วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗

เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระ

ผู้เสียสละเพื่อสังฆมณฑล

เพียรสร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่

เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้มากที่สุด

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย

ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ

สำหรับสามบทนี้เล่าย้อนถึงตำนานเบญจภาคีแห่งคณะสงฆ์ไทย และช่วงที่หลวงพ่อสมเด็จฯ สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค   ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง  แม้พระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ต้องการให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองในภาคกลาง  แต่ท่านกลับเลือกที่จะไปเป็นผู้ปกครองทางภาคที่กันดาร  และเดินทางไปยากที่สุด คือ ภาคอีสาน  เนื่องจากท่านได้เล็งเห็นว่า  หากจะพัฒนาประเทศชาติและพระศาสนา  จะต้องพัฒนาจากภาคที่มีประชากรมากที่สุดก่อน โดยเน้นที่การให้การศึกษา ส่วนอีกบทหนึ่งเล่าถึงเบื้องหลังความแตกฉานทางพระไตรปิฎก ภาษาบาลี และภาษามคร จนได้รับนิมนต์เข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ ที่ประเทศพม่า ต่อมาได้เป็นรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๔ และในปีต่อมาได้รับนิมนต์จากคณะสงฆ์ศรีลังกาให้เป็นผู้สาธิตการอุปสมบทแบบสยามวงศ์ดั้งเดิม จนกระทั่งนำมาสู่การจัดงานวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยในเวลาต่อมา

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๔๓. ตำนานเบญจภาคีแห่งคณะสงฆ์ไทย

๔๔. ความพากเพียรก้าวสู่ความสำเร็จ

๔๕. ห้องสมุดส่วนตัว

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๔๓. ตำนานเบญจภาคี แห่งคณะสงฆ์ไทย

พระสงฆ์ที่เป็นนักเรียนบาลีเปรียญธรรม ๙ ประโยค ศิษย์เอกของท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง มีนามที่ท่านอาจารย์แย้มเรียกขานว่า “เบญจวัคคีย์” หรือ (“เบญจภาคี”) มี ๕ รูป คือ
              ๑. พระมหาพลอย ญาณสํวโร (พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดเทพธิดาราม) สอบ ป.ธ.๙ ได้ในปี ๒๔๙๖
              ๒. พระมหาช่วง วรปุญฺโญ (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ) สอบ ป.ธ.๙ ได้ในปี ๒๔๙๗
              ๓. พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ (สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ) สอบ ป.ธ.๙ ได้ในปี ๒๔๙๗
              ๔. พระมหานิยม ฐานิสฺสโร (สมเด็จพระมหาธีราจาย์ วัดชนะสงคราม) สอบ ป.ธ.๙ ได้ในปี ๒๔๙๘
              ๕. พระมหาช้อย มหาธีโร (พระเทพวิสุทธิโมลี วัดมหาธาตุ ราชบุรี) สอบ ป.ธ.๙ ได้ในปี ๒๕๐๐
              มีผู้นำชื่อจริงของพระมหาทั้ง ๕ รูป มาเรียกเรียงกันว่า “เกี่ยว นิยม พลอย ช้อย ช่วง” เป็นที่จดจำกันได้ในหมู่ศิษย์ทั้ง ๕ รูปนี้เป็นสหายธรรมที่รักใคร่สนิทสนมกันยิ่งนัก ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
              เมื่อพระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย) วัดมหาธาตุ ราชบุรี ถึงแก่มรณภาพในปี ๒๕๓๘ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ท่านไปเยี่ยมศพ และอยู่เป็นเพื่อนศพเป็นเวลานานมาก ท่านเดินดูรอบๆ กุฏิที่พระเทพวิสุทธิโมลีพำนักอยู่ หน้ากุฏิมีต้นยางอินเดียขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่งที่พระเทพวิสุทธิโมลีปลูกไว้ แผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น ท่านปรารภแก่พระเถระที่ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสว่า“ยางต้นนี้ขอไว้นะ”
              เวลาผ่านไปเกือบ ๒๐ ปี ยางอินเดียต้นนั้นสำแดงฤทธิ์เป็นอันมาก โดยเฉพาะรากที่แทงทะลุระเบิดไปรอบทิศทาง โดยที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง อย่างดีก็แค่ตัดกิ่งที่แผ่เกินขนาดออกเสียบ้างเท่านั้น “นี่ถ้าสมเด็จฯ ไม่ขอไว้ละก็” ท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันปรารภบ่อยๆ ทำให้เห็นปฏิปทาของพระสงฆ์ที่ท่านเคารพคำสั่งของพระเถระผู้ใหญ่อย่างยิ่งยวด และทำให้เห็นบารมีของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ที่ให้ความร่มเย็นไม่เฉพาะในหมู่ผู้คนเท่านั้น แต่ยังแผ่คุ้มครองไปถึงต้นไม้ด้วย ในฐานะศิษย์ของพระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย) หนึ่งใน “เบญจภาคี” และศิษย์วัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่เคยได้อาศัยร่มเงาของยางอินเดียต้นนั้น ขอกราบถวายคารวะอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ขอรับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
วันพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
(ขอขอบพระคุณในข้อมูล ของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ข้อมูลจาก เพจพัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย)

ขอขอบพระคุณในข้อมูล ของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ข้อมูลจาก เพจพัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย

๔๔. ความพากเพียรก้าวสู่ความสำเร็จ

              จากวันที่สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค  เพราะความรักที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้น  เมื่อก้าวขึ้นสู่การบริหารคณะสงฆ์  และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง  แม้พระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ต้องการให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองในภาคกลาง  แต่หลวงพ่อสมเด็จฯ กลับเลือกที่จะไปเป็นผู้ปกครองทางภาคที่กันดาร  และเดินทางไปยากที่สุด คือ ภาคอีสาน   

เนื่องจากหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้เล็งเห็นว่า  หากจะพัฒนาประเทศชาติและพระศาสนา  จะต้องพัฒนาจากภาคที่มีประชากรมากที่สุดก่อน โดยเน้นที่การให้การศึกษา

ย้อนกลับไปกก่อนหน้านั้นอีก จากผลการเรียนจนสามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคในขณะเป็นสามเณรได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่หลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์เป็นอย่างมาก  แม้ญาติโยมชาวเกาะสมุยก็รู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง  ที่สามเณรน้อยชาวเกาะผู้เมื่อแรกตั้งใจว่าจะบวชเพียง ๗ วัน  แต่กลับอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์จนสามารถสอบเปรียญธรรม ๕ ประโยคได้  ความภาคภูมิใจเช่นนี้ยังไม่เคยมีใครสามารถนำมาสู่ชาวเกาะสมุย  ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งสันโดษอยู่กลางทะเลอ่าวไทย  ห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คนบนแผ่นดินใหญ่  จนคนสมัยโน้น  เข้าใจกันว่าเกาะสมุยอยู่นอกอาณาเขตการปกครองของไทย

ข่าวคราวการสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคของสามเณรเกี่ยว  จึงเป็นเรื่องที่เล่าขานกันอย่างกว้างขวางของชาวเกาะสมุย ในเวลานั้น และยิ่งเรียนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยคด้วยแล้วในเวลาต่อมา จึงเป็นที่ปลาบปลื้มของชาวสมุยเป็นที่สุด จนเกิดตำนาน เบญจภาคี แห่งวงการคณะสงฆ์ไทย

๕.

ห้องสมุดส่วนตัว

              หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านเป็นคนอ่านหนังสือมาก ชอบสะสมหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ จนมีห้องสมุดส่วนตัว และหนังสือที่ท่านชอบสะสม คือ พระไตรปิฏก มีทั้งฉบับภาษาพม่า ศรีลังกาและอักษรโรมัน

เพราะท่านอ่านพระไตรปิฎกมาตั้งแต่เป็นสามเณร ตามคำแนะนำของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  ผู้เป็นพระอาจารย์  ซึ่งพระองค์ทรงทราบถึงความสามารถของพระมหาเกี่ยวว่ามีความเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกเป็นอย่างดีรูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย  โดยเฉพาะคัมภีร์พระวินัย ท่านแปลคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายพระวินัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นสำนวนแปลที่งดงาม เป็นที่ต้องการของผู้เรียนบาลีเปรียญเอก

เห็นได้ว่าหลังจากสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคในปีเดียวกันนั้นเอง  รัฐบาลพม่าขณะนั้น  เป็นเจ้าภาพจัดให้มีประชุมฉัฏฐสังคีติ  (เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกในพม่าเป็นครั้งที่ ๒ แต่พม่าถือว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖  นับจากหลังพุทธกาลเป็นต้นมา  เรียกว่า ฉัฏฐสังคายนา โดยทำพิธีเปิดงานตามพุทธศักราชของพม่า  เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ จนถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐  ซึ่งพม่านั้นพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี จึงตรงกับ พ.ศ. ๒๔๙๗ – ๒๔๙๙ ของไทย) จึงได้มีหนังสืออาราธนานิมนต์ผ่านคณะสงฆ์ไทย  ขอให้ส่งผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญในพระคัมภีร์สังคีติ  และข้อปฏิบัติในพระกรรมฐานเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้  พระมหาเกี่ยวเป็นอีกรูปหนึ่งที่ได้เข้าร่วมประชุมตามคำอาราธนานิมนต์   และได้บรรยายอรรถกถา  คัมภีร์สังคีติเป็นภาษาบาลี  และได้ให้โอกาสผู้ฟังได้สอบถามเป็นภาษาบาลีด้วย 

ในการเดินทางครั้งนี้  นอกจากพระมหาเกี่ยวแล้ว  ยังมีพระอาจารย์ใหญ่อีก ๒ รูป  เข้าร่วมประชุมด้วย คือ พระอุดมวิชาญาณเถร (โชดก ญาณสิทฺธิ) สำนักปฏิบัติวิปัสสนา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ศิษย์เก่าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดศาสนยิสสา   เมืองย่างกุ้ง  ประเทศพม่า  ซึ่งเป็นพระมหาเถระเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก  และมีความทรงจำเป็นเลิศ  สามารถบอกเรื่องราวต่างๆ ว่าอยู่ในเล่มใด  และบางครั้งบอกหน้าหนังสือเล่มนั้นด้วย  อีกทั้งท่านยังเป็นนักประพันธ์ที่นิพนธ์เรื่องศาสนาได้รวดเร็ว  และได้นิพนธ์ไว้มากมายหลายเรื่อง

อีกท่านคือ  พระอาจารย์ทอง  หรือ “หลวงปู่ทอง สิริมังคโล” พระเถระชั้นผู้ใหญ่อีกรูปของเมืองเชียงใหม่  ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระที่เคร่งครัดระเบียบวินัย  ใส่ใจด้านการปฏิบัติกัมมัฏฐาน  ได้รับการยกย่องเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าแห่งถิ่นล้านนา  เข้าฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานจากสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  กรุงเทพฯ และสำนักมหาสีสยาดอสาสนยิสสา  กรุงย่างกุ้ง  ประเทศสหภาพพม่า (ปัจจุบัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา)

หลวงพ่อสมเด็จฯ เล่าว่า

“เมื่อเดินทางไปถึงประเทศพม่า  ก็ได้เดินทางไปลงทะเบียน  และเข้าสู่ที่พัก  เจ้าหน้าที่ได้จัดให้พักห้องละ ๒ รูป  โดยหลวงพ่อเองได้พักกับอาจารย์ทอง  ท่านชวนคุยเรื่องการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยอาจารย์ทองท่านจะอธิบายการเจริญกรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ส่วนหลวงพ่ออธิบายพระอรรถกถาเทียบเคียง  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดทั้งคืน  อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย  เหมือนเป็นเรื่องสนุก”

วิสาขบูชา-วันสากลโลก

            มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเองได้ประจักษ์กับตัวเอง

วันหนึ่ง พระจากประเทศศรีลังกาเดินทางมาประชุมวันวิสาขบูชา  ซึ่งเป็นวันสำคัญสากลของโลก  ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ  ล่ามมานัดไว้ และขอเข้ามากราบหลวงพ่อสมเด็จฯ เวลา ๐๙.๐๐ น. โดยประมาณ

แต่พระศรีลังกาท่านฉันเช้าเสร็จแล้ว  ท่านก็เดินทางมาก่อนเวลา  โดยมาพบที่คณะ ๕  ซึ่งเป็นกุฏิที่ท่านพัก  ตามปกติแล้วถ้าเป็นแขกต่างประเทศ  ท่านจะรับที่พระตำหนัก  แต่ด้วยผู้ที่มาพบนั้น  เป็นพระที่มีความคุ้นเคยกัน  ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อสมเด็จเดินทางไปประกอบพิธีสาธิตการบวชให้ครั้งแรก  ถ้าจะว่าไปแล้วก็คือลูกศิษย์ที่ท่านบวชให้รุ่นแรกตอนที่คณะสงฆ์ศรีลังกานิมนต์ให้เป็นผู้สาธิต ทบทวนขั้นตอนการอุปสมบทแบบสยามวงศ์ดั้งเดิม

ขอเล่าเรื่องการไปสาธิตการบวชให้กับคณะสงฆ์ศรีลังกาเพิ่มเติม หลวงพ่อสมเด็จฯเล่าว่า ตอนนั้นคณะสงฆ์ศรีลังกาต้องการทบทวนว่า การบวชดั้งเดิมตามแบบสยามวงศ์นั้น คณะสงฆ์ศรีลังกายังปฏิบัติได้เหมือนเดิมหรือไม่ จึงขอให้คณะสงฆ์ไทยส่งพระไปสาธิต วิธีบวชให้ดู ซึ่งคณะสงฆ์ไทย ให้หลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นคณะเดินทางไป และพระศรีลังกาที่มาพบท่าน จึงเป็นสัทธิวิหาริกที่ท่านบวชให้ในศรีลังกาคราวนั้น นั่นเอง

สาธิตห่มจีวร ประกอบด้วย

ธรรมเนียมการห่มจีวรในพระราชอาณาจักรสยาม

เดิมที่เดียว พระสงฆ์สมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะห่มผ้าแบบเดียวกันกับพระพม่ารามัญ ลาว และเขมร เพราะทั้งพม่า ไทย ลาว  เขมร ต่างก็ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนามาจากประเทศศรีลังกา  

แต่เนื่องจากปัจจัยด้านสงครามสมัยอยุธยาระหว่างพม่ากับไทย  ทำให้พม่าชอบใช้กุศโลบาย โดยให้ทหารปลอมแปลงเป็นพระภิกษุเข้ามาแอบแฝงอยู่กับพระสงฆ์ไทย เพื่อสืบราชการข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระสงฆ์ไทยสมัยอยุธยาต้องคิดแบบการครองจีวรที่ใช้เฉพาะพระสงฆ์ในพระนครกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่  เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ในราชอาณาจักร กับพระสงฆ์นอกราชอาณาจักร

เวลาห่มเฉียงอยู่ในวัดเปิดไหล่ขวา แทนที่จะบิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านซ้ายมือแบบเดิม ก็บิดเกลียวผ้าไปด้านขวามือ

เวลาห่มคลุมออกนอกวัด  แทนที่จะพาดลูกบวบ(เกลียวผ้า)บ่นไหลซ้าย ก็หนีบลูกบวบที่รักแร้ซ้ายแทน

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา คือ พระสงฆ์ต้องโกนคิ้วเพื่อให้มีความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์พม่ารามัญ   และใช้เป็นธรรมเนียมเฉพาะพระสงฆ์ไทย ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์   

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นในประเทศไทย  ได้นำวิธีครองจีวรแบบพระพม่ารามัญกลับมาใช้อีกครั้ง  คณะสงฆ์ธรรมยุตคงรักษาธรรมเนียมพระสงฆ์สมัยอยุธยาไว้เฉพาะการโกนคิ้ว ดังที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงปรารภเมื่อครั้งที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชเป็นภิกษุแล้วได้ตั้งธรรมยุตินิกายขึ้น  และได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีห่มจีวรใหม่ตามแบบพระพม่ารามัญที่ เรียกว่า  “ห่มแหวก

เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเข้าไปสวดมนต์ในพระราชวัง เห็นสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วไม่ตรัสว่าอะไรก็คิดว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นชอบกับวิธีการห่มแหวกแบบพระพม่ารามัญ   จึงห่มแบบนี้เรื่อยมาและแพร่หลายในคณะสงฆ์ธรรมยุติ

            การแสดงอาบัติ

กิจอีกอย่างหนึ่ง ที่พระสงฆ์ถือเป็นข้อปฏิบัติก่อน หรือหลังจากการทำวัตรสวดมนต์ คือ การแสดงอาบัติ

การแสดงอาบัติ คือ การบอกอาบัติที่พระภิกษุต้องเข้าแล้วให้พระภิกษุรูปอื่นได้รับทราบ  เพื่อเป็นการเตือนสติตนเองว่าจะตั้งใจปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น โดยยืนยันว่าจะไม่ทำ ไม่พูด ไม่คิดอย่างนั้นอีก  เป็นการดำเนินตามปฏิปทาของพระโสดาบัน  คือ ผู้เป็นพระโสดาบันนั้น แม้จะยังมีข้อผิดพลาดทางกาย ทางวาจา หรือทางใจอยู่บ้างก็จริง แต่เมื่อทำแล้วท่านไม่ปกปิดข้อผิดพลาดของตนไว้ พร้อมที่จะยอมรับ และเปิดเผยสิ่งที่ได้กระทำตามความเป็นจริง  โดยกระทำให้ถูกต้องตามวิธีการทางพระวินัยกำหนดไว้

การแสดงอาบัติของภิกษุเป็นการดำเนินตามปฏิปทาของพระโสดาบัน  เมื่อพระภิกษุต้องอาบัติแล้วจึงต้องแสดงอาบัติทันที  พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบัน  จึงมีการแสดงอาบัติเช้า-เย็น เพื่อเป็นการเตือนสติให้มีจิตตั้งมั่นในการละบาปแม้เล็กน้อยและทำความดีต่อไป อันเป็นการเจริญรอยตามปฏิปทาของพระโสดาบัน

จากหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ

ดังนั้นเวลาแขกมาพบ หรือญาติโยมมาพบหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่กุฏิ  ก็จะให้พระเณรปฏิสันถารก่อนเป็นอันดับแรก  ถือเป็นธรรมเนียมของวัดสระเกศฯ 

วันนั้นผู้เขียนเองเป็นผู้คอยปฏิสันถารอยู่  หลังจากถวายน้ำแล้ว  ก็ได้แต่นั่งมองหน้ากันเลิ่กลั่ก  ล่ามก็ยังมาไม่ถึง  ผู้เขียนเองก็พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง… ไม่รู้จะทำอย่างไร

จึงเข้าไปกราบเรียนหลวงพ่อสมเด็จฯว่า ล่ามยังมาไม่ถึง…

จากนั้นท่านก็เดินออกมาพบแขกที่หน้าศาลาไทย ที่หน้าห้อง  

เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยินหลวงพ่อสมเด็จฯ  พูดคุยกับพระต่างประเทศ (ศรีลังกา) ด้วยภาษาบาลี(มคธ)  ซึ่งเป็นภาษาที่พระพุทธองค์ทรงเคยใช้ตรัสสั่งสอนเหล่าพุทธสาวกให้บรรลุธรรม

พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

              การสนทนาเป็นไปด้วยความราบรื่น ใช้เวลาร่วมชั่วโมง  พระต่างประเทศคณะนี้ จึงเดินทางกลับ ส่วนล่ามทราบภายหลังว่าไม่สบายจึงเดินทางมาไม่ได้

ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจว่า  ในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก  หลวงพ่อสมเด็จฯ ต้องเข้าไปร่วมด้วย  เช่น เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฎก  ฉบับปี ๒๕๐๐  ของคณะสงฆ์ไทย  และไปร่วมประชุมอรรถกถาสังคายนา ณ ประเทศพม่า อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการรักการอ่าน

ชอบสะสมหนังสือ จนเกิดเป็น  “ห้องสมุดส่วนตัว” ไว้ค้นคว้า

พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๔๓.ตำนานเบญจภาคี แห่งคณะสงฆ์ไทย ๔๔. ความพากเพียรก้าวสู่ความสำเร็จ ๔๕. ห้องสมุดส่วนตัว เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here