นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
“สวดมนต์” อานิสงส์มหาศาล
เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม/ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
หลายคนเล่าให้ฟังว่าเวลาทุกข์เศร้า หรือกังวลใจก็มักจะสวดมนต์ ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น และเป็นเหตุให้สวดมนต์เป็นประจำ ทำให้เห็นคุณค่าของการสวดมนต์มากขึ้น ซึ่งความจริงแล้วเราชาวพุทธควรฝึกที่จะสวดมนต์เป็นกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยุคใหม่ที่ห่างไกลจากกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ไม่ค่อยได้เข้าวัดฟังธรรม อยู่บ้านพ่อแม่ก็ไม่ได้พาลูกสวดมนต์ ทำให้ไม่คุ้นเคยกับการสวดมนต์ ครั้นจะมาสวดทีก็เก้อเขิน
ดังนั้น การได้สวดมนต์มีโอกาสระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย หรือกล่าวคำนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยๆ วันละครั้งหรือสองครั้ง ก็จะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ใจเรามีที่ยึดเหนี่ยว เมื่อเผชิญอารมณ์ต่างๆ มาตลอดทั้งวัน ก่อนจะนอนก็ปรับใจให้มีความสงบสยบความว้าวุ่นด้วยการสวดมนต์ก่อนเข้านอน จะช่วยผ่อนคลายความเครียด และใจก็น้อมมาทางกุศล พักผ่อนอย่างสบายใจ
บทสวดต่างๆ เป็นภาษาบาลีที่เราอาจไม่เข้าใจแต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะทุกวันนี้มีแบบแปลให้รู้อยู่มากมายพร้อมทั้งในอินเทอร์เน็ตก็ง่ายต่อการค้นคว้าเพิ่มเติม เราก็ศึกษาเรียนรู้ไปด้วยจะได้ไม่เป็นการท่องจำอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยความเข้าใจ ก็จะยิ่งเพิ่มคุณค่าให้กับการสวดมนต์ของเราได้อย่างดีประโยชน์ของการสวดมนต์จึงจะช่วยเพิ่ม
๑.พลังศรัทธา (สัทธาพละ) เพิ่มพลังความมั่นใจในพระรัตนตรัยให้มากขึ้น และรักษาใจให้อยู่ในครรลองแห่งพุทธธรรม คุ้นชินกับการนำชีวิตให้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา
๒. พลังความกล้า(วิริยพละ) คือ พลังแห่งความมุ่งมั่น ในการใช้ชีวิตตามแนวแห่งวิถีพุทธ อุตสาหะพากเพียรในการทำสิ่งใดๆ ให้สำเร็จ ไม่หวาดหวั่นกับอุปสรรค และไม่เกรงกลัวกับความไม่แน่นอน เพราะเรามีพระรัตนตรัยประทับจิต จะก้าวไปทางไหนก็มีความมั่นใจในตนเอง
๓. พลังแห่งการตื่นรู้ (สติพละ) ชีวิตย่อมจะมีทั้งดีร้ายมาทายท้าให้เราต้องพลิกและปรับใจอยู่เสมอ สติช่วยให้เราตื่นรู้ ดูสิ่งต่างๆ อย่างเท่าทัน ไม่พรั่นพรึงหรือตื่นกลัวจนเกินเหตุ ทำให้ใจพร้อมพลิกทุกวิกฤติให้เป็นโอกาส
๔. พลังใจที่เข้มแข็ง(สมาธิพละ) สภาพสังคมปัจจุบันกดดันให้ใจคนมีภาวะเครียดและซึมเศร้า การสวดมนต์ฝึกใจให้เป็นสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ใจพร้อมเผชิญในทุกสถานการณ์
๕.พลังแห่งการหยั่งรู้ (ปัญญาพละ) รู้ถึงความเป็นจริงของชีวิตและตระหนักรู้ถึงการดำเนินชีวิตควรเป็นอย่างไร จะเผชิญทุกข์อย่างไรให้ใจไม่เจ็บ
การสวดมนต์จึงไม่ใช่แค่พิธีกรรม แต่เป็นวิธีการที่ดีในการฝึกจิตใจให้มีพลัง โดยเฉพาะการได้สาธยายแต่ละบทไปด้วยกันเป็นหมู่ใหญ่ ยิ่งจะสร้างความปีติ อิ่มเอิบอบอุ่นใจ ถ้าเสียงสวดมนต์ยังกังวานอยู่พระพุทธศาสนาก็คงจะยังยั่งยืนไปตราบนานเท่านาน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
เมื่อหลายวันที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมกันสวดมนต์กับพระนวกะโพธิที่บวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่วัดไทยลุมพินี สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
โดยเฉพาะกิจกรรมในวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา คณะพระนวกะโพธิพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา ได้ร่วมกันสวดมนต์ด้วยบทพระธัมมจักรกัปปวัตนสูตร* ๙ จบ ซึ่ง พระครูนิโครธบุญญากร ดร. ได้ให้ความเห็นว่า ที่นำสาธยายพระสูตรนี้
“เพราะเป็นพระสูตรที่เป็นต้นกำเนิดการเผยแผ่ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนำแสงสว่างสู่โลกให้มนุษย์ได้ค้นพบสัจธรรมและนำสันติสุขสู่สังคม กงล้อแห่งพระธรรมได้เคลื่อนตัวอย่างไม่หยุดยั้งตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า ๒ พันปี”
จึงสมควรที่จะเป็นบทสาธยายเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ผู้ซึ่งนำสันติสุขสู่ประชาชนนับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ จนกระทั้งปัจจุบัน สิ่งที่พระองค์ฝากไว้จะยังคงอยู่คู่คนไทยไปอีกนานเป็นอเนกอนันต์
การสวดมนต์หรือการสาธยายพระสูตร จึงได้ประโยชน์ทั้งในแง่ร่างกาย และจิตใจ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ๆ ตลอดจนสังคมส่วนรวม ยิ่งถ้าหากเรารู้ความหมายหรือความสำคัญของแต่ละพระสูตร ก็จะยิ่งเพิ่มพลังศรัทธาความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นไปอีก
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
การสวดมนต์ในทางพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่การสวดเพื่ออ้อนวอนขอ แต่เพื่อเอื้อให้กับการฝึกฝนจิตใจตนเองและเรียนรู้หลักธรรมเพื่อน้อมนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิต ยกระดับจิตใจนำวิถีโลกสู่กระแสธรรมได้เป็นอย่างดี
ลองมาหัดสวดมนต์ก่อนนิทรา
ฝึกเจริญจิตภาวนา
ก่อนบอกราตรีสวัสดิ์
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
“สวดมนต์” อานิสงส์มหาศาล เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม/ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
*บทสวดพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร
(หันทะ มะยัง ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสุตตะปาฐัง ภะณามะ เส.)
เอวัมเม สุตัง, (ข้าพเจ้า คือพระอานนท์เถระ) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้
เอกัง สะมะยัง ภะคะวา, สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ฯ, เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี
ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ , ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระปัญจวัคคีย์อย่างนี้ว่า
เทฺวเม ภิกขะเว อันตา, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดแห่งการกระทำสอง อย่างเหล่านี้ มีอยู่, ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา, เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย, โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค, คือการประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกาม ทั้งหลาย, หีโน (สะกด ฮีโน), เป็นของต่ำทราม, คัมโม, เป็นของชาวบ้าน ,(เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน) โปถุชชะนิโก, เป็นของคนชั้นปุถุชน (เป็นของคนผู้มีกิเลสหนา), อะนะริโย, ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า, (ไม่ใช่ของคนไปจากข้าศึกคือกิเลส) อะนัตถะสัญหิโต, ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย, นี้อย่างหนึ่ง
โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค, อีกอย่างหนึ่ง, คือการประกอบการทรมานตนให้ลำบาก, ทุกโข, เป็นสิ่งนำมาซึ่งทุกข์, อะนะริโย, ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า, (ไม่ใช่ไปจากข้าศึกคือกิเลส) อะนัตถะสัญหิโต, ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย,
เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา,ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ไม่เข้าไปหาส่วนสุดแห่งการกระทำสองอย่างนั้น, มีอยู่ , ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา, เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, (อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง) , จักขุกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ, ญาณะกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ, อุปะสะมายะ, เพื่อความสงบ , อะภิญญายะ เพื่อความรู้ยิ่ง, สัมโพธายะ, เพื่อความรู้พร้อม , นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน , (ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ)
กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปฏิปทา, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย , ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น เป็นอย่างไรเล่า? อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดประการ นี้เอง,
เสยยะถีทัง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :
สัมมาทิฏฐิ , ความเห็นชอบ (ปัญญาอันเห็นชอบ) , สัมมาสังกัปโป, ความดำริชอบ, สัมมาวาจา, การพูดจาชอบ, สัมมากัมมันโต, การทำการงานชอบ, สัมมาอาชีโว, การเลี้ยงชีวิตชอบ, สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ, สัมมาสติ, ความระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ, ความตั้งใจมั่นชอบ.
อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปฏิปทา, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง, ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา, เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, (ด้วยปัญญาอันยิ่ง) , จักขุกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ, ญาณะกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ, อุปะสะมายะ, เพื่อความสงบ, อะภิญญายะ, เพื่อความรู้ยิ่ง, สัมโพธายะ, เพื่อความรู้พร้อม, นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ , เป็นไปพร้อมนิพพาน.
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อริยสัจจัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือทุกข์นี้, มีอยู่ , ชาติปิ ทุกขา, คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์, ชราปิ ทุกขา, ความแก่ก็เป็นทุกข์ , มะระณัมปิ ทุกขัง, ความตายก็เป็นทุกข์, โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา, ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์,
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข, ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์, ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข , ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์, ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง, มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์, สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ , ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้า เป็นตัวทุกข์,
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อริยสัจจัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือเหตุให้ทุกข์นี้, มีอยู่, ยายัง ตัณหา, นี้คือตัณหา,
โปโนพภะวิกา, อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก, นันทิราคะสะหะคะตา , อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน, ตัตระ ตัตราภินันทินี, เป็นเครื่องให้เพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ, เสยยะถีทัง, ได้แก่ตัณหาเหล่านี้คือ , กามะตัณหา ตัณหาในกาม (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่) , ภะวะตัณหา, ตัณหาในความมีความเป็น, (ความทะยานอยากในความมี ความเป็น), วิภะวะตัณหา, ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น (ความทะยานอยากในความไม่มี ไม่เป็น)
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อริยสัจจัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้, มีอยู่ , โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ, นี้คือความดับสนิทเพราะจางไปโดยไม่มีเหลือของตัณหานั้น นั่นเอง, จาโค, เป็นความสละทิ้ง, ปะฏินิสสัคโค, เป็นความสลัดคืน, มุตติ , เป็นความปล่อย, อนาลโย, เป็นความไม่ทำให้มีที่อาศัย, ซึ่งตัณหานั้น. (ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น)
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อริยสัจจัง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้, มีอยู่ , อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค, นี้คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดประการ, เสยยะถีทัง, ได้แก่ สิ่งเหล่านี้ คือ :- สัมมาทิฏฐิ, ความเห็นชอบ (ปัญญาอันเห็นชอบ), สัมมาสังกัปโป, ความดำริชอบ, สัมมาวาจา, การพูดจาชอบ, สัมมากัมมันโต, การทำการงานชอบ, สัมมาอาชีโว, ความเลี้ยงชีวิตชอบ, สัมมาวายาโม, ความเพียรชอบ, สัมมาสติ, ความระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ, ความตั้งใจมั่นชอบ
อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ , ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือทุกข์ เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ดังนี้, ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ, ว่า ก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ดังนี้, ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ, ว่า ก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล เรากำหนดรู้ได้แล้ว ดังนี้.
อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อริยสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ดังนี้,
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ, ว่า ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรละเสีย ดังนี้, ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหี (สะกด ฮี) นันติ, ว่า ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล เราละได้แล้ว ดังนี้.
อิทัง ทุกขะนิโรโธ อริยสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ ฯ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่า อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ดังนี้,
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อริยสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ, ว่า ก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ดังนี้ , ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ ว่า ก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เราทำให้แจ้งได้แล้ว ดังนี้
อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อริยสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ ฯ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมี ดังนี้,
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ, ว่า ก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เราทำให้เกิดมีได้แล้ว ดังนี้.
ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว, อิเมสุ จะตูสุ อริยสัจเจสุ, เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง, มีปริวัฏฏ์สาม มีอาการสิบสอง เช่นนั้น , ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้, ยังไม่เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา อยู่เพียงใด,
เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ , ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ตลอดกาลเพียงนั้น, เรายังไม่ปฏิญญาว่า ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ, ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก, ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์
ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว, อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ, เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อโหสิ ฯ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, เมื่อใด, ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง, มีปริวัฏฏ์สาม มีอาการสิบสอง เช่นนั้น, ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้, เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา,
อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, เมื่อนั้น, เราปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, ซึ่งอนุตตรสสัมมาสัมโพธิญาณ, ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก , ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.
ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ,ก็ญาณและทัศนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา, อะกุปปา เม วิมุตติ, ว่าความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ, อะยะมันติมา ชาติ, ความเกิดนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย, นัตถิทานิ ปุนัพภะโว-ติ ฯ, บัดนี้ความเกิดอีกย่อมไม่มี ดังนี้.
อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ, พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสธรรมปริยายนี้แล้ว, อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง ฯ , พระภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจยินดีเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า , อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิง ภัญญะมาเน, ก็แลเมื่อไวยากรณ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่, อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ, จักษุในธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระผู้มีอายุโกณทัญญะ,
“ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ”, ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้นทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา”