วันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๒๒ (ตอนที่ ๒๓) คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน (จบ) : “จากรากฐานแห่งพระอภิธรรมสู่รากฐานชีวิตชาวพุทธ ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวฺโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวฺโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

จากรากฐานแห่งพระอภิธรรมสู่รากฐานชีวิตชาวพุทธ

การเรียนรู้เหตุปัจจัยในคัมภีร์ปัฏฐาน ทำให้เห็นวงรอบความสัมพันธ์เชื่อมโยงกระบวนการแห่งชีวิตเป็นรูปกระบวนธรรม การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมด้านร้ายของมนุษย์ บ่งบอกว่า อกุศลเหตุฝังตัวสงบนิ่งนอนเนื่องอยู่ในจิต ปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมที่สร้างบาป เรียกว่า “อกุศลกรรมบถ” แปลว่า ทางมาแห่งอกุศลกรรม คือ กายกรรม ๓ ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มโนกรรม ๓ ได้แก่ คิดอยากได้ของเขาโดยไม่ชอบธรรม คิดร้ายต่อผู้อื่น มีมิจฉาทิฐิเห็นผิดเป็นชอบ และ วจีกรรม ๔ ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

ส่วนพฤติกรรมด้านดีอันเป็นกุศลของมนุษย์ที่บ่งบอกว่า กุศลเหตุสงบนิ่งนอนเนื่องอยู่ เรียกว่า “กุศลกรรมบถ” แปลว่า ทางมาแห่งกุศลกรรม (ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถ) ปรากฏออกมาเป็นวิธีการทำบุญ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานมัย บุญเกิดจากการทำบุญให้ทาน

๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา

๔. อปจายนมัย บุญเกิดจากการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

๕. เวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

๖. ปัติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาในการทำบุญของผู้อื่น

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญเกิดจากการทำความเห็นให้ตรง

ในบรรดาหลักการทำบุญทั้ง ๑๐ ประการ ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรง เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเข็มทิศกำหนดทิศทางการทำบุญข้ออื่นๆ เมื่อมีความเห็นตรงแล้ว การทำบุญข้ออื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา เพื่อชี้ทางไปสู่ความพ้นทุกข์ในที่สุด

ทั้งอกุศลเหตุและกุศลเหตุเมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาการตามเหตุปัจจัย จะถูกสะสมตกค้างอยู่ในจิตและเจตสิก หากมีอกุศลจิตมาก ก็จะเป็นเหมือนสารพิษตกค้างอยู่ในจิต รอวันเวลาก่อผลร้ายตามความพรั่งพร้อมแห่งเหตุปัจจัย เพราะมนุษย์สะสมอกุศลเหตุมาก จึงทำให้การวนเวียนในสังสารวัฏ ต้องประสบเหตุแห่งทุกข์อยู่ร่ำไป

การจะเจือจางความเข้มข้นของสารพิษ คือ อกุศล ก็ต้องล้างด้วยน้ำสะอาด คือ กุศล

การที่พระพุทธองค์ทรงแจกแจงให้รู้สภาวธรรมเป็นเรื่องๆ เป็นหมวดๆ เป็นหัวข้อๆ โดยเริ่มจากธรรมสังคณี วิภังค์ เป็นต้นก่อน แล้วจึงทรงแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสภาวธรรมนั้นอย่างเป็นกระบวนธรรม เป็นลำดับสุดท้าย ก็เหมือนนักภาษาศาสตร์ที่ต้องรู้อักขระทีละตัวก่อน จึงรู้วิธีผสมตัวอักษรแล้วร้อยเรียงภาษาให้มีความวิจิตร งดงาม เหมือนนักดนตรีที่ต้องรู้โน้ตเพลงทีละตัวก่อน จึงรู้วิธีบรรเลงเพลงให้มีความไพเราะ และนักคณิตศาสตร์ต้องรู้ตัวเลขทีละตัวก่อน จึงรู้วิธีนำตัวเลขมาบวกลบคูณหารกัน

อย่างไรก็ตาม การที่เราชาวพุทธทั้งหลายเกิดมาพบช่วงการดำรงอยู่แห่งพระพุทธศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นช่วงชีวิตที่ประเสริฐ แต่หากไม่มีโอกาสได้สัมผัส ไม่มีโอกาสได้ศึกษาคัมภีร์มหาปัฏฐานอันงดงามยิ่งนี้ ก็นับว่าเป็นที่น่าเสียดาย

จบบริบูรณ์

วันนี้วันพระ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๒๒ (ตอนที่ ๒๓) คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน (จบ) : “จากรากฐานแห่งพระอภิธรรมสู่รากฐานชีวิตชาวพุทธ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

หมายเหตุ เกี่ยวกับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด  ญาณวชิโร)

คำชี้แจง

คัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยเนื้อหานั้นแบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกว่า สัตตัปปกรณ์ ประกอบด้วย ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐาน

โดยเนื้อหาสำคัญนั้น แสดงถึงสัจจะ คือ ความจริงแบบปรมัตถสัจจะโดยแยกเป็นเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน และแสดงลักษณะภาษาหรือคำบัญญัติในแบบของสมมติสัจจะ

ส่วนการเข้าใจเนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นไปตามยุคตามสมัย ถ้าในสภาพความเป็นอยู่แบบชาวบ้านที่หาเลี้ยงชีพ คงต้องการเพียงหลักธรรมที่พอปฏิบัติได้ เหมาะสมสำหรับชีวิตประจำวัน หรือสร้างความสงบสุขให้กับครอบครัวและสังคมเท่านั้น

ดังเนื้อความในสิงคาลกสูตรที่สอนเรื่องการทำหน้าที่ต่อคนอื่นรอบตัวเรา ในกูฎทันตสูตรก็สอนวิธีการระงับยับยั้งอาชญากรรมด้วยการให้ประชาชนได้เรียนรู้สัมมาชีพ รู้จักความซื่อสัตย์สุจริต และยังมีคำสอนอีกมากที่เน้นให้คนทั่วไปได้มีความสุขจากการมีทรัพย์ ใช้จ่ายทรัพย์ ไม่มีหนี้ และการงานไม่มีโทษ รวมถึงความสุขที่เหมาะสมกับชาวบ้าน ในเรื่องความขยันหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ คบเพื่อนดี และเลี้ยงชีวิตที่เหมาะสม เป็นต้น

สมัยนั้นธรรมะในการดำเนินชีวิตแบบนี้จึงเหมาะสมและเป็นเรื่องง่ายที่คนที่เป็นชาวบ้านจะเข้าใจได้และปฎิบัติได้จริง

แต่เนื้อหาของพระอภิธรรมนั้นถูกจัดไว้ในหมวดปรมัตถธรรม ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้มีสติปัญญา ผู้สั่งสมภูมิธรรมมาพอสมควรจึงจะช่วยชี้แนะแจกแจงให้คนทั่วไปได้รับทราบรายละเอียดที่ลึกซึ้ง เพราะคงยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจหรือสนใจเรียนรู้ ถ้าเขาเหล่านั้นยังต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงชีพไปวันๆ จึงเป็นความปรารถนาดีกอปรด้วยกุศล เปี่ยมล้นไปด้วยภูมิปัญญา เหล่านักปราชญ์จึงได้นำพาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดา ท่ามกลางทวยเทพจากหมื่นจักรวาลบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาใช้ในพิธีกรรมการสวดศพจนกระทั่งทุกวันนี้

ถ้าจะบอกว่าพระอภิธรรมนั้นเหมาะสมกับใครแล้ว ก็คงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังจะละทิ้งร่างกายหยาบทุกท่าน โดยมองเสียใหม่ว่าทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุ

เมื่อทุกอย่างถูกแยกออกจากกันจะไม่มีความเป็นใครหรืออะไรให้เรายึดมั่นถือมั่นได้เลย มีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป โดยคำสอนเหล่านี้คงไม่มีช่วงไหนจะเหมาะที่จะนำมาชี้แจงเท่ากับตอนที่ทุกคนกำลังพบเจอกับความตายอันเกิดขึ้นกับคนที่เรารู้จักอย่างแน่นอน

เหมือนเมื่อครั้งอนาถปิณฑกเศรษฐีผู้นอนป่วยซมใกล้จะสิ้นชีวา พอได้ฟังปรมัตถธรรมแล้วก็ถึงกับเอ่ยปากกับพระสารีบุตรว่า ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ขอธรรมกถาเห็นปานนี้ จงแจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมามีกิเลสธุลีในดวงตาน้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ”

การกล่าวสอนและแสดงธรรมแก่คนใกล้ตายหรือคนที่เสียใจในการจากไปของคนรัก จึงมีการปรารภถึงปรมัตถธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนากันต่อๆ กันมา

ผู้เขียนได้อ่านและทบทวนเนื้อหาของหนังสือเรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ของเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด  ญาณวชิโร) ที่ผสมผสานระหว่างเนื้อหาที่เข้าใจยาก ศัพท์บาลีที่ต้องขยายความ และการตีความที่ต้องละเอียดอ่อนแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้มีความลงตัวพอสมควร แม้ผู้ที่ไม่เคยอ่านหนังสืออภิธรรมมาก่อน ก็อาจจะได้ลองศึกษาเรียนรู้ และสำหรับผู้ที่ผ่านหนังสืออภิธรรมมาบ้างแล้ว ก็จะได้ทบทวนเนื้อหาได้ชัดเจนและกว้างขวางยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องกราบขอบพระคุณเจ้าคุณอาจารย์ฯ ที่ได้เมตตาไว้ใจมอบต้นฉบับ และไว้ใจให้อ่านเนื้อหาและปรับเปลี่ยนภาษาบ้างตามความเหมาะสม ตลอดทั้งอนุโมทนากับโยมมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และโยมวันทนี เจริญวานิช ที่มาร่วมกันอีกแรงในการช่วยกันปรับ ช่วยกันแก้จนเป็นที่พอใจ จนกระทั่งต้นฉบับแล้วเสร็จ

ความสำเร็จของการสร้างหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ของเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เล่มนี้จะเป็นดังแสงสว่างอีกหนึ่งดวงให้กับผู้แสวงหาแสงสว่าง และช่วยต่อลมหายใจของพระพุทธศาสนาให้ยาวนานยิ่งขึ้น ด้วยตัวอักษรที่สื่อผ่านธรรมะเล่มนี้

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, ป.ธ.๙,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ

บทนำ

หนังสือความเป็นมาของพระอภิธรรม” เล่มนี้ เกิดจากมโนปณิธาน และเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ตั้งใจเขียนน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้กับนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ๒๔ ตอน (ก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลงในเดือน มิถุนายน ๒๕๖๐) เพื่ออธิบายความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเสด็จไปบนสวรรค์เพื่อโปรดพระพุทธมารดาอย่างเป็นลำดับด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นดั่งแผนที่นำจิตที่ชอบท่องเที่ยวกลับมาสู่ใจได้อย่างน่าทึ่ง สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่เคยลิ้มรสพระอภิธรรมอยากให้อ่านบทสุดท้ายก่อน ซึ่งกล่าวถึง “จากรากฐานแห่งพระอภิธรรมสู่รากฐานชีวิตชาวพุทธ” ที่จะทำให้เราทราบถึงการนำพระอภิธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนเกิดความสงบสุขภายในใจได้ จากหลักการทำบุญ ๑๐ ประการ

ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้อธิบายเรื่อง ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงก่อนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นเข็มทิศกำหนดทิศทางของชีวิตด้วย เนื่องจากเมื่อมีความเห็นตรงแล้ว การทำบุญข้ออื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา รวมไปถึงบุญจากการภาวนา เพื่อชี้ทางไปสู่ความพ้นทุกข์ในที่สุด อันจะเป็นแรงจูงใจให้อ่าน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เล่มนี้ด้วยฉันทะ

ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระราชกิจจาภรณ์ที่ให้เกียรติเขียนบทนำ ทำให้กลับมาทบทวน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” อีกหลายๆ เที่ยว และท่านยังเมตตาให้เขียนภาพประกอบด้วย จึงเป็นความอิ่มใจยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ในวาระสำคัญ และยังได้รับใช้ครูบาอาจารย์ ในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ผ่านหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

กราบขอบพระคุณพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙,ดร.,ที่ช่วยดูแลหนังสือเล่มนี้แทนท่านจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี และขอขอบพระคุณเป็นที่สุดคือ “คนข้างหลัง” ที่มาร่วมบุญกุศลในครั้งนี้อย่างเต็มกำลังในการออกแบบปกและจัดรูปเล่มให้ด้วยความใส่ใจในทุกอักขระธรรมจนปรากฏออกมาอย่างงดงาม

กราบขอบพระคุณและกราบนมัสการ

จากใจศิษย์ มนสิกุล  โอวาทเภสัชช์ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

Manasikul.com

คำปรารภ

หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหา ก่อนอ่านความเป็นมาของพระอภิธรรม

จึงขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ความเป็นมาของพระอภิธรรม มีเนื้อความตรงตามชื่อ มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรม เป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย

ผู้ที่มีความสนใจข้อธรรมในพระอภิธรรมที่ละเอียดลงไป ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้จากคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วไป

เนื่องจากพระอภิธรรมมีความละเอียดประณีตยิ่ง มีนัยหลากหลาย ไม่สิ้นสุด บางกรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของ และภาษาในสมัย เทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่มีความละเอียดยิ่งนั้น ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กรณีดังกล่าว มิใช่การนำข้อความเข้าไปปลอมปนในพระอภิธรรม เพราะมิได้มุ่งอธิบายข้อธรรมในพระอภิธรรม ดังกล่าวแล้ว หากแต่เห็นว่า การยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของก็ดี การใช้ภาษาในสมัยก็ดี เป็นวิธีที่พอจะสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาที่แตกต่างกัน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสถานะ

ด้วยห้วงเวลานั้น

ทุกคนล้วนมีจิต ละเอียด เป็นหนึ่งเดียว

จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรม

ที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙

พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

กาลนั้น จึงนับได้ว่า เป็นมงคลกาล เหมาะแก่การฟังธรรมที่ละเอียด

ขออนุโมทนาขอบคุณพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร., คุณมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และคุณวันทนี เจริญวานิช ที่รับเป็นภาระธุระในการจัดพิมพ์ จนหนังสือสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ดีงาม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น แผ่ไพศาลแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา

พระราชกิจจาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here