วันจตฺตสลฺโลรำลึก
ครบรอบ ๑๖ ปีมรณกาล “ญาถ่านจันทร์”
พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลลฺโล)
๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
(๒)
ญาถ่านจันทร์สร้างโบสถ์หลังใหม่ได้เพราะทหารฝรั่งช่วย
เรื่องเครื่องบินทหารฝรั่งมาตกที่หัวป่าแวง มีส่วนเกี่ยวโยงกับการสร้างโบสถ์หลังใหม่ของวัดปากน้ำ เพราะทหารฝรั่งได้ให้เหล็ก หิน อิฐ ปูนมาช่วยสร้างโบสถ์ หลังจากได้อุปกรณ์สร้างโบสถ์มาแล้ว ตกเย็นชาวบ้านกินข้าวแลงเสร็จ พ่อถ่านจะตีกลองโฮมขอแรงลูกหลานชาวบ้านมาช่วยกันขนดินเข้าโบสถ์ พอกินข้าวแลงเสร็จ ชาวบ้านก็จะชวนกันไปช่วยขนดินจนดึก
เรื่องทหารฝรั่งช่วยสร้างโบสถ์ อยู่ในประวัติพ่อถ่าน ขอนำมาเล่าไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อเป็นการน้อมบูชาพระคุณของท่านในโอกาสที่ท่านได้ถึงมรณภาพครบรอบ ๑๖ ปี
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงแล้ว มหาสงครามแห่งเอเชียก็เริ่มก่อตัวขึ้น ในนามมหาสงครามเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้ายึดครองประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ต่อมา มหาสงครามเอเชียบูรพาก็สิ้นสุดลง ด้วยความปราชัยของฝ่ายญี่ปุ่น จนถึงการเข้ามาประจำการในฐานทัพอุบลราชธานี ของทหารสหรัฐอเมริกา เพื่อลำเลียงกำลังพลโจมตีเวียดนาม ในสงครามเวียดนาม และเครื่องบินของกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้มาตกที่หัวป่าแวง บริเวณหมู่บ้านปากน้ำ
เหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งนี้ ได้กลายเป็นสาเหตุทำให้ทหารสหรัฐอเมริกาเข้าออกบ้านปากน้ำและหมู่บ้านใกล้เคียงในบริเวณนี้มากขึ้นจึงได้รู้จักกับพ่อถ่าน และได้นำเหล็ก อิฐ ปูน หิน ทรายมาช่วยสร้างโบสถ์หลังใหม่
“ญาถ่าน” , “พ่อถ่าน” หรือ “หลวงตาจันทร์” เป็นชื่อที่ลูกหลานชาวบ้านใช้เรียกหลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ท่านมีนามเดิมว่า บุญจันทร์ นามสกุล ประสานพิมพ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ บ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดา ชื่อ นายคำ ประสานพิมพ์ โยมมารดาชื่อ นางคูณ ประสานพิมพ์ (ต่อมา ตำบลดอนมดแดงถูกยกขึ้นเป็นอำเภอดอนมดแดง ส่วนบ้านปากน้ำให้มาขึ้นกับอำเภอเมือง)
พ่อถ่านบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดปากน้ำ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ขณะมีอายุ ๑๕ ปี โดยมีพระครูคัมภีรญาณ วัดบ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีญาถ่านทา หอมสมบัติ เป็นอาจารย์ผู้สอนข้อวัตรปฏิบัติเบื้องต้น
เนื่องจากญาถ่านทา หอมสมบัติเป็นลูกศิษย์ของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) วัดทุ่งศรีเมือง หรือที่ชาวอุบลเรียกท่านว่า “พระครูดีโลด” ญาถ่านทาจึงได้นำสามเณรบุญจันทร์ไปฝากศึกษาข้อวัตรปฏิบัติอยู่กับพระครูวิโรจน์รัตโนบล ที่วัดทุ่งศรีเมือง หลังพระครูวิโรจน์มรณภาพ ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดปทุมมาลัยกับเจ้าคุณพันธ์ (พระเมธีรัตโนบล ป.ธ.๔) และเจ้าคุณอาจารย์ยังได้ส่งไปศึกษาอยู่วัดหลวงพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหารด้วย ต่อมา จึงออกมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดบ้านเกิด เพื่อเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน พัฒนาวัด พัฒนาบ้านจนเจริญมาอย่างทุกวันนี้
ตอนพ่อถ่านออกมาเป็นเจ้าอาวาสพรรษาแรกนั้น ในวัดแทบจะไม่มีอะไร สาดปูนอน หมอนหนุนหัว ถ้วย โถ โอ ชาม จะใส่ข้าวฉันก็ไม่มี พอออกพรรษา เจ้าคุณพันธ์ซึ่งเป็นอาจารย์ก็ทำกฐิน สาด หมอน ถ้วย โถ โอ ชาม มาทอดถวาย
ในช่วงเวลานั้น ที่วัดทุ่งศรีเมือง ยังมีชาวบ้านปากน้ำหลายคนไปบวชอยู่กับพระครูวิโรจน์ จึงมีลูกหลานชาวบ้านปากน้ำจำนวนมากไปเป็นเด็กวัดเรียนหนังสืออยู่ที่วัดทุ่งศรีเมืองด้วย
พ่อถ่านจันทร์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดปากน้ำ ในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยมีพระครูคัมภีรญาณ วัดบ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “จตฺตสลฺโล” แปลว่า “ผู้ถอนลูกศร คือ กิเลสเครื่องผูกรัดได้แล้ว”
พ่อถ่านจันทร์ครองสมณเพศอยู่ต่อมา ได้พัฒนาบ้านเกิดให้มีความเจริญก้าวหน้า จนได้รับสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณ มีราชทินนามว่า “พระมงคลธรรมวัฒน์” แม้ท่านจะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณ แต่ชาวก็ยังเรียกท่านว่า “หลวงตาจันทร์” “พ่อถ่านจันทร์” หรือ “ญาถ่านจันทร์” อยู่เหมือนเดิม จนถึงวันมรณภาพ ชาวเมืองอุบลกก็แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อสมณศักดิ์ของท่านเลย
ท่านมรณภาพขณะมีอายุได้ ๘๑ ปี ในวัยชรา
ตามประวัติยังเล่าไว้ด้วยว่า ตอนที่พ่อถ่านยังเป็นสามเณรไปอยู่วัดทุ่งศรีเมืองนั้น พระครูวิโรจน์ฯ ท่านชราภาพมากแล้ว แม้ชราภาพเช่นนั้น ท่านก็ยังมีเมตตาออกมาที่บ้านปากน้ำอยู่หลายครั้ง ด้วยท่านมีความผูกพันกับหมู่บ้านแห่งนี้ เนื่องจากสมัยที่ท่านไปบูรณะพระธาตุพนม มีชาวบ้านเป็นลูกศิษย์บวชอยู่กับท่านหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นญาถ่านทา ญาถ่านทัน ญาครูคำ ก็ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดที่เคยบวชอยู่กับท่าน และได้ติดตามท่านไปบูรณะพระธาตุพนมด้วย พระครูวิโรจน์จึงถือวัดปากน้ำเป็นวัดของลูกศิษย์
ภายหลังชาวบ้านอยากมีวัดอยู่ที่ท่าน้ำคำ ริมบุ่งสระพัง พระครูวิโรจน์จึงได้ออกมาสร้างวัดและให้ญาครูคำมาอยู่ที่วัดท่าน้ำคำ แต่ญาครูคำอยู่มาได้สองพรรษาก็ลาสิกขา วัดท่าน้ำคำไม่มีคนสืบต่อจึงถูกปล่อยทิ้งร้างมาตั้งแต่บัดนั้น ชาวบ้านเรียกว่า “โนนวัด” มีต้นตาลอยู่สองสามต้นเป็นสัญลักษณ์ว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นวัดมาก่อน
จวบจนใกล้ถึงวาระสุดท้ายแห่งการละสังขารขันธ์ของพระครูวิโรจน์ เล่ากันว่า มีชาวบ้านตกน้ำบุ่งตายติดต่อกันหลายคน จนลือกันไปว่า มีคนเห็นเงือก(รากษส) เห็นผีบุ่งผีมูล ขึ้นในบุ่งสระพัง ชาวบ้านจึงไปนิมนต์ท่านมาทำพิธีกันบ้านกันเมืองปัดเป่าเหตุเภทภัยให้ลูกหลาน
หลวงปู่พระครูวิโรจน์ ให้ลูกศิษย์นำขึ้นแคร่หามลงเรือล่องมาตามแม่น้ำมูลออกมาเยี่ยมเยียนลูกหลานชาวบ้านปากน้ำ เหมือนท่านอยากเห็นลูกศิษย์ลูกหาเป็นครั้งสุดท้าย
ท่านได้ทำพิธีสลักอักษรอาคมลงก้อนหินแล้วให้นำไปโยนลงตามน้ำบุ่ง ตามมูล แล้วให้ย้ายศาลปู่ตา มารวมกันอยู่หอปู่บุ่งสระพัง จะได้ป้องกันสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้กับชาวบ้าน
พระครูวิโรจน์ปลอบลูกหลานชาวบ้านว่า “มื้อหน้า ช้างสิเหยียบนา พญาสิเหยียบเมือง บ้านเมืองสิเจริญ ผู้คนจะสัญจรไปมาบุ่งสระพัง คนมีบุญสิมาเกิด ลูกหลานสิได้พึ่งพาอาศัย”
ในประวัติพ่อถ่านจันทร์เล่าเกี่ยวกับ พระครูวิโรจน์(พระครูดีโลด) เอาไว้ว่า ภาพภิกษุผู้ชราอยู่ในอาการสงบบนแคร่ ถูกห้อมล้อมด้วยชาวบ้านอย่างอบอุ่นเนืองแน่น จากบุ่งสระพังลัดเลาะเข้าสู่หมู่บ้าน คือ ภาพสุดท้ายที่ชาวบ้านได้เห็น คล้อยหลังจากนั้นไม่นาน พระครูวิโรจน์ก็ละสังขารไปอย่างสงฆ์ผู้สงบ