“วัดสระเกศ จุดเชื่อมโยงประวัติศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์ ” : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ (ตอนที่ ๗) เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ในขณะนั้น

วัดสระเกศ : จุดเชื่อมโยงประวัติศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จวบจนปัจจุบัน ตามประวัติโดยสังเขป วัดสระเกศ เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีคลองโอ่งอ่าง และคลองมหานาค เป็นคูคลองล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เป็นโบราณสถานของชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

เดิมวัดสระเกศเป็นวัดโบราณ ชื่อ “วัดสะแก” และมีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสถาปนาราชวงศ์จักรี ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๕ เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเกิดจราจล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จยกทัพกลับมาจากการทำสงครามที่กัมพูชา และเสด็จเข้าโขลนทวารประทับทรงมุรธาภิเษกที่วัดสะแกเป็นเวลา ๓ วัน ก่อนเสด็จระงับดับยุคเข็ญในพระนคร เมื่อเรียบร้อยแล้ว เหล่าเสนาอำมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นผ่านพิภพปราบดาภิเษกประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ในสยามประเทศสืบมา

วัดสะแก จึงได้เป็นพระอารามหลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา และทรงได้บริจาคทรัพย์เพื่อปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุ และเสนาสนะสงฆ์ ทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พร้อมสร้างพระประธานประจำพระอุโบสถ โดยโปรดให้ปั้นหุ้มพระประธานองค์เดิม ซึ่งนับว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรองค์แรก ภายหลังการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ ทรงโปรดให้นำไม้เครื่องประกอบหอมณเฑียรธรรมในพระบรมมหาราชวังมาเป็นเครื่องประกอบในการบูรณะหอไตรวัดสระเกศ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงส่งสมณทูต คือ อาจารย์ดี และอาจารย์เทพจากวัดสระเกศไปสืบพระศาสนาที่ลังกา โดยได้ต้นโพธิ์ลังกากลับมาด้วย และทรงโปรดให้ปลูกไว้ด้านพระอุโบสถ

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นรัชสมัยที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ โดยมีทั้งสิ่งที่บูรณะและสร้างขึ้นใหม่ มีการซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ หอไตร สร้างพระระเบียง พระเจดีย์รายรอบพระอุโบสถ พระวิหารสร้างใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระอัฏฐารสจาากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลกมาประดิษฐาน ส่วนพระตำหนักรัชกาลที่ ๑ ศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิสงฆ์เดิมเป็นเครื่องไม้ ทรงรื้อสร้างใหม่ทั้งหมด โดยสร้างเป็นก่ออิฐถือปูน นอกจากนั้น ยังได้วางแปลนสร้างหมู่กุฏิกรรมฐาน สร้างศาลาท่าวัด เมรุปูน และสร้างภูเขาทอง (บรมบรรพต) แต่ยังไม่แล้วสำเร็จ

สร้างต่อจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้แก้ไขพระปรางค์ใหญ่ ทำบันไดเวียนสองสายถึงปลายยอด และบนยอดเขา โปรดให้สร้างพระเจดีย์ บรมบรรพต ซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับทรงโปรดให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ไว้บนยอดพระเจดีย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการสร้างสะพานมหาดไทยอุทิศตรงปากคลองมหานาค และทำถนนบริพัตรที่ค้างมาแต่รัชกาลก่อน สำเร็จเมื่อปี ๒๔๕๗

“วัดสระเกศ จุดเชื่อมโยงประวัติศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์ ” : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ (ตอนที่ ๗) เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here