จาริกธรรมอเมริกา (ตอนที่ ๑๖)

“สัจธรรมแห่งการเจ็บไข้ คือนาทีทองของความรู้สึกตัว”

โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนมาถึงเดือนนี้ประมาณ​ ๗​ เดือน​ ก็ได้ปฏิบัติศาสนากิจมาตลอดมีงานทั้งในวัดและนอกวัด​ พักผ่อนบ้าง​ ทำงานสร้างเสริมเติมแต่งไปเรื่อยๆ​  ถึงฤดูร้อนเหงื่อไหลไคลย้อยจนอังสะเปียกราวกับสรงน้ำเลย​ 

ฤดูฝนได้แต่ดูเม็ดน้ำฝนตกลงกระทบกับต้นหญ้า น้ำท่วมทุ่งหญ้า นกมาเล่นน้ำเสียงดังแจ๋วๆ​ ผ่านไป​

ฤดูหนาวก้าวเข้ามา​ ต้นไม้ที่เคยสวยงาม เช่น ต้นกล้วย มะเขือพวง ​เหี่ยวแห้งตายไปกับความหนาวเย็น ที่รอดคือ ต้นสน และ ต้นโอ๊ก

"สัจธรรมแห่งการเจ็บไข้ คือนาทีทองของความรู้สึกตัว" โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย
“สัจธรรมแห่งการเจ็บไข้ คือนาทีทองของความรู้สึกตัว” โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

อย่างไรก็ตาม​  ญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวาย กลับกลายเป็นพละกำลังกาย และกำลังใจในการสร้างศาสนวัตถุวัดพุทธเมตตามหาบารมี​   ซึ่งเป็นวัดแรกในเมืองโกเซ  รัฐมิสซิสซิปปี้้  เพื่อพระพุทธศาสนาไว้ให้เป็นสมบัติของชาวพุทธในอเมริกา​สืบต่อไป

รถราบ้านเรือนใช้บ่อยก็ย่อมเก่าเสื่อมโทรมไปเป็นธรรมดาตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ​  ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นหนึ่งในนั้น​เฉกเช่นเดียวกัน

เทวทูตทั้งสี่​ คือ​ ​ แก่​ เจ็บ​ ตาย​ และ สมณะ​ ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เห็นโทษและหาทางแก้ไข ในที่สุดพระองค์ได้ค้นพบหนทางแก้ไขและดับทุกข์เหล่านี้ได้สำเสร็จตามความต้องการของพระองค์​

ดั่งพระนามของพระองค์​ “สิทธัตถะ”​

แปลว่า​ “ผู้ยังความต้องการให้สำเร็จ”

ความเจ็บไข้​มาเยือนกาย​  มีใครบ้างตั้งแต่เกิดมายังไม่เจ็บป่วยไข้เลย​ คำตอบคือ​ คงไม่มี​  ทุกคนน่าจะเจอหรือผ่านช่วงเวลานั้น​มาแล้วไม่มากก็น้อย​ แล้วเราจะมีวิธีการรับมือกับความเจ็บป่วยไข้และไม่ทุกข์ได้อย่างไรบ้าง

การเจ็บป่วยไข้​  ไม่มีใครปรารถนาที่จะเป็นมัน​ เพราะเป็นแล้วมันอึดอัดทรมาน หงุดหงิดง่าย​ กระวนกระวาย​ ร่างกายอ่อนแอ​ ใจอ่อนล้า​ ทำให้เสียเวลา​ เสียการงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

ผู้เขียนเอง​  ช่วงฤดูหนาวนี้​  หลังจากกลับมาจากไปฉันเพลที่บ้านโยม ได้ตากลมหนาวและละอองฝนนิดหนึ่ง​ ร่างกายสู้ความเย็นไม่ไหว ตกเย็นลงมาเริ่มหนาวขนลุกซ่านทั้งตัว​ มีอาการจามมาด้วย​

วันที่สอง…เริ่มมีอาการเจ็บที่คอแล้วอาการของไอเริ่มเข้ามา​ คัดจมูกหายใจทางจมูกได้เพียงข้างเดียว​  น้ำมูกเริ่มไหลสีใสๆ ออกมา​  เสียงเริ่มเปลี่ยน​ไป  ตาเริ่มร้อน​  มึนศีรษะ​  ลมหายใจก็ร้อน​  ร่างกายก็เริ่มร้อน​  เจ็บเนื้อเจ็บตัว​ไปหมด​ วันนี้ไม่ได้ฉันยาดูอาการมันก่อน

ตอนกลางคืนนอนดูอาการ​ คือ​ นอนห่มผ้าแล้วตั้งจิตตั้งใจภาวนา ดูอาการการเคลื่อนไหวของลมหายใจเข้า-ออกเฉยๆ​  และสลับเปลี่ยนไปมา คลึงมือด้านขวามือเพื่อให้มีสติเกิดความรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ​ พอทำความรู้สึกที่มือไม่ชัด ก็กลับมาดูที่ลมหายใจ​ไปเรื่อยๆ​  เรื่องราวของอดีตเกิดขึ้นคิดถึงพ่อแม่​ คิดว่าเราจะมาตายที่นี่หรือ​ พอรู้ความคิดแล้วก็เริ่มกลับมาดูที่ลมหายใจเข้าออกเหมือนเดิม​ แล้วก็เผลอหลับไป

วันที่สาม…ตอนเช้าก็มีอาการไอบ่อยครั้ง​ ร่างกายเริ่มอ่อนแอ​ น้ำมูกไหลเช็ดน้ำมูก​ ตัวร้อนหนาวๆ เย็นหน่อย​ ฉันน้ำขิงร้อนอุ่นๆ​ ให้ชุ่มคอ​ ใช้น้ำมันเหลืองทาจมูกทาใต้คอด้วย​ 

หลังฉันเพลเสร็จก็ฉันยาแล้วมานอนพักผ่อน​  ช่วงเวลานี้ล่ะเป็นโอกาสทองที่เราได้มาดูจิตดูใจตน​  ฉันน้ำเปล่าสักครึ่งแก้วแล้วนอนห่มผ้า​  เป็นช่วงที่เราป่วยจะได้อยู่กับตนเองจริง​ๆ​ มีเพียงกายที่นอนนิ่งอยู่เอามือแนบไว้ข้างลำตัวทั้งสองข้าง​ มือขวาคลึงนิ้วมือไปเรื่อยๆ รู้สึกตัวที่นิ้วมือเคลื่อนไหว​ มันเกิดความคิดขึ้นมาก็ปล่อยความคิดนั้นเสีย เอาใจเรามาจับที่ความรู้สึกที่อาการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ​

เมื่อเมื่อยมือขวาก็เปลี่ยนข้างมาทางมือซ้ายก็คลึงนิ้วให้เกิดความรู้สึกตัว ไม่เผลอเพลิน ทำนองเดียวกับทางมือขวา​ หรือไม่ก็สลับมาดูอาการเคลื่อนไหวของลมหายใจ​  กายแน่นิ่งรู้สึกที่ขาแขนนิ่ง ร่างกายก็เริ่มร้อน เหงื่อเริ่มออก​  นี่ถือว่าดีแล้วร่างกายปรับอุณหภูมิ​ (ความคิดส่วนตัว​  เวลาฉันยาแล้วนอนห่มผ้าพักให้เหงื่อไหลออกมาหลังจากนั้นอาการจะดีขึ้น)​

ถ้ากายเคลื่อนไหวใจก็รับรู้​  มีความคิดที่เป็นอดีต​ อนาคตก็ให้รู้กลับมาที่การเคลื่อนไหวของหัวแม่มือหรือดูอาการเคลื่อนไหวที่ท้องก็ได้​ หรือลมหายใจเข้าออกก็ได้​  ทำไปเรื่อยๆ​ จนกว่าจะหลับไปเอง​ หรือเผลอหลับก็ไม่เป็นไร

ในขณะนั้นก็ฟังเทศน์ของหลวงตาจับใจความว่า​

“สัพเพ  ธัมมา​ อนัตตา​

  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา”

ความเจ็บไข้เกิดขึ้นแล้วหายไปขณะหนึ่ง​  เราไปยึดความเจ็บไข้เป็นตัวเราของเรา​ มันก็ทุกข์กับเจ็บไข้ไปด้วย​  ทำใจของเราให้ว่างจากความเจ็บไข้​  ให้มารู้สึกตัว​ และไม่ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกตัว​ ให้รู้เฉยๆ​ เป็นธรรมดา​ๆ ​ในเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเจ็บไข้​ มันก็ปล่อยวาง​ มาอยู่กับความรู้สึกตัว​  รู้เฉยๆ​ รู้ซื่อๆ​  รู้ธรรมดา​  ก็เป็นอนัตตา​  ไม่มีตัวไม่มีตน​  นั่นเอง​  รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็หลับไป

ในวันที่สี่… อาการก็ดีขึ้น​กายได้พักผ่อนได้ฉันยาบรรเทาอาการเจ็บไข้ทางกาย​  เสริมกำลังพลังทางใจด้วยการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว​ ในทำนองที่ว่ากายเคลื่อนไหวใจรับรู้​  เพื่อไม่ให้จิตใจคิดฟุ้งซ่าน​  ให้ใจได้มีที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันธรรม อยู่กับความรู้สึกตัว หรือมีสติอยู่กับการเคลื่อนไหว​ ใจไม่ทุกข์กับกาย​ ใจดีเข้มแข็ง อิสระด้วยความบริสุทธิ์ใจของใจแล้วก็บรรเทาหายได้เร็วขึ้น

สุดท้าย​ กายเจ็บป่วยไข้​ เพราะการทำงานของระบบของร่างกายไม่สมดุลกันหรือธาตุไม่สมดุลกันก็ทำให้บกพร่องก่อให้เจ็บไข้ได้ป่วย​ ทรุดโทรมเสื่อมเสียไปตามกาลเวลาและการใช้งาน​ เป็นธรรมดาตามธรรมชาติ

ใจได้เรียนรู้สัจธรรม​ ร่างกายตามความเป็นจริงของธรรมชาติ​ ได้รู้จักวิธีการรับมือกับความเจ็บป่วยไข้ในเบื้องต้น​ ต้องยอมรับความเป็นจริงเราเจ็บป่วยจริงๆ​

นี่คือธรรมดาของธรรมชาติที่เป็นจริง​  กายมันป่วยไข้เพราะธาตุไม่สมดุลกัน​  ธาตุดิน​  น้ำ​  ไฟ​  ลม​ อันใดอันหนึ่งอาจจะทำหน้าที่มากเกินไป​ จึงทำให้ร่างกายมันไม่สบายหรือไม่ปกติ​  กายเป็นไข้ใจอย่าเป็นไข้ตาม​  ใจไม่เป็นไข้ตามกาย กายก็หายจากไข้ได้เช่นเดียวกัน

สรุปว่า​  กายเป็นไข้ ใจได้เรียนรู้สัจธรรมตามความเป็นจริง​ อย่าประมาทกับชีวิต​ ให้รีบเร่งทำความดี​ สร้างตัวสติความรู้สึกตัว​  อย่าลุ่มหลงไปกับวัตถุสิ่งของมากนัก​ ไม่ควรติดกับดักของสมมุติ​  จนลืมความจริงของธรรมธรรมชาติก่อนสิ้นลมหายใจนั้นก็คือ​ ความรู้สึกตัวตามความเป็นจริง​  สละสมมุติ​ เพื่อสร้างสั่งสมปรมัตถธรรม(ความรู้สึกตัว​ ปัจจุบันธรรม​ สติ)​

กายป่วยคือทุกข์ของแท้​  ใจได้เรียนรู้ทุกข์ตัวนี้ตามความเป็นจริง ไม่หลงไปเป็นทุกข์​  เข้าใจทุกข์​  ปล่อยวางทุกข์ที่ใจ​ ใจอิสระจากทุกข์ไม่เดือดร้อนไปตามความทุกข์นี้​ 

ป่วยเพียงแค่กาย​ แต่ส่วนใจรับรู้ดูห่างๆ​ ไม่เป็นอะไรกับอะไรนั่นเอง

จาริกธรรมอเมริกา ตอนที่ ๑๖ “สัจธรรมแห่งการเจ็บไข้ คือนาทีทองของความรู้สึกตัว” โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย ผู้เขียน
พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here