หลายสัปดาห์ก่อนเล่าถึงวิธีการแจกภัตตาหารของวัดป่าไทรงามไปแล้ว

วันนี้พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท เมตตาเล่าวิถีของการฉันน้ำปานะที่นี่

หลายคนอาจจะคิดว่าการฉันน้ำปานะเฉยๆ คงไม่มีอะไรมาก

เพียงแค่เอาน้ำที่ท่านอนุญาตให้ทำเป็นน้ำปานะแล้วก็ให้สามเณรได้ฉัน นั่งฉันตรงไหนก็ได้

แต่สำหรับวิถีวัดป่าสายหลวงปู่ชา สุภัทโท นั้นมีรายละเอียดตามพระวินัย

ท่านให้ความสำคัญเรื่องความพร้อมเพรียง  และวิธีการในการฉันเป็นอย่างมาก

เพียงแค่น้ำมะตูมแก้วเดียว แต่สิ่งที่ต้องเตรียมหลายอย่างพอควร เช่น

ของส่วนตัวพระเณร หนึ่งแก้วน้ำ สองผ้าเช็ดแก้วน้ำ สามผ้าปูนั่ง ภาษาพระเรียกผ้านิสีทนะ

ทั้งหมดนี้ก็คือความสามัคคีของคณะสงฆ์ ดังพุทธพจน์ว่า

สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี : สามัคคีของหมู่ทำให้เกิดสุข

สามเณรน้อยฝึกตน ทนหิว

เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗”

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

           เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเล่าถึงการเตรียมกาย วาจา ใจ ฝึกฝนตนเองพร้อมที่จะเข้าสู่การบรรพชาของเหล่าว่าที่สามเณรทั้ง ๑๒ คน เมื่อหวนนึกถึงก็ทำให้ทุกคนภูมิใจไม่ใช่น้อย พระมหาเถระพร้อมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ได้ให้ความเมตตา มาร่วมพิธีบรรพชาเป็นจำนวนมาก พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ในขณะนั้น

ในฐานะเป็นที่ปรึกษาโครงการได้เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเทพวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมพิธีพร้อมกับคณะสงฆ์ พระวิทยากร พระพี่เลี้ยง ซึ่งในวันนั้นประธานฝ่ายสงฆ์ได้มอบหมายให้พระครูนิโครธธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดป่าไทรงาม พระอาจารย์ใหญ่โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมกับแขกผู้มีเกียรติ ศรัทธาสาธุชนผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

           ก่อนจะเล่าถึงการฝึกฝนตนเองของเหล่าสามเณร ขอเล่าถึงการสัญจรมาจัดโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ ที่วัดป่าไทรงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานีแห่งนี้ ซึ่งเป็นการจัดในสายของวัดป่าเป็นครั้งแรก การจัดโครงการตลอดทั้ง ๖ ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้จัดในสายของวัดป่า ซึ่งโดยปกติแล้ว การที่พระสายวัดป่าจะออกสื่อนั้นยากมาก แต่ด้วยการแนะนำของพระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ ผู้สานต่อปณิธานของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้นมีความศรัทธาคุ้นเคยกับพระสายวัดหนองป่าพง แต่เมื่อครั้งพระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภทฺโท เจ้าอาวาสวัดหนอป่าพง เรื่อยมาถึงในปัจจุบัน  

พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)

จากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ส่งต่อถึงพระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ ท่านมองว่าวิถีของพระสายวัดป่าควรจะเผยแผ่ให้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติให้สังคมไทยและสังคมโลกได้เรียนรู้ นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตให้กว้างมากยิ่งขึ้น ท่านจึงแนะนำให้มาจัดโครงสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ และโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมนานาชาติ ที่วัดป่าไทรงาม สาขาของวัดหนองป่าพง เผยแผ่หลักธรรมคำสอน วัตรปฏิบัติตามแนวของหลวงปู่ชา สุภทฺโท ในครั้งนี้

           วัตรปฏิบัติของสามเณรที่บวชในโครงการก็ได้ปฏิบัติตามวิถีของวัดป่าทั้งหมด แม้บางเรื่องจะเป็นการสาธิตลงมือปฏิบัติให้สามเณรได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่เชื่อเหลือเกินว่าสามเณรจะได้ซึมซับ คนดูทางบ้านก็ได้เรียนรู้ ได้คติ ได้น้อมสู่การปฏิบัติตามแต่กำลังสติปัญญาของตน ขอยกตัวอย่างเล่าถึงระเบียบวัตรปฏิบัติบางอย่างให้ฟัง

เช่น เมื่อกิจของสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก อย่าทำตนให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ คือ เป็นผู้มายาสาไถย หลีกเลี่ยง แก้ตัว

 เมื่อฉันบิณฑบาต เก็บบาตร ล้างบาตร กวาดวัด ตักน้ำ สรงน้ำ จัดโรงฉัน ย้อมผ้า ฟังเทศน์เหล่านี้ ห้ามมิให้คุยกันพึงตั้งใจทำกิจนั้นจริงๆ

มื่อฉันเสร็จแล้ว ให้พร้อมกันเก็บกวาดโรงฉันให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงกราบพระพร้อมกัน และ นำบริขารของตนกลับกุฏิโดยสงบฯ

ให้ทำตนเป็นผู้มักน้อยในการพูด กิน นอน ร่าเริง จงเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยความเพียร และจงช่วยกันพยาบาล ภิกษุ สามเณร อาพาธด้วยความเมตตาฯ

กิจของสงฆ์ วัตรปฏิบัติที่ว่ามาในภาพรวมเหล่านี้ สามเณรได้ลงมือปฏิบัติเป็นวิถีในกิจวัตรประจำวัน นอกจากนั้นสามเณรได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติหลายๆ อย่างเช่น การตัดเย็บจีวร การย้อมจีวร การซักจีวรด้วยการต้ม การบ่มบาตร การทำไม้สีฟัน การทำไม้กวาดเอง การอุปัฏฐากหลวงตา ครูบาอาจารย์ การรับบาตรส่งบาตร การล้างเท้า การสรงน้ำหลวงตา เหล่านี้เป็นต้น

พูดถึงเรื่องราวการฝึกฝนตนเองในช่วงแรกๆ ของเหล่าสามเณร ตามปกติที่วัดป่าไทรงาม ท่านจะฉันมื้อเดียว แต่หลวงตาท่านก็เมตตาให้สามเณรได้ฉันสองมื้อ แต่ก็มีบางวันที่ฉันมื้อเดียวอย่างวัดท่าน โดยได้มาร่วมฉันในวิถีของวัดป่า มีพระอาจารย์ทำหน้าที่ในการแจกภัตต์ดังที่ได้เล่าให้ฟังในบทความก่อนหน้านี้

การที่สามเณรฉันมื้อเดียว แต่ก็ไม่มีสามเณรรูปไหนบ่นหิวเลยแปลกเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะอานุภาพของข้าวเหนียวก็ได้ ฉันแล้วอยู่ท้องได้นาน หลายวันก่อนบางช่วงที่ทำกิจกรรมต้องถอดจีวร พี่ทีมงานเปลี่ยนไวเลส (ไมล์ติดตัว) ใส่ถุงอังสะแล้วก็จะปิดลูกดุมให้ผู้เขียน แต่ลูกดุมหายไปสองเม็ด ทีมงานก็ถามว่า ลูกดุมพระอาจารย์หายไปไหน พระอาจารย์บอกว่า สงสัยเป็นเพราะอานุภาพของข้าวเหนียว ทำเอาพี่ทีมงานขำกันใหญ่

ที่เล่าเรื่องลูกดุมมาไม่เกี่ยวอะไรกันนะกับสิ่งที่ต้องการจะให้ได้เรียนรู้

หลายสัปดาห์ก่อนเคยได้เล่าถึงวิธีการแจกภัตตาหารของวัดป่าไทรงามไปแล้ว วันนี้เลยอยากจะเล่าวิถีของการฉันน้ำปานะที่นี่ หลายคนอาจจะคิดว่าการฉันน้ำปานะเฉยๆ คงไม่มีอะไรมาก เพียงแค่เอาน้ำที่ท่านอนุญาตให้ทำเป็นน้ำปานะแล้วก็ให้สามเณรได้ฉัน นั่งฉันตรงไหนก็ได้

           แต่ความจริงที่นี่ท่านให้ความสำคัญเรื่องความพร้อมเพรียง  และวิธีการในการฉันเป็นอย่างมาก แค่น้ำมะตูมแก้วเดียว แต่สิ่งที่ต้องเตรียมหลายอย่างพอควร ของส่วนตัวพระเณร หนึ่งแก้วน้ำ สองผ้าเช็ดแก้วน้ำ สามผ้าปูนั่ง ภาษาพระเรียกผ้านิสีทนะ

           การเตรียมส่วนรวมปูเสื่อสองผืนสำหรับนั่งหันหน้าเขาหากัน เว้นช่องตรงกลางสำหรับเลื่อนรถเล็กๆ ที่วางกระติกน้ำร้อน กาน้ำต่างๆ ข้างๆ ที่นั่งทุกรูปวางกระโถน ถาดสำหรับวางแก้ว กระดาษทิชชู ปูอาสนะสำหรับพระมหาเถระ พระเถระ ผู้มีพรรษายี่สิบขึ้นไปท่านให้ปูอาสนะสองผืน สิบพรรษาขึ้นไปให้ปูอาสนะหนึ่งผืน ไม่ถึงสิบพรรษาและสามเณรให้ปูแค่ผ้านิสีทะนะที่ตัวเองเตรียมมา

           เมื่อทุกรูปพร้อมแล้ว ประธานสงฆ์จะตีระฆัง กราบพระพร้อมกันแล้วแจกถวายน้ำปานะไปตามลำดับ ใช้วิธีเลื่อนรถเล็กๆ หรือบางครั้งก็ให้พระทำหน้าที่แจกน้ำปานะ เป็นการทำหน้าที่ภัตตุเทสก์ ใครจะรับอันไหนก็พิจารณาหยิบ หรือเทน้ำปานะลงแก้วตัวเอง จนรูปสุดท้ายพิจารณารับเสร็จ ประธานสงฆ์จึงอนุญาตให้ฉันพร้อมกัน ฉันเสร็จ ประธานสงฆ์จะตีระฆังให้สัญญาณกราบพระพร้อมกันเลิก หลังจากนั้นก็เก็บผ้าปูนั่ง ล้าง เก็บกระโถน ถาด แก้วน้ำ เก็บเสื่อถูพื้น

สิ่งที่ท่านพาทำทวนกระแส หลายคนต้องการความรวดเร็ว อาจจะคิดว่าแค่น้ำผลไม้กล่องเดียว ทำไมต้องจัดขนาดนี้ ยุ่งยาก นี่แหละคือวิถีของความงดงาม ความพร้อมเพรียง ความศรัทธาที่ปฏิบัติต่อการฉัน น้ำปานะจะเป็นน้ำอะไรไม่สำคัญเท่ากับวิธีการจัดการฉัน นี่คือสมณะสารูป 

สามเณรกำลังฝึกตนตามวิถี สามเณรอาจจะยังไม่ได้เป็นวิถีที่นี่ทั้งหมด แต่สามเณรกำลังเรียนรู้และถ่ายทอดวิถี ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องสมมุติ สามเณรเป็นสามเณรจริงๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ เรียนรู้พัฒนาตนไปด้วย

           ผู้เขียนก็บอกไม่ได้หรอกว่า คำพูดไหนของหลวงตา ของพระอาจารย์พี่เลี้ยง หรือของครูบาอาจารย์ ทุกท่านทุกคนที่มาถวายความรู้จะทำให้สามเณรพัฒนาตนให้ดีขึ้นตามธรรมวินัย กิจกรรมไหนวิถีไหนที่จะขัดเกลาให้สามเณรงดงาม ปฏิบัติต่อทุกสิ่งทุกชีวิตด้วยความนอบน้อมและเห็นคุณค่าก็ทำอย่างนั้นเป็นธรรมชาติ แต่เชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การแสดง แต่เป็นการปฏิบัติด้วยวิถีแห่งความศรัทธาจริงๆ

           ขอให้กำลังใจสามเณรทุกรูปได้เรียนรู้ธรรมที่สูงขึ้นไป ขอให้กำลังใจพี่ๆ ทีมงานทุกคนจงเบิกบานกับการทำดี ขอให้คิดเสมอว่า การทำหน้าที่ของเรา คือการทำบุญ ทำบุญมีแต่จะเกิดปีติ เกิดสุข ด้วยความยินดี แต่ถ้าไม่ยินดี ก็เหนื่อยเหมือนกัน

 ติดตามการเรียนรู้เรื่องราวการปฏิบัติธรรมของสามเณรในตอนต่อไป

“สามเณรน้อยฝึกตน ทนหิว เบื้องหลังสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗”

คอลัมน์ “จาริกบ้านจารึกธรรม” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน พระวิทยากรจากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน
พระวิทยากรจากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ
พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here