ขอให้ทุกวัน คือ วันพระ

วันแห่งการสร้าง ศีล สมาธิ และปัญญา

ให้เกิดมีฉันทะ เพื่อมุ่งสู่ความสงบ ระงับในใจตน

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

เรียนรู้ปฏิปทา พระมหาเถระแห่งยุคสมัยกึ่งพุทธกาล ผู้นำพระพุทธศาสนาสู่โลกกว้าง

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๘๕ . ประวัติศาสตร์ กระจกส่องอนาคต 

๘๖.เดินทางต่างประเทศครั้งแรก

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
————

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนโฟกัสไปที่ “ความไม่ประมาท” ดังปัจฉิมวาจา ซึ่งเป็นพระวาจาสุดท้ายก่อนปรินิพาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระสาวกในยุคของพระองค์ ถึง“ความไม่ประมาท” ที่ต้องพบกับการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และความดับไป ของสรรพสิ่ง หากทว่า พระพุทธศาสนา จะดับไปไม่ได้ และนั่นคือ ที่มาของปฏิปทาอันมุ่งมั่นของหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่จะรักษาและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้ได้มีหนทางในการดับทุกข์ทางใจด้วยตนเอง จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ผ่านพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกโดยการเล่าถึงความสำคัญด้านประวัติศาสตร์  ซึ่งท่านกล่าวว่า  หากประเทศชาติไม่มีประวัติศาสตร์  ก็เหมือนต้นไม้ไม่มีรากแก้ว โลกก็เช่นกัน หากไม่เรียนรู้ให้เท่าทันโลก เราก็ไม่อาจหยั่งรู้หนทางข้างหน้าที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง โดยมีพระพุทธศาสนานำทาง

๘๕. ประวัติศาสตร์ คือ กระจกส่องอนาคต

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองใหม่ๆ  ท่านเดินทางไปทุกจังหวัด  ทุกอำเภอ  ทุกตำบล  ที่อยู่ในปกครอง  ต้องนั่งเกวียน
นั่งสามล้อ และรถสองแถวในเวลาถัดมา ตามความเจริญของบ้านเมือง เพื่อเข้าไปยังถิ่นทุรกันดาร  เวลาไปก็จะดูว่าจังหวัด  อำเภอ  ตำบล  หรือหมู่บ้านนั้น มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างไร  มีสายน้ำภูเขาชื่ออะไร  ชาวบ้านมีอาชีพอะไรเป็นหลัก  มีสถานที่เกี่ยวกับการศึกษา  เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือไม่  ท่านจะสอบถามอย่างละเอียด  และแนะนำวิธีปฏิบัติว่า  ควรจะส่งเสริมพัฒนาอย่างไรให้มีความมั่นคง  หากชาวบ้านมีอาชีพมั่นคง ก็จะทำให้วัดมีความมั่นคงไปด้วย

โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ให้ความสำคัญมาก  หากประเทศชาติไม่มีประวัติศาสตร์  ก็เหมือนต้นไม้ไม่มีรากแก้ว  วัดไหนมีโบราณสถาน  หรือสถานที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์  ก็จะต้องเข้าไปดู  และจะแนะนำให้เห็นความสำคัญว่า  ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนที่สำคัญเหมือนกระจกส่องอนาคต  ประวัติศาสตร์ประเทศชาติก็เหมือนประวัติศาสตร์พระศาสนา  จะต้องจดจำไว้เป็นบทเรียน

ไปเยี่ยมเยือนที่ไหน  ไม่ว่าจะเป็นวัด  เป็นสำนักเรียน  หรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์  หากเขาถวายปัจจัยมา  ท่านก็จะร่วมสมทบทุนไว้ที่นั่นด้วยเสมอ
หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านพูดเสมอว่า

“ไปหาเขา ไปเยี่ยมเยือนเขา อย่าคิดไปเอาของเขา เราไป ต้องเป็นผู้ให้ อยู่ต่างจังหวัด เขาก็ลำบากอยู่แล้ว”


ความสนใจด้านประวัติศาสตร์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ  นั้น  มิใช่จะมีเฉพาะแต่ในประเทศเท่านั้น หากแต่ท่านยังให้ความสนใจกว้างออกไปยังประวัติศาสตร์โลกด้วย ซึ่งทำให้ท่านเข้าใจประเทศนั้นๆ ทั้งโดยสภาพภูมิศาสตร์  โดยประวัติศาสตร์  และวัฒนธรรม  หลายครั้งที่ท่านเดินทางไปต่างประเทศ  ก็จะมุ่งไปประเทศที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โลก  ไปดูอารยธรรมเก่าๆ  ของประเทศนั้นๆ  เช่น ประเทศอียิปต์   กรีก  กรุงโรม  อิตาลี  ฝรั่งเศส  สเปน  เยอรมนี  เป็นต้น (จะเห็นได้ว่าในห้องสมุดส่วนตัวของท่านโดยมากจะประกอบไปด้วยหนังสือประวัติศาสตร์ อัตชีวประวัติบุคคลสำคัญในประเทศที่ท่านไปเยือน) เห็นความรุ่งเรืองและล่มสลายของอารยธรรมโบราณ  ท่านมักจะเปรียบเทียบกับความรุ่งเรืองและความล่มสลายของพระพุทธศาสนาเสมอ  และสอนพระเณรให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท 

              หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านว่า

                           “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย

๘๖. เดินทางต่างประเทศครั้งแรก

              ในการเดินทางไปต่างประเทศช่วงแรกๆ เจ้าประคุณสมเด็จฯ  เน้นประเทศที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา  ไม่ว่าจะเป็น ประเทศพม่า  ลาว  กัมพูชา  เวียดนาม  ศรีลังกา  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน  ฮ่องกง สิงคโปร์  จีน  และประเทศที่พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรือง  แต่ถึงกาลล่มสลายไปแล้ว  ไม่ว่าจะเป็น  มาเลเซีย อินโดนีเซีย  บังคลาเทศ  เนปาล  อินเดีย  และ อัฟกานิสถาน  เป็นต้น  จากนั้น ก็เดินทางออกไปไกลถึงยุโรป และสหรัฐอเมริกา

              จากการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  มีโอกาสได้พบปะกับชาวไทย  และผู้นำทางการเมืองของไทยที่พลัดถิ่นอยู่ต่างประเทศ  เป็นเหตุให้ได้ทราบถึงความเป็นอยู่  และความลำบากของชาวไทย  ที่มีความจำเป็นต้องลี้ภัยทางการเมือง  ทุกคนล้วนแต่เรียกร้องอยากให้มีวัดไทย  และพระไทยไปประจำในต่างประเทศ  ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ  มุ่งการสร้างวัดในต่างประเทศ  ในโอกาสต่อมา

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๕. ประวัติศาสตร์ กระจกส่องอนาคต ๘๖.เดินทางต่างประเทศครั้งแรก เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here