วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗
ศึกษาปฏิปทาพระเถระ
ผู้นำพระพุทธศาสนาเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์และสังคมโลก
สำหรับสี่บทนี้เล่าย้อนไปถึงความสำคัญของพระอุโบสถวัดสระเกศฯ ที่มีการผูกพัทธสีมา ตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาทและแบบมหายาน การเดินทางของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่สืบสายตรงจากที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ หอพระไตรปิฎก และพระตำหนักรัชกาลที่ ๑
วิถีแห่งผู้นำ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
๓๒. พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดสระเกศฯ (๕)
๓๓.โพธิ์ลังกาหน้าพระอุโบสถ วัดสระเกศฯ (๖)
๓๔. หอพระไตรปิฎก วัดสระเกศฯ (๗)
๓๕. พระตำหนักรัชกาลที่ ๑ (๘)
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
๓๒.
พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดสระเกศฯ (๕)
พัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศฯ นั้น มีความแปลกกว่าที่อื่น เพราะว่าเป็นเสมาคู่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เล่าว่า วัดสระเกศฯ เป็นวัดที่มีการผูกพัทธสีมา ทั้งตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาทและพระพุทธศาสนาแบบมหายาน พระอุปัชฌาย์ที่ให้พระไตรสรณคมน์ในพิธีบรรพชาอุปสมบทภายในพัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศ จึงต้องให้พระไตรสรณคมณ์ทั้ง ๒ แบบ คือ ทั้งแบบบาลี และ แบบสันสกฤต สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยวินัยกรรมบัญญัติไว้ว่า การบรรพชาอุปสมบทจะสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์นั้น ผู้บรรพชาอุปสมบทต้องมีความเข้าใจในพระไตรสรณคมน์อย่างแจ้งชัด เป็นเบื้องต้นเสียก่อน
เหตุเพราะแต่เดิมมา ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แบบ คือ ทั้งแบบมหายาน และแบบเถรวาท มหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกและเผยแผ่คำสอน ส่วนเถรวาทใช้ภาษาบาลีบันทึกและเผยแผ่คำสอน ทั้งภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีมีวิธีออกเสียงที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันการเปล่งวาจาในการเข้าถึงพระรัตนตรัยมิให้คลาดเคลื่อน อันจะเป็นเหตุให้การบรรพชาอุปสมบทมั่นคงเข้า บูรพาจารย์ของสำนักวัดสระเกศจึงกำหนดให้เปล่งวาจาถึงพระไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ คือ ทั้งแบบสันสกฤตและแบบบาลี ควบคู่กันไป
แม้ในปัจจุบันสำนักต่างๆได้ตัดทอนการให้พระไตรสรณคมน์แบบสันสกฤตออก เนื่องจากเห็นว่า การให้พระไตรสรณคมน์ทั้ง ๒ แบบ ยาวเกินไป คงไว้เฉพาะแบบบาลีเพียงอย่างเดียว
แต่วิธีบรรพชาอุปสมบทภายในพัทธสีมาพระอุโบสถวัดสระเกศ ยังคงให้ พระไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ อันเป็นการรักษาตันติประเพณีแบบแผน การบรรพชาอุปสมบทแบบเดิมให้สืบต่อตามแนวทางของบูรพาจารย์ที่ได้นำพาปฏิบัติไว้
๓๓.
โพธิ์ลังกาหน้าพระอุโบสถ วัดสระเกศ (๖)
พระศรีมหาโพธิ์ หรือ ต้นอัสสัตถพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งตรัสรู้ เหตุที่เรียกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดสระเกศว่าฯ “โพธิ์ลังกา” สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเกล้าฯ ส่งพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพจากวัดสระเกศฯ ให้เป็นสมณทูตจากสยามประเทศ ไปสืบศาสนาที่ลังกา ได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ลังกา กลับมาด้วย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศฯ ต้นหนึ่ง วัดสุทัศน์ฯ ต้นหนึ่ง และวัดมหาธาตุฯ ต้นหนึ่ง นับเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์เพียงไม่กี่ต้นในประเทศไทย ที่สืบสายตรงจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้
ตามประวัติ หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๙ สายแล้ว ราว พ.ศ. ๒๕๐ โปรดเกล้าฯให้ พระนางสังฆมิตตาเถรี อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปปลูกที่ลังกา นับเป็นพันธุ์หน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๒ จากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
กาลต่อมา กษัตริย์ลังกา ได้ถวายหน่อพระศรีมหาโพธิ์แด่พระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพ เพื่อนำมาถวายรัชกาลที่ ๒ เมื่อคราวได้รับแต่งตั้งเป็นสมณทูตนำพระไตรปิฎกไปคืนลังกา และรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่หน้าพระอุโบสถวัดสระเกศฯ โดยเสด็จไปทรงปลูกด้วยพระองค์เอง จึงนับเป็นพันธุ์หน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๓ จากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
๓๔.
หอพระไตรปิฎก วัดสระเกศฯ (๗)
หอพระไตรปิฎกวัดสระเกศฯ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิม หอพระไตรปิฎกนิยมสร้างอยู่กลางน้ำ เพื่อป้องกันสัตว์ทั้งหลายกัดทำลายพระคัมภีร์ หอพระไตรปิฎกวัดสระเกศฯ ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน เป็นหอพระไตรปิฎกเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งจัดงานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสนั้น ประเทศไทยได้ใช้บานประตูหอพระไตรปิฎกวัดสระเกศฯ ไปร่วมแสดง เนื่องจากหอพระไตรปิฎกหลังนี้มีลักษณะผสมผสานศิลปะสมัยอยุธยาในยุคที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การซ่อมบำรุงหอพระไตรปิฎกที่วัดสระเกศ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาล ที่ ๓ และซ่อมใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๙ ยังคงไว้ซึ่งลักษณะคตินิยมแบบดั้งเดิม คือ “การซ่อมสร้าง ไม่ใช่การรื้อสร้าง” มีการขยายฐานรอบนอกเพิ่มขึ้นอีก ทำให้หอพระไตรปิฎกมีสองชั้น คือ เรือนชั้นใน และเรือนชั้นนอก เรือนชั้นในเป็นศิลปะแบบอย่างอยุธยา ส่วนเรือนชั้นนอกเป็นเรือนไทย แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้นำเครื่องไม้ประกอบจากหอมณเฑียรธรรมในพระบรมมหาราชวังมาเป็นเครื่องประกอบในการซ่อม
พระรุ่นเก่าของวัดสระเกศฯ เล่าถึงเกร็ดประวัติ ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการนำเครื่องไม้ประกอบมาจากหอมณเฑียรธรรมว่า รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอมณเฑียรธรรม ๒ หลัง ไว้ในพระบรมมหาราชวัง นัยว่า หลังหนึ่งเพื่อเก็บตำราพิชัยสงคราม ตำราโหราศาสตร์ และบันทึกจดหมายเหตุเกี่ยวกับบ้านเมือง ส่วนอีกหลังหนึ่งให้เป็นที่เก็บเฉพาะพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา แต่หอ มณเฑียรธรรมหลังหนึ่งมีเสาตกน้ำมัน จึงโปรดให้รื้อ นำมาเป็นเครื่องไม้ประกอบซ่อมหอพระไตรปิฎกที่วัดสระเกศฯ อีกหลังหนึ่ง ในวันฉลองหอมณเฑียรธรรมนั้น เกิดเณรเล่นดอกไม้ไฟตกใส่ไหม้หมดทั้งหลัง
๓๕.
พระตำหนักรัชกาลที่ ๑ (๘)
พระตำหนักรัชกาลที่ ๑ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นำเอาพระตำหนักหลังเดิมซึ่งเป็นเรือนไม้จากพระราชวังเดิมเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาสร้างไว้ข้างพลับพลาที่ประทับสรงมูรธาภิเษกที่วัดสระเกศฯ ต่อมา รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนจากเรือนไม้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในคราวที่บูรณะวัดสระเกศฯ ทั้งพระอาราม เนื่องจากเกรงว่า พระตำหนักซึ่งเป็นเรือนไม้ได้ทรุดโทรมเสียหายไป ตามกาลเวลา ในครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้นำฝาปะกนซึ่งกั้นห้องบรรทมของรัชกาลที่ ๑ มากั้นไว้ภายในพระตำหนักหลังนี้ตามเดิม อีกทั้ง โปรดเกล้าฯ ให้นำเตียงบรรทมของรัชกาลที่ ๑ มาไว้ในคราวเดียวกันนี้ด้วย