“สัญลักษณ์แห่งความสามัคคี” จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๗ นักศึกษาไทยในสกอตแลนด์เข้าวัดช่วยงานบุญกฐิน โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

0
1421

“สัญลักษณ์แห่งความสามัคคี”

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๗

นักศึกษาไทยในสกอตแลนด์เข้าวัดช่วยงานบุญกฐิน

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

เพื่อให้เห็นความสำคัญของการแบ่งปัน และความสุขจากการเกื้อกูลกันและกัน และเห็นความสำคัญของวัดกับพระพุทธศาสนา ตลอดถึงความเป็นกัลยาณมิตรของนักศึกษาไทยในสกอตแลนด์ จาริกธรรมสกอตแลนด์ฉบับนี้ขอเล่าเรื่องนักศึกษากับงานบุญกฐินในสกอตแลนด์

ท่านอาจารย์พระครูสิริธรรมประทีป เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม ลีดส์ อุปเสณมหาเถรานุสรณ์ เมืองลีดส์ประเทศสหราชอาณาจักร หัวหน้าพระธรรมทูตในสกอตแลนด์ เคยเล่าให้ฟังว่า “วัดธรรมปทีป” เมืองเอดินบะระ เป็นวัดไทยที่เก่าแก่ที่สุดในสกอตแลนด์ ๑๕ ปีแล้ว ซึ่งพระอาจารย์ท่านอยู่ในสมัยรุ่นบุกเบิกสร้างวัดนี้มาเช่นกัน และท่านยังเป็นผู้ดำเนินการก่อตั้ง “วัดไทยพุทธาราม” เมืองอเบอดีน

​ท่านเล่าต่ออีกว่า วัดธรรมปทีป เมืองเอดินบะระ และวัดไทยพุทธาราม เมืองอเบอดีน สองวัดนี้เสมือนเป็นพี่น้องกัน เป็นวัดพี่เมืองน้อง เพราะผู้ที่ได้เสียสละร่วมกันสร้างทั้งสองวัดนี้ล้วนเป็นญาติธรรมคนไทยในสหราชอาณาจักร และพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาด้วยกันทั้งนั้น สองวัดนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีของคนไทยในสกอตแลนด์ก็ว่าได้

ลูกศิษย์พระที่เป็นนักศึกษาไทยกำลังรับประทานอาหาร ขณะมาช่วยวัดจัดเตรียมสถานที่งานกฐินที่วัดธรรมปทีป เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์
ลูกศิษย์พระที่เป็นนักศึกษาไทยกำลังรับประทานอาหาร
ขณะมาช่วยวัดจัดเตรียมสถานที่งานกฐินที่วัดธรรมปทีป เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์

ดังเช่น อาณกร วุฒิวิมล (อาร์ม) นักศึกษาปริญญาตรี (4th years undergrad BSc Actuarial Science  Heriot-Watt University ) เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่อาตมาได้สนทนาด้วยเล่าว่าการที่มาช่วยงานกฐินนี้มาความหมายกับเขามาก   

           “ผมรู้สึกว่า การที่เราอยู่ต่างประเทศ มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนบ้านเรา ทั้งภาษา ทั้งวัฒนธรรมต่างๆ แล้วผมเป็นเด็กที่โตมากับอะไรแบบไทยๆ ที่ทุกวันพระ แม่จะต้องขนทุกคนในบ้านไปวัดกันในตอนเช้าเพื่อไปทำบุญ มันเลยเป็นความเคยชินของเราที่รู้สึกว่าการทำบุญ การเข้าวัด มันเป็นกิจกรรมแบบบ้านๆ ที่เราคุ้นชิน

           “แล้วพอมาอยู่ต่างแดน การได้เข้าวัด หรือช่วยงานของวัด มันก็เป็นอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกได้บุญ ได้ทำบุญในแบบที่เราคุ้นเคยอย่างไทยๆ อีกอย่าง”

ได้พบเจอพี่ ป้า น้า อา เพื่อนๆ ใหม่ๆ

เหมือนเป็นงานรวมญาติ ที่สนุกมากๆ เลยครับ”

สำหรับ ชญาภา กานดิศยากุล (เพชร) นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยดันดี สหราชอาณาจักร เล่าว่า จริงๆ ตอนที่อยู่ในเมืองไทยเธอโชคดีมากๆ ที่ครอบครัวปลูกฝังให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทุกๆ งานพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะไม่พลาดเลย คุณแม่ชอบบอกว่า ที่เที่ยวปกติของบ้านเราคือไปวัด พอมาเรียนที่ต่างประเทศ ในใจก็อยากไปวัด อยากร่วมทำบุญเหมือนกัน

           “เพราะเชื่อว่านี่คือโอกาสที่จะได้รำลึกถึงบรรยากาศ กลิ่นอายแบบไทยๆ  และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตอนแรกที่มาถึงคือ อึ้งมาก มีทั้งเพลงไทย อาหารไทย พระสงฆ์ไทย ได้เจอคนร่วมชาติเดียวกัน ทักทายคุยกันอย่างสนิทใจ เหมือนรู้จักกันมานานแสนนาน รู้สึกเหมือนมันตื้นตัน ขนาดไม่ได้จากบ้านเกิดมานาน แต่ทำให้รู้เลยว่าคิดถึงและรักเมืองไทยขนาดไหน

“กิจกรรมนี้นอกจากจะมาเติมเต็มความระลึกถึงแผ่นดินเกิด

ด้วยความงดงามแบบไทยๆ แล้ว

ยังทำให้ตระหนักว่า

สิ่งที่เป็นสรณะในทุกๆ ยามคือ พระพุทธศาสนา”

ใครว่าพิธีกรรมทางศาสนานั้นเป็นเรื่องน่าเบื่อ… ไม่จริงเลย เพราะนี่คืออัตลักษณ์ของความเป็นไทย เป็นสรณะ คือความอบอุ่น มั่นคง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด ถ้ามีโอกาสอีกก็อยากจะมาร่วมงานเช่นนี้ในทุกๆ ปีเลย”

           ส่วน เอกชัย คำศรี (เอก) นักศึกษาปริญญาเอก 2nd PhD student in Chemistry  University of Edinburgh นักศึกษาอีกท่านหนึ่งเล่าถึงความรู้สึกในการมาช่วยงานกฐินและเป็นลูกศิษย์พระ

           “นี่นับเป็นครั้งแรกของผมที่ได้ร่วมงานกับคนไทยในต่างประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่จะมาร่วมงานไม่คิดว่าจะได้เจอกับความน่าประทับใจมากมายขนาดนี้

ทุกคนมาช่วยงานอย่างเต็มที่ทั้งก่อนเตรียมงานและในวันงาน

ได้เห็นความร่วมมือของคนไทยในสกอตแลนด์

           “ผมไม่รู้สึกเหงาเลย แม้ผมจะมาที่นี่ตามลำพัง ทุกคนให้ความห่วงใยและใส่ใจเปรียบเสมือนญาติ บรรยากาศภายในงานก็เป็นไปด้วยความสนุกสนานและอบอุ่น  อาหารในโรงทานก็อร่อยมาก ทำให้ผมนึกถึงงานบุญที่เมืองไทย งานทำบุญทอดกฐินฯ นี้แม้จัดแค่ ๑ วัน แต่งานนี้ให้อะไรมากมายเกินความคาดหวังของผม

           “ผมได้รู้จักพระอาจารย์ เพื่อนๆ และพี่ๆ มากมายจากในงานนี้ นอกเหนือจากบุญที่ได้รับแล้ว ความสุข ความสนุกสนาน ความสบายใจ ความรู้สึกเหมือนอยู่เมืองไทยคือ ผลพลอยได้ที่น่าประทับใจที่ผมได้รับ ที่ผมหาที่ไหนไม่ได้นับตั้งแต่ย้ายมาเรียนที่นีเมื่อปีที่แล้ว ผมได้แต่ถามตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่เป็นปี เราน่าจะมางานนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากจบงานนี้

“ผมก็ได้เฝ้ารอที่จะร่วมงานครั้งต่อไปอีก

และผมจะไม่พลาดโอกาสดีๆ แบบนี้อีกแล้ว”

วรกัลยา นาถพรายพันธุ์ (น้ำผึ้ง) นักศึกษาปริญญาเอก PhD candidate in Accounting and Finance,  School of Business, University of Dundee, UK นักศึกษาไทยอีกคนหนึ่งแสดงความรู้สึกว่า การทอดกฐินถือเป็นประเพณีที่ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดการทอดกฐินขึ้นภายใน ๑ เดือนหลังจากประเพณีออกพรรษา จึงถือได้ว่าการทำบุญทอดกฐินนั้นเป็นบุญเฉพาะกาลซึ่งก่อให้เกิดอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในการทอดกฐิน

“ในฐานะที่ดิฉันเป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง การที่ได้มีโอกาสชักชวนนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในต่างแดนมาร่วมทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ไม่เพียงแต่ทำให้ตนเองและผู้อื่นมีจิตใจแช่มชื่นบริสุทธิ์ผ่องใส และมีจิตใจตั้งมั่น มีสมาธิในการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ยังได้สร้างความสามัคคีระหว่างคนไทยในต่างแดน อีกทั้ง เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาและรักษาประเพณีที่ดีงามสืบไป”

           สุธณี (ใบตอง) นักศึกษาปริญญาโท  Renewable Energy and Environmental Modelling  University of Dundee เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมงานบุญในสถานที่ต่างบ้านต่างเมือง ให้ความรู้สึกแปลกใหม่แต่ยังคงอบอุ่นเหมือนอยู่บ้านเรา ด้วยเพราะพี่น้องชาวไทยที่มาจากหลากหลายพื้นที่รวมกันเป็นหนึ่งในการช่วยจัดงานบุญกฐิน ถึงแม้สถานที่จัดงานค่อนข้างมีพื้นที่อย่างจำกัดแต่ทุกอย่างก็ออกมาดี

“พุทธศาสนิกชนยังสามารถร่วมรำขบวนงานกฐินสามัคคีได้ มีการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง มีโรงทานจากคนไทยใจบุญทำอาหารไทยมาแจกมากมาย รับประทานจนหายคิดถึงอาหารไทยไปเลย  นอกจากนี้ยังมีการแสดงรำไทยให้ผู้ร่วมงานบุญทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรับชม คนที่มาร่วมงานก็พร้อมใจกันแต่งกายด้วยผ้าไทย เห็นแล้วคิดถึงประเทศไทยบ้านเราจริง ๆ

           “จากการร่วมงานบุญในครั้งนี้ทำให้เห็นว่า

แม้มีอุปสรรคมากมายอย่างไร

หากเราร่วมมือกันก็จะสามารถผ่านไปได้

และการได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์

ทำให้จิตใจสงบมีสติในการใช้ชีวิต

และจัดการกับความเครียดจากการเรียนหนังสือได้มากขึ้น” 

           สุรศักดิ์ บุญเรือง (เบิร์ด) นักศึกษาปริญญาเอกสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อม University of Dundee  เล่าว่าปีนี้เป็นปี่ที่สองที่มากับเพื่อนๆ ได้มีโอกาสร่วมงานกฐินสามัคคีของของวัดไทยพุทธาราม เมืองอะเบอร์ดีน โดยเดินทางมาพร้อมๆ กับเพื่อนๆ นักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ที่เมืองดันดี

           “ผมตั้งใจมาร่วมงานกฐินเพราะทำให้มีโอกาสการได้ทำบุญพร้อมกับอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรดาญาติที่ล่วงลับ การได้พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบกับลุง ป้า น้า อา พี่ๆ น้องๆ คนไทยในงานบุญให้ความรู้สึกเหมือนเราอยู่เมืองไทย ซึ่งพลอยทำให้หายคิดถึงบ้านไปด้วย

           “งานปีนี้จัดได้ดีหลายมุมด้วยกัน กิจกรรมแต่ละช่วงเป็นไปตามกำหนดการที่ตั้งไว้ พระอาจารย์ให้ธรรมะได้น่าสนใจเพราะสอดแทรกแง่คิดและมุมขำขันด้วยบางช่วง และพี่ๆ น้องหลายคนก็ประทับใจกับการร่วมงานบุญครั้งนี้กันอย่างมาก”

ในโอกาสต่อไปจะได้นำเสนอเรื่องราวของนักศึกษาไทยในสกอตแลนด์ในมุมต่างๆ เช่น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษาเล่าเรียน ตลอดถึงที่ได้มาช่วยงานวัด ปฏิบัติธรรม และนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปใช้กับชีวิตและการศึกษา

ติดตามจาริกธรรมสกอตแลนด์ในฉบับต่อไปกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมร้อย

ลูกศิษย์พระที่เป็นนักศึกษาไทยนั่งกับพื้นล้อมวงรับประทานประทานอาหาร ขณะมาร่วมงานบุญกฐินที่วัดไทยพุทธาราม เมืองอเบอดีน ประเทศสกอตแลนด์
ลูกศิษย์พระที่เป็นนักศึกษาไทยนั่งกับพื้นล้อมวงรับประทานประทานอาหาร ขณะมาร่วมงานบุญกฐินที่วัดไทยพุทธาราม เมืองอเบอดีน
ประเทศสกอตแลนด์

“สัญลักษณ์แห่งความสามัคคี” จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๗ “นักศึกษาไทยในสกอตแลนด์เข้าวัดช่วยงานบุญกฐิน

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)


ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here