เรียนรู้ปฏิปทา พระเถระแห่งยุุคสมัยในกึ่งพุทธกาล ผู้สร้างพระรุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังสืบทอดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน ท่านได้สร้างสรรค์พระพุทธศาสนาให้มีลมหายใจและมีชีวิตในการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ทางใจได้อย่างมากมายมหาศาล

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๘๙. วิธีการทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์

๙๐.ต้นกำเนิดแห่งการริเริ่ม 

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงที่มาของปณิธานหลวงพ่อสมเด็จฯ โดยหลักการบริหารคณะสงฆ์และพระเณรให้เติบโตทั้งการปฎิบัติส่วนตนและการช่วยเหลือเกื้อกูลคณะสงฆ์ ชุมชนและสังคมไปพร้อมๆ กัน

๘๙ วิธีการทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์       

              วิธีการทำงานเผยแผ่ของหลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นลักษณะ  “รูปเจดีย์ ๓ ชั้น”  เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงของพระภิกษุสามเณรในการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา  ประกอบด้วย

              ชั้นที่ ๑  สร้างตนเองให้ดี  มีคุณภาพที่ดี  คือ การศึกษา  ต้องศึกษาเล่าเรียน  รับผิดชอบต่อการศึกษา รับผิดชอบอย่างไร  กล่าวคือ  ทำพระเณรตนเองให้ดี  ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดี  หลวงพ่อจะสอนตลอดว่าต้องเรียนหนังสือ  ยังไม่อาวุโส  อย่าเพิ่งคิดเรื่องงาน  ถ้าวัยการศึกษาต้องเรียน  นั้นคือหน้าที่  ส่งให้เรียนต้องเรียน ให้ดี  ดีอย่างไร  ดีกิริยา  ดีวาจา  ต้องฝึกฝน  ต้องมีภูมิความรู้  ภูมิความคิด  เมื่อได้ประโยชน์ตนได้แล้ว พัฒนาตนเองได้แล้ว  เติมขึ้นมาเมื่อมีการศึกษา  ต้องช่วยงานวัด  ช่วยงานคณะสงฆ์

 ดังคำหลวงพ่อสมเด็จฯ  คอยย้ำเตือนเสมอว่า  “จำเป็นจะต้องให้พระ-เณร มีการศึกษารู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  อายุยังน้อยต้องเรียน  เรียนอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย  อย่าอยู่เฉยๆ  เพราะพระ-เณรจะต้องรับภารธุระพระศาสนา”

              ชั้นที่ ๒ ช่วยเหลือชุมชนรอบวัด  เป็นที่พึ่งเขาได้  เห็นใจเขา  เป็นที่พึ่งของคนรอบข้าง  ไม่เบียนเบียดเขา  ต้องให้ความช่วยเหลือ  เป็นที่ปรึกษาเขาได้  ต้องเรียนรู้จักชุมชนรอบวัด  ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนรอบวัด

              ชั้นที่ ๓ พัฒนาวัด  ในยุคของหลวงพ่อจะค่อยๆ ทำไป  ค่อยๆ ทำทีละส่วนของวัดจะรอบวัด บูรณปฏิสังขรณ์รอบวัด  มีปัจจัยก็ค่อยๆ ทำไป  หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านจะไม่ขอ  ไม่รับบริจาค  ไม่เบียดเบียนคนอื่น  คือ  การทำวัดให้ดี  วัดต้องสะอาด  เรียบร้อยเป็นระเบียบแบบแผน

              “ความดีในพระพุทธศาสนา  เรียกเป็นคำพระว่า บุญบ้างกุศลบ้าง  จะเรียกอย่างไรก็ตาม  ความดีในพระพุทธศาสนา  เป็นสิ่งบริสุทธิ์  และมีเป็นระดับ  เช่น ศีล  สมาธิ  ปัญญา  หรือถ้าจะกล่าวตามประเภทของจิต  มี ๔ ระดับ  คือ  กามาวจร (ระดับธรรมดา)  รูปาวจร (ระดับฌาน)  อรูปาวจร (ระดับอรูปฌาน) และ โลกุตตระ (ระดับพ้นจากกิเลส จนถึงระดับบริสุทธิ์สูงสุด)”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุเสโณ)

๙๐.ต้นกำเนิดแห่งการริเริ่ม

              เราตายได้ แต่พระพุทธศาสนาตายไม่ได้  น้อมเศียรเกล้าอภิวาท  อาจาริยบูชา ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ : ๗ ปี มรณกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

              ในปัจจุบัน  การปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยอย่างเดียว  มิอาจจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ในขณะที่นวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ก้าวล้ำหน้าพระสงฆ์  ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของสังคมรุ่นเก่าไปแล้ว หากพระสงฆ์ปิดกั้นตนเอง  ไม่พยายามเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ  ของคนในยุคนี้  ควบคู่ไปกับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย  ไม่พยายามเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนในปัจจุบัน  และไม่พยายามที่จะหาวิธีการใช้ความรู้ของยุคสมัยเป็นสื่อในการถ่ายทอดคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา  ก็ยากที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

              หากเอ่ยนามพระสงฆ์  ผู้เป็นต้นแบบแห่งสงฆ์  ที่พุทธบริษัทปรารถนาจะได้พบเห็น  อันเป็นหนึ่งในทัสสนานุตตริยะที่เป็นมงคลยิ่ง  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นพระมหาเถระที่ได้รับการกล่าวนามถึงมากที่สุดรูปหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย

ด้วยใบหน้าที่เปิดยิ้ม  ฉายแววแห่งความเมตตา  ทักทายผู้คนทุกคนที่พบเห็น  “เจ้าประคุณสมเด็จฯ  เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่  และนำพระพุทธศาสนาขจรขจายไปก้องโลก  “เรื่องราวชีวิตของท่านจึงน่าสนใจยิ่ง”

              น่าสนใจเนื่องเพราะ  ความคิด ปฏิปทา และจริยาวัตรของท่าน ได้จุดประกายอุดมการณ์ความคิดฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้กับพระสงฆ์รุ่นใหม่  ทำงานพระศาสนาอย่างอุทิศชีวิต  “แทบไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตของพระสงฆ์รูปหนึ่ง  เมื่อแรกตั้งใจบรรพชาเป็นสามเณรเพียง ๗ วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชราจนคืนสู่ธรรมชาติตามกาลเวลา  และสามารถสร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาได้อย่างน่าอัศจรรย์  เหมือนชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา” 

              ๔๐ ปี ที่รอยเท้าเหยียบย่างลงบนหิมะอันหนาวเหน็บ ณ แผ่นดินนอกอาณาเขตพระพุทธศาสนา  กว่าบัวจะบานกลางหิมะ  กว่าพระธรรมทูตจะยืนได้อย่างสง่า  และกว่าพระพุทธศาสนาจะเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก

              “จากนี้ไป  โลกจะจดจำจารึกเรื่องราวชีวิตของผู้บุกเบิกแผ่นดินแห่งใหม่ให้กับพระพุทธศาสนา ในนาม  พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๙. วิธีการทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ๙๐.ต้นกำเนิดแห่งการริเริ่ม เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here