“ความละเอียดของลมหายใจเข้าออก(อัสสาสะและปัสสาสะ) สัมพันธ์อยู่กับความละเอียดของจิตซึ่งเป็นขั้นตอนของการก้าวเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า “ฌาน” จิตละเอียดลง ลมหายใจก็จะละเอียดลงด้วย  ได้อธิบายไว้บ้างแล้วในบทก่อน”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑

วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๑๓ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๒

ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

บทที่ ๑๙ (ตอนที่ ๒๐)

คัมภีร์ที่ ๖ ยมก (จบ)

: “ถามตอบภายในจิตจนสิ้นสงสัย ”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตีพิมพ์เป็นธรรมทานครั้งแรก ๒๔ ตอน ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ธรรมโอสถ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตีพิมพ์เป็นธรรมทานครั้งแรก ๒๔ ตอน ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ธรรมโอสถ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

อนุสยยมก คู่ธรรมว่าด้วยอนุสัย คือ กิเลสที่หมักหมม นอนเนื่อง หรือ แฝงตัวอยู่ในสันดาน ยังละไมได้อย่างสิ้นเชิง ร้อยเรียงผูกโยงไปตามการเกิดภพภูมิ เมื่อประสบเหตุเหมาะก็จะฟุ้งขึ้นมา

อนุสัยมี ๗ อย่าง ได้แก่ กามราคะ (ความกำหนัดในกาม)  ปฏิฆะ (ความขัดเคืองหงุดหงิดใจ เพราะโทสะ) ทิฎฐิ (ความเห็นผิด การถือความเห็นผิดว่า เป็นจริง) วิจิกิจฉา (ความลังเล สงสัย)  มานะ (ความถือตัวถือตน) ภวราคะ (ความยึดในภพ) อวิชชา (โมหะ ความรู้ไม่จริง)

ปุถุชนทั่วไปมีอนุสัยครบถ้วนทุกประการ ส่วนพระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังมีอนุสัย ๕ อย่าง คือ กามราคะ (ความกำหนัดในกาม)  ปฏิฆะ (ความขัดเคือง หงุดหงิดใจ มีโทสะ) ทิฎฐิ (ความเห็นผิด การถือความเห็นผิดว่าเป็นจริง) วิจิกิจฉา (ความลังเล สงสัย) มานะ (ความถือตัวถือตน) ภวราคะ (ความยึดในภพ) อวิชชา (โมหะ ความรู้ไม่จริง)

พระอนาคามี ยังมีอนุสัย ๓ อย่าง คือ มานะ (ความถือตัวถือตน) ภวราคะ (ความยึดในภพ) อวิชชา (โมหะ ความรู้ไม่จริง) พระอรหันต์ละอนุสัยได้หมดทุกอย่าง

"ดอกบัวน้อยถวายพระพุทธเจ้า" ภาพวาดลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
“ดอกบัวน้อยถวายพระพุทธเจ้า” ภาพวาดลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

การแจกแจงอนุสัยในคัมภีร์ยมก เป็นไปอย่างละเอียดลึกซึ้งมาก ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะอนุสัยเป็นกิเลสที่ละเอียด แสดงความเชื่อมโยงระหว่างอนุสัยแต่ละอย่างกับบุคคลผู้มีอนุสัย สัมพันธ์อยูกับธาตุทั้ง ๓ คือ กามธาตุ(กามาวจรภูมิ) รูปธาตุ อรูปธาตุ ดำเนินไปในมิติของกาลเวลา

จิตตยมก คู่ธรรมที่ว่าด้วยธรรมชาติจิต แบ่งออกไปเป็น ๓ วาร ประกอบด้วย (๑) ปุคคลวาร ว่าด้วยบุคคล  (๒) ธัมมวาร ว่าด้วยตัวจิต  (๓) ปุคคลธัมมวาร ว่าด้วยบุคคลและจิตของบุคคล (๔) มิสสกวาร ว่าด้วยจิตประกอบด้วยกิเลสต่างๆ 

แต่ไม่ว่าจิตตยมกจะมีรายละเอียดแตกออกไปอย่างไร แก่นของเรื่องก็อยู่ที่เพื่อให้ได้คำตอบเรื่องจิตเป็นสำคัญ เมื่อรู้และเข้าใจชัดเจนในธรรมชาติของจิตก็จะสามารถรู้เท่าทันอาการของจิตขณะเกิด(อุปาทขณะ) และขณะดับ (ภังคขณะ)  คือ สามารถกำหนดรู้การเกิดดับของจิตนั่นเอง

ในจิตตยมก จึงเริ่มด้วยการ ซักซ้อม สอบทาน ถามตอบ เพื่อให้รู้ว่าบุคคลเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร จิตของบุคคลเป็นอย่างไร และสรุปจบด้วยจิตที่ประกอบด้วยกิเลสขณะเกิดดับเป็นอย่างไร

ธรรมยมก คู่ธรรมว่าด้วยธรรมทั้งหลาย โดยมุ่งอธิบายว่า กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม เกิดอย่างไร ดับอย่างไร เพื่อให้เข้าใจภูมิทั้ง ๓ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจารภูมิ และอรูปาวจรภูมิ ว่ามีสภาวะเป็นอย่างไร

อินทริยยมก คู่ธรรมว่าด้วยองค์ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เนื้อหาของอินทริยยมก ในแง่นามธรรม ทำให้รู้การเชื่อมโยงของจิตในระดับต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเกิดในภพภูมิที่แตกต่างกัน ในแง่กายภาพ ทำให้รู้การทำงานของอายตนะหรือระบบประสาท ภาวะเพศ และความมีชีวิต รู้ภาวะทางอารมณ์และจิตใจ รู้ความรู้สึกและส่วนประกอบของอารมณ์ความรู้สึก(เจตสิก) ด้านปัญญา ได้รู้ถึงระดับความรู้ชั้นต่างๆ สูงขึ้นไปตามลำดับตั้งแต่มรรคญาณจนถึงผลญาณ

อินทรีย์ ๒๒ มีจักขุนทรีย์ เป็นต้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่

(๑) รูปธรรม คือ จักขุนทรีย์ (ประสาทตา) โสตินทรีย์ (ประสาทหู) ฆานินทรีย์ (ประสาทจมูก) ชิวหินทรีย์ (ประสาทลิ้น) กายินทรีย์ (ประสาทกาย) อิตถินทรีย์ (อิตถีภาวะ -เพศหญิง) ปุริสินทรีย์ (ปุริสภาวะ-เพศชาย)

(๒) นามธรรม คือ มนินทรีย์ (ใจหรือจิต) สุขินทรีย์ (สุขเวทนา-สุขทางกาย) ทุกขินทรีย์ (ทุกขเวทนา-ทุกข์ทางกาย) โสมนัสสินทรีย์ (โสมนัสสเวทนา-สุขทางใจ) โทมนัสสินทรีย์ (โทมนสัสสเวทนา-ทุกข์ทางใจ) อุเปกขินทรีย์ (อุเบกขาเทนา-ไม่ทุกข์ไม่สุข) สิทธินทรีย์ (ศรัทธา-ความเชื่อ) วิริยินทรีย์ (วิริยะ-ความเพียร) สตินทรีย์ (สติ-ความระลึกได้) สมาธินทรีย์ (สมาธิ-ความตั้งใจมั่น) ปัญญินทรีย์(ปัญญา-ความรู้) อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ (โสตาปัตตามัคคญาณ-อินทรีย์ของผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อรู้สัจธรรมที่ยังไม่รู้) อัญญินทรีย์ (หมายถึง ญาณ ๖ ได้แก่ โสตาปัตติมัคคผลญาณ สกทาคามิมัคคญาณ สกทาคามิผลญาณ อนาคามิมัคคญาณ อนาคมิผลญาณ ๗ อรหัตตมัคคญาณ) อัญญาตาวินทรีย์ อรหัตตผลญาณ

(๓) รูปธรรมและนามธรรม คือ ชีวิตินทรีย์ (ชีวิต)

อินทรีย์ แต่ละอย่างเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เมื่ออินทรีย์ใดทำหน้าที่หรือมีบทบาทแล้ว ในขณะนั้น ก็จะไม่มีสิ่งอื่นมาแทรก การหาคำตอบในอินทรีย์ยมก ก็เพื่อให้ได้ความรู้ที่ชัดเจนในเรื่องรูปกับนามนั่นเอง

การถามตอบด้วยวิธีแห่งคู่ธรรมนี้ เป็นวิธีเข้าถึงปรมัตถธรรมอีกวิธีหนึ่ง เป็นไปอย่างละเอียดลึกซึ้ง เกี่ยวกับบุคคล ภพภูมิ และกาลเวลา แสดงถึงพระปัญญาอันลึกซึ้งแห่งพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์

การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงสภาวธรรมไว้หลายประเภท หลายวิธี หลายหัวข้อ หลายหมวดหมู่ มีนัยอันวิจิตรนั้น ก็เพื่ออนุเคราะห์เวไนยสัตว์ ซึ่งมีอัธยาศัยแตกต่างกัน เพราะสั่งสมบุญกุศลและสติปัญญามาต่างกัน เมื่อได้วิธีการเข้าถึงสภาวธรรมที่เหมาะกับอัธยาศัย ของตนๆ ก็จะสามารถก้าวข้ามความลังเลสงสัย(วิจิกิจฉา) รู้ทั่วถึงปรมัตถธรรม บรรลุซึ่งพระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ได้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

“ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (๒๑) คัมภีร์ที่ ๖ ยมก (จบ) : “สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม (ถามตอบภายในจิตจนสิ้นสงสัย) ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ  นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๙๕ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (๒๑) คัมภีร์ที่ ๖ ยมก (จบ) : “สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม (ถามตอบภายในจิตจนสิ้นสงสัย) ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๙๕ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐

วันนี้วันพระ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๑๙ (ตอนที่ ๒๐) คัมภีร์ที่ ๖ ยมก (จบ) : “สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม (ถามตอบภายในจิตจนสิ้นสงสัย) ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here