คัมภีร์พระวิทยากร หลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร สถาบันพัฒนาพระวิทยากร  สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
คัมภีร์พระวิทยากร หลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

๑. จากคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก

สู่การถอดบทเรียนครั้งสำคัญในการนำพระพุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคม

           ๑.๑ แนวคิดเรื่องความสามัคคี

            “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี”

ความพร้อมเพียงแห่งหมู่นำความสุขมาให้

มหาปรินิพพานสูตรกล่าวถึงหลักอปริหานิยธรรม คือธรรมที่ไม่ทำให้เสื่อม

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระวิทยากรกระบวนธรรม บนเขาคิชฌกูฎ ประเทศอินเดีย  ขอขอบคุณ  ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระวิทยากรกระบวนธรรม บนเขาคิชฌกูฎ ประเทศอินเดีย ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า  “ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย”

            ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ มาตรัสสั่งว่า “พราหมณ์ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจงถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง การประทับ อยู่สำราญว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรูขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง การประทับอยู่สำราญ และจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู ปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่าก็เราจะตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จะให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย และพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำข้อนั้นมาบอกเรา พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำที่ไม่จริงเลย”   

            วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ รับพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูแล้วเทียมยานที่ดีๆ ขึ้น ยานออกจากพระนครราชคฤห์ตรงไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดภูมิประเทศเท่าที่ยาน จะไปได้ จึงลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            ครั้นวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐนั่งเรียบร้อยแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า  อชาตศัตรู ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลังการประทับอยู่สำราญ พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจะตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ ทำให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวายได้”   

            สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ยืนถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระพุทธองค์จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า  “อานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆ หรือ”

            ท่านพระอานนท์ทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า”    

            “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

            พวกเจ้าวัชชีจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกัน เลิกประชุม จักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

            พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วอยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น 

            พวกเจ้าวัชชีจักสักการะเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และจะเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น 

            พวกเจ้าวัชชีจักไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล ให้อยู่ร่วมด้วยอยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม เพียงนั้น  

            พวกเจ้าวัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของ พวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และจักไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำแก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญ    อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

            พวกเจ้าวัชชีจักจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขา ป้องกัน คุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น

            พระผู้มีพระภาครับสั่งกะวัสสการพราหมณ์  “สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันทเจดีย์เขตเมืองเวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ แก่พวกเจ้าวัชชี ก็อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี

และพวกเจ้าวัชชีจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใดพราหมณ์  พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น”

            เมื่อพระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้แล้ว วัสสการพราหมณ์ได้ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีประกอบด้วยอปริหานิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงอปรินิยธรรมทั้ง ๗ ข้อเล่า พระเจ้าอชาตศัตรูไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดอง นอกจากจะยุให้แตกกันเป็นพวก ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีกรณียะมาก จะขอลาไปในบัดนี้”

            พราหมณ์จึงลากลับแล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู แล้วชี้แนะว่า “ใคร ๆ ไม่อาจจับเหล่าเจ้าวัชชีได้  แต่ว่าอาจจับได้ด้วยการเจรจา หรือไม่ก็ด้วยการทำให้แตกสามัคคี” พระราชาตรัสถามพราหมณ์นั้นว่า “ช้าง  ม้า  เป็นต้นของเราจักพินาศด้วยการเจรจา เราจักจับเหล่าเจ้าวัชชีด้วยการทำลายสามัคคีเท่านั้น เราจักทำอย่างไร”  พราหมณ์จึงคิดอุบายขึ้นโดยแสร้งปลอมเป็นไส้สึก วางแผนโดยให้พระเจ้าอชาตศัตรูยกเรื่องขึ้นตรัสในที่ประชุมแต่นั้น แต่หม่อมฉันจะทำเป็นไม่เห็นด้วย พระองค์ก็จะตรัสเป็นเหมือนไม่ไว้ใจ และหม่อมฉันก็จะส่งบรรณาการไปแคว้นวัชชี พระองค์จะสงสัย จึงสั่งให้ลงโทษข้าพระองค์ ไม่ทำการจองจำ เฆี่ยนตี แล้วจึงเนรเทศออกไปจากพระนคร”

            หลังจากวางแผน วัสสการพราหมณ์ถูกขับออกจากเมืองแล้ว เหล่าเจ้าลิจฉวีจึงรับพราหมณ์นั้นเข้ามาในเมืองด้วยเห็นว่าพราหมณ์นั้นทำผิดเล็กน้อย ไม่ควรรับโทษหนัก และตั้งให้มีตำแหน่งเหมือนเดิม  จากนั้นก็เริ่มวางแผนยุให้เจ้าลิจฉวีแตกกันด้วยการเข้าไปแต่ละที่แล้วกล่าวว่าอีกที่กล่าวหาท่านอย่างไร ทำอย่างนี้อยู่ ๓ ปี เจ้าลิจฉวีแตกกันก็เริ่มแยกจากกัน  ไม่เดินทางกัน  ไม่ประชุมกัน  ตอนนั้นเองที่พราหมณ์จึงส่งข่าวถวายพระเจ้าอชาตศัตรูว่า “บัดนี้ถึงเวลาแล้วโปรดรีบเสด็จมาเถิด”

            พระราชาพอสดับแล้ว ก็โปรดให้ตีกลองเรียกไพร่พล เสด็จกรีธาทัพออกไป ชาวเมืองเวสาลี ก็ตีกลองประกาศว่า  “พวกเราจักไม่ยอมให้พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จข้ามแม่น้ำคงคามาได้” ฝ่ายชาวเมืองเวสาลี  ฟังประกาศนั้นแล้วก็พูดว่า “ใครอยากไปรบก็ไปกันเถิด” ไม่ไปประชุมกัน ชาวเมืองเวสาลี  ก็ตีกลองประกาศอย่างนั้น ไม่มีใครออกมาป้องกันเมือง ที่สุดก็โดนพระเจ้าอชาตศัตรูปล้นเมืองสำเร็จ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙)

๑.๒ หลักธรรมแห่งความสามัคคี

อปนิหานิยธรรม ๗

            ๑. พวกภิกษุจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด  พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

            ๒. พวกภิกษุจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงกระทำ อยู่เพียงใด  พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น    

            ๓. พวกภิกษุจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้แล้ว จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น  

            ๔. พวกภิกษุจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักเชื่อฟัง  ถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น 

            ๕. พวกภิกษุจักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหาอันจะก่อให้เกิด ภพใหม่ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

            ๖. พวกภิกษุจักเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะป่า อยู่เพียงใด   พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น     

            ๗. พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งสติไว้ในภายในว่า ไฉนหนอ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังมิได้มา พึงมาเถิดและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุก อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น  (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙)

           อปริหานิยธรรม ๖

            ๑. พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น 

            ๒. พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น      

            ๓. พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น  

            ๔. พวกภิกษุจักเป็นผู้แบ่งปันลาภอันเป็นธรรม ที่ได้ มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้มาตรว่าอาหารอันนับเนื่องในบาตร คือเฉลี่ยกันบริโภค กับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลาย อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น   

            ๕. พวกภิกษุจักมีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ  อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น 

            ๖. พวกภิกษุจักเป็นผู้มีทิฐิเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในทิฐิอันประเสริฐนำออกไปจากทุกข์ นำผู้ ปฏิบัติตามเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ อยู่เพียงใด พึงหวังความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙)

           ๑.๓ อุดมการณ์แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

            พระพุทธองค์ส่งสาวกรุ่นแรกประกอบด้วยพระอรหันต์ทั้งหมด ๖๐ รูปไปประกาศพระพุทธศาสนาด้วยพระดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้ว จากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลศในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม” 

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

            พระพุทธองค์ตรัสกะพระอานนท์ในมหาปรินิพพานสูตรถึงมารมาทูลให้ปรินิพพาน แต่พระองค์ตรัสกับมารว่า  “ภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา…ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา… อุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา …อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเรา … ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม  เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวางแพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดามนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักไม่ปรินิพพานเพียงนั้น” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙)

       ๒. ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

ขั้นตอนที่ ๑ แบ่งกลุ่มเครือขายการทำงานเผยแผ่ เลือกหัวหน้ากลุ่ม เขียนโครงการ และวางแนวทางการขับเคลื่อนงานเผยแผ่เชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม

๑) พระวิทยากรที่นำกิจกรรมได้อธิบายกิจกรรมต่าง ๆ ตลอด ๖ วัน กระบวนการที่ผู้เข้าอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และอธิบายถึงแต่ละกิจกรรมจะนำไปปรับใช้ในการจัดค่ายอบรมคุณธรรม จริยธรรม ๓ วัน ๒ คืน, ๒ วัน ๑ คืน, และ ๑ วัน พร้อม ๆ กับเปิดตารางกิจกรรมของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามให้ดูไปด้วย เพื่อจะได้นำกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มผู้เข้าอบรม (๑๕ นาที)

       ๒) พระวิทยากรที่นำกิจกรรมหน้าเวทีอธิบายและชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรม “เครือข่ายอุดมการณ์” ให้ผู้เข้าอบรมทราบและเข้าใจ หลังจากนั้นก็แจกกิจกรรม ให้ลงกลุ่มพร้อมแจกแบบฟอร์มการเขียนโครงการและอุปกรณ์ทำกิจกรรมให้ทุกกลุ่ม (๕ นาที)

        ๓) ผู้เข้าอบรมแต่ลงกลุ่ม และพระวิทยากรแจ้งให้ทุกคนในกลุ่ม นั่งวงกลม พร้อมกราบผู้มีพรรษาสูงสุดในกลุ่ม และพระวิทยากรกล่าวทักทายสมาชิกในกลุ่มสร้างความเป็นกันเอง และอธิบายกิจกรรม “เครือข่ายอุดมการณ์” ให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจ หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มแบ่งงานกันทำ ( ๒๐ นาที)

        ๔) เมื่อแต่ละกลุ่มได้ทำงานในกลุ่มเสร็จแล้วคือ ได้เลือกหัวหน้า, เขียนโครงการ, พร้อมวางแนวทางของกลุ่มในการขับเคลื่อนงาน ครบทั้ง ๓ กลุ่ม แล้วนำเสนอกลุ่มละ ๓ นาที ในระหว่างที่แต่ละกลุ่มนำเสนอก็จะมีตัวแทนพระวิทยากรคอมเม้นการเขียนโครงการ  (๒๐ นาที)

๕) เมื่อทุกกลุ่มนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนงานของกลุ่มตนเองเสร็จ ก็ให้พระวิทยากรที่นำกิจกรรม สรุปกิจกรรมการลงกลุ่มเพื่อวางแนวทาง เขียนโครงการ ขับเคลื่อนงานเผยแผ่ (๕ นาที)

ขั้นตอนที่ ๒  เลือกประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม (ประธานรุ่น) โดยให้คัดเลือกมาจากหัวหน้าของแต่ละกลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานเผยแผ่เชิงรุกอย่างเป็นระบบ

        ๑) พระวิทยากรที่นำกิจกรรมพูดอธิบายถึงแนวทางว่าทำไมต้องมีประธานรุ่น ทำไมต้องสร้างเครือข่ายการทำงานเผยแผ่ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเห็นถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม เป็นกลุ่ม และมีเครือข่าย พร้อมเชิญหัวหน้าของแต่ละกลุ่มมาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เลือกประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม (ประธานรุ่น) รูปละ ๒ นาที ( ๑๐ นาที )

        ๒) เมื่อหัวหน้ากลุ่มทุกกลุ่มแสดงวิสัยทัศน์เสร็จ แจกกระดาษให้ผู้เข้าอบรมเพื่อกาเบอร์เลือกประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม (ประธานรุ่น) ( ๕ นาที)

        ๓) เมื่อทุกคนกาเบอร์เลือกประธานเครือข่ายพระวิทยากระบวนธรรม (ประธานรุ่น) เสร็จแล้ว นับคะแนน เพื่อประกาศผลการเลือกตั้งประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม (๑๐ นาที )

        ๔) เมื่อได้ผู้ที่มีผลการเลือกตั้งคะแนนสูงสุดเป็นประธานเครือขายพระวิทยากรกระบวนธรรม (ประธานรุ่น) ให้ออกมากล่าวถึงการเป็นผู้นำได้รับเลือกตั้ง ๓ นาที พร้อมให้พระวิทยากรสรุปกิจกรรมกระบวนการเลือกตั้งประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรมในครั้งนี้ ( ๑๐ นาที)

๓. บรรยากาศการดำเนินกิจกรรม

๑) บรรยากาศในการแบ่งกลุ่มเครือขายการทำงานเผยแผ่ เลือกหัวหน้ากลุ่ม เขียนโครงการ และวางแนวทางการขับเคลื่อนงานเผยแผ่เชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม

        ช่วงที่หนึ่ง การลงกลุ่มครั้งนี้แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ออกเป็น ๓ กลุ่ม โดยมี กลุ่มเครือข่ายจังหวัดนานโซนเหนือ กลุ่มจังหวัดน่านโซนใต้ และกลุ่มจังหวัดน่านโซนกลาง กลุ่มละ ๑๕ – ๒๐ รูป โดยไม่มีพระวิทยากรลงกลุ่มด้วย มีแต่เพียงผู้เข้าอบรมร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บรรยากาศในแต่ละกลุ่มดูครึกครื้น ทุกคนตื่นตัวในการที่จะเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่มเป็นไปด้วยดี ต่างช่วยกันระดมความคิดเห็น และแบ่งงานกันทำ

        เมื่อลงกลุ่มไปแล้วอันดับแรกก็เริ่มด้วยการคัดเลือกหัวหน้ากลุ่ม เมื่อได้หัวหน้ากลุ่ม ในกลุ่มก็เริ่มปรึกษาหารือกันว่าจะเขียนโครงการอะไรดี หลักในการเขียนโครงการนั้นมีโจทย์ว่าต้อง “ทำดี ทำได้ ทำง่าย ใกล้ตัว และเห็นผลจริง” สมาชิกก็ช่วยกันเสนอความเห็น และความเป็นไปได้ในการจัดโครงการ เมื่อกลุ่มได้ข้อสรุปแล้วมีการแบ่งงานกันทำออกเป็นหลายฝ่าย คือ ฝ่ายเขียนโครง ฝ่ายจัดทำแผนงานและแนวทางการทำงานพร้อมอุดมการณ์ของกลุ่มในการขับเคลื่อนงาน และฝ่ายเขียนภาพและเนื้อหาเพื่อนำเสนอหน้าเวที

        ช่วงที่สอง เมื่อแต่ละกลุ่มทำงานไม่ว่าจะเป็นการเลือกหัวหน้า เขียนโครงการ และจัดทำแผนงานและแนวทางการขับเคลื่อนงานพร้อมอุดมการณ์ของกลุ่ม ก็ส่งตัวแทนขึ้นมานำเสนอหน้าเวที เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน บรรยากาศของผู้เข้าอบรมก็ดูตื่นเต้นที่จะได้นำเสนองานของตนเอง ส่วนสมาชิกภาพรวมก็ดูเบิกงานและเตรียมเชียร์กลุ่มของตนเองนำเสนองาน

        แต่ละกลุ่มนำเสนองานของกลุ่มตนเองเสร็จ ก็จะมีตัวแทนพระวิทยากร ๒ รูป เป็นผู้คอมเม้นตัวโครงการที่นำเสนอของทุกกลุ่ม เพื่อให้โครงการนั้นมีความสมบูรณ์และนำไปสู่การปฏิบัติเห็นผลได้จริงเป็นรูปธรรมชัดเจน พระวิทยากรที่คอมเม้นก็จะเน้นไปที่คำถาม เช่น โครงการนี้กลุ่มเป้าหมายคือใคร จะดำเนินงานอย่างไร จัดที่ไหน เมื่อไหร่ กระบวนการกิจกรรมมีอะไรบ้างในการจะทำโครงการอบรม ฯ เป็นต้น บรรยากาศในช่วงพระวิทยากรคอมเม้นผู้นำเสนอดูเหมือนจะตอบ และให้ความชัดเจนกับผู้คอมเม้นไม่ได้ อาจจะมาจากเหตุที่ให้เวลาลงกลุ่มน้อยเกินไปในการไปคิดโครงการทุกอย่างก็เลยดูไม่ชัดเจน

        เมื่อทุกกลุ่มนำเสนองานเสร็จ พร้อมได้รับคำแนะนำจากตัวแทนพระวิทยากรที่เป็นผู้คอมเม้น พระวิทยากรที่นำกิจกรรมก็จะเป็นผู้สรุปภาพรวมทั้งหมดในการลงกลุ่มทำกิจกรรมในครั้งนี้  พร้อมดึงบรรยากาศให้ดูสงบเพื่อให้ทุกคนได้กลับมาทบทวนในสิ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ในกลุ่ม และฟังการนำเสนอจากกลุ่มอื่น และส่งต่อกิจกรรมในการเลือกประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม (ประธานรุ่น)

        ๒) บรรยากาศในการ เลือกประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม (ประธานรุ่น) โดยให้คัดเลือกมาจากหัวหน้าของแต่ละกลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานเผยแผ่เชิงรุกอย่างเป็นระบบ

        ช่วงแรก พระวิทยากรที่นำกิจกรรมก็พูดเพื่อสร้างบันดาลใจในการสร้างเครือข่าย ให้ทุกคนที่เข้าอบรมได้เห็นความสำคัญของการมีเครือข่าย การทำงานเป็นทีม และการเป็นเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรมจังหวัดน่าน เช่นยกตัวอย่างครั้งที่พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

“กัลยาณมิตรคือครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ใช่ไหม”

พระองค์ก็ทรงตอบว่า

“กัลยาณมิตรคือทั้งหมดของพรหมจรรย์”

พระวิทยากรก็เชื่อมโยงเข้ากับการสร้างเครือข่ายว่า การทำงาน งานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยกัลยาณมิตร จึงกล่าวได้ว่า กัลยาณมิตรคือทั้งหมดความสำเร็จของงานก็ว่าได้

        หลังจากนั้นก็ได้เชิญหัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่มมาแสดงวิจัยทัศน์ในการเป็นผู้นำ หรือถ้าได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม ภาคเหนือ รุ่น 1 จังหวัดน่าน จะขับเคลื่อนและมีแนวทางในการขับเคลื่อนงานเผยแผ่ไปในทิศทางใด โดยหัวหน้ากลุ่มนั้นก็ได้พูดถึงวิสัยทัศน์ เช่น พวกเราจะเดินไปด้วยกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รวมเป็นหนึ่ง เพราะต้องอาศัยทุกท่านงานพวกเราถึงจะสำเร็จไปได้ ฯ บรรยากาศของสมาชิกที่ฟังก็ดูตื่นต้น มีเสียงสาธุ ให้กำลังใจ เป็นระยะ

        ช่วงสอง เมื่อหัวหน้าของแต่ละกลุ่มแสดงวิสัยทัศน์เสร็จ ผู้เข้าอบรมดูคึกคักเป็นพิเศษกับการที่จะต้องเลือกผู้นำของตนเอง และได้ลงคะแนน เมื่อทุกคนได้ลงคะแนนเลือกผู้นำครบทุกคนแล้ว ก็ได้มีการนับคะแนนเพื่อหาผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุดเป็นประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม ภาคเหนือ รุ่น ๑ จังหวัดน่าน ระหว่างนับคะแนนมีเสียงสาธุ เป็นระยะ ในห้องประชุมทุกคนมีสีหน้าที่สดใส และรอยยิ้มที่เอิบอิ่ม เสมือนมีใจพร้อมที่จะจับมือสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนงานเผยแผ่ไปด้วยกัน

        ช่วงสุดท้าย เมื่อผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง เป็นประธานเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม และเป็นรองประธานสำหรับผู้ที่ได้คะแนนเป็นอันดับรองลงมา พร้อมให้ประธานได้กล่าวขอบคุณและกล่าวถึงแนวทางการทำงาน โดยกล่าวว่าขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้ความไว้วางใจ และพร้อมที่จะร่วมเดินทางเป็นเครือข่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม ทำงานไปด้วยกันในจังหวัดของเรา ต่อไปในจังหวัดน่านมีงานอบรมอะไรที่ไหน ก็จะทำงานด้วยกัน ช่วยเหลือกัน ฯ   และตัวแทนพระวิทยากรสรุปปิดท้าย โดยกล่าวว่าดีใจที่เห็นพระวิทยากรกระบวนธรรมจังหวัดน่านได้เป็นเครือขายทำงานด้วยกัน เพราะจำให้การขับเคลื่อนงานมีพลังมากยิ่งขึ้น ฯ

๔. ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

        เมื่อผู้เข้าอบรมเข้าร่วมกิจกรรม “เครือข่ายอุดมการณ์” ก็จะมีความรู้สึก หรือได้มุมองแง่คิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้

        ๑) รู้สึกประทับใจที่พระวิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมพระวิทยากรทุกรูปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้านำเสนอ ทำให้กิจกรรมดำเนินการไปด้วยดี และภูมิใจที่ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดอบรมพระวิทยากรกระบวนธรรม โดยเฉพาะการดำเนินกิจกรรมเครือข่ายอุดมการณ์ในครั้งนี้

        สำหรับสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม “เครือขายอุดมการณ์” ในวันนี้ นอกจากจะภูมิใจ และประทับใจ ยังทำให้ได้เห็นมุมมองและแง่คิดต่าง ๆ ดังนี้

        – ได้มองเห็นภาพรวมของการจัดกิจกรรมมาทั้งหมดว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร และพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร

        – ได้เกิดการสร้างเครือค่ายพระวิทยากรกระบวนธรรม ว่าจะมีการติดต่อประสานงานอย่างไร เพื่อให้สามารถทำงานหรือขับเคลื่อนกระบวนการทำงานต่อไปได้

        – ได้ประมวลสรุปความรู้และกิจกรรมที่ได้อบรมมาทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง

        ๒) การระดมความคิดเพื่อตกผลึกปัญหา ที่สำคัญเป็นกระบวนการที่อาจต้องอาศัยระยะเวลาหรือมีเวลามากกว่านี้ เพื่อให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนและต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์เป็นผู้ชี้นำ เช่น กิจกรรมช่วงเช้านี้ก็ต้องมีพระอาจารย์ผู้เป็นวิทยากรชี้แนะ

        แต่ในขณะทำกิจกรรมวันนี้ ยังมีความร่วมมือกันไม่เต็มที่ อาจเนื่องจากขาดประสบการณ์ มีเวลาน้อย แต่ทุกรูปก็สามารถสรุปงานให้จบได้ นี้ก็เป็นทักษะที่ได้คือการแก้ไขปัญหา การจัดการงานให้ลุล่วงภายใต้แรงกดดัน ด้วยเวลาจำกัดสามเณรเล่น คุยกัน แต่สุดท้ายก็กลับมาระบายสีให้นี้คือความเหมาะสมที่สามเณรสามารถทำได้ในสภาวะนี้

        สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรม “เครือขายอุดมการณ์” ทำให้ได้แง่คิดและมุมมองการทำงาน คือ การประชุมสำคัญ การแบ่งงานให้เหมาะสมสำคัญ ความร่วมมือสำคัญ การรับผิดชอบต่อหน้าที่สำคัญ ได้ใจให้ใจสำคัญ ทุกสิ่งสำคัญ

        ๓) รู้สึกดีใจ และชื่นชมพระเณรแต่ละรูปที่ได้แสดงแนวคิดและมีส่วนร่วมในการที่จะนำเอากระบวนการไปขยายต่อ โดยเฉพาะอุดมการณ์ในการเผยแผ่ได้เกิดขึ้นแล้วในหัวใจ สำหรับการได้เข้าร่วมกิจกรรม “เครือข่ายอุดมการณ์” ในครั้งนี้ทำให้ได้เขียนโครงการและขับเคลื่อนจริง กล่าวคือ โครงการที่กลุ่มได้ทำนั้นอาจจะไม่สมบูรณ์แต่ก็สามารถที่จะพัฒนาและนำไปใช้ได้โดยเฉพาะแนวคิดที่จะเริ่มนำเอากระบวนการเข้าสู่โรงเรียนและชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ และที่สำคัญได้เครือข่ายเป็นกลุ่ม และสามารถติดต่อกันได้

        ๔) มีความรู้สึกว่าการสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพราะว่างานพระวิทยากรต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ร่วมทำงานอย่างสามัคคี ช่วยเหลือกันจนกว่าจะสำเร็จ กิจกรรมนี้ช่วยให้ร่วมวางโครงสร้าง ออกแบบระดมสมองช่วยกันคิดแล้วแบ่งงานกันตามความเหมาะสมของแต่ละคนเพื่อให้งานออกมาดีหรือมีความเป็นไปได้ มีโอกาสประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันและเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

        เมื่อเข้าร่วมกิจกรรม “เครือข่ายอุมดการณ์” ทำให้ได้มองมอง และแง่คิดในการทำงานเผยแผ่ หรือการเป็นพระวิทยากรกระบวนธรรมต่าง ๆ ดังนี้

  •         ได้รับความรู้ในเรื่องการทำงานเป็นทีม
  •         การระดมสมองที่หลากหลายย่อมดีกว่าคนเดียว
  •         สร้างความสามัคคี ความผูกพัน ความช่วยเหลือ แบ่งปันกันและกัน
  •         ร่วมกันออกแบบโครงสร้างการทำงานที่ดีมีประโยชน์มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ
  •         ได้รับฟังความคิดเห็นอันหลากหลายแตกต่างและฝึกการใช้วิจารณญาณ
  •         ได้ทำความรู้จักสมาชิกใหม่ในกลุ่มก่อให้เกิดสัมพันธภาพใหม่ ๆ มากขึ้น
  •         ทำให้มองเห็นภาพการที่จะทำงานอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพมีโอกาสสำเร็จผล
  •         ทำให้มีการสร้างเครือข่ายกว้างขวางยิ่งขึ้นสำหรับผู้มีอุดมการณ์เหมือนกัน

        ทำให้งานมีความละเอียดรอบครอบจากความคิดเห็นที่หลากหลาย

๕ . สรุปและข้อเสนอแนะ

       ๑) สรุป

        กิจกรรมเครือข่ายอุมดการณ์เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานเผยแผ่ได้จริง ซึ่งจากเดิมในจังหวัดน่านการทำงานเผยแผ่ หรือฝึกอบรมค่ายคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป พระวิทยากรที่ทำหน้าที่ตรงนี้ก็จะต่างคนต่างทำไป ไม่มีโอกาสที่จะได้มาทำงานร่วมกัน แต่เมื่อทุกคนได้ผ่านกระบวนการของกิจกรรมเครือข่ายอุดมการณ์ทำให้มีความเข้าอกเข้าใจกัน และเห็นถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ทำงานเป็นกลุ่ม มีเครือข่ายการทำงาน  และทุกคนพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานเผยแผ่ร่วมกันในจังหวัดน่าน 

        ทั้งนี้ กิจกรรมเครือข่ายอุดมการณ์ นอกจากจะสร้างกระบวนการให้เกิดเครือข่ายพระนักเผยแผ่ภายใต้ชื่อ พระวิทยากรกระบวนธรรม ทำงานเป็นทีม ยังเป็นการเสริมสร้างให้ผู้เข้าอบรมได้มีทักษะในการเขียนโครงการที่เกี่ยวกับการทำงานเผยแผ่ได้ดีขึ้น เพราะจากเดิมท่านรอรับนิมนต์จากโรงเรียนให้ไปบรรยายอย่างเดียว แต่เมื่อท่านมีทักษะ และรู้เทคนิคการเขียนโครงการเพื่อจัดหางบประมาณมาดำเนินงาน พร้อมสร้างภาคีเครือข่ายโดยเขียนโครงการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ท่านก็สามารถทำเดินการได้เองเลย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการทำงานเผยแผ่เชิงรุกของพระวิทยากรกระบวนธรรมได้เป็นอย่างดี   

        ดังนั้น จะเห็นว่ากิจกรรมเครือข่ายอุดมการณ์ เหมือนเป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าอบรมได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเข้าใจกันในการทำงาน อันจะส่งผลทำให้เกิดเครือข่ายพระวิทยากรทำงานอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการที่ให้ผู้เข้าอบรมเห็นความสำคัญ เกิดแรงบันดาลใจ อยากจะทำงานร่วมกับคนอื่น อยากจะทำงานเป็นทีม และสามรถเขียนโครงการ จัดหางบประมาณ ได้เอง พร้อมรู้แนวทางการทำงานโครงการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในท้องถิ่น และที่สำคัญกิจกรรมนี้ได้ให้เครื่องมือในการเชื่อมวัด บ้าน โรงเรียน หรือฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร ทำงานด้านเผยแผ่พระศาสนาไปด้วยกันได้

        ๒) ข้อเสนอแนะ

        การดำเนินกิจกรรมเครือข่ายอุดมการณ์ซึ่งเป็นกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ อาศัยกิจกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน ในการถอดองค์ความรู้กิจกรรมดังกล่าวนี้ ผู้ถอดบทเรียนจึงมีข้อเสนอแนะสำหรับการทำกิจกรรมในครั้งต่อไปดังนี้

        ๑. ควรเพิ่มเวลาในแต่ละช่วงให้มากกว่านี้ เช่น ลงกลุ่มเขียนโครงการ นำเสนอโครงการ โดยเฉพาะช่วงพระวิทยากรคอมเม้นโครงการ เป็นต้น 

        ๒. ขณะลงกลุ่มควรจัดพระวิทยากรไปเป็นพี่เลี้ยง หรือเป็นที่ปรึกษาของแต่ละเครือข่ายด้วย เพราะจะได้เป็นคนเชื่อมใจของคนในกลุ่มให้เข้ากันได้ยิ่งขึ้น และจะเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าไม่มีพระวิทยากร

        ๓. ควรมีงบจัดให้แต่ละกลุ่มไว้ดำเนินโครงการในเบื้องต้น เพื่อจะได้มีกำลังใจในการทำงาน และทุกคนเข้าใจว่าทำโครงการจริง ไม่ใช่เพียงแต่มานำเสนอเท่านั้นแล้วก็จบไป

        ๔. ตั้งคณะทำงานโดยเป็นตัวแทนพระวิทยากร เพื่อไปติดตาม และประเมินผล ของการดำเนินโครงการของทุกกลุ่ม

เอกสารอ้างอิง มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (๒๕๓๙). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น พระเถระผู้สนับสนุนส่งเสริม โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ให้ก้าวไกลมาจนถึงทุกวันนี้ ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น ,พระราชอุปเสนาภรณ์ คณะกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์, พระราชกิจจาภรณ์ เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น, พระศรีคุณาภรณ์ และพระครูสิริวิหารการ ทีี่ปรึกษา โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ในขณะน้ัน ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น ,พระราชอุปเสนาภรณ์ คณะกรรมการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น , พระราชกิจจาภรณ์ เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น, พระศรีคุณาภรณ์ และพระครูสิริวิหารการ ทีี่ปรึกษา โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ในขณะน้ัน ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here