“สร้างทางดีไว้…ให้เป็นทางเดิน”ผลผลิตจากสามเณรภาคฤดูร้อน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

0
1479

ติดตามงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมวิทยากร ครูพระสอนศีลธรรม

และการทำงานของพระสงฆ์มากมายอย่างเข้มข้น

จากการเติบโตของพระเณรทุนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จังหวัดศรีสะเกษ

กับ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ใน…

“สร้างทางดีไว้…ให้เป็นทางเดิน”

ผลผลิตจากสามเณรภาคฤดูร้อน

โดย พระมหาประสิทธิ์  ญาณปฺปทีโป

ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ติดตามการทำงานของพระเณรทุนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของจังหวัดศรีสะเกษ เพราะได้เคยจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของสามเณรโดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เพื่อความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพสามเณรด้านการทำงานจิตอาสา มีหลายรูปที่ทำงานต่อเนื่องจนตอนนี้บวชพระแล้ว ท่านก็ยังทำงานอยู่ เมื่อว่างจากการเรียน ในช่วงปิดเทอมใหญ่  ต่างก็ออกไปในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเองบ้าง  ครูอาจารย์ส่งไปบ้าง  เพื่อทำหน้าที่เป็นพระธรรมวิทยากร ให้คำแนะนำทำกิจกรรมกับสามเณรภาคฤดูร้อน 

ในฐานะของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องแม้เพียงเล็กน้อย  ก็มีความภูมิใจลึกๆ ว่า สิ่งที่เราได้ทำไปนั้น มีผลทำให้สามเณรน้อยๆ เมื่อตอนนั้น  ที่ยังไม่ชัดเจนในตัวตน  บางท่านไม่เห็นคุณค่าในตนเองด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่มาจากเด็กที่ด้อยโอกาส (ซึ่งเป็นศัพท์ที่คนอื่นเรียก แต่ความจริงแล้ว เด็กๆ เหล่านี้กลับมีโอกาสที่ดีในการที่จะต้องพากเพียรให้มากขึ้น ก็จะทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น)  ทำให้เกิดความรู้สึกว่าต่ำต้อย มันคอยขวางความกล้าหาญ  แต่เมื่อทลายกำแพงแห่งความคิดลบ  และช่วยให้ท่านพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตนเอง  นำไปสู่การต่อยอดเพื่อพัฒนาตนเอง ให้กล้าคิด  กล้าทำและกล้าที่จะสื่อสารตนเองออกไปได้  

บางรูปเราเห็นพัฒนาการตั้งแต่มัธยม  ทั้งล้มลุกคลุกคลานพลาดพลั้งหลายครั้ง แต่ก็ยังลุกขึ้นและก้าวต่อมาได้  พร้อมทั้งเห็นภาพเป้าหมายของตนเองแล้วกล้าที่จะก้าวไปอย่างมั่นใจ  เข้าสู่การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ และระหว่างนั้นก็พัฒนาตนและพัฒนาคนด้วยการอาสาเป็นครูพระสอนศีลธรรม  พระธรรมวิทยากร เทศน์งานศพ  ช่วยงานพระศาสนาและตามประเพณีท้องถิ่น  บางองค์ทำหน้าที่แทนเจ้าอาวาสเป็นผู้นำชุมชนทำงานได้แม้หลวงพ่อจะไม่อยู่ บางรูปตอนมัธยมไม่ได้ภาษาอังกฤษสักตัว แต่วันนี้สามารถสื่อสารกับพระจากต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษได้ 

การศึกษา คือ เครื่องมือพัฒนาคนที่ดีที่สุด          

เท่าที่ผู้เขียนมองเห็น  เด็กที่อยู่ต่างจังหวัด ถือเป็นประชากรที่ขาดโอกาส และโอกาสสำคัญที่สุดก็คือ โอกาสที่จะได้มองเห็นศักยภาพของตนเองและคิดว่ามันสามารถพัฒนาได้  ไม่ถูกกรอบของความคิดบีบคั้นจนไม่กล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้น 

และการที่สามเณรได้รับทุน ที่ไม่ใช่แค่ตัวปัจจัยค่าเทอมซึ่งก็ไม่ได้มากอย่างที่หลายคนเข้าใจ  แต่สิ่งที่เราพยายามต่อยอดก็คือ  การใช้โอกาสนี้สร้างเงื่อนไขเพื่อพัฒนาศักยภาพสามเณร  ทำให้ท่านเห็นความสำคัญของทุน และเห็นความสำคัญของตัวท่านเอง 

ในระหว่างที่ท่านบวชอยู่  ก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งให้กับวัดและพระพุทธศาสนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่นั้นมาจากวัดต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน  ซึ่งบางครั้งก็ขาดแคลนพระสงฆ์เพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้กับชุมชน  แต่สามเณรสามารถที่จะทำหน้าที่ได้มากเกินวัยเด็ก ทำให้นึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า ไม่ควรดูหมิ่น ๔ อย่าง ดังนี้

๑. กษัตริย์ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์        

๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก  

๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย 

๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม

สี่อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย

เพราะกษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์ อาจจะเติบใหญ่เป็นมหาราชได้ งูตัวเล็กก็มีพิษทำให้ตายได้  ไฟแค่เล็กน้อยก็สามารถสร้างอัคคีภัยได้ และภิกษุหนุ่ม หรือสามเณรน้อย ก็อาจจะกลายเป็นพระสังฆราชฯได้ในอนาคต 

ผลผลิตสามเณรภาคฤดูร้อน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
ผลผลิตสามเณรภาคฤดูร้อน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

สามเณรน้อยจึงควรได้รับการส่งเสริมให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ  ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป  เพราะพวกท่านเป็นทั้งอนาคตของชาติและพระพุทธศาสนา  การพัฒนาทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย  ความรู้ความสามารถ  ความประพฤติ  และทักษะการทำงานเพื่อสังคม   ก็คาดหวังนโยบายจากฝ่ายบริหารและการปกครอง  แต่ก็คงจะรอไม่ได้ มีอะไรที่สามารถทำได้เราจึงต้องทำกันไปก่อน  เพราะเด็กโตทุกวัน  เวลาเคลื่อนไปตลอดและการเปลี่ยนแปลงของโลกก็รวดเร็ว  ก็รู้อยู่ว่าเรากำลังก้าวอย่างเชื่องช้าเกินไป  แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจะหยุดเดินได้  แม้จะเดินช้าก็ขอให้อย่าหยุดเดิน 

           พระท่านหนึ่งสะท้อนว่า “ยกต้นแบบ ให้เป็นแบบอย่าง ผมมองว่าการที่เราทำงานจิตอาสา นี้ คือเมื่อเราได้รับ การเป็น นักเรียนทุนพระราชทาน แล้วก็ต้องทำหน้าพระเณรในการเผยแผ่ให้สมกับทุนที่ได้รับ และ สำคัญคือ พระองค์ท่านทรงงานมาก็มาก การที่เราเป็นนักเรียนทุนนั้นก็ควรสร้างทางดีไว้ให้เป็นทางเดินครับ” 

           จากการสนทนาทำให้ได้ประเด็นที่น่าสนใจ ๔ ข้อ คือ

           ๑.      การทำงานจิตอาสาเป็นเครื่องมือพัฒนาทักษะรอบด้าน เพราะการทำงานในกรณีบวชเณรฤดูร้อน ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ประสานราชการ สนทนากับชุมชน และบริหารจัดการทำงานเป็นทีม  จึงเป็นเหมือนกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทำงานจริง

           ๒.      ทำแล้วเกิดความภาคภูมิใจ จิตใจมีความปราโมทย์ ทั้งภูมิใจที่ได้เจริญรอยตามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะนิสิตทุน และการทำงานทำให้ได้ฝึกจิตใจไปด้วย เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ซึ่งจะต้องตั้งสติ  คิดใคร่ครวญ ทำใจให้สงบเมื่อพบปัญหา

           ๓.      เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ท้องถิ่น         ชุมชนท้องถิ่นได้ประโยชน์พระพุทธศาสนาได้ต่อยอด  แม้จะไม่ใช่ผู้นำทางจิตวิญญาณเหมือนพระผู้ใหญ่  แต่เป็นพระหนุ่มเณรน้อยที่อยู่เคียงข้างกับชุมชน  ร่วมกันคิด  ร่วมกันสร้างสรรค์ และเบิกบานกับการทำงาน สร้างความสุขให้ชุมชน

           ๔.      สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน           เด็กๆ ที่มาบวชและมาเรียนรู้ในโครงการช่วงปิดเทอม  บางคนได้แรงบันดาลใจจากพระวิทยากร พี่เลี้ยง  ทำให้บางคนอยากจะบวชเรียน  หรือมีต้นแบบในการเรียน  การใช้ชีวิต  และการฝึกคิดดี  เพราะท่านทั้งหมดนั้นก็คือผลผลิตจากการบวชฤดูร้อนเหมือนกัน

           การพัฒนาเด็กและเยาวชนของไทย มีเครื่องมือกลไกทางพระพุทธศาสนาคอยช่วย  จะทำอย่างไรให้ต่อยอดและปรับปรุงให้เท่าทันยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมปัจจุบัน  ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และท้าทายมาก  ว่าเราจะต่อยอดกันต่อไปอย่างไรดี?

พระมหาประสิทธิ์  ญาณปฺปทีโป
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน


“เมื่อทลายกำแพงแห่งความคิดลบ  ก็จะช่วยให้พบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตนเอง  นำไปสู่การต่อยอดเพื่อพัฒนาตน ให้กล้าคิด  กล้าทำ และกล้าที่จะสื่อสารตนเองออกไปได้”
  
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
คอลัมน์ โชคดีที่มีพระ โดย พระมหาประสิทธิ์  ญาณปฺปทีโป หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
คอลัมน์ โชคดีที่มีพระ โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here