ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน
วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๒

ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

บทที่ ๑๖

(ตอนที่ ๑๗) คัมภีร์ที่ ๕ กถาวัตถุ (จบ)

: การจัดแบ่งเนื้อหาในคัมภีร์กถาวัตถุ

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตีพิมพ์เป็นธรรมทานครั้งแรก ๒๔ ตอน ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ธรรมโอสถ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตีพิมพ์เป็นธรรมทานครั้งแรก ๒๔ ตอน ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ธรรมโอสถ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

การจัดแบ่งเนื้อหาในคัมภีร์กถาวัตถุ

กถาวัตถุ นอกจากจะเป็นคัมภีร์แสดงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้ประมวลวาทะของลัทธิต่างๆ ที่แสดงความเห็นผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนแสดงวิธีโต้ตอบหักล้างความเห็นผิดไว้ด้วย แล้วเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างหลักคำสอน

โครงสร้างของคัมภีร์กถาวัตถุประกอบด้วยหลักธรรม เช่น ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ มรรค ผล และนิพพาน  ซึ่งมีส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ  ส่วนที่เป็นเนื้อหาหลัก และ ส่วนที่เป็นวิธีการโต้ตอบ โดยเนื้อหาหลักแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะเนื้อหาที่ว่าไปตามลำดับวาทกถา และ ลักษณะเนื้อหาที่ว่าไปตามสาระทางธรรม

เนื้อหาที่ว่าไปตามลำดับวาทกถา เรียกว่า “ปัณณาสก์” แบ่งเป็น ๕ ปัณณาสก์ (ปัณณาสก์ แปลว่า ๕๐ หมายถึง มีวรรคละประมาณ ๕๐ เรื่อง) ในแต่ละปัณณาสก์จัดแบ่งเป็นวรรค มี ๒๓ วรรค  แต่ละวรรคแสดงกถาวัตถุเรื่องต่างๆ ดังนี้

๑. มหาปัณณาสก์  มีอยู่  ๕ วรรค  รวม ๕๒ กถา เช่น ปุคคลกถา กถาว่าด้วยเรื่องบุคคล  สติปัฏฐานกถา กถาว่าด้วยเรื่องสติปัฏฐาน วิมุตติกถา กถาว่าด้วยเรื่องความหลุดพ้น ปฏิสัมภิทากถา กถาว่าด้วยเรื่องปฏิสัมภิทา ปัจจุปันนญาณกถา กถาว่าด้วยเรื่องญาณในปัจจุบัน เป็นต้น

๒. นิยามปัณณาสก์ มียู่  ๕ วรรค รวม ๕๓ กถา เช่น สัจจกถา กถาว่าด้วยเรื่องสัจจะ เจตสิกกถา กถาว่าด้วยเรื่องเจตสิก ทานกถา กถาว่าด้วยเรื่องทาน รูปธาตุกถา กถาว่าด้วยเรื่องรูปและธาตุ นิโรธกถา กถาว่าด้วยเรื่องนิโรธ เป็นต้น

๓. นิสยปัณณาสก์ มี ๕ วรรค รวม ๔๐ กถา เช่น อิทธิพลกถา กถาว่าด้วยเรื่องกำลังแห่งฤทธิ์  สมาธิกถา กถาว่าด้วยเรื่องสมาธิ  กัมมกถา กถาว่าด้วยเรื่องกรรม สฬายตนกถา กถาว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๖ กัปปกถา กถาว่าด้วยเรื่องกัป ชรามรณกถา กถาว่าด้วยเรื่องความแก่และความตาย  สัญญาเวทยิตกถา กถาว่าด้วยเรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธญาณ เป็นต้น

๔. นิคคหปัณณาสก์ มี ๕ วรรค รวม ๔๔ กถา เช่น นิคคหกถา กถาว่าด้วยเรื่องการข่ม การตำหนิ หรือ การลงโทษ ปัคคหกถา กถาว่าด้วยเรื่องการยกย่องสรเสริญ  มนุสสโลกกถา กถาว่าด้วยเรื่องโลกมนุษย์ สามัญญผลกถา กถาว่าด้วยเรื่องผลแห่งการปฏิบัติสมณธรรม ญาณกถา กถาว่าด้วยเรื่องญาณ  เป็นต้น

๕. ขุททกอัฑฒปัณณาสก์ มี ๓ วรรค รวม ๒๘ กถา เช่น สาสนกถา กถาว่าด้วยเรื่องหลักคำสอน พุทธกถา กถาว่าด้วยเรื่องพระพุทธจ้า  ปรินิพพานกถา กถาว่าด้วยเรื่องปรินิพพาน เป็นต้น

ส่วนเนื้อหาที่ว่าไปตามสาระทางธรรม เป็นการนำเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ มาแยกตั้งเป็นประเด็นคำถามตอบ เพื่อแก้ข้อสงสัย หักล้างความเห็นผิดไปทีละเรื่อง ประกอบด้วย

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

๑. เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า มี ๑๔ เรื่อง

๒. เรื่องเกี่ยวกับพระอรหันต์ มี ๑๖ เรื่อง

๓. เรื่องเกี่ยวกับพระอริยบุคคลนอกจากพระอรหันต์ มี ๖ เรื่อง

๔. เรื่องเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติธรรมของพระอริยะ มี ๙ เรื่อง

๕. เรื่องเกี่ยวกับปุถุชน มี ๕ เรื่อง

๖. เรื่องเกี่ยวกับเทวดา มี ๓ เรื่อง

๗. เรื่องเกี่ยวกับคณะสงฆ์ มี ๔ เรื่อง

๘. เรื่องเกี่ยวกับคำสอน มี ๑ เรื่อง

๙. เรื่องเกี่ยวกับสภาวธรรม มี ๑๑ เรื่อง

๑๐. เรื่องเกี่ยวกับอภิญญา มี ๔ เรื่อง

๑๑. เรื่องเกี่ยวกับการตรัสรู้ มี ๖ เรื่อง

๑๒. เรื่องเกี่ยวกับอสังขตธรรม มี ๑๗ เรื่อง

๑๓. เรื่องเกี่ยวกับราคะ มี ๑ เรื่อง

๑๔. เรื่องเกี่ยวกับฌาน มี ๗ เรื่อง

๑๕. เรื่องเกี่ยวกับโลกและจักรวาล มี ๔ เรื่อง

๑๖. เรื่องเกี่ยวกับกรรม มี ๗ เรื่อง

๑๗. เรื่องเกี่ยวกับทุกข์ มี ๒ เรื่อง

๑๘. เรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม มี ๑๘ เรื่อง

วิธีการในกถาวัตถุ คือ หลักแห่งการปรัปวาทโต้ตอบผู้กล่าวร้ายพระพุทธศาสนา

เนื้อหากถาวัตถุแสดงความเห็นที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา (สกวาที) หากถูกซักถามจากผู้มีความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนในพระพุทธศาสนา (ปรวาที) จะโต้ตอบอย่างไร พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักการโต้ตอบไว้เป็นมาติกา(หัวข้อ)ในพระอภิธรรมคัมภีร์ที่ ๕ ชื่อว่า “กถาวัตถุ” นี้  และพระโมคคัลลิบุตร ติสสะเถระเป็นผู้ขยายความให้พิสดารออกไป ดังที่กล่าวมาแล้ว

ลักษณะการโต้ตอบ เป็นการถามตอบย้อนไปย้อนมา จนฝ่ายเห็นผิดไม่มีทางโต้แย้ง ยอมจำนนต่อเหตุผล หลักการโต้ตอบนี้ เรียกว่า “อัฏฐกนิคคหนัย” (หลักการข่มด้วยนัย ๘ ประการ) ได้แก่

(๑) ฝ่ายตอบรับก่อนแล้วปฏิเสธทีหลัง มี ๔ นัย (อนุโลมปัจจนีกะ)

(๒) ฝ่ายปฏิเสธก่อนแล้วตอบรับทีหลัง มี  ๔ นัย (ปัจจนีกานุโลม)

ในแต่ละนัยยังมีองค์ประกอบของวิธีถาม-ตอบแยกย่อยลงไปอีก จนฝ่ายเห็นผิดไม่มีข้อโต้แย้ง หลักการโต้ตอบแบบอัฏฐกนิคคหนัยนี้ เป็นลักษณะการตั้งคำถามนำไปตามลำดับ(อนุโลมปุจฉา)จากต้นไปหาปลาย แล้วย้อนกลับ(ปฏิโลมปุจฉา) จากปลายไปหาต้น

ผู้ที่รู้หลักคำสอนไม่จริง อาจตอบถูกแค่คำถามใดคำถามหนึ่ง แต่เมื่อถูกถามย้อนกลับอีกนัยหนึ่ง จะทำให้ผู้เห็นผิดหลงประเด็น ตอบไม่ตรงกับสาระของปัญหาเดิมที่ตนตอบไว้ เพราะรู้หลักคำสอนไม่จริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้ฝ่ายเห็นผิด(ปรวาที) หมดทางโต้แย้ง ยอมจำนนต่อเหตุผล จึงกล่าวข่ม ตำหนิ และลงโทษว่า ท่านเข้าใจผิด ท่านพูดไม่ถูก คำตำหนินี้ เรียกว่า “นิคคหะ” แปลว่า การข่ม การตำหนิ หรือการลงโทษ

วิธีการตั้งคำถามนำเพื่อโต้ตอบผู้เห็นผิดจากคำสอนในพระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบ ดังนี้

(๑) หลักการลงโทษ ๕ ขั้น (นิคคหนัย)

(๒) หลักการโต้กลับ ๔ ขั้น (ปฏิกกัมมจตุกกะ)

(๓) หลักการข่ม ๔ ขั้น (นิคคหจตุกกะ)

(๔) หลักการเปรียบเทียบ ๔ ขั้น (อุปนัยนจตุกกะ)

(๕) หลักการสรุป ๔ ขั้น (นิคคมจตุกะ)

คำถามในกถาวัตถุ มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับบัญญัติและปรมัตถ์ เช่น บุคคลมีอยู่จริงหรือ

คำถามนี้ นิกายวัชชีปุตตกะ(นิกายที่ยึดถือวัตถุ ๑๐ ประการ) และลัทธินอกศาสนา เห็นว่า บุคคลมีอยู่จริง แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า บุคคลเป็นสมมติสัจจะ เมื่อแยกให้เห็นโดยสภาวะแห่งปรมัตถสัจจะแล้ว บุคคลไม่มี เป็นเพียงการประชุมกันตามเหตุปัจจัย และจะสลายไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น และ ในสาสนกถา มีข้อโต้แย้งหลักคำสอนว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าถูกแต่งขึ้นใหม่ในคราวสังคายนา จึงถูกต้อนด้วยคำถามว่า หลักสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น เป็นคำสอนที่แต่งขึ้นใหม่หรือ คำสอนเรื่องอกุศลเป็นคำสอนที่แต่งขึ้นใหม่หรือ เรื่องกิเลสแต่งใหม่ให้ไม่เป็นกิเลสได้หรือ

เมื่อถูกต้อนด้วยคำถามเช่นนี้ ในที่สุดก็ยอมรับว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้

ตัวอย่างคำถามอื่นๆ ในคัมภีร์กถาวัตถุ เช่น เทวดามีการประพฤติพรหมจรรย์หรือ

พระอรหันต์ยังมีความสงสัยในพระรัตนตรัยอยู่หรือ

พระนิพพานเป็นอสังขตะหรือ

นิโรธสมาบัติเป็นอสังขตะหรือ

พระนิพพานธาตุเป็นกุศลหรือ

อากาศเป็นอสังขตะหรือ

เว้นอริยมรรค สังขารที่เหลือเป็นทุกข์หรือ

แม้ทุกข์สมุทัยก็เป็นทุกข์หรือ

จิตมีราคะหลุดพ้นได้หรือ

จิตทุกดวงเนื่องด้วยวิตกหรือ

สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ

ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอดีตและอนาคตมีอยู่หรือ

ธรรมทั้งปวงเป็นไปในขณะจิตหนึ่งหรือ

ลักษณะแห่งมหาบุรุษมีแต่เฉพาะในพระโพธิสัตว์เท่านั้นหรือ

เป็นต้น

ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตอนที่ ๑๗ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับ ๑๒๙๑ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐
ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตอนที่ ๑๗ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับ ๑๒๙๑ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐

ในคัมภีร์กถาวัตถุ เป็นการตั้งคำถามไปตามความเห็นของลัทธิต่างๆ ในสมัยนั้น ที่เข้าใจผิดจากพระธรรมวินัย เพราะมิได้ศึกษาบ้าง เพราะไม่ได้ฟังธรรมอันถูกต้องบ้าง เพราะยึดถือตามคำสอนของอาจารย์บ้าง เพราะศึกษากับอาจารย์ที่มีความเข้าใจผิดในหลักคำสอน จึงตีความพระธรรมวินัยตามความเข้าใจของตนบ้าง หรือเพราะบวชเข้ามาเพื่อหวังลาภสักการะ ไม่ได้ใส่ใจศึกษาพระธรรมวินัยอย่างถ่องแท้  จึงนำคำสอนของลัทธินอกศาสนาปลอมปนเข้ามาในคำสอนของพระพุทธศาสนา

ในบรรดาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ มีผู้ตั้งข้อสงสัยในคัมภีร์กถาวัตถุมากที่สุด ว่าเป็นคำสอนของพระพระพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของการโต้ตอบวาทะ ซึ่งเป็นเรื่องของการมุ่งถกเถียงเอาแพ้ชนะ ไม่ใช่คำสอนที่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อมรรค ผล และนิพพาน อีกทั้งในพระไตรปิฎกยังระบุว่า พระโมคคัลลิบุตร ติสสะเถระ เป็นผู้เรียบเรียงยกขึ้นสู่พระไตรปิฎก ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓

ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตอนที่ ๑๘ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับ ๑๒๙๒ วันที่ ๓ มีนาคม  พ.ศ.๒๕๖๐
ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตอนที่ ๑๘ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับ ๑๒๙๒ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ที่จริง การขยายความหัวข้อมาติกาแห่งกถาวัตถุของพระโมคคัลลิบุตร ติสสะเถระ ก็ยึดตามกถาวัตถุแห่งพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ที่พระพุทธองค์แสดงโปรดพระพุทธมารดา เช่นเดียวกับที่พระสารีบุตรเถระนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาจัดเรียงใหม่ เกิดพระสูตรแห่งการร้อยเรียงพระธรรมวินัย ชื่อว่า “สังคีติสูตร” ซึ่งเชื่อว่า เป็นต้นแบบของการสังคายนาพระไตรปิฎกในยุคต่อมา

ดังนั้น ไม่ว่า สังคีติสูตรที่พระสารีบุตรร้อยเรียง เป็นต้นแบบแห่งการสังคายนาพระไตรปิฎก หรือ กถาวัตถุตามนัยแห่งพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลิบุตร ติสสะเถระร้อยเรียงยกขึ้นสู่พระไตรปิฎก ก็ล้วนเป็นการนำพระพุทธพจน์มาจัดไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คงอยู่สืบไปนั่นเอง

คำถามตอบในกถาวัตถุซึ่งตั้งขึ้นตามนัยแห่งพระอภิธรรม จึงเป็นต้นแบบแห่งการชำระพระธรรมวินัยให้คงความบริสุทธิ์ เป็นไปเพื่อความมั่นคงวัฒนาสถาพรแห่งพระศาสนา เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนเป็นอันมาก

โปรดติดตามตอนต่อไป

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน

วันนี้วันพระ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๑๖ (ตอนที่ ๑๗) คัมภีร์ที่ ๕ กถาวัตถุ (จบ) : “การจัดแบ่งเนื้อหาในคัมภีร์กถาวัตถุ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here