วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐

ศึกษาปฏิปทาพระเถระแห่งยุคสมัยกึ่งพุทธกาล

ผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเอนกอนันต์

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

สำหรับสามบทนี้ ผู้เขียนสรุปช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ด้วยความเสียสละเพื่อสังฆมณฑล และเพื่อสานสร้างพระสงฆ์และสามเณรเพื่อเป็นพุทธบุตรในการสืบทอดพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัยยิ่งกว่าชีวิตและ วัตรปฏิบัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในการแสดงความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภกพระพุทธศาสนามาโดยลำดับจนถึงพระองค์ปัจจุบัน 

๖๖. ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รูปที่สอง

              วัดสระเกศฯ นั้น  มีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  มีพระอาการประชวร  และประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  มาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. ๒๕๔๕  ทำให้ทรงงานพระศาสนาไม่สะดวก  มหาเถรสมาคมจึงมีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


              เมื่อเวลาการแต่งตั้งได้สิ้นสุดลง  ที่ประชุมมหาเถรสมาคมจึงมีมติให้มีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ในฐานะพระเถระที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ได้รับเลือกให้ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช


๖๗. ประทานโอวาท

              ในงานมอบพัดยศ หรือเกียรติบัตรยกย่องเจ้าประคุณสมเด็จฯ  มักจะชี้แนะแนวทางปฏิบัติ  ที่จะให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบของคณะสงฆ์เสมอว่า  มหาเถรสมาคมประกาศระเบียบว่าด้วยสำนักปฏิบัติธรรมเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๓  นั้น  บรรดาสำนักต่างๆ เข้าใจเป็นอันดีว่าเป็นเรื่องอันหนึ่งอันเดียวกันของพระสงฆ์  ซึ่งเป็นไปตาม “พุทธประสงค์ที่ต้องการให้พระอยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง และอาศัยกันและกันโดยไม่แก่งแย่งกัน  ดังที่สวดในท้ายปาฏิโมกข์ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำนั่นเอง”

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ กล่าวว่า  ประเทศไทยเรายังมีระเบียบแบบแผนต่างๆ ส่งเสริมพระศาสนา  ยกย่องพระสงฆ์ให้ปรากฏในสังคมโดยสถาบันพระมหากษัตริย์  เช่น  การโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ ลำดับชั้นเจ้าคณะผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติ  โดยมิต้องการให้เหนือกว่า  ดีกว่า  หรือน้อยกว่า 

ถ้าดูตามประสงค์พื้นๆ ธรรมดา  ก็กล่าวได้ว่าเพื่อยกย่อง  มิใช่เพื่อแสดงความสูงต่ำจนกระทั่งเกิดอาการ (ไม่ดี) เข้ามาแทนที่  ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้ว  เพราะพระเถระผู้ใหญ่ต่างมาประชุมที่เดียวกัน  โดยไม่ถือชั้นนั้นชั้นนี้  แต่แสดงความเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน”

เจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่า โดยความรู้สึกแล้ว ท่านดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นปรากฏการณ์อย่างนี้

๖๘ . เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์


              ส่วนที่เป็นวัตรปฏิบัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ คือ  การแสดงความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเห็นว่าทุกครั้งหลังจากจบโอวาทในงานคณะสงฆ์  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขอให้ที่ประชุมตั้งใจถวายพระราชกุศลแด่องค์พระมหากษัตริย์  โดยขอให้ที่ประชุมตั้งใจถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภกพระพุทธศาสนามาโดยลำดับจนถึงพระองค์ปัจจุบัน  และขอให้อธิษฐานใจร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล  ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงคุณอันประเสริฐในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ  ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน  ทรงมีพระราชประสงค์สิ่งใดขอให้สัมฤทธิ์โดยเร็วพลัน
              ดังนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  จึงเป็นตัวอย่างแห่งความจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์  พระธรรมวินัย พระสงฆ์ และสถาบันพระมหากษัตริย์  ที่สาธุชน และพระสงฆ์สามเณรควรจะเจริญรอยตาม


วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๖๖.  ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รูปที่สอง ๖๗. ประทานโอวาท ๖๘. เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ : เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here