่านั้นไป ไม่มีผึ้งตัวใดเอาดอกไม้กลับรังไปด้วย  ผู้ที่เป็นปราชญ์ เข้าถึงศาสนาอย่างถูกต้องควรทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ในโลกอย่างชาญฉลาด และดูดเอาแต่บุญกุศลจากทรัพย์สมบัตินั้น

พระพุทธเจ้าสอนหลักไตรลักษณ์เช่นนี้ ก็เพื่อที่จะให้เราเตรียมตัวรับความไม่เที่ยงของชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน  คนที่เข้าใจธรรมะข้อนี้ เมื่อถึงคราวความเปลี่ยนแปลงตามไตรลักษณ์ผ่านเข้ามาในชีวิต  เช่น ลูกหรือหลานจากไป หรือของรักของชอบใจอย่างอื่นสูญหาย  เขาจะเป็นทุกข์เสียใจก็ไม่นาน

แต่ในที่สุดก็จะทำใจได้ว่า

“ชีวิตนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ชีวิตจริงๆ หาแก่นสารหาสาระที่ควรจะยึดว่าเป็นของเราไม่ ได้จริงๆ ดูอย่างสิ่งที่เรารักมากที่สุดก็ยังจากเราไปได้  คนที่เรารักมากที่สุด ก็ยังจากเราไปลูกที่เรารักมากที่สุดก็ยังจากเราไป หลานที่ เรารักมากที่สุดก็ยังจากเราไป”

คนที่เข้าใจคำสอนว่าด้วยเรื่องไตรลักษณ์  เป็นทุกข์ เศร้าโศก เสียใจก็ไม่นาน แล้วจะทำใจได้  ความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจแผดเผาจิตใจได้ไม่นานก็จะกลับมารื่นเริงเบิกบานตั้งหน้าตั้งตาในการสร้างบุญสร้างกุศลบำเพ็ญบารมีต่อไปอย่างแช่มชื่น ส่วนคนที่ไม่เข้าใจคำสอนที่ว่าด้วยเรื่องก็ไตรลักษณ์จะเป็นทุกข์  เศร้าโศกเสียใจไม่ สามารถทำใจได้ เขาจะถูกความทุกข์ ความเศร้าโศก เสียใจแผดเผาจิตใจยาวนาน

แท้จริง การมีสามีภรรยา การมีลูกมีหลาน มีพวกพ้อง มีเรือกสวนไร่นา  มีทรัพย์ สมบัติ  ท่านให้มีไว้เพื่อจะได้สร้างบุญสร้างกุศลร่วมกัน  เป็นเกราะ เป็นที่พึ่งให้กันและกัน การมีลูกหลาน  มีทรัพย์สมบัติก็เพื่อช่วยให้เรามีโอกาสได้สร้างบุญสร้างกุศล บุญกุศลนี่เองเป็นที่พึ่งอันประเสริฐที่สุดสำหรับเรา

ที่พึ่งอื่นนอกจากบุญกุศลนี้ไม่มี บุญกุศลเท่านั้นเป็นญาติที่ยิ่งกว่าญาติของเรา เมื่อถึงคราวเราไปคนเดียวเราจะโดดเดี่ยวท่ามกลางอนันตจักรวาลอันเวิ้งว้างมีเพียงบุญกุศลเท่านั้นที่จะคอยปลอบใจเรา ญาติที่ไหนจะคอยปลอบใจพอให้เกิดความอบอุ่นในยามเช่นนั้น นอกจากญาติ คือ กุศลของเรา ให้ดูตัวอย่างคนที่ผ่านมาเถิด เมื่อตายมีใครไปเป็นเพื่อนเขาบ้าง ก็ล้วนแต่ปล่อยให้ไปคนเดียวด้วยกันทั้งนั้น  ต่างคนต่างไป ลูกก็ไม่ไปด้วย หลานก็ไม่ไปด้วย ใครๆ ก็ไม่ไปด้วยทั้งนั้น

เรื่องดังกล่าวนี้ มีตัวอย่างปรากฏในพระสูตรๆ หนึ่ง  มีชายคนหนึ่งฐานะพอมีอันจะกิน มีโอกาสก็ทำบุญ  รักษาศีล  บำเพ็ญภาวนา (ทำสมาธิ) เขาตั้งใจทำอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิต เมื่อแก่แล้วขณะนอนอยู่บนเตียงจวนจะตาย ก็ยังอุตส่าห์อยากฟังพระสงฆ์สวดมนต์ จึงบอกลูกไปนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ให้ฟัง

ขณะกำลังฟังพระสงฆ์สวดมนต์  มีรถเทียมม้าพร้อมทั้งเหล่าเทวดามารอรับ เทวดาที่มาจากสวรรค์ แต่ละชั้น ต่างก็ร้องบอกว่า “ไปอยู่สวรรค์ชั้นเดียวกับเราเถิด ท่านผู้เจริญ ไปอยู่สวรรค์ชั้นเดียวกับเถิด” เทวดาต่างแย่งกัน  อยากให้ชายคนดังกล่าวนี้ไปอยู่สวรรค์ชั้นเดียวกับพวกตน  ชายคนนั้นนึกในใจว่า เทวดาเหล่านี้ มาขัดจังหวะฟังสวดมนต์ของเรา จึงร้องบอกไปว่า

“หยุดก่อน หยุดก่อน”

พระสงฆ์กำลังสวดมนต์ นึกว่าโยมบอกให้หยุด จึงพากันหยุดแล้ว กลับวัด ลูกๆ เห็นต่างก็พากันร้องห่มร้องไห้คร่ำครวญอยู่ข้างเตียง  นึกว่าพ่อขาดสติหลงละเมอไปเพราะกลัวตาย  พอชายคนนั้นลืมตาขึ้นมาไม่เห็นพระสงฆ์ กลับเห็นลูกๆ ร้องไห้อยู่  จึงถามว่า  พระสงฆ์ไปไหนเสียล่ะ  ลูกตอบว่า  ก็พ่อบอกให้ท่านหยุดสวด ท่านกลับไปแล้ว ชายคนนั้นก็บอกว่า  พ่อไม่ได้บอกให้ท่านหยุดสวดมนต์  แต่พ่อบอกให้เทวดาที่จะมารับพ่อต่างหาก  หยุดคอยอยู่ก่อน

พอพูดได้เท่านั้น  เสียงลูกก็ยิ่งร้องไห้ลั่นระงมบ้าน  คร่ำครวญว่า พ่อก็ทำบุญทำกุศลมาก  ทำไมเวลาจะสิ้นใจจึงละเมอเพ้อพกไม่มีสติ  เหมือนคนทำแต่บาปกรรมเช่นนี้  แล้วชายคนนั้นก็บอกลูกๆ ว่าอย่าร้องไห้ไปเลย พ่อไม่ได้ละเมอหรอก พ่อไม่ได้หลงลืม สติ  สติพ่อยังสมบูรณ์ดีอยู่ แต่เทวดามารอรับพ่อจริงๆ  แล้วเขาก็ให้ลูกเอาพวงมาลัยอธิษฐานให้พวงมาลัยไปคล้องรถม้าที่มาจากสวรรค์ชั้นดุสิต  เมื่อลูกโยนขึ้นไป  ก็ปรากฏว่า  พวงมาลัยห้อยย้อยอยู่กลางอากาศ  แต่มองไม่เห็นรถ  แล้วชายคนนั้นก็สอนลูกๆ ว่า ถ้าอยากไปอยู่กับพ่อ  ให้ทำบุญกุศลไว้มากๆ และตั้งใจอธิษฐาน

เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก  เพราะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา  แต่ท่านก็ให้พิจารณา  เพื่อเป็นการเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า ลูกเราคนหนึ่ง จากญาติพี่น้องไปอยู่ถิ่นฐานบ้านอื่นไกล แสนไกล นานเป็นสี่สิบห้าสิบปี แต่วันหนึ่งลูกจะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ พี่น้องต่างก็รอคอยด้วยใจจดจ่อ เมื่อลูกมาถึง  ความรู้สึกระหว่างพ่อแม่ลูกเป็นอย่างไร ดีใจอย่างไร บุญกุศลที่เราทำไว้ก็จะต้อนรับเรา  เหมือนพ่อแม่ญาติพี่น้องต้อนรับลูกผู้เดินทางมาจากแดนไกล  เทวดามาคอยรับชายคนดังกล่าว  เหมือนพ่อแม่ คอยรับลูกที่เดินทางกลับจากต่างประเทศนั่นเอง

อย่าคิดอะไร  วัยวันล่วงเลยมาถึงวันนี้แล้ว  คนอื่นเขาจะเอาอะไร  ก็ให้เขาเอาไปเถอะ  ให้เรามีเพียงพอแก่การดำเนินชีวิต อยู่ได้อย่างไม่ฝืดเคือง ไม่อัตคัดขัดสนก็พอแล้ว

ขอให้โยมทั้งสองหันมาสร้างทรัพย์ภายในเถิด  เพราะทรัพย์ภายนอกนั้นโยมสร้างมามากแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าสร้างมาทั้งชีวิต  จากนี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกหลานรับช่วงต่อไป

โยมทั้งสองเหมือนเปลวไฟที่กำลังจะหมดเชื้อ  แสงสว่างที่เคยเจิดจรัสกำลังอ่อนแรงลงทุกขณะ  เพียงลมโชยพัดก็พร้อมจะวูบดับ

บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องหยุดสร้างทรัพย์ภายนอก หันมาสร้างทรัพย์ภายในแล้ว ด้วยวัยที่ก้าวมาถึงโค้งของสุดท้ายชีวิตเช่นนี้ คงไม่ต่างอะไรจากนักกีฬาที่กำลังจะถึงเส้นชัย  ไร่นาทรัพย์สมบัติ กิจการต่างๆ จะมีประโยชน์อะไร  สำหรับคนที่กำลังจะเดินถึงปลายทางแห่งชีวิต

ให้ถือว่าหมดภาระหน้าที่แล้ว ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของลูกหลาน

หน้าที่ของโยมทั้งสอง คือ การสร้างบุญสร้างกุศล

นี่เวลาก็ล่วงเลยมา ๕ ทุ่มแล้ว เป็น ๕ ทุ่มที่ห้วงความคิดยังหมุนคว้างอยู่กับภาพใบหน้าที่เหี่ยวย่น  บ่งบอกถึงการผ่านวันเวลาอันยาวนาน อิริยาบถที่เคลื่อนไหวอย่างกเงิ่น และท่วงทำนองน้ำเสียงที่แหบพร่าของโยมทั้งสอง เรียนเหนื่อยมาทั้งวัน แต่อดคิดถึงโยมทั้งสองไม่ได้ อดเป็นห่วงเป็นใยไม่ได้ จึงเขียนจดหมายมาวันนี้  คงหยุดไว้เท่านี้ก่อน

ความจริง  อยากมาเล่าอะไรให้โยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ฟังมากมาย เพื่อเป็นการตอบแทนที่โยมทั้งสองเล่านิทานให้ฟังเมื่อวัยเด็ก แต่คงทำอย่างที่ใจคิดไม่ได้ เนื่องจากมีกิจที่ต้องทำหลายอย่าง  จึงขอฝากธรรมะไว้แต่เพียงเท่านี้  ไว้จะเขียนมาอีกครั้ง  แต่คงกำหนดวันไม่ได้ ขออย่าให้โยมทั้งสองตั้งหน้าตั้งตารอ

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ราวปี พ.ศ.๒๕๕๙
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ราวปี พ.ศ.๒๕๕๙

ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ ปัญญา อันเกิดจากการที่อาตมาได้บรรพชา อุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนา และที่เคยได้ บำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตชาติตลอดถึงชาติปัจจุบัน ขอให้โยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรมเจ้า และมีพระสังฆอริยเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่เสมอ  อย่าได้ ประมาทกับวัยและชีวิต มีสุขภาพกายที่ดี และสุขภาพใจแช่มชื่นในทาน ศีล ภาวนา ของตนๆ และรื่นเริงเบิกบานในธรรมของพระพุทธเจ้าตลอดไป

กรุงเทพมหานคร, ระหว่างพรรษา

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“อนัตตา ปล่อยวางตัวตนที่ว่างเปล่า ” จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑ (ตอนที่ ๖) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here