วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐

ศึกษาความเป็นมาและอานุภาพแห่งการสวดมนต์ “อังคุลิมาลปริตร” และ “โพชฌงคปริตร” พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันเสาร์ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ปัจจุบัน พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ญาณวชิระ)

ทำไมเราต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

การเจริญสมาธิภาวนา  คือ  การที่จิตผูกหรือเพ่งอยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น  พุทโธ  พุทโธ, พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมา-อะระหัง เป็นต้น ให้จิตเกาะเกี่ยวไหลไปตามกระแสของคำนั้นๆ  เพื่อเป็นสื่อให้จิตเข้าถึงความสงบ มีค่าเท่ากับจิตผูกเพ่งอยู่กับการสวดมนต์ที่จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกอักระของบทสวดมนต์

จิตที่ไหลไปเป็นกระแสตามทุกอักขระเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้นิวรณ์  ๑  คือ  สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้ทำความดี  เช่น ความรักโลภ โกรธหลง  กามราคะ  อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิด  ฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายแทรกเข้ามาครอบงำจิตได้  ทำให้จิตมีความผ่องใส  เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา  มีความฉับไวต่อการรับรู้อารมณ์ และคมต่อการแยกแยะความถูกผิด

การสวดมนต์ คือ การเจริญสมาธิภาวนา

การเจริญพระพุทธมนต์ เป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรม ให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่ง  หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น  พุทโธ  พุทโธ เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ   ก็ใช้วิธีให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นกระแสเช่นนี้ ไม่ปล่อยให้ความ รักโลภโกรธหลง  กามราคะ อาฆาตพยาบาทได้โอกาสแทรกเข้ามา ครอบงำจิต  ทำให้จิตมีความผ่องใสเป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะ เข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา

จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ  คือ  สงบจากกาม ราคะ  อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิดฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายจึงชื่อว่า  “จิตเป็นสมาธิ”

การสวดมนต์คือการทรงจำพระพุทธพจน์

การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นสาธยายพระพุทธพจน์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เพื่อการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไป

การสวดมนต์ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนาที่ได้นำเอาพระพุทธพจน์มาเป็นบทบริกรรมภาวนา  ให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกขณะของอักขระที่กำลังสาธยาย ไม่ปล่อยให้ นิวรณ์แทรกเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้นั่นเอง

พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาล  นอกจากจะมีหน้าที่ในการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อนำตนออกจากทุกข์แล้ว  ยังมีภาระหน้าที่ในการทรงจำพระพุทธพจน์  เพื่อสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ควบคู่กันไปอีกด้วย   พระสาวกสมัยพุทธกาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะต้องท่องบ่น  สาธยายพระพุทธพจน์  เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก  ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งความเพียรเพื่อนำตนออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ  จึงหาวิธีที่จะ ทรงจำพระพุทธพจน์ให้เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการ เจริญสมาธิภาวนา

การเจริญพระพุทธมนต์  ที่ต้องสวดเป็นภาษาบาลีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพระพุทธพจน์ ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา  เป็นกิจวัตรในการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล  ที่ถ่ายทอด  สืบต่อมาสู่พระสงฆ์สาวกในยุคปัจจุบัน

ความเป็นมาและอานุภาพแห่งการสวดมนต์ ” อังคุลิมาลปริตร และ โพชฌงคปริตร

พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันเสาร์

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ปัจจุบัน พระมหาเทอด ญาณวชิโร

จากหนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ” เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ฉบับธรรมทาน)

และ จากหนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ฉบับธรรมทาน)

หนังสือ "พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม" พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) ฉบับธรรมทาน
หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม” พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) ฉบับธรรมทาน

อังคุลิมาลปริตร : ปริตรแห่งพระองคุลิมาลเถระ

เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพแข็งแรง คลอดบุตรง่าย

พระสุตันตปิฎก อังคุลิมาลสูตร และอรรถกถาอังคุลิมาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

จากหัวใจแห่งความรักของแม่ที่มีต่อลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข ทำให้พระพุทธเจ้ามิอาจนิ่งนอนใจอยู่ได้ ที่จะไปช่วยให้จอมโจรให้บรรลุธรรม ตัดกรรมให้องคุลิมาลในขณะที่จะไปทำร้ายแม่ผู้มีพระคุณ สู่การเกิดครั้งสุดท้ายในชีวิต ด้วยพลังแห่งพุทธานุภาพสู่อมตะพุทธพจน์ ” เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด ” กระตุกปัญญาญาณของ “องคุลิมาล” ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของมหาโจรกลับใจ

อังคุลิมาลปริตร : พระปริตรแห่งความสำนึกผิดและความรู้สึกตัวครั้งยิ่งใหญ่

ภายหลังที่พระองคุลิมาลบวชแล้ว และเรียนกัมมัฏฐานจากพระพุทธองค์แล้ว แต่ภาพที่ท่านอยู่กลางป่าเข่นฆ่าคน เสียงของผู้คนที่กลัวตายร้องขอชีวิตว่า “ข้ายากจน ลูกข้ายังเล็ก อย่าฆ่าข้าเลย” เหล่านี้ ยังก้องอยู่ในสำนึก ปรากฎรบกวนจิตใจท่าน จนไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ ต้องลุกขึ้นเดินหนีไปเสียทุกครั้ง

ในที่สุด พระเถระได้ตัดสินใจออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตรู้ชัดด้วยตนองว่า “ชาติสิ้นสุดลงแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำก็ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อการทำอย่างนี้มิได้มีอีกแล้ว ” ท่านได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

วันหนึ่ง พระองคุลิมาลได้เข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเหล่าญาติของคนที่ถูกฆ่าเห็นพระเถระไม่อาจระงับความเจ็บแค้นไว้ได้ จึงตะโกนด่าขว้างปาด้วยก้อนดิน ก้อนหิน และท่อนไม้ พระองคุลิมาล ศีรษะแตกเลือดไหล บาตรแตก จีวรฉีกขาด กลับจากบิณฑบาตเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลว่า ข้าพระองค์บวชเป็นบรรพชิต ไม่ประทุษร้ายผู้ใดแล้ว ทำไมผู้คนยังประทุษร้ายข้าพระองค์อยู่ พระศาสดาตรัสว่า องคุลิมาล เธอจะได้รับผลกรรมอันจะเป็นเหตุให้เธอต้องหมกไหม้ในนรกตั้งร้อยปีพันปี ก็แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น ครั้นอยู่ต่อมา พระองคุลิมาลเถระหลีกเร้นอยู่เสวยวิมุติสุข ได้เปล่งอุทานว่า

“ผู้ใดเมื่อก่อนประมาท บัดนี้ไม่ประมาท ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมทำให้โลกสว่าง ดุจดวงจันทร์ปราศจากเมฆบัง ศัตรูทั้งหลายของเราเอ๋ย ขอท่านจงฟังธรรมกถาเถิด ขอศัตรูทั้งหลายจงขวนขวายในพระพุทธศาสนา ขอมนุษย์ทั้งหลายจงคบสัตบุรุษ ผู้ชวนให้ปฏิบัติธรรม จงคบความผ่องแผ้วคือขันติ ความสรรเสริญคือเมตตา จงฟังธรรมตามกาล และจงปฏิบัติตามธรรมนั้น ศัตรูทั้งหลายของเราเอ๋ย ขอท่านอย่าพึงเบียดเบียนเรา หรือผู้ใดอื่นเลย คนทดน้ำย่อมชักน้ำให้ไหลไปได้ ช่างศรย่อมดัดลูกศรให้ตรงได้ ช่างถากย่อมถากไม้ให้เรียบได้ ฉันใด บัณฑิตย่อมฝึกตนได้ ฉันนั้น “

อานุภาพการป้องกัน

อังคุลิมาลปริตร เป็นคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสสอนให้พระองคุลิมาลทำสัจกิริยาเพื่อให้หญิงคนหนึ่งคลอดบุตรง่าย เมื่อพระเถระกล่าวคาถาจบ ทารกก็คลอดโดยง่าย มีความสวัสดีทั้งแม่และลูก ชาวบ้านก็เห็นเป็นความศักดิ์สิทธิ์ จึงรักษาตั่งที่พระเถระนั่งนั้นไว้ โดยใช้ตั่งเป็นที่ทำคลอด การคลอดก็สะดวกปลอดภัยทั้งแม่และลูก ส่วนผู้ที่มาไม่ได้ ก็ใช้น้ำล้างตั่งตัวนั้น และนำน้ำนั้นไปรดศีรษะ การคลอดก็เรียบร้อยสวัสดีทั้งแม่และลูกเช่นกัน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ถ้าตกลูกยาก ชาวบ้านจะนำมาที่ตั่งตัวนั้น ก็จะตกลูกได้สะดวก

อานุภาพนั้น ได้คุ้มครองไปถึงผู้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หากมานั่งที่ตั่งนั้น รคก็จะสงบระงับลงทันที อานุภาพอังคุลิมาลปริตรนั้น ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ถึงปัจจุบัน

การที่พระสงฆ์นำเอาอังคุลมาลปริตรมาสวดในงานมงคลทั่วๆ ไป ในปัจจุบัน โดยเฉพาะถ้าเป็นพิธีมงคลสมรสจะต้องสวดทุกครั้ง ก็เป็นการน้อมความจริงที่พระพุทธองค์สอนพระองคุลิมาลเถระ ทำสัจกิริยาให้เกิดเป็นพุทธานุภาพทำให้หญิงมีครรภ์คลอดบุตรโดยสวัสดี นอกจากนั้น องคุลิมาลปริตร ยังมีอานุภาพขจัดโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ให้อันตรธานหายไปอีกด้วย

 จากหนังสือ "พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ฉบับธรรมทาน)
จากหนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ฉบับธรรมทาน)

ในบทขัดตำนาน ได้ประพันธ์เป็นคาถาแสดงอานุภาพของอังคุลิมาลปริตรไว้ดังนี่้

ปะริตตัง ยัมภะณันตัสสะ นิสินนัฏฐานะโธวะนัง
อุทะกัมปิ วินาเสติ สัพพะเมวะ ปะริสสะยัง
โสตถินา คัพภะวุฏฐานัง ยัญจะ สาเธติ ตังขะเณ
เถรัสสังคุลิมาลัสสะ โลกะนาเถนะ ภาสิตัง
กัปปัฏฐายิ มะหาเตชัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

“แม้แต่น้ำล้างตั่งรองนั่งของพระองคุลิมาลเถระผู้กล่าวพระปริตรบทใด ยังบันดาลให้อันตรายทั้งปวงหายไปได้ อนึ่ง พระปริตรบทใดที่พระโลกนาถเจ้าทรงภาษิตแก่พระองคุลิมาลเถระ ทำให้คลอดบุตรโดยสวัสดี เราทั้งหลายจงสวดพระปริตรบทนั้น ซึ่งยังมีเดชมากปรากฏอยู่ตลอดกัป เทอญฯ”

อังคุลิมาลปริตร

ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ
สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา ฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ
สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา ฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ
สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา ฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

คำแปล

น้องหญิง ตั้งแต่อาตมาเกิดในอริยชาติ *แล้ว มิได้มีเจตนาจะทำลายชีวิตสัตว์เลย ด้วยความสัจจริงนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่บุตรในครรภ์ของเธอด้วย ฯ

(เกิดในอริยชาติ * หมายถึง ก่อนหน้าที่จะบวชเป็นพระ แม้พระองคุลิมาลเถระเคยฆ่าคนมาก็จริง แต่หลังจากวันที่พระองคุลิมาลเถระได้บวชในพระศาสนาแล้ว คือ เกิดในวงศ์ของอริยเจ้า ท่านก็ไม่มีจิตคิดฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอีกต่อไป พระองคุลิมาลเถระน้อมเอาความจริงข้อนี้ มาตั้งสัตยาธิษฐาน จึงทำให้พุทธมนต์เกิดพุทธานุภาพ )

โพชฌงคปริตร : ปริตรแห่งองค์คุณเพื่อการตรัสรู้

เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค

พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันเสาร์

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

โพชฌงคปริตร เป็นปริตรที่โบราณจารย์ นำเอาโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตร คือ มหากัสสปโพชฌงคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌงคสูตร มหาจุนทโพชฌงคสูตร มาประพันธ์เป็นคาถาเรียกว่า โพชฌงคปริตร โดยน้อมเป็นสัจกริยาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดเป็นความสุขสวัสดี

เนื้อความในโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตรนั้น กล่าวถึงองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗.อุเบกขา ความวางเฉย

ความเป็นมาของพระสูตรทั้ง ๓ ปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค

านุภาพกาารป้องกัน

โพชฌงคสูตรทั้ง ๓ นี้ โบราณาจารย์ได้นำมาประพันธ์เป็นคาถาสำหรับเจริญภาวนา โดยน้อมเป็นสัจกิริยา เพื่อให้พระปริตรเป็นธรรมโอสถ บังเกิดพุทธานุภาพขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้อันตรธานไป เกิดเป็นความสุขสวัสดี ภายหลังได้เกิดความนิยมว่า เมื่อเจ็บป่วยไม่สบายก็จะสวดโพชฌงคปริตร ซึ่งเป็นทั้งโอสถ เป็นทั้งพุทธมนต์

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเจ็บป่วยเป็นไข้หนักก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดโพชฌงคปริตรให้ฟัง หรือไม่ลูกหลานจะสวดให้ฟังก็ได้ แม้ในงานทำบุญอายุ พระสงฆ์ก็จะสวดพระปริตรบทนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและให้มีอายุยืน ผู้ไม่ต้องการเจ็บป่วย และปรารถนาความเป็นผู้มีอายุ โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงควรเจริญโพชฌงคปริตรตามแบบอย่างพุทธสาวก

โพชฌงคปริตรนี้ ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์สวดให้ฟังหรือจะให้ลูกหลานสวดให้ฟังก็ได้

ในบทขัดตำนานท่านได้ประพันธ์เป็น คาถาแสดงอานุภาพโพชฌงคปริตรไว้ดังนี้

สังสาเร สังสะรันตานัง สัพพะทุกขะวินาสะเน
สัตตะ ธัมเม จะ โพชฌังเค มาระเสนัปปะมัททิโน
พุชฌิตวา เยปิเม สัตตา ติภะวามุตตะกุตตะมา
อะชาติง อะชะราพยาธิง อะมะตัง นิพภะยัง คะตา
เอวะมาทิคุณเปตัง อะเนกะคุณะสังคะหัง
โอสะถัญจะ อิมัง มันตัง โพชฌังคันตัมภะณามะ เห ฯ

คำแปล

“สัตว์ทั้งหลายตรัสรู้ โพชฌงค์ คือ ธรรม ๗ ประการนี้ใด อันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เป็นธรรมที่กำจัดมารและเสนามาร จึงเป็นผู้พ้นแล้วอย่างยอดเยี่ยมจากภพทั้ง ๓ ถึงพระนิพพาน อันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีภัย เราทั้งหลายจงสวดโพชฌงค์นั้น อันประกอบด้วยคุณตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นทั้งโอสถและเป็นทั้งมนต์ เป็นที่รวมแห่งสรรพคุณเป็นเอนก เทอญฯ”

พชฌงคปริตร

โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

ปะหี (ออกเสียง “ฮี” ) นา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

คำแปล

โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗.อุเบกขา ความวางเฉย (จิตเป็นกลาง) เหล่านี้เป็นธรรมที่พระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว บุคคล อบรมฝึกฝนให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อพระนิพพาน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลานะ และพระกัสสปะเป็นไข้ ได้ความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองต่างชื่นชมยินดีพระธรรมเทศนานั้น แล้วกลับหายจากโรคทันที ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

ครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเองทรงประชวรไข้ รับสั่งให้พระจุนทะเถระกล่าวโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นถวายโดยเคารพ ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากประชวรนั้นแท้จริง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ฯ

แท้จริงแล้ว อาพาธเหล่านั้นของท่านผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ อันตรธานไปไม่กลับเป็นอีก เหมือนอริยมรรคกำจัดกิเลสลงราบแล้ว ไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ


วันนี้วันพระ ศึกษาความเป็นมาและอานุภาพแห่งการสวดมนต์ “อังคุลิมาลปริตร” และ “โพชฌงคปริตร” พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันเสาร์ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ปัจจุบัน พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ญาณวชิระ)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here