วันนี้ วันพระ วันอังคารที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
“ญาณวชิระ”
ลูกผู้ชายต้องบวช
บรรพ์ที่ ๔ : ขั้นตอนการบรรพชา และ อุปสมบท
: เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)
บรรพ์ที่ ๔
ขั้นตอนการบรรพชา และ อุปสมบท
การโกนผมนาค การแต่งตัวนาค
เล่าเรื่องนาค การทำประทักษิณ การโปรยทาน
ขั้นตอนการบรรพชา
อุปสมบทแบบอุกาสะ (แบบเดิม)
อนุศาสน์ ๘ อย่าง
การอธิษฐานจิตกรวดน้ำแผ่กุศล
คำขออุปสมบทแบบเอสาหัง (แบบใหม่)
การบรรพชาอุปสมบทที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยสมัย
ปัจจุบันมีใช้อยู่ ๒ แบบ คือ “อุกาสะ” และ “เอสาหัง”
การบวชแบบ “อุกาสะ” และ “เอสาหัง” นั้นไม่ได้เป็นชื่อพิธีบวช และไม่มีความหมายพิเศษเฉพาะ เป็นแต่เพียงการเรียกตามคำขึ้นต้นของคำขอบวชเท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและมีความแตกต่างระหว่างคำขอบวชทั้ง ๒ วิธี
“อุกาสะ” แปลว่า ขอโอกาส
“เอสาหัง” แปลว่า ข้าพเจ้านั้น
หากจะแยกกันออกให้ชัดเจนเฉพาะในประเทศไทย การอุปสมบทแบบอุกาสะใช้ในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เป็นการอุปสมบทแบบเดิมที่ท่านใช้มาแต่โบราณ มีหลักฐานว่าคณะสงฆ์รับสืบทอดกันมาจากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนการอุปสมบทแบบเอสาหังใช้ในคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นแบบที่คิดขึ้นใช้ใหม่ โดยการประยุกต์มาจากแบบอุกาสะเพื่อย่อขั้นตอนให้สั้นเข้า มีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนำรูปแบบมาจากพระพม่ารามัญ การอุปสมบทแบบเอสาหัง มีที่แปลกจากแบบเดิมบางส่วน
ในที่นี้ จะขอแนะนำขั้นตอนการบวชแบบอุกาสะ เพื่อจะได้ทราบที่มาของการบวชแบบเดิมที่มีมาแต่โบราณไว้เป็นหลัก หากเข้าใจการบวชแบบอุกาสะ ก็จะทำความเข้าใจการบวชแบบเอสาหังได้ง่าย แม้การบวชในประเทศไทยจะมี ๒ แบบ แต่ก็ยึดหลักการบวชตามพุทธบัญญัติทุกประการ ต่างเพียงข้อปลีกย่อยบางประการเท่านั้น
ขั้นตอนการบวชแบบเอสาหัง จะนำมาแสดงเฉพาะบทขานนาคเท่านั้น
เรื่องของนาค
เรื่องราวของพญานาค ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ยืนยันถึงศรัทธาและความเพียรพยายามในการบำเพ็ญบารมีของพญานาค แม้บางครั้งอาจเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่เมื่อได้รับการฝึกหัดกล่อมเกลาจิตใจ ก็กลับกลายเป็นผู้ประเสริฐขึ้นมาอย่างฉับพลัน
ในอีกด้านหนึ่ง กุลบุตรผู้จะบวชเป็นพระภิกษุดำเนินชีวิตตามเส้นทางของพระอริยเจ้า ปฏิปทาของพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นปฏิปทาอันประเสริฐ เพราะเว้นเสียจากการทำบาปทั้งปวง ผู้จะดำเนินชีวิตตามปฏิปทาอันประเสริฐนั้นจึงถูกเรียกว่า “นาค” แปลว่า ผู้ประเสริฐ ตามไปด้วย
การโกนผมนาค
เมื่อได้เวลาตามที่กำหนดไว้ นาคและญาติพร้อมกัน ณ สถานที่ซึ่งกำหนดไว้ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ขลิบผมให้นาคเป็นปฐม จากนั้นพระสงฆ์ปลงผมให้นาค แต่งชุดนาค ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติโดยทั่วไป ผมที่โกนแล้วนิยมห่อด้วยใบบัวแล้วนำไปลอยน้ำที่แม่น้ำหรือวางไว้ใต้ร่มโพธิ์ เชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข แต่หากไม่ยึดถือจะกวาดทิ้งเสียก็ได้ เพราะของที่ออกจากร่างกายถือว่าเป็นของเสีย การปลงผมจะปลงที่บ้านหรือที่วัดก็ได้แล้วแต่ความสะดวก แต่วิธีปฏิบัติโดยทั่วไปนิยมปลงผมที่วัด นอกจากญาติที่มาร่วมงานจะได้มีโอกาสร่วมพิธีตัดผมนาคแล้ว ยังเป็นการประหยัด
เวลาของเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงานอีกด้วย เมื่อปลงผมเสร็จจะได้ทำประทักษิณเวียนรอบสีมา และเข้าโบสถ์ประกอบพิธีอุปสมบทต่อไป
อุปกรณ์ที่ใช้ในการปลงผมตามความนิยมมี ดังนี้
· กรรไกรตัดผม
· ด้ามมีดโกน พร้อมทั้งใบมีดโกน
· สบู่ หรือ ยาสระผม
· ใบบัวสำหรับรองผม หรือวัสดุอย่างอื่นที่ใช้แทนได้ เช่น ใบตอง
· ผ้าเช็ดตัว
โดยมากอุปกรณ์ที่ใช้ในการโกนผม เฉพาะด้ามมีดโกนและ
ใบมีดโกน พระสงฆ์ที่ทำหน้าในการโกนผมจะเตรียมให้เอง
การแต่งตัวนาค
หลังจากปลงผมเสร็จแล้ว ประเพณีนิยมบางท้องถิ่นจะลูบไล้ด้วยของหอมทาด้วยขมิ้น โดยเชื่อว่าจะได้ดับกลิ่นฆราวาส แต่วิธีปฏิบัติโดยทั่วไปไม่นิยมเพราะจะทำให้ดูไม่เรียบร้อย หรือหากจะทาก็ไม่ควรให้แป้งหรือขมิ้นติดเกรอะกรังจนดูไม่สะอาด
สมัยโบราณการใช้ขมิ้นทาศีรษะหลังโกนผม มีสาเหตุมาจากมีดที่ใช้โกนผมเป็นมีดแบบเดียวกับมีดที่ลับด้วยมือ เวลาโกนจึงอาจทำให้เกิดบาดแผลบ้าง หลังโกนผมจึงต้องใช้ขมิ้นทาศีรษะ เพื่อห้ามเลือดและสมานแผล
ในสมัยปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงทำให้ใบมีดมีความคมมากขึ้น และพระสงฆ์ที่โกนผมก็มีความชำนาญจนแทบไม่มีรอยบาดแผล จึงไม่มีความจำเป็นต้องทาแป้งหรือขมิ้นเหมือนสมัยก่อน
การแต่งตัวนาค ควรแต่งด้วยชุดขาวอันบ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ในกรณีมีสีอย่างอื่นก็สามารถใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สีขาวเสมอไป ให้ดูสิ่งที่จัดหาได้ง่ายตามความเหมาะสม และความนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ ที่สำคัญคือต้องประหยัด การแต่งตัวนาค ไม่ควรมีเครื่องประดับประดามากจนเกินไป ขอแนะนำเครื่องแต่งตัวนาคตามประเพณีนิยม ดังนี้
เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว
ผ้านุ่งขาว
ผ้าสไบเฉียง คือ ผ้าห่มแบบอังสะพระสงฆ์แต่สีขาว
เข็มขัด หรือสายรัดสำหรับรัดผ้านุ่ง
เสื้อคลุมนาค (มีหรือไม่มีก็ได้)
หากมีสร้อยคอจะสวมให้นาคก็ได้ แต่ไม่ควรคล้องพวงมาลัย เพราะแทนที่จะเป็นนาคก็จะกลายเป็นนักร้องไป
เข็มขัดสำหรับรัดผ้านุ่งขาว นิยมใช้เข็มขัดนาค ในกรณีที่ไม่มีเข็มขัดนาคจะใช้เข็มขัดอย่างอื่นหรือสายรัดก็ได้ ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว การใช้เข็มขัดนาคเป็นการปฏิบัติตามประเพณีนิยม เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “นาค” ซึ่งเป็นชื่อเรียกกุลบุตรผู้จะบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้มีนัยที่มุ่งหมายเป็นอย่างอื่น
เล่าเรื่องนาค
จากพุทธประวัติสู่ตำนานชาวบ้าน
คำว่า “นาค” แปลว่า ผู้ประเสริฐ เพราะไม่ทำบาป จะเป็นคนก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม หากไม่ทำบาปก็เรียกว่าผู้ประเสริฐ เช่น พญาช้างปาลิไลยก์ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คราวเสด็จประทับในป่าปาลิไลยก์พระองค์เดียว ไม่มีพระภิกษุอุปัฏฐากติดตาม ได้พญาช้างเชือกหนึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐาก เราจึงเรียกพญาช้างเชือกนั้นว่า “หัตถินาโค” แปลว่า “ช้างประเสริฐ”
นอกจากนั้น สัตว์เลื้อยคลานประเภทงูจำพวกหนึ่ง เป็นพญางูใหญ่ กึ่งสัตว์เดรัจฉาน กึ่งเทพ สามารถจำแลงกลายเป็นมนุษย์ไปไหนมาไหนได้ตามความต้องการ เราเรียกว่า “พญานาค” เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉานแต่ก็แสวงหาคุณอันประเสริฐ
ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุนั้นเป็นการดำเนินชีวิตตามเส้นทางของพระอริยเจ้า ปฏิปทาของพระอริยเจ้าเป็นปฏิปทาอันประเสริฐเพราะไม่ทำบาปทั้งปวง เราจึงเรียกผู้จะดำเนินชีวิตตามปฏิปทาอันประเสริฐนั้นว่า “นาค”
พญานาคภูริทัตต์
อดีตชาติของพระพุทธองค์
ตามคัมภีร์ทางศาสนา พญานาคได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ตั้งแต่อดีตชาติ เมื่อพระองค์เสวยชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัตต์ ปรากฏในภูริทัตต์ชาดกที่พระองค์ตรัสเล่า พญานาคภูริทัตต์พิจารณาเห็นว่าการเกิดเป็นนาคโดยชาติกำเนิด ต้องดำรงชีพด้วยชีวิตของกบและเขียด เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความลำบากเดือดร้อน จึงคลายพิษออกปลีกตนจากหมู่ญาติไปจำศีลภาวนา จนถูกหมองูสะกดด้วยคาถาเพื่อนำแสดงมายากลให้คนดู พญานาคภูริทัตต์ได้รับความลำบากเหลือแสน เพราะความตั้งอยู่ในศีล แม้จะได้รับความลำบากเช่นนี้ พญานาคภูริทัตต์ก็หาได้ผูกจิตคิดร้ายและทำอันตรายแก่หมองูไม่ จนหมู่ญาติได้ออกตามหาและช่วยไว้ได้ในที่สุด
กาฬนาคราช
นาคราชนอนเฝ้าถาดอธิษฐาน
ตามพุทธประวัติ พญานาคยังได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ตั้งแต่ก่อนการตรัสรู้
เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายแล้ว ได้ถือถาดไปทรงอธิษฐานที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราว่า ถ้าเราจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำไป ถ้าไม่ได้เป็นจงลอยไปตามกระแสน้ำ ครั้นอธิษฐานแล้ว ทรงลอยถาดไปในแม่น้ำ ถาดนั้นลอยตัดสายน้ำออกไปจนถึงกลางแม่น้ำ แล้วลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปประมาณ ๘๐ ศอกจึงหมุนจมลงไปตามวังวนแห่งหนึ่ง
ถาดนั้นได้ตกลงไปกระทบถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และ พระกัสสปะ ที่มาตรัสรู้ก่อนหน้านี้ ทำให้พญากาฬนาคราชสะดุ้งตื่นจากหลับ พญากาฬนาคราชคิดว่า เมื่อวานนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพระองค์หนึ่ง วันนี้ตรัสรู้อีกพระองค์หนึ่ง จึงลุกขึ้นสรรเสริญพระพุทธคุณด้วยคาถาหลายร้อยคาถา
อดีตชาติพญานาคราชตนนี้เคยเกิดเป็นสามเณรผู้ทำหน้าที่อุปัฏฐากภิกษุหลายร้อยรูป ตั้งแต่อุปัฏฐากภิกษุสามเณรไม่เคยได้หลับได้นอนเต็มอิ่มสักวัน จึงอธิษฐานขอให้ได้นอนไม่รู้จักตื่น เมื่อตายไปแล้วสามเณรได้ไปเกิดเป็นพญากาฬนาคราช นอนอยู่ในนาคพิภพอันเป็นทิพย์ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้องค์หนึ่งจึงตื่นครั้งหนึ่ง
พญามุจลินท์นาคราช
หนึ่งในเทพชั้นผู้ใหญ่ของท้าวจตุโลกบาล
ภายหลังการตรัสรู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสวยวิมุตติสุขบริเวณต้นโพธิ์เป็นเวลาถึง ๗ สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๖ พระพุทธองค์เสด็จจากต้นอชปาลนิโครธไปยังต้นมุจลินท์
ณ ต้นมุจลินท์นั้นเอง แม้มิใช่ฤดูกาลที่ฝนจะตก เมฆใหญ่ก็ตั้งขึ้นท้องฟ้ามืดมิดทำให้ฝนตกตลอด ๖ วัน พญามุจลินท์นาคราช ได้ออกจากที่อยู่ของตน มาทำขนดเป็นวงล้อมพระวรกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานกั้นฝนเหนือพระเศียร ด้วยความคิดว่าหยาดฝนลมหนาว เหลือบยุง และสัตว์เลื้อยคลานอื่นใด อย่าได้เบียดเบียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย พระพุทธองค์ได้เสวยวิมุตติสุขที่ต้นมุจลินท์ประหนึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฎี
พอถึงวันที่ ๗ อากาศกลับปลอดโปร่ง พญามุจลินท์นาคราชทราบว่าฝนหยุดตกแล้ว จึงคลายขนดจากพระวรกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำแลงกายเป็นมาณพน้อย ยืนประคองอัญชลี ถวายนมัสการต่อเบื้องพระพักตร์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงไม้มุจลินท์ตลอด ๗ วัน
เมื่อพระพุทธองค์เผชิญนาคราช
หลังการเสวยวิมุตติสุข พระพุทธองค์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมรู้แจ้งสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ในขณะที่องค์อื่นๆ ก็ได้บรรลุธรรมในวันต่อๆ มา แล้วพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง ในพรรษาแรกนั้นมีพระสาวกที่บวชตามพระองค์บรรลุเป็นพระอรหันต์ถึง ๖๐ องค์ สมัยนั้นจึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์
หลังจากออกพรรษา พระพุทธองค์เสด็จจาริกสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ มีชฎิล ๕๐๐ คนเป็นบริวาร นทีกัสสปะ มีชฎิล ๓๐๐ คนเป็นบริวาร คยากัสสปะ มีชฎิล ๒๐๐ คนเป็นบริวาร ชฎิลสามพี่น้องตั้งอาศรมอยู่ตามริมน้ำ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมนี้ ประชาชนชาวมคธให้ความเคารพนับถือมาก พระองค์เสด็จเข้าไปสู่อาศรมของอุรุเวลกัสสปะ ขอพักอาศัยอยู่ในโรงบูชาไฟ อุรุเวลกัสสปะห้ามว่าในโรงบูชาเพลิงนั้นมีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์มาก มีพิษร้ายแรงอาศัยอยู่ หากเข้าไปพญานาคอาจทำอันตรายได้
พระพุทธองค์ตรัสว่า พญานาคจะไม่ทำอันตรายขอเพียงอนุญาตให้พักอาศัยในที่นั้น อุรุเวลกัสสปะเตือนสองครั้งสามครั้งจึงกล่าวเชื้อเชิญให้พำนักในโรงบูชาเพลิงได้ตามพระประสงค์
เมื่ออุรุเวลกัสสปะกล่าวอนุญาต พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปสู่โรงบูชาเพลิง ทรงลาดอาสนะแล้วประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้มั่น ขณะนั้นพญานาคเห็นพระพุทธองค์เสด็จเข้ามาในโรงบูชาไฟที่ตนอาศัยอยู่ เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากจึงบังหวนควัน[๑]ขึ้น
พระพุทธองค์จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร[๒]แล้วบังหวนควันขึ้นบ้างเช่นกัน พญานาครู้สึกว่าตนเองถูกลบหลู่ดูหมิ่นจึงหมดความอดทนพ่นไฟออกมาในทันที พระพุทธองค์ก็ทรงเข้ากสิณสมาบัติบันดาลไฟต้านทานไฟพญานาคเช่นกัน ขณะนั้นโรงบูชาเพลิงได้ปรากฏแสงรุ่งโรจน์ดุจไฟลุกไหม้ไปทั่ว พวกชฎิลเหล่านั้นมาล้อมโรงบูชาเพลิง ต่างโพนทะนากันว่า พระสมณะรูปงามคงถูกพิษพญานาคตายแล้วเป็นแน่
ครั้นรุ่งเช้า เปลวไฟของพญานาคไม่ปรากฏ แต่เปลวไฟขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังปรากฏรุ่งโรจน์อยู่ พระรัศมีสีต่าง ๆ คือ สีขาว สีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ซ่านออกจากพระวรกาย พระพุทธองค์ทรงขดพญานาคราชนั้นไว้ในบาตร แล้วทรงแสดงแก่ชฎิลนั้น ตรัสว่า อุรุเวลกัสสปะ นี่พญานาคของท่าน
ภพของนาคราช
เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคยังปรากฏในพุทธประวัติอีกตอนหนึ่ง บ่งบอกให้ทราบถึงที่อยู่ของพญานาค
เมื่อกรุงเวสาลีนครหลวงแห่งแคว้นวัชชี เคยเป็นเมืองมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เนืองแน่นไปด้วยอาณาประชาราษฎร์เกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง สมัยนั้น กรุงเวสาลีเกิดฝนแล้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ข้าวกล้าแห้งตายเพราะแดดแผดเผา ผู้คนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก คนยากจนตายก่อน ซากศพไร้คนจัดการถูกทิ้งเกลื่อนนคร พวกอมนุษย์ได้กลิ่นซากศพก็พากันเข้าสู่พระนคร ทำอันตรายแก่หมู่มนุษย์ ทำให้คนตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อความไม่สะอาดปฏิกูลแพร่กระจายไป โรคระบาดก็เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเหลือที่จะนับได้
นครเวสาลีที่เคยเป็นเมืองมั่งคั่ง ผู้คนพลุกพล่านไปมาขวักไขว่ทักทายกันจอกแจกจอแจ ได้ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ๓ ประการ คือ
๑. ข้าวยากหมากแพง (ทุพภิกขภัย)
๒. ภูตผีปีศาจทำอันตราย (อมนุสสภัย)
๓. เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน (โรคภัย)
ชาวเมืองรวมตัวกันไปร้องทุกข์ต่อพระราชาว่า ในเมืองนี้ไม่เคยมีภัยทั้ง ๓ ประการนี้เกิดขึ้นมา ๗ ชั่วคนแล้ว เห็นทีผู้ปกครองรัฐจะประพฤติไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม
พระราชาโปรดให้ชาวเมืองประชุมกันที่ศาลากลางเมือง เพื่อตรวจสอบความผิดของพระองค์ ก็ไม่เห็นความผิดประการใด จึงปรึกษากันว่าทำอย่างไรภัยทั้ง ๓ ประการนี้จะสงบลงได้ ผลของการปรึกษาได้ตกลงที่จะเชิญเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากแคว้นมคธสู่กรุงเวสาลี ด้วยได้ยินกันมาว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่สัตว์ มีมหิทธานุภาพ[๓] พระองค์เสด็จไปที่ไหนก็จะมีแต่ความสงบสุข หากพระองค์เสด็จสู่กรุงเวสาลี ภัยพิบัติทั้งปวงจักสงบระงับลงไป
คราวนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าพิมพิสารผู้ถวายเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ชาววัชชีจึงส่งเจ้าลิจฉวี ชื่อมหาลิ และมหาอำมาตย์ผู้หนึ่งเป็นราชทูตเดินทางเข้าสู่แคว้นมคธ ทูลขอร้องพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อขอพระราชทานวโรกาสกราบทูลเชิญเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปกรุงเวสาลี
พระบรมศาสดาทรงพิจารณาว่า หากพระองค์เสด็จไปกรุง
เวสาลี ประโยชน์ ๒ อย่างจักเกิดขึ้น คือ พระองค์จะแสดงรัตนสูตร เป็นเหตุให้ชาววัชชีได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุมรรคผลเป็นอันมาก และภัยพิบัติจะสงบไป จึงทรงรับนิมนต์
พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงโปรดให้ตกแต่งเส้นทางเสด็จพระพุทธดำเนินตั้งแต่กรุงราชคฤห์ถึงฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นพรมแดนของแคว้นทั้งสอง รับสั่งให้ปรับพื้นถมดินทำทางให้เรียบเสมอ ให้ปลูกที่ประทับแรมทุกโยชน์ เตรียมให้เสด็จวันละโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป สู่ฝั่งแม่น้ำคงคาสิ้นทาง ๕ โยชน์ (๑ โยชน์มีระยะเทียบเท่ากับ ๑๖,๐๐๐ เมตร หรือ ๑๖กิโลเมตร) ใช้ระยะเวลาเดินทาง ๕ วัน
ฝ่ายกรุงเวสาลีก็ได้ตกแต่งเส้นทางจากฝั่งแม่น้ำคงคาถึงกรุงเวสาลีเป็นระยะทางถึง ๓ โยชน์ เตรียมการรับเสด็จพระพุทธองค์ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาอย่างยิ่งใหญ่
ขณะเรือส่งเสด็จที่พระเจ้าพิมพิสารจัดถวายใกล้ถึงฝั่งนครเวสาลี มหาเมฆตั้งเค้าขึ้นทั้ง ๔ ทิศ พอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่างพระบาทแรกเหยียบดินที่ฝั่งแม่น้ำคงคาบนแผ่นดินแคว้นวัชชี ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมาอย่างหนัก ทุกแห่งน้ำไหลไปแค่เข่า แค่สะเอว พัดพาเอาสิ่งโสโครกต่างๆ ลงแม่น้ำลำคลองไปสิ้น พื้นดินชุ่มเย็นและสะอาดทั่วไปในแดนวัชชี
พระพุทธองค์เสด็จจากฝั่งแม่น้ำคงคา ถึงกรุงเวสาลีสิ้นระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นเวลา ๓ วัน ครั้นเสด็จถึงกรุงเวสาลี พระอินทร์พร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมากก็มา ณ ที่นั้น เมื่อเทวดาซึ่งเป็นใหญ่กว่ามากันมาก พวกอมนุษย์ก็ถอยร่นหลีกไปเป็นอันมาก
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนที่ประตูพระนครเวสาลี รับสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร กล่าวสัจจะอันอาศัยคุณของพระรัตนตรัยกำจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายภัยพิบัติทั้งปวง พระอานนท์เดินสวดรัตนสูตรพลางพรมซัดน้ำพระพุทธมนต์ไปทั่วพระนคร
พอพระอานนท์ขึ้นบท “ยังกิญจิ วิตตัง”พวกอมนุษย์ที่แอบอยู่ตามที่ต่างๆ ทนอยู่ไม่ไหวชิงกันหนีออกทางประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู แน่นยัดเยียด บางพวกทนรอออกทางประตูไม่ไหว ช่วยกันพังกำแพงเมืองหนีกระเจิงไปหมดสิ้น พอพวกอมนุษย์ออกไป โรคในตัวมนุษย์ก็หาย ผู้ที่หายจากโรคก็ลุกออกมาบูชาพระเถระเจ้าด้วยเครื่องบูชาต่างๆ
ภายในพระนครเวสาลี ชาวเมืองตกแต่งศาลากลางเมืองเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ที่ประทับแล้ว เหล่าภิกษุสงฆ์ และเจ้าลิจฉวี ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ก็ไปเฝ้าที่นั่น แม้ท้าวสักกเทวราชก็ทรงพาเทวดาทั้งปวงมาเฝ้าที่นั่นด้วย พระอานนท์เที่ยวทำการรักษาทั่วกรุงเวสาลีแล้วได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ที่นั่น ชาวพระนครเวสาลีติดตามมาเฝ้าด้วยเป็นอันมาก ที่ประชุมนั้นได้กลายเป็นมหาสมาคม
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรัตนสูตรซ้ำในมหาสมาคมนั้น เมื่อจบเทศนาลง อุปัทวันตรายภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวงได้สงบลง ความสุขสวัสดีแผ่ไปทั่วแคว้นวัชชี จากนั้นมาฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม
พระพุทธองค์เสด็จกลับกรุงราชคฤห์ เหล่าเจ้าลิจฉวีตามส่งเสด็จพร้อมด้วยเครื่องสักการะเป็นอันมาก จนถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เหล่านาคราชทั้งหลายในแม่น้ำคงคาคิดกันว่า หมู่มนุษย์ทำการสักการะพระพุทธองค์เป็นอันมาก จึงได้ทูลวิงวอนให้พระพุทธองค์อนุเคราะห์พวกตน พระผู้มีพระภาคเจ้ารับคำนิมนต์ เหล่านาคราชนำเสด็จพระพุทธองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสู่นาคพิภพ พระองค์แสดงธรรมโปรดเหล่านาคราชตลอดราตรี รุ่งขึ้นเหล่านาคราชถวายสักการะและภัตตาหารอันเป็นทิพย์ พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาเสร็จแล้วเสด็จออกจากนาคพิภพ เหล่าภุมมเทวดาและเทวดาทั้งหลายก็ได้กระทำสักการะต่อจากนี้เช่นเดียวกัน
นันโทปนันทนาคราช
นอกจากนั้น ในนันโทปนันทสูตร ยังได้แสดงภพอันเป็นทิพย์ของนันโทปนันทนาคราชไว้ว่า
คราวหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมทั้งภิกษุ ๕๐๐ รูปฉันภัตตาหาร ใกล้รุ่งวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลก พญานาคนันโทปนันทะปรากฏในพระญาณ พระพุทธองค์ได้ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งสรณคมน์ของพญานาคราชผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธองค์เรียกพระอานนท์มาตรัสบอกว่า พระองค์จะเสด็จจาริกไปยังเทวโลกให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปตามเสด็จด้วย
ในวันนั้นเอง เหล่านาคบริษัททั้งหลายได้ตระเตรียมสถานที่สำหรับดื่มสุราเพื่อนันโทปนันทนาคราช กางกั้นด้วยเศวตฉัตรทิพย์ นพรัตนบัลลังก์ทิพย์ ห้อมล้อมด้วยนักฟ้อน ๓ พวกและเหล่านาคบริษัทมากมาย พญานันโทปนันทนาคราชนั่งมองดูอาหารที่เขาจัดวางไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้นาคราชเห็นว่าพระองค์เสด็จข้ามวิมานของนาคราชบ่ายพระพักตร์ไปยังดาวดึงส์เทวโลก โดยมีหมู่ภิกษุ ๕๐๐ ตามเสด็จ
นันโทปนันทนาคราชเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ ก็พาลโกรธว่าพวกสมณะหัวโล้นเหล่านี้ ข้ามหัวตนไปมาโปรยฝุ่นจากเท้าลงบนหัวของตนไม่เกรงอกเกรงใจ จึงขึ้นไปยังเชิงเขาสิเนรุ เอาขนดหางวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบแผ่พังพานปิดภพดาวดึงส์ไว้
ท่านพระรัฏฐปาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เมื่อก่อน ยืนอยู่ก็สามารถมองเห็นภพดาวดึงส์ ตลอดจนธงบนยอดเวชยันตปราสาท เหตุไรบัดนี้จึงไม่เห็น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่านาคราชชื่อว่านันโทปนันทะโกรธพวกเธอจึงเอาขนดหางวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบ แผ่พังพานปิดบังภพดาวดึงส์ไว้ แม้ท่านพระรัฏฐปาล ท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุล และภิกษุทั้งหมด แม้ขอทรมานนาคราชพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะเถระ กราบทูลขอทรมานนาคราชนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาต
พระเถระนิรมิตกายเป็นรูปพญานาคราชใหญ่ เอาขนดหางวงรอบนันโทปนันทนาคราช ๑๔ รอบ วางพังพานของตนลงบนยอดพังพานของนันโทปนันทนาคราชแล้วกดเข้ากับเขาสิเนรุ นาคราชบังหวนควันขึ้น
พระเถระกล่าวว่า มิใช่จะมีแต่ควันในร่างกายของท่านเท่านั้น แม้เราเองก็มีควันเช่นกัน จึงบังหวนควันขึ้นบ้าง ควันของนาคราชไม่สามารถทำอันตรายแก่พระเถระได้ แต่ควันของพระเถระกลับทำอันตรายแก่พญานาคราช นาคราชจึงพ่นไฟออกไปด้วยความกราดเกรี้ยว พระเถระกล่าวว่า ไม่ใช่จะมีแต่ไฟในร่างกายของท่านเท่านั้น แม้เราก็มีไฟเช่นกัน จึงพ่นไฟออกไปบ้าง
ไฟของนาคราชไม่สามารถทำอันตรายแก่พระเถระได้ แต่ไฟของพระเถระกลับทำอันตรายแก่นาคราช นาคราชคิดว่า พระองค์นี้กดหัวเราเข้ากับเขา จึงบังหวนควันและพ่นไฟพร้อมกับถามว่า ท่านเป็นใคร พระเถระตอบว่า เราโมคคัลลานะ นาคราชจึงตะโกนออกไปด้วยความโกรธว่า เป็นพระทำไมไม่อยู่ส่วนพระ
พระเถระจึงเปลี่ยนร่างเข้าไปทางช่องหูขวาออกทางช่องหูซ้าย แล้วเข้าทางช่องหูซ้ายออกทางช่องหูขวา เข้าทางช่องจมูกขวา ออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้ายแล้วออกทางช่องจมูกขวาของนาคราช พอนาคราชอ้าปากเท่านั้นพระเถระก็พุ่งเข้าไปทางปากแล้วเดินจงกรมอยู่ภายในท้อง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระเถระว่า โมคคัลลานะเธอจงตั้งสติให้ดี อย่าได้ประมาท นาคราชมีฤทธิ์มาก พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว กระทำให้มากแล้ว สามารถทำให้เป็นเหมือนยานได้ กระทำให้เป็นดุจวัตถุที่ตั้ง ตั้งมั่น สั่งสมและปรารภไว้ดีแล้ว อย่าว่าแต่นันโทปนันทะเลย ต่อให้พญานาคราชเช่นกับนันโทปนันทะสักร้อย สักพัน สักแสน ข้าพระองค์ก็สามารถทรมานได้
ส่วนพญานาคราชคิดว่า ตอนพระเถระเข้าไปเราไม่ทันเห็น ในเวลาออกมาจักใส่เขี้ยวเคี้ยวกินเสียเลย เมื่อคิดแล้วจึงแสร้งกล่าวว่า ขอท่านจงกลับออกมาเถิด อย่าเดินไปๆ มาๆ ในท้องทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย พระเถระจึงได้ออกจากท้องไปยืนข้างนอก นาคราชเห็นว่านี้คือเขาละ จึงพ่นลมทางจมูก พระเถระเข้าจตุตถฌาน ลมนาคราชไม่สามารถทำให้ไหวได้แม้แต่ขุมขนของพระเถระ
ที่จริง พระภิกษุทั้งหลายสามารถทำปาฏิหาริย์ได้ตามที่พระโมคคัลลานะทำมาตั้งแต่ต้น แต่พอถึงตรงนี้ ไม่มีใครสามารถตั้งตัวและเข้าสมาบัติได้ทัน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะแพ้แก่นาคราช เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุอื่นทรมานนาคราช แต่อนุญาตพระโมคคัลลานะ เพราะฤทธิ์ของพระโมคคัลลานะเท่านั้นที่สามารถกำหนดได้
นาคราชคิดว่า ลมจมูกของเราไม่สามารถทำแม้ขุมขนของพระภิกษุรูปนี้ให้ไหวได้ พระภิกษุรูปนี้มีฤทธิ์มาก แล้วจึงรีบหนีไป พระเถระได้แปลงกายนิรมิตเป็นพญาครุฑไล่ติดตามพญานาคราชไป นาคราชจึงละอัตภาพนาคกลายเป็นมาณพน้อยกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมขอถึงท่านเป็นสรณะ แล้วกราบลงที่เท้าพระเถระ พระเถระกล่าวว่า นันทะ พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ท่านจงมา พวกเราจะไป พระเถระทรมานนาคราชจนสิ้นพยศแล้วจึงกลับไปเฝ้าพระพุทธองค์ นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านจงเป็นสุขเถิดนาคราช หมู่ภิกษุห้อมล้อม ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไรพระองค์จึงเสด็จมาสาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะและนันโทปนันทนาคราชได้ทำสงครามกัน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลว่า ใครแพ้ใครชนะพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะชนะ ส่วนนันทะเป็นผู้แพ้
อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ตามลำดับแห่งเดียวตลอด ๗ วัน ข้าพระองค์จักกระทำสักการะแก่พระเถระ ๗ วันแล้วได้กระทำมหาสักการะแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน
พญานาคแปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวช
ความเชื่อพื้นฐาน คำว่า “นาค” ในปัจจุบัน
คราวหนึ่ง พญานาคตัวหนึ่งอึดอัด ระอา เกลียดการเกิดเป็นนาคของตน คิดว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นจากกำเนิดนาค และสามารถเกิดเป็นมนุษย์ได้เร็วขึ้น แล้วคิดต่อไปว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากได้บวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ก็จะสามารถพ้นจากการเกิดเป็นนาคและเกิดเป็นมนุษย์ได้เร็วขึ้น
เมื่อพญานาคคิดอย่างนี้จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม เข้าไปหาพระภิกษุทั้งหลายขอบวช พระภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชาอุปสมบท
พระนาคนั้นพักอยู่ในวิหารท้ายวัดกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นใกล้สว่าง พระภิกษุรูปนั้นตื่นนอนแล้วออกไปเดินจงกรมอยู่ด้านนอก พอพระภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระนาคนั้นก็วางใจเผลอจำวัดได้กลายร่างกลับเป็นพญานาค วิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงูใหญ่ ขนดหางยื่นออกไปทางหน้าต่าง
ครั้นพระภิกษุรูปนั้นผลักบานประตูเข้าไปด้วยตั้งใจจักเข้าวิหารได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ก็ตกใจร้องเอะอะขึ้น พระภิกษุทั้งหลายพากันวิ่งเข้าไปแล้วได้ถามพระภิกษุรูปนั้นว่า ร้องเอะอะไปทำไม พระภิกษุรูปนั้นบอกว่า วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงูใหญ่
ขณะนั้น พระนาครู้สึกตัวตื่นขึ้นเพราะเสียงเอะอะนั้น แล้วนั่งอยู่บนอาสนะของตน ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า ท่านเป็นใคร ภิกษุนาคตอบว่า ผมเป็นนาค
พระภิกษุทั้งหลายถามว่า ทำเช่นนี้เพื่ออะไร พระภิกษุนาคนั้นจึงบอกให้พระภิกษุทั้งหลายทราบว่า ตนอึดอัด ระอา เบื่อหน่ายในการเกิดเป็นนาค จึงคิดว่าหากได้บวชเป็นพระภิกษุ ในสำนัก
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรก็จะสามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้เร็วขึ้น พระภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทสอนนาคนั้นว่า พวกเจ้าเป็นนาคมีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์นั้น แหละด้วยวิธีนี้ เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เร็วพลัน
ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ก็เสียอกเสียใจ ร้องไห้สะอึกสะอื้นน้ำตานองหน้า เดินจากไป พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สาเหตุที่จะทำให้นาคกลับสู่สภาพร่างนาคตามเดิม มี ๒ ประการ คือ เวลานาคเสพเมถุนธรรมกับนางนาค ผู้มีชาติเสมอกัน ๑ เวลาวางใจเผลอสตินอนหลับ ๑ ภิกษุทั้งหลาย สาเหตุที่จะทำให้นาคกลับสู่สภาพร่างนาคตามเดิม มี ๒ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน[๔] คือ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย”
เนื้อความในพระไตรปิฎกจบแต่เพียงเท่านี้ ต่อมาบัณฑิตรุ่นหลังนิยมเรียกผู้จะบวชว่า “นาค” ตามเรื่องราวของนาคตนนี้ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เพื่อเป็นการระลึกถึงศรัทธาอันแรงกล้าของนาค ซึ่งแม้จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ก็ยังปรารถนาที่จะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จนถึงกลับจำแลงเป็นมนุษย์มาขอบวช
นอกจากนั้น ท่านยังเล่าความเสริมต่อไปว่า เมื่อพระพุทธองค์ให้นาคสึกนั้น นาคเสียใจเป็นอย่างมาก จนถึงกับหลั่งน้ำตาเพราะความน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ จึงขอร้องให้หมู่พระภิกษุเรียกผู้ที่จะบวชเป็นพระว่า “นาค” เพื่อให้ระลึกถึงตน และชื่อของตนจะได้ปรากฏอยู่ชั่วกาลนาน
การที่เราเรียกสัตว์เลื้อยคลานจำพวกพญางู ซึ่งถือกันว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานกึ่งเทพ ว่าเป็น “พญานาค” เนื่องมาจากสัตว์จำพวกนี้แม้จะเป็นสัตว์เดรัจฉานแต่ก็แสวงหาคุณอันประเสริฐ
การทำประทักษิณ
(เดินเวียนขวารอบสีมา)
การทำประทักษิณ คือ การกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การหมุนไปทางขวา คือ การหมุนไปสู่ความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ตรงกันข้ามกับการหมุนไปด้านซ้ายเป็นการหมุนทวนความดี คือ การกระทำที่เป็นทุจริตทางกาย วาจา และใจ
การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมาก่อนเข้าโบสถ์บวชเป็นพระภิกษุ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ยังเป็นอุบายที่คนโบราณสอนให้รู้ว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้เป็นการกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
นอกจากนั้น การทำประทักษิณก่อนเข้าสู่พิธีอุปสมบท ยังเป็นช่วงเวลาให้นาคได้มีโอกาสทำสมาธิ รวบรวมจิตใจไม่ให้ตกประหม่าตื่นเต้นจนเกินเหตุ ญาติของนาคจึงไม่ควรส่งเสียงหรือโห่ร้อง ร้องรำทำเพลง ประโคมดนตรี อันจะเป็นการรบกวนสมาธิของนาค
การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมา เป็นการแสดงความเคารพ เพื่อให้ผู้บวชก้าวไปสู่ความดีงาม จึงไม่ควรให้นาคขี่คอ ขึ้นคานหาม หรือแบกหามซึ่งจะดูไม่เรียบร้อย หากพลัดตกลงมาอาจเป็นอันตรายจนถึงบวชไม่ได้ จึงควรให้นาคเดินตามปกติ
คติเกี่ยวกับการให้นาคขี่คอ สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าออกผนวชด้วยการขี่ม้ากัณฑกะ จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์ ในสมัยต่อมาผู้ที่จะบวชจึงนิยมขี่ม้าแห่แหนกันอย่างเอิกเกริกก่อนเข้าโบสถ์ประกอบพิธีอุปสมบท
แต่เนื่องจากบางท้องถิ่นหาม้าได้ไม่ง่าย จึงให้นาคขี่คอคนแทนม้า บางแห่งให้นาคนั่งบนเตียงที่มีคนหามแทนการขี่คอ จึงกลายเป็นประเพณีที่ยอมรับสืบทอดกันอย่างกว้างขวาง ว่าผู้ที่จะบวชต้องขี่คอ เสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ขี่ม้าออกผนวช
เนื่องจากการเดินเวียนขวารอบสีมาเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณ จะใช้เฉพาะกรณีที่ต้องการแสดงความเคารพเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ผู้บวชจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
ข้อปฏิบัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเดินประทักษิณเวียนขวารอบสีมาควรปฏิบัติ ดังนี้
เมื่อแต่งชุดนาคเสร็จแล้ว ให้นาคประณมมือโดยมีดอกไม้ที่เตรียมไว้อยู่ในมือเดินทำประทักษิณ[๕](เวียนขวา) รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ จะมีผู้กั้นสัปทนให้นาคก็ได้ การทำประทักษิณให้เริ่มต้นจากสีมาตรงกลางด้านหน้าอุโบสถ (เริ่มจากสีมาที่จะวันทา) ส่วนญาติๆ ถือบริขารพร้อมทั้งเครื่องไทยทานที่จัดเตรียมไว้
ตามความนิยมโดยทั่วไป บิดาสะพายบาตรถือตาลปัตร ส่วนมารดาถือพานแว่นฟ้าสำหรับใส่ผ้าไตรครองเดินตามหลังนาค แถวถัดมาเป็นธูปเทียนแพ เครื่องไทยทานสำหรับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด และเครื่องบริขารอย่างอื่นโดยลำดับ ในขณะเดินให้นาคสวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ดังนี้
“อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯลฯ”
หรือจะภาวนา “พุทโธ” ตามจังหวะเท้าที่ก้าวย่างก็ได้
การวันทาสีมา
เมื่อเดินครบ ๓ รอบแล้ว นาคต้องวันทาสีมาหน้าอุโบสถก่อนเข้าไปในเขตสีมา โดยเริ่มต้นตามขั้นตอนการวันทา ต่อไปนี้
นาควางดอกไม้เครื่องสักการะไว้บนพานที่เตรียมไว้ บางแห่งให้จุดธูปเทียนด้วย แต่โดยมากนิยมให้ดอกไม้ธูปเทียนไว้บนพานหรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่จัดเตรียมไว้ โดยมากไม่จุดธูปเทียน นาคกราบสีมา ๓ หน แล้วยืนขึ้นว่า
คำวันทาสีมา
อุกาสะ วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต// มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง// สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง// สาธุ/ สาธุ / อนุโมทามิ ฯ
คำแปล
ขอโอกาสขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ท่านขอรับ ขอท่าน จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนา
นั่งคุกเข่าประนมมือว่า
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง / สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต ฯ
คำแปล
ท่านขอรับ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ท่านขอรับ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวง ที่กระผมได้ทำทางทวารทั้ง ๓ ทาง (คือ กาย วาจา และใจ)
กราบ ๑ หน แล้วยืนขึ้นว่า
วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง// สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง// สาธุ / สาธุ / อนุโมทามิ ฯ
คำแปล
ท่านขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนา
นาคนั่งคุกเข่ากราบ ๓ หน จากนั้นเข้าไปภายในพระอุโบสถ ในขณะเข้าประตูโบสถ์ไม่ควรยกนาคข้ามธรณีประตู หรือยกขึ้นเพื่อเอามือแตะคานประตูตามที่นิยมปฏิบัติกันโดยขาดความเข้าใจ เพราะอาจพลัดตกลงมาแขนขาหักได้ ให้นาคเดินเข้าโบสถ์ตามปกติ โดยบิดามารดาและญาติจะแตะที่ตัวนาคตามเข้าไปก็ได้
การโปรยทาน
การโปรยทาน หมายถึง การสละเงินทองทรัพย์สมบัติเป็นทานแก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน โดยถือคติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสละราชสมบัติออกผนวช ไม่ปรารถนาแม้ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน การโปรยทานก่อนเข้าโบสถ์ เป็นการแสดงว่า ต่อจากนี้ไปนาคได้สละสมบัติทุกอย่างแล้ว เพื่อดำเนินชีวิตตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้น การโปรยทานยังเป็นการสอนคนให้รู้จักเสียสละโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
การโปรยทานนั้นจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว เนื่องจากไม่ใช่พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการบวช ถึงไม่มีการโปรยทานก็บวชสำเร็จเป็นพระได้
ดังนั้น วัดใหญ่ๆ บางวัด ที่มีแบบแผน และเป็นหลักในการประกอบพิธีบวช จึงไม่นิยมให้มีการโปรยทาน เพราะการโปรยทานไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีบวช โดยยึดเอาขั้นตอนและพิธีบวชเป็นหลัก พิธีกรรมใดไม่เกี่ยวเนื่องกับขั้นตอนการบวชก็ไม่ให้มี เพราะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย เกิดเสียงเอิกเกริกเฮฮา อันเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อสถานที่
เจ้าภาพจึงควรปรึกษากับพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพิธีการบวชให้เข้าใจว่า วัดนั้นโปรยทานได้หรือไม่ เพราะเมื่อเตรียมของสำหรับโปรยทานมาแล้ว พอถึงเวลาปรากฏว่าทางวัดไม่อนุญาต จะได้ไม่รู้สึกเกิดความไม่สบายใจ หรือถ้าเจ้าภาพเตรียมมาแล้ว หากท่านไม่อนุญาตให้โปรยทาน จะถวายเป็นค่าน้ำค่าไฟที่วัดก็เห็นจะเกิดประโยชน์ได้เช่นกัน
บรรพชา
การบวชเป็นสามเณร
เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ์แล้ว นาควันทาพระประธานอีกครั้งด้วยวิธีอย่างเดียวกันกับวันทาสีมา จากนั้นกลับไปนั่ง ณ สถานที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับนาค บิดา มารดา (หรือญาติผู้ใหญ่)มอบผ้าไตรให้นาค นาคคุกเข่ากราบ ๓ หน ประณมมือยื่นแขนรับผ้าไตร จากนั้น ประณมมือประคองผ้าไตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ เมื่อถึงแนวประชุมสงฆ์ ให้คุกเข่าลงแล้วคลานเข่าเข้าไป น้อมผ้าไตรถวายพระอุปัชฌาย์ รับดอกไม้ ธูปเทียนแพเครื่องสักการะ (มีผู้ส่งให้) ถวายพระอุปัชฌาย์ กราบลง ๓ หน พระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ ประณมมือประคองผ้าไตร ยืนขึ้นว่า
อุกาสะ วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง // สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง // สาธุ / สาธุ / อนุโมทามิฯ
อุกาสะ การุญญัง กัตตะวา / ปัพพัชชัง เทถะ เม ภันเตฯ
คำแปล
ขอโอกาสขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนาฯ
กระผมขอโอกาส เมื่อท่านมีความกรุณาแล้ว จงบรรพชาให้ผมด้วยขอรับฯ
นั่งคุกเข่า ประณมมือว่า
อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ // ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ // ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ
คำแปล
ท่านขอรับ กระผมขอบรรพชา แม้ครั้งที่สอง กระผมขอบรรพชา แม้ครั้งที่สาม กระผมขอบรรพชา
(ว่าต่อ) สัพพะทุกขะนิสสะระณะ / นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ // อิมัง กาสาวัง คะเหตะวา // ปัพพาเชถะ มัง ภันเต // อนุกัมปัง อุปาทายะ(ว่า ๓ รอบ) ครบ ๓ รอบแล้วแล้วส่งผ้าไตรให้พระอุปัชฌาย์
คำแปล
ท่านขอรับ ขอท่านจงอนุเคราะห์รับผ้ากาสาวพัสตร์นี้ แล้วบรรพชาให้กระผมด้วยเถิด เพื่อให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง กระทำพระนิพพานให้แจ้ง
(ว่าต่อ) สัพพะทุกขะนิสสะระณะ / นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ // เอตัง กาสาวัง ทัตะวา // ปัพพาเชถะมัง ภันเต // อนุกัมปัง อุปาทายะ (ว่า ๓ รอบ)
คำแปล
ท่านขอรับ ขอท่านจงอนุเคราะห์ครองผ้ากาสาวพัสตร์นี้ แล้วบรรพชาให้กระผมด้วยเถิด เพื่อให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง กระทำพระนิพพานให้แจ้ง
จากนั้น นาคโน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ พระอุปัชฌาย์คล้องผ้าอังสะให้ นาคนั่งพับเพียบลงประณมมือ ตั้งใจฟังโอวาทของพระอุปัชฌาย์
ในที่นี้จะขอนำคำกล่าวสอนนาคตามนัย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร มาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
“ขอให้ตั้งใจให้ดี ต่อไปนี้จะได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา การบวชเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความดี เมื่อเกิดเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความดีขึ้นแล้ว นอกจากจะได้ส่วนตัว ยังจะเป็นบุญ เป็นกุศล ไปถึงมารดาบิดาผู้มีพระคุณเป็นต้นอีกด้วย เมื่อบุญกุศลไปถึงแก่ท่าน ก็ชื่อว่าเป็นการตอบแทนพระคุณของท่าน โบราณจึงกล่าวว่า การบวชเป็นการตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา และเมื่อบวชไปแล้วปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ชื่อว่าเป็นการทำชีวิตของผู้บวชนั่นเองให้ดีตามไปด้วย จึงขอให้ตั้งใจให้ดีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“การบวชนั้นต้องทำตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ในเบื้องต้นท่านได้นำผ้ากาสาวพัสตร์เข้ามา กล่าวคำขอบรรพชาว่า อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมขอบรรพชา หมายถึงการบรรพชาเป็นสามเณร ก่อนที่จะอุปสมบทบวชเป็นพระ
“การบวชเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ต้องอาศัยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ มีความเข้าใจในพระรัตนตรัยและมีความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า เมื่อมีคุณสมบัติ ๒ ประการนี้แล้ว เปล่งวาจารับไตรสรณคมน์ จบวาระที่ ๓ ก็สำเร็จเป็นสามเณร
“เป็นเณรก็ดี เป็นพระก็ดี จะต้องรักษาข้อปฏิบัติซึ่งมีอยู่มาก จะรักษาได้ก็ต้องอาศัยใจ ใจต้องดี ใจจะดีได้ต้องอาศัยการฝึกหัด เพราะฉะนั้น ผู้บวชใหม่จึงนิยมให้เรียนพระกรรมฐาน มีบทภาวนา ๕ ประการ ขอให้ว่าตาม ดังต่อไปนี้”
เกสา // โลมา // นะขา // ทันตา // ตะโจ // เกสา แปลว่า ผมทั้งหลาย โลมาแปลว่า ขนทั้งหลาย นะขาแปลว่า เล็บทั้งหลาย ทันตา แปลว่า ฟันทั้งหลาย ตะโจแปลว่า หนัง
เพ่งคือนึกในใจ เพื่อป้องกันความฟุ้งซ่านรำคาญต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น นี้ว่าตามลำดับ หรือจะว่าทวนลำดับก็ได้ว่า ดังนี้
ตะโจ // ทันตา // นะขา // โลมา // เกสา // แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ โดยมากว่าพร้อมกันไปทีเดียวทั้ง ๒ อย่าง ดังนี้ เกสา // โลมา // นะขา // ทันตา // ตะโจ // ตะโจ // ทันตา // นะขา // โลมา // เกสา //
เมื่อสอนกรรมฐานจบแล้วพระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ นาคประณมมือคลานเข่าถอยหลังออกไป พอพ้นแนวพระสงฆ์แล้วยืนขึ้น หันหลังกลับแล้วเดินตามพระพี่เลี้ยงที่คอยช่วยเหลือออกไปครองผ้าในที่ๆ สมควร พระพี่เลี้ยงครองจีวรให้
จากนั้นกลับเข้าไปหาพระคู่สวด รับธูปเทียนแพเครื่องสักการะจากบิดามารดาถวายพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) กราบ ๓ หน ประณมมือยืนขึ้นเปล่งวาจาว่า
อุกาสะ วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง // สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง // สาธุ / สาธุ / อนุโมทามิ ฯ
อุกาสะ การุญญัง กัตะวา / ติสะระเณนะ สะหะ สีลานิ เทถะ เม ภันเต ฯ
คำแปล
ขอโอกาสขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ท่านขอรับ ขอท่าน จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนาฯ
ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอท่านจงมีความกรุณาให้ศีลพร้อมทั้งสรณะ แก่กระผมด้วยขอรับฯ
นั่งคุกเข่า ประณมมือขอสรณะและศีลว่า
อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ // ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ // ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิฯ
คำแปล
ท่านขอรับ กระผมขอสรณะและศีล ท่านขอรับ แม้ครั้งที่สอง ฯลฯ แม้ครั้งที่สาม กระผมขอสรณะและศีลฯ
ต่อจากนั้นให้ตั้งใจว่าตาม โดยพระกรรมวาจาอาจารย์กล่าวนำ นะโม ๓ จบ ดังนี้
นะโม ตัสสะ // ภะคะวะโต // อะระหะโต // สัมมา // สัมพุทธัสสะ ( นาคว่าตาม ๓ จบ)
คำแปล
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
พระอาจารย์กล่าวว่า “ยะมะหัง วะทามิ ตัง วะเทหิ” คำแปล ขอท่านจงว่าตามที่เราพูด
นาคตอบรับว่า อุกาสะ อามะ ภันเต // คำแปล ขอโอกาส ขอรับกระผม
จากนั้น พระกรรมวาจาจารย์เริ่มให้สรณคมน์ การให้สรณคมน์มี ๒ แบบ นาคว่าตามทีละวรรคไปจนจบทั้ง ๒ แบบ ดังนี้
แบบที่ ๑ เสียงแบบสันสกฤต
(บางวัดไม่ใช้แบบสันสกฤต)
พุทธัม // สะระณัม// คัจฉามิ // ธัมมัม// สะระณัม // คัจฉามิ // สังฆัม// สะระณัม // คัจฉามิ// ทุติยัมปิ// พุทธัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ทุติยัมปิ// ธัมมัม// สะระณัม// คัจฉามิ // ทุติยัมปิ// สังฆัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ// พุทธัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ// ธัมมัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ// สังฆัม// สะระณัม// คัจฉามิ
แบบที่ ๒ เสียงแบบบาลี
(แบบที่ใช้ทั่วในปัจจุบัน)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ// ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ// สังฆังสะระณัง คัจฉามิ// ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ// ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ// ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ// ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ// ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ// ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
คำแปล
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สองฯลฯ แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะฯลฯ
พระอาจารย์กล่าวว่า “ ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง” คำแปล การถึงสรณะ ๓ จบลงแล้ว
นาคตอบรับว่า อามะ ภันเต //
คำแปล ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอรับกระผม
พอถึงขั้นตอนนี้ให้ทราบว่า เป็นสามเณรเรียบร้อยสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว เนื่องจากความเป็นสามเณรสำเร็จได้ด้วยการเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด พอพระกรรมวาจาจารย์นำเปล่งวาจาประกาศตนว่าจะอาศัยพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจบลงด้วยคำว่า “ ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง” แปลว่า ไตรสรณคมน์จบลงแล้ว
นาคกล่าวรับว่า “อามะ ภันเต” เป็นคำรับว่า ครับผม นั่นเอง
ความเข้าใจ เรื่อง ไตรสรณคมน์
พระพุทธศาสนามีที่พึ่งอันสูงสุดเรียกว่า “ไตรสรณะ” แปลว่า “ที่พึ่ง ๓ ประการ” หมายเอาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไตรสรณะเป็นที่พึ่งอันสูงสุด เพราะที่พึ่งอื่นไม่สามารถช่วยดับความกระวนกระวายเร่าร้อนด้วยอำนาจกิเลสได้ แต่ไตรสรณะสามารถดับความกระวนกระวายเร่าร้อน ทำให้พ้นทุกข์ทั้งมวลได้
ความเป็นสามเณรสำเร็จได้ด้วยการเปล่งวาจาขอถึง
พระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะจบวาระที่ ๓ ก็สำเร็จเป็นสามเณรได้ การให้ไตรสรณะสมัยก่อนนั้นท่านให้ ๒ แบบ คือ ทั้งแบบสันสกฤต และแบบบาลี
เนื่องจากผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรได้ต้องสามารถเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยได้อย่างถูกต้อง จึงจะสำเร็จเป็นสามเณรได้อย่างสมบูรณ์ หากไม่สามารถเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยได้ ก็เป็นสามเณรไม่ได้ ผู้ที่จะสามารถเปล่งภาษาได้ถูกต้องและเข้าใจความหมายก็ต้องโตพอที่จะรู้ภาษาแล้ว
การกำหนดอายุของผู้บวชสามเณรจึงกำหนดเอาเด็กสามารถพูดและเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ท่านกล่าวว่าสามารถไล่กาและไก่ได้ คือ ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรต้องรู้และเข้าใจภาษาจนสามารถแยกแยะออกว่าอะไรเป็นกาอะไรเป็นไก่
เนื่องจากสมัยก่อนคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แบบ คือทั้งแบบมหายาน และเถรวาท มหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกและเผยแผ่คำสอน ส่วนเถรวาทใช้ภาษาบาลีบันทึกคำสอน ทั้งสันสกฤตและบาลีมีวิธีออกเสียงที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันการเปล่งวาจาเพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยคลาดเคลื่อน อันจะเป็นเหตุให้การบวชสามเณรไม่สมบูรณ์ บุรพาจารย์จึงให้สวดไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ คือ ทั้งแบบสันสกฤตและแบบบาลีควบคู่กันไป
ในกรณีการเปล่งเสียงไม่ถูกตามหลักภาษาเพราะสำเนียงของชนชาติตน ไม่ได้หมายความว่าผู้บวชจะไม่เป็นพระเป็นเณร
ความเป็นจริงแล้ว แม้จะเปล่งวาจาไม่ตรงตามหลักภาษา การบวชก็เป็นอันสมบูรณ์เพราะเจตนาต้องการกล่าวอย่างนั้น และหมู่สงฆ์ก็เข้าใจความมุ่งหมาย แต่สำเนียงผิดเพี้ยนไปบ้างตามสำเนียงของชนชาตินั้นๆ การที่สำเนียงผิดเพี้ยนไปไม่ได้หมายความว่าผู้บวชจะไม่ได้เป็นพระเป็นสามเณร
เนื่องจากสำเนียงของชนชาติใดก็เป็นที่เข้าใจของชนชาตินั้น การเปล่งคำขอบวชก็เปล่งตามสำเนียงชนชาติของตนๆ
ถ้าความคิดที่ว่าผู้ขอบวชเปล่งสำเนียงไตรสรณคมน์หรือคำขานนาคไม่ถูกต้องตามหลักภาษา จะทำให้ผู้บวชไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุสามเณร ชาวฝรั่ง เขมร พม่า ลาว หรือแม้กระทั่งคนไทยเองบวชเป็นพระภิกษุก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ เพราะทุกชนชาติที่กล่าวมานี้อ่านภาษาบาลีผิดเพี้ยนไม่เหมือนกัน ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ เสียงภาษาบาลีเป็นอย่างไร ต่างก็ออกสำเนียงตามภาษาของชนชาติตน ถึงอย่างนั้น ก็เป็นที่เข้าใจความหมายของคำนั้นๆ ได้ เหมือนฝรั่งพูดภาษาไทย ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนคนไทย หรือคนไทยพูดภาษาอังกฤษ ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนฝรั่ง หรือแม้แต่คนไทยตาม ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ พูดไทยอย่างภาคกลาง ก็ไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ แต่ก็เป็นที่เข้าใจในความหมายของคำนั้นๆ
ในปัจจุบันได้ตัดการให้สรณคมน์แบบสันสกฤตออก เพราะเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนั้น การให้สรณคมน์ทั้ง ๒ แบบยาวเกินความจำเป็น จึงยังคงไว้แต่การให้สรณคมน์แบบบาลีอย่างเดียว เราจะพบเห็นในการบำเพ็ญบุญในโอกาสต่างๆ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ยังมีวัดบางแห่งที่ยังคงใช้วิธีบรรพชาอุปสมบทแบบโบราณอยู่ตราบปัจจุบัน การให้ไตรสรณคมน์ก็ยังให้ทั้งแบบสันสกฤตและบาลี มิใช่เพราะกลัวว่าผู้บวชจะไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุสามเณร แต่เพื่อเป็นการรักษาตันติประเพณีแบบแผนการอุปสมบทแบบเดิมเอาไว้
เนื่องจากหากต่างคนต่างคิดที่จะตัดออกตามมติของตน ในอนาคตอาจไม่หลงเหลือร่องรอยการอุปสมบทแบบดั้งเดิมให้เห็นเลย
ประวัติข้อกำหนดอายุผู้บรรพชาเป็นสามเณร
ในสมัยพุทธกาลมีครอบครัวหนึ่งที่ภรรยาเสียชีวิตแล้ว เหลือเพียงพ่อกับลูกชายที่อายุยังน้อยอยู่ตามลำพังสองพ่อลูก พ่อหมดอาลัยในชีวิตจึงได้บวชเป็นพระภิกษุและให้ลูกชายเป็นสามเณร
เพราะความที่สามเณรอายุยังน้อย จึงได้วิ่งไปหาผู้คนและพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ร้องขออาหาร
ชาวบ้านที่พบเห็นต่างตำหนิติเตียนกิริยาของสามเณร บ้างพูดเยาะเย้ย บ้างก็พูดเย้าว่า เณรน้อยรูปนี้เห็นจะเป็นลูกภิกษุณี พระภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วเกิดความไม่สบายใจจึงได้นำความกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่พึงบวชให้เด็กชายที่มีอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปี รูปใดบวชให้ต้องอาบัติทุกกฎ”
ครั้นอยู่ต่อมา ตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์เถระ เป็นตระกูลที่มีศรัทธามาก คราวหนึ่งพ่อแม่เสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรค เหลือไว้เพียงบุตรสองคน เพราะเด็กขาดที่พึ่งด้วยไม่มีพ่อแม่ เมื่อเห็นพระภิกษุก็วิ่งเข้าไปหาด้วยความคุ้นเคย เมื่อถูกพระภิกษุตวาดไล่ก็ร้องไห้เพราะความเสียใจ พระอานนท์เถระคิดว่า เด็กทั้งสองคนนี้มีอายุไม่ถึง ๑๕ ปี จะทำอย่างไรดีจึงจะไม่เสียโอกาสในการบวช พระเถระจึงได้เข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทราบความคิดนั้น
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า อานนท์ เด็กทั้งสองนั้นสามารถไล่กาได้ไหม พระเถระกราบทูลว่า ได้พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธองค์จึงตรัสประชุมสงฆ์ แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุบวชให้เด็กชายที่มีอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปี ซึ่งสามารถไล่กาได้”
สามเณรสมาทานศีล ๑๐ ข้อ
ต่อจากการให้ไตรสรณคมน์แล้ว พระกรรมวาจาจารย์กล่าวนำให้สามเณรสมาทานสิกขาบท คือ ข้อปฏิบัติสำหรับสามเณร ๑๐ ประการ ว่าตามทีละข้อ ดังนี้
ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ คำแปลข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ข้อที่ ๒ อะทินนาทานา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ คำแปลข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการลักทรัพย์
ข้อที่ ๓ อะพรัหมะจะริยา เวระมณี//สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
ข้อที่ ๔ มุสาวาทา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการพูดเท็จ
ข้อที่ ๕ สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
ข้อที่ ๖ วิกาละโภชะนา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้วจนถึงรุ่งอรุณขึ้นมาใหม่
ข้อที่ ๗ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการร้องรำขับร้องประโคมดนตรีและดูและละเล่น
ข้อที่ ๘ มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฎฐานา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการลูบไล้ทาด้วยของหอม ประดับประดาเครื่องแต่งกาย
ข้อที่ ๙ อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่
ข้อที่ ๑๐ ชาตะรูปะระชะตะปะฎิคคะหะณา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ว่าด้วยการเว้นจากการรับเงินและทอง
พระอาจารย์นำสามเณรกล่าวคำยืนยันความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามสิกขาบทตามที่สมาทานว่า
“อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ”
สามเณรกล่าวคำยืนยันที่จะปฏิบัติตาม ดังนี้
อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ ฯ
คำแปล
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ๑๐ ประการนี้ฯลฯ
เมื่อกล่าวคำยืนยันความตั้งใจ เป็นการปฏิญาณที่จะรักษาศีล ๑๐ ประการอันจะทรงภาวะความเป็นสามเณรไว้จบ ๓ วาระแล้ว กราบ ๑ หนยืนขึ้นว่า
วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง//สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง //สาธุ/สาธุ / อนุโมทามิ ฯ
คำแปล
กระผมขอกราบไหว้ ท่านขอรับ ขอท่าน จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนาฯ
สามเณรนั่งคุกเข่า กราบ ๓ หน จบพิธีการบรรพชาเป็นสามเณรแต่เพียงเท่านี้ สำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ก็เริ่มขั้นตอนการอุปสมบทต่อไป
สามเณรราหุล
สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
สามเณรราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยราช เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธรา หรือพิมพา เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ ประสูติวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช
วันนั้น เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้สดับข่าวพระโอรสประสูติ จึงออกพระโอษฐ์ว่า
“ราหุลัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง” แปลว่า “บ่วงเกิดขึ้นแล้ว บ่วงเกิดขึ้นแล้ว เครื่องพันธนาการเกิดขึ้นแล้วแก่เรา”
ตั้งแต่นั้นมาพระราชกุมารจึงได้พระนามว่า “ราหุล” ท่านออกบรรพชาขณะมีอายุได้ ๗ ขวบ ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ และเป็นผู้ที่ทำให้เกิดข้อกำหนดในการบวชว่า ผู้ที่จะบวชต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน
ราหุลกุมารได้รับคำชี้แนะจากพระมารดา ให้ไปขอราชสมบัติจากพระพุทธเจ้า ขณะนั้นพระพุทธองค์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์จำนวนมากกำลังเสด็จออกบิณฑบาตอยู่ในพระนคร ราหุลกุมารได้ติดตามพระพุทธองค์ไปจนถึงนิโครธาราม วัดที่พระญาติสร้างถวายในโอกาสที่พระองค์เสด็จกลับพระนคร
พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าราหุลกุมารขอทรัพย์สมบัติที่เป็นโลกิยะอันเป็นของชาวโลก จะต้องประสบกับความยากลำบากไม่มีสิ้นสุด พระองค์ประสงค์ที่จะให้พระราหุลได้ทรัพย์สมบัติที่เป็นโลกุตตระ ที่เที่ยงแท้ยั่งยืน จึงมอบให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บรรพชาให้พระราหุลกุมาร
พระสารีบุตรบรรพชาให้พระราหุลกุมารด้วยวิธีติสรณคมนูปสัมปทา คือ ให้เปล่งวาจาขอถึงไตรสรณคมน์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก และได้ใช้เป็นรูปแบบการบรรพชาสามเณรมาจนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่วันที่บวช สามเณรราหุลเป็นผู้สนใจในการศึกษา เป็นผู้ว่าง่ายอยู่ง่าย ไม่ถือตนเองเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระสงฆ์เป็นอย่างมาก สามเณรราหุลลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ลงมากอบทรายเต็มกำมือ แล้วตั้งจิตอธิฐานว่า “วันนี้ขอให้เราได้ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์มากเท่าเม็ดทรายในกำมือของเรานี้”
ความเป็นผู้ไม่ถือตัวว่าง่ายอยู่ง่าย ปรากฏตามประวัติของท่านว่า ครั้งหนึ่งพระสงฆ์จากชนบทจำนวนหนึ่งมาพักที่วัดเชตวัน เพื่อเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระวินัยห้ามพระภิกษุนอนในที่เดียวกันกับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ สามเณรราหุลไม่มีที่นอน จึงต้องหลบไปนอนในห้องส้วมของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ไปพบเข้ากลางดึกจึงนำท่านกลับมาพักที่พระคันธกุฎีของพระองค์ และทรงลดหย่อนผ่อนปรนสิกขาบทข้อที่ว่า ห้ามพระภิกษุนอนในที่มุงบังเดียวกันกับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุเกินหนึ่งคืน โดยทรงขยายเวลาออกไปเป็น ๓ คืน และพระพุทธเจ้าได้ให้โอวาทแก่สามเณรราหุล ให้เห็นโทษของการพูดเท็จ โดยพระองค์ทรงนำน้ำมาเป็นตัวอย่าง
พระองค์ทรงยกภาชนะสำหรับใส่น้ำล้างพระบาทขึ้น เทน้ำลงนิดหนึ่งแล้วตรัสถามว่า “เห็นน้ำที่เราเทลงนิดหนึ่งนี้ไหม ราหุล” สามเณรราหุลกราบทูลว่า “เห็นพระเจ้าข้า”
“ราหุล คนที่พูดเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ ก็คือคนที่เทคุณความดีออกจากตนทีละนิด เหมือนเทน้ำออกจากภาชนะนี้”
ครั้นแล้วพระองค์ก็เทน้ำจนหมด แล้วตรัสถามอีกว่า “เห็นน้ำที่เราเทออกหมดนี้ไหม ราหุล”
สามเณรราหุลกราบทูลว่า “เห็นพระเจ้าข้า”
“ราหุล คนที่พูดเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ ย่อมเทคุณความดีออกหมด เหมือนน้ำที่เราเทออกหมดนี้”
เสร็จแล้วทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสว่า “ราหุล เห็นไหมภาชนะที่เราคว่ำลงนี้”
“เห็นพระเจ้าข้า” ราหุลกราบทูลพระพุทธเจ้า
“ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ ย่อมคว่ำคุณธรรมของตนออกหมด เหมือนภาชนะคว่ำนี้” เสร็จแล้วทรงหงายภาชนะเปล่าขึ้น แล้วตรัสถามว่า “ราหุล เห็นไหม ภาชนะเปล่าที่เราหงายขึ้นนี้ ไม่มีน้ำเหลือเลย” “เห็นพระเจ้าข้า” “ราหุล คนที่พูดเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีเหลืออยู่เลย ดุจภาชนะเปล่านี้”
สามเณรราหุลเป็นผู้กตัญญูรู้คุณยิ่ง ครั้งหนึ่งสามเณรทราบว่า พระมารดาที่ออกบวชเป็นนางภิกษุณีประชวรโรคลม จะสงบระงับได้ด้วยการเสวยน้ำมะม่วงผสมน้ำตาลกรวด จึงรับอาสาหามาถวาย เข้าไปแจ้งพระสารีบุตร รุ่งเช้าพระสารีบุตรเข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล โดยให้สามเณรรอที่โรงฉันแห่งหนึ่ง ก็ได้ตามความประสงค์โดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากขอ
สามเณรราหุลมีความเคารพและความกตัญญูต่อพระสารีบุตร ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์มาก นอกจากท่านจะถือมารดาพระสารีบุตรเหมือนญาติผู้ใหญ่ โดยเรียกขานโยมมารดาของพระสารีบุตรว่า โยมย่า แล้ว เมื่อทราบว่า พระสารีบุตร องค์อุปัชฌาย์อยู่ทางทิศไหน ท่านก็จะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้นด้วย
ในพรรษาที่ ๕ หลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ วันหนึ่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ประชวรหนัก ทรงปวดตลอดพระวรกาย จึงทรงระลึกถึงพระราชโอรส และพระราชนัดดา
ขณะพระบรมศาสดา นำพระนันทะ พระอานนท์ ตลอดจน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ สามเณรราหุลก็ได้ตามเสด็จด้วย พระพุทธเจ้าทรงลูบพระศิระเกล้า พระนันทะลูบพระสรีระกายข้างขวา พระอานนท์ลูบพระสรีระกายข้างซ้าย ส่วนสามเณรราหุลลูบพระปฤษฎางค์ เมื่อพระโรคาพาธทั้งปวงระงับสิ้น พระพุทธองค์จึงตรัสอนิจจาทิสังยุตต์ตลอดคืนโปรดพระพุทธบิดา จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
เมื่อสามเณรราหุลมีอายุได้ ๒๐ ปี ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพลางพิจารณาตามพลาง เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
จบพิธีบรรพชาเป็นสามเณร
การอุปสมบท
การบวชเป็นพระภิกษุ
ต่อจากนี้ไป เป็นการเริ่มขั้นตอนการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีก คือ ถึงแม้จะบวชเป็นพระภิกษุ แต่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการบรรพชาเป็นสามเณรก่อนทุกครั้ง เพราะสามเณรภูมิเป็นที่รองรับภิกษุภาวะ ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุต้องขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์ มีลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
การจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ บริขารต้องครบทุกอย่างที่เรียกว่าบริขาร ๘ จึงจะสามารถบวชได้ สามเณรรับบาตรจากบิดามารดาที่นำมาประเคนเดินด้วยเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ น้อมบาตรถวายท่าน กราบลง ๓ หน แล้วยืนขึ้นว่า
อุกาสะ วันทามิ ภันเต //สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต //มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง // สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง // สาธุ /สาธุ / อนุโมทามิฯ
อุกาสะ การุญญัง กัตะวา /นิสสะยัง เทถะ เม ภันเตฯ
คำแปล
ขอโอกาสขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ท่านขอรับ ขอท่านจงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวง ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนา ฯ
ท่านขอรับ ขอโอกาส ขอท่านจงมีความกรุณาให้นิสสัยผมด้วยขอรับ ฯ
อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ //
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ //
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ //
คำแปล
ท่านขอรับ กระผมขอนิสสัย แม้ครั้งที่สองฯ แม้ครั้งที่สาม ท่านขอรับ กระผมขอนิสสัยฯ
(ว่าต่อ) อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ //
อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ //
อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ //
คำแปล
ท่านขอรับ ขอท่านจงเป็นพระอุปัชฌาย์ของกระผมท่านขอรับ ขอท่านจงเป็นพระอุปัชฌาย์ของกระผมท่านขอรับ ขอท่านจงเป็นพระอุปัชฌาย์ของกระผมฯ
พระอุปัชฌาย์ว่า “ปฎิรูปัง” คำแปล สมควรแล้วหรือ
สามเณรว่า อุกาสะ สัมปะฏิจฉามิ คำแปล ขอโอกาส ขอรับกระผม
พระอุปัชฌาย์ว่า“โอปายิกัง” คำแปล ชอบด้วยอุบายแน่หรือ
สามเณรว่า สัมปะฏิจฉามิ คำแปล ขอรับกระผม
พระอุปัชฌาย์ว่า “ปาสาทิเกนะ สัมปาเทหิ” คำแปล เธอจงปฏิบัติตัวให้ถึงพร้อมด้วยอาการที่น่าเลื่อมใสเถิด
สามเณรว่า สัมปะฏิจฉามิ คำแปล ขอรับกระผม
แล้วสามเณรว่าต่อไปอีก ดังนี้
อัชชะตัคเคทานิ/ เถโร มัยหัง ภาโร// อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร
อัชชะตัคเคทานิ/ เถโร มัยหัง ภาโร// อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร
อัชชะตัคเคทานิ/ เถโร มัยหัง ภาโร// อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร
คำแปล
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเถระเป็นภาระของกระผม แม้กระผมเองก็เป็นภาระสำหรับพระเถระ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเถระเป็นภาระของกระผม แม้กระผมเองก็เป็นภาระสำหรับพระเถระตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเถระเป็นภาระของกระผม แม้กระผมเองก็เป็นภาระสำหรับพระเถระ
จบแล้วกราบ ๑ หน ยืนประณมมือว่า
วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง // สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง // สาธุ / สาธุ / อนุโมทามิฯ
คำแปล
ท่านขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ท่านขอรับ ขอท่านจงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนาฯ
นั่งคุกเข่า กราบ ๓ หน ขยับเข้ามาใกล้ๆ พระอุปัชฌาย์ นั่งประณมมือฟัง ท่านกล่าวสอน ตั้งชื่อเป็นภาษาบาลีให้ และบอกชื่อพระอุปัชฌาย์
ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวสอนโดยย่อให้สามเณรตั้งใจฟัง ในที่นี้จะขอนำคำกล่าวที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร กล่าวสอนในเวลาบวชนาคมาแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ดังนี้
“บัดนี้ได้ขอนิสัยแล้ว ขอนิสัยคือขออยู่ในสำนักและยินดีปฏิบัติตามหน้าที่ระหว่างกันและกัน พระอุปัชฌาย์มีหน้าที่ในการแนะนำ อบรม ตักเตือน สั่งสอน ชอบด้วยธรรมชอบด้วยวินัย สัทธิวิหาริกก็คือศิษย์นั่นเอง มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามคำแนะนำ อบรม ตักเตือน สั่งสอน ชอบด้วยธรรมชอบด้วยวินัย
เมื่อได้ยืนยันความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำ อบรม ตักเตือน สั่งสอน ชอบด้วยธรรมชอบด้วยวินัย ต่อไปพระสงฆ์จะได้ยกขึ้นเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ต้องสวดประกาศเป็นภาษาบาลี จึงขอให้ชื่อในภาษาบาลีว่า “ญาณะวะชิโร” ถ้าพระอาจารย์ทั้งสองสวดถามว่า กินนาโมสิ แปลว่า ท่านชื่ออะไร ให้เรียนตอบกับท่านว่า “อะหัง ภันเต ญาณะวะชิโร นามะ”
ถ้าพระอาจารย์ทั้งสองสวดถามต่อไปว่า “โก นามะ เต อุปัชฌาโย แปลว่า พระอุปัชฌาย์ ของท่านชื่ออะไร ให้เรียนตอบกับท่านว่า อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสะมา อุปะเสโณ นามะ ต่อไปนี้ขอให้ฟังบอกบาตรและจีวรบริขารสำหรับพระ”
จากนั้นพระอุปัชฌาย์แนะนำบริขารเครื่องใช้ให้ทราบเป็นเบื้องต้น โดยสวดเป็นภาษาบาลีว่า
ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตัพโพ / อุปัชฌัง คาหาเปตะวา / ปัตตะจีวะรัง อาจิกขิตัพพัง //
พระอุปัชฌาย์ชี้มาที่บาตร พร้อมกับบอกว่า อะยัน เต ปัตโตฯ คำแปล นี่บาตรของเธอนะ
สามเณรตอบรับว่า อามะ ภันเตฯ คำแปล ขอรับกระผม
พระอุปัชฌาย์ชี้มาที่ผ้าสังฆาฏิ พร้อมกับบอกว่า อะยัง สังฆาฏิฯ คำแปล นี่ผ้าสังฆาฏิของเธอนะ
สาเณรตอบรับว่า อามะ ภันเตฯ คำแปล ขอรับกระผม
พระอุปัชฌาย์ชี้มาที่ผ้าจีวร พร้อมกับบอกว่า อะยัง
อุตตะราสังโคฯ คำแปล นี่ผ้าจีวรของเธอนะ
สามเณรตอบรับว่า อามะ ภันเต คำแปล ขอรับกระผม
พระอุปัชฌาย์ชี้มาที่สบง พร้อมกับบอกว่า อะยัง อันตะระวาสะโก คำแปล นี่ผ้าสบงของเธอนะ
สามเณรตอบรับว่า อามะ ภันเต คำแปล ขอรับกระผม
จากนั้น พระกรรมวาจารย์และอนุสาวนาจารย์คล้องบาตรให้ สามเณรประณมมือเดินเข่าถอยหลังออกไป พอพ้นแนวพระสงฆ์แล้วยืนขึ้นหันหน้ากลับ เดินตามพระไปยืนในที่ห่างจากสงฆ์ออกไปประมาณ ๑๒ ศอก ประณมมือหันหน้ามาทางพระสงฆ์ บางแห่งจะมีอาสนะสำหรับพระคู่สวดปูไว้ด้านหน้า ให้เดินวนขวาอาสนะนั้น ไม่ให้เหยียบ เพราะเป็นอาสนะของพระกรรมวาจารย์และอนุสาวนาจารย์ (แต่บางวัดพระคู่สวดจะถืออาสนะไปเอง)
การไม่ยืน ไม่เหยียบ ไม่นั่ง ไม่นอน หรือวางสิ่งของบนอาสนะของครูบาอาจารย์ เป็นการแสดงความเคารพอีกวิธีหนึ่งของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
ต่อจากนั้น พระคู่สวดนั่งคุกเข่า หันหน้าไปทางพระประธาน กราบ ๓ หน ว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ) แล้วเริ่มสวดกรรมวาจา ดังนี้
สุณาตุ/ เม ภันเต สังโฆ// ญาณะวะชิโร/ อายัสมะโต อุปะเสณัสสะ อุปสัมปทาเปกโข// ยะทิ/ สังฆัสสะ ปัตตกัลลัง// อะหัง/ ญาณะวะชิรัง อะนุสาเสยยัง ฯ
คำแปล
ขอรับ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ท่านญาณะวะชิระ เป็นอุปสัมปทาเปกขะ[๖]ของท่านอุปเสณะ ถ้าสงฆ์มีความพร้อมเพรียงกันดีแล้ว กระผมจะพึงกล่าวสอนท่านญาณะวะชิระ
พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ลุกเดินมายืนอยู่บนอาสนะที่วางอยู่เบื้องหน้าสามเณร พร้อมสวดซักซ้อมการถามตอบอันตรายิกธรรมต่อไป
การซักซ้อมอันตรายิกธรรม
อันตรายิกธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นอันตรายต่อการบวช การซักซ้อมอันตรยิกธรรม หมายถึง การซักซ้อม สอบถามสิ่งที่เป็นข้อห้ามสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ เช่น ไม่เป็นโรคน่ารังเกียจ ไม่ทุพพลภาพจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไม่มีหนี้สินติดตัว มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เป็นต้น
การซักซ้อมอันตรายิกธรรม ต้องซักซ้อมนอกที่ประชุมสงฆ์เป็นการทำความเข้าใจระหว่างพระคู่สวดกับผู้ที่ขอบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อถูกถามท่ามกลางสงฆ์จะตอบอย่างไร เหมือนเป็นการแนะนำว่า หากมีข้อห้ามเหล่านี้แล้วบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ ซึ่งผู้ขอบวชจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ตามความเป็นจริง ท่ามกลางสงฆ์ เพราะสงฆ์ในสันนิบาตจะเป็นผู้ลงความเห็นว่า ควรจะยกขึ้นเป็นพระภิกษุได้หรือไม่
คำสวดซักซ้อมอันตรายิกธรรม
สุณาสิ ญาณะวะชิระ อะยันเต สัจจะกาโล ภูตะกาโล ยัง ชาตัง ตัง สังฆะมัชเฌ ปุจฉันเต// สันตัง อัตถีติ วัตตัพพัง//อะสันตัง นัตถีติ วัตตัพพัง// มา โข วิตถาสิ// มาโข มังกุ อะโหสิ// เอวันตัง ปุจฉิสสันติ// สันติ๊/ เต/ เอวรูปา/ อาพาธา
คำแปล
ดูก่อนญาณะวชิระ ขอท่านจงฟัง เวลานี้เป็นเวลาที่ท่านต้องกล่าวแต่ความเป็นจริง กล่าวแต่สิ่งที่มีอยู่จริง ท่ามกลางสงฆ์ สิ่งใดเป็นจริงก็พึงกล่าวว่ามี สิ่งใดไม่เป็นจริงก็จงกล่าวว่าไม่จริงอย่าได้เก้อเขินตกประหม่า…ท่านมีโรค(ข้อห้าม)ดังต่อไปนี้หรือไม่
สวดถามว่า | สวดตอบว่า | คำถาม | คำตอบ |
กุฏฐัง | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคเรื้อนหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
คัณโฑ | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคฝีหนองหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
กิลาโส | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคกลากหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
โสโส | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคผอมแห้ง,วัณโรคฯลฯ หรือไม่? | ไม่ขอรับ |
อะปะมาโร | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
มะนุสสะโสสิ๊ | อามะ ภันเต | เป็นมนุษย์หรือไม่? | ครับผม |
ภุชิสโสสิ๊ | อามะ ภันเต | ไม่ได้เป็นทาสใครใช่ไหม? | ครับผม |
อะนะโณสิ๊ | อามะ ภันเต | ไม่ได้เป็นหนี้ใช่ไหม? | ครับผม |
นะสิ๊ ราชะภะโฏ | อามะ ภันเต | ไม่ได้หนีราชการมาใช่ไหม? | ครับผม |
อนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ | อามะ ภันเต | มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ? | ครับผม |
ปริปุณณะวีสติวัสโสสิ๊ | อามะ ภันเต | อายุครบยี่สิบปีแล้วหรือ? | ครับผม |
ปริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง | อามะ ภันเต | มีบาตรจีวรครบหรือไม่? | ครับผม |
กินนาโมสิ | อะหัง ภันเต ญาณะวะชิโร[๗] นามะ | ท่านชื่ออะไร? | ท่านขอรับผมชื่อ ญาณะวะชิระ |
โก นามะ เต อุปัชฌาโย | อุปัชฌาโย เม ภันเตอายัสะมา อุปะเสโณ[๘] นามะ | พระอุปัชฌาย์ของท่านชื่ออะไร? | ท่านขอรับพระอุปัชฌาย์ของผมชื่อ อุปเสณะ |
จากนั้น สามเณรประณมมือยืนอยู่ก่อน ส่วนพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์จะกลับเข้ามาท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ และสวดกรรมวาจาต่อไป ดังนี้
คำขอเรียกอุปสัมปทาเปกขะเข้ามา
(คำกล่าวเรียกให้ผู้ขออุปสมบทเข้ามาในท่ามกลางสงฆ์)
สุณาตุ/ เม ภันเต สังโฆ// ญาณะวะชิโร/ อายัสมะโต อุปะเสณัสสะ อุปะสัมปะทาเปกโข// อะนุสิฏโฐ โส มะยา// ยะทิ/ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง// ญาณะวะชิโร / อาคัจเฉยยะ// อาคัจฉาหีติ วัตตัพโพ (อาคัจฉาหิ) ฯ
คำแปล
ท่านขอรับ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ญาณะวะชิระเป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านอุปเสณะ ถ้าสงฆ์มีความพร้อมเพรียงกันดีแล้ว ญาณะวะชิระพึงเข้ามา พึงกล่าวว่า ขอท่านจงเข้ามา ฯ
จากนั้นพระอุปัชฌาย์เรียกให้สามเณรเข้ามาสู่ท่ามกลางสงฆ์ ผู้ขออุปสมบทประณมมือเดินวนรอบอาสนะเข้ามา ถึงแนวพระสงฆ์แล้วนั่งคุกเข่าลงกราบ ๓ หน แล้วเปล่งวาจาขออุปสมบท ดังนี้
คำขออุปสมบท
สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ // อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ // อนุกัมปัง อุปาทายะ//
ทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปสัมปะทัง ยาจามิ // อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ // อนุกัมปัง อุปาทายะ//
ตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปสัมปะทัง ยาจามิ // อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ // อนุกัมปัง อุปาทายะ//
คำแปล
ท่านขอรับ กระผมขออุปสมบทกับสงฆ์ ขอสงฆ์จงอนุเคราะห์เกื้อกูลกระผม แม้ครั้งที่สอง ท่านขอรับ กระผมขออุปสมบทกับสงฆ์ ขอสงฆ์จงอนุเคราะห์เกื้อกูลกระผม แม้ครั้งที่สาม ท่านขอรับ กระผมขออุปสมบทกับสงฆ์ ขอสงฆ์จงอนุเคราะห์เกื้อกูลกระผม ฯ
กราบ ๑ หน แล้วประณมมือเดินเข่าเข้าไปท่ามกลางสงฆ์วางเข่าตรงที่พระสงฆ์บอก จากนั้น พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์สวดสมมติตนเพื่อเป็นตัวแทนสงฆ์ถามอันตรายิกธรรมดังต่อไปนี้
คำสวดเพื่อถามอันตรายิกธรรม
สุณาตุ/ เม ภันเต สังโฆ// อะยัง ญาณะวะชิโร/ อายัสมะโต
อุปะเสณัสสะ อุปะสัมปะทาเปกโข// ยะทิ/ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง//อะหัง/ ญาณะวะชิรัง/ อันตะรายิเก ธัมเม ปุจเฉยยังฯ
คำแปล
ท่านขอรับ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ญาณะวะชิระนี้ เป็นอุปะสัมปะทาเปกขะของท่านอุปเสณะ ถ้าสงฆ์มีความพร้อมเพรียงกันดีแล้ว กระผมจะพึงถามญาณะวะชิระ ฯ
เสร็จแล้วนั่งฟังพระคู่สวดถามอันตรายิกธรรมเหมือนเดิม
คำสวดถามอันตรายิกธรรม
สุณะสิ ญาณะวะชิระ อะยันเต สัจจะกาโล ภูตะกาโล ยัง ชาตัง ตัง ปุจฉามิ สันตัง อัตถีติ วัตตัพพัง//อะสันตัง นัตถีติ วัตตัพพัง// สันติ๊/ เต/ เอวรูปา/ อาพาธา
คำแปล
ดูก่อนญาณะวะชิระ ขอท่านจงฟัง เวลานี้เป็นเวลาที่ท่านต้องบอกแต่ความจริง บอกแต่สิ่งที่มีอยู่ สิ่งใดเป็นความจริงก็บอกว่า มี สิ่งใดไม่เป็นความจริงก็บอกว่า ไม่มี…ท่านมีโรค(ข้อห้าม) ดังต่อไปนี้หรือไม่
สวดถามว่า | สวดตอบว่า | คำถาม | คำตอบ |
กุฏฐัง | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคเรื้อนหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
คัณโฑ | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคฝีหนองหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
กิลาโส | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคกลากหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
โสโส | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคผอมแห้ง, วัณโรคฯลฯ หรือไม่? | ไม่ขอรับ |
อะปะมาโร | นัตถิ ภันเต | เป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่? | ไม่ขอรับ |
มะนุสสะโสสิ๊ | อามะ ภันเต | เป็นมนุษย์หรือไม่? | ครับผม |
ภุชิสโสสิ๊ | อามะ ภันเต | ไม่ได้เป็นทาสใครใช่ไหม? | ครับผม |
อะนะโณสิ๊ | อามะ ภันเต | ไม่ได้เป็นหนี้ใช่ไหม? | ครับผม |
นะสิ๊ ราชะภะโฏ | อามะ ภันเต | ไม่ได้หนีราชการมาใช่ไหม? | ครับผม |
อนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ | อามะ ภันเต | มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ? | ครับผม |
ปริปุณณะวีสติวัสโสสิ๊ | อามะ ภันเต | อายุครบยี่สิบปีแล้วหรือ? | ครับผม |
ปริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง | อามะ ภันเต | มีบาตรจีวรครบหรือไม่? | ครับผม |
กินนาโมสิ | อะหัง ภันเต ญาณะวะชิโร นามะ | ท่านชื่ออะไร? | ท่านขอรับท่านผู้เจริญผมชื่อ ญาณะวะชิโร |
โก นามะ เต อุปัชฌาโย | อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสะมา อุปะเสโณ นามะ | พระอุปัชฌาย์ของท่านชื่ออะไร? | ท่านขอรับพระอุปัชฌาย์ของผมชื่อ อุปเสโณ |
จากนั้น ฟังสวดญัตติจตุตถกรรมวาจาเพื่อยกสามเณรขึ้นเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด
การสวดญัตติเป็นการสวดเพื่อขอมติสงฆ์ว่าควรจะยกผู้ขอบวชขึ้นเป็นพระภิกษุหรือไม่ โดยมีพระกรรมวาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์เป็นผู้สวดประกาศคำปรึกษาสงฆ์ ในญัตติเกี่ยวกับการขอบวช ขณะกำลังสวดญัตติ หากมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ให้คัดค้านขึ้นท่ามกลางสงฆ์ หากไม่มีผู้คัดค้านให้ถือเอาอาการนิ่งเป็นการยอมรับญัตตินั้น
คำสวดญัตติจตุตถกัมมวาจา
สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อะยัง ญาณะวะชิโร อายัสมะโต อุปะเสณัสสะ อุปะสัมปทาเปกโข ปะริสุทโธ อันตรายิเกหิ ธัมเมหิ ปะริปุณณัสสะ ปัตตะจีวะรัง ญาณะวะชิโร สังฆัง อุปสัมปทัง ยาจติ อายัสมะตา อุปเสเณนะ อุปัชฌาเยน ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ ญาณะวะชิรัง อุปะสัมปาเทยยะ อายัสมะตา อุปะเสเณนะ อุปัชฌาเยน เอสา ญัตติ
สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อะยัง ญาณะวะชิโร อายัสมะโต อุปะเสณัสสะ อุปะสัมปทาเปกโข ปะริสุทโธ อันตรายิเกหิ ธัมเมหิ ปะริปุณณัสสะ ปัตตะจีวะรัง ญาณะวะชิโร สังฆัง อุปะสัมปทัง ยาจติ อายัสมะตา อุปะเสเณนะ อุปัชฌาเยน ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ ญาณะวะชิรัง อุปสัมปาเทติ อายัสมะตา อุปเสเณนะ อุปัชฌาเยน
ทุติยัมปิ เอตมัตถัง วะทามิ สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อะยัง ญาณะวะชิโร อายัสมะโต อุปะเสณัสสะ อุปะสัมปทาเปกโข ปะริสุทโธ อันตรายิเกหิ ธัมเมหิ ปะริปุณณัสสะ ปัตตะจีวะรัง ญาณะวะชิโร สังฆัง อุปะสัมปทัง ยาจติ อายัสมะตา อุปะเสเณนะ อุปัชฌาเยน ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ ญาณะวะชิรัง อุปสัมปาเทติ อายัสมะตา อุปเสเณนะ อุปัชฌาเยน
ตะติยัมปิ เอตะมัตถัง วะทามิ สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อะยัง ญาณะวะชิโร อายัสมะโต อุปะเสณัสสะ อุปะสัมปทาเปกโข ปะริสุทโธ อันตรายิเกหิ ธัมเมหิ ปะริปุณณัสสะ ปัตตะจีวะรัง ญาณะวะชิโร สังฆัง อุปะสัมปทัง ยาจติ อายัสมะตา อุปะเสเณนะ อุปัชฌาเยน ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ ญาณะวะชิรัง อุปสัมปาเทติ อายัสมะตา อุปเสเณนะ อุปัชฌาเยน
อุปะสัมปันโน สังเฆนะ ญาณะวะชิโร อายัสมะโต อุปะเสเณนะ อุปัชฌาเยนะ ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสมา ตุณหี เอวะเมตัง ธาระยามิ
คำแปล
ท่านขอรับ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ญาณะวะชิระนี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะ ของท่านอุปเสณะ เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นอันตรายต่อการอุปสมบท มีบาตรและจีวรครบบริบูรณ์ ญาณะวะชิระจึงขออุปสมบทกับสงฆ์ โดยมีท่านอุปเสณะเป็นพระอุปัชฌาย์ ถ้าสงฆ์มีความพร้อมเพรียงกันดีแล้ว ขอสงฆ์พึงให้ญาณะวะชิระอุปสมบท โดยมีท่านอุปเสณะเป็นพระอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านขอรับ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ญาณะวะชิระนี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะ ของท่านอุปเสณะ เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นอันตรายต่อการอุปสมบท มีบาตรและจีวรครบบริบูรณ์ ญาณะวะชิระจึงขออุปสมบทกับสงฆ์ โดยมีท่านอุปเสณะเป็นพระอุปัชฌาย์ ถ้าสงฆ์มีความพร้อมเพรียงกันดีแล้ว ขอสงฆ์พึงให้ญาณะวะชิระอุปสมบท โดยมีท่านอุปเสณะเป็นพระอุปัชฌาย์ ฯลฯ แม้ครั้งที่สองฯลฯ แม้ครั้งที่สาม ฯลฯ
ญาณะวะชิระได้อุปสมบทจากสงฆ์แล้ว โดยมีท่านอุปเสณะเป็นพระอุปัชฌาย์ สงฆ์ยอมรับ เพราะเหตุนั้น จึงเป็นผู้นิ่งข้าพเจ้า ย่อมทรงญัตติไว้ตามนั้นฯ
ภายหลังการสวดญัตติจบก็สำเร็จเป็นพระภิกษุเรียบร้อยสมบูรณ์บริบูรณ์ จากนั้นพระภิกษุผู้บวชใหม่กราบ ๓ หน นำบาตรออกตั้งไว้ด้านหน้า นั่งพับเพียบฟังพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์ ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่บอกอนุศาสน์ โดยที่ท่านมอบให้พระคู่สวดเป็นผู้บอกอนุศาสน์ พระภิกษุผู้บวชใหม่ประณมมือคลานเข่าถอยหลังออกไป พอพ้นพระสงฆ์แล้วลุกขึ้นไปยืนอยู่ที่เดิม พระคู่สวดเดินตามไปยืนบนอาสนะสวดบอกอนุศาสน์
การสวดบอกอนุศาสน์ ท่านจะบอกเป็นภาษาบาลีไว้ก่อนพระภิกษุผู้บวชใหม่ฟังสวดอนุศาสน์ไปจนจบ เมื่อกลับถึงที่พักแล้ว พระอาจารย์จะแนะนำรายละเอียดเกี่ยวกับอนุศาสน์อีกครั้ง
อนุศาสน์ทั้ง ๘ ข้อนี้ท่านจะสวดเป็นภาษาบาลี สวดจบแต่ละข้อให้พระภิกษุผู้บวชใหม่รับว่า “อามะ ภันเต”
อนุศาสน์ ๘ อย่าง
อนุศาสน์ทั้ง ๘ ข้อนี้ท่านจะสวดเป็นภาษาบาลี สวดจบแต่ละข้อให้พระภิกษุผู้บวชใหม่รับว่า “อามะ ภันเต”
คำบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง
นิสสัย ๔
(ปัจจัยเครื่องอาศัยของพระภิกษุ กิจที่ต้องปฏิบัติ)
(๑) ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ตัตถะ เต ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภ สังฆะภัตตัง อุทเทสะภัตตัง นิมันตะนัง สะลากภัตตัง ปักขิกัง อุโปสะถิกัง ปาฏิปะทิกัง ฯ (อามะ ภันเต)
(๒) ปังสุกูละจีวรัง นิสสาย ปัพพัชชา ตัตถะ เต ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภ โขมัง กัปปาสิกัง โกเสยยัง กัมพะลัง สาณัง ภังคัง ฯ (อามะ ภันเต)
(๓)รุกขะมูละเสนาสนัง นิสสาย ปัพพัชชา ตัตถะ เต ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภ วิหาโร อัฑฒะโยโค ปาสาโท หัมมิยัง คุหา ฯ (อามะ ภันเต)
(๔) ปูติมุตตะเภสัชชัง นิสสายะ ปัพพัชชา ตัตถะ เต ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภ สัปปิ นะวะนีตัง เตลัง มะธุ ผาณิตนังฯ (อามะ ภันเต)
อกรณียกิจ ๔
(กิจที่พระภิกษุปฏิบัติไม่ได้โดยเด็ดขาด)
(๑) อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา เมถุโน ธัมโม นะ ปะฏิเสวิตัพโพ อันตะมะโส ติรัจฉานะคะตายะปิฯ โย ภิกขุ เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสวะติ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ เสยยะถาปิ นามะ ปุริโส สีสัจฉินโน อะภัพโพ เตนะ สะรีระพันธะเนนะ ชีวิตุ เอวะเมวะ ภิกขุ เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสวิตะวา อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโยฯ ตันเต ยาวะชีวัง อะกะระณียังฯ (อามะ ภันเต)
(๒) อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง นะ อาทาตัพพัง อันตะมะโส ติณะสะลากัง อุปาทายะ ฯ โย ภิกขุ ปาทัง วา ปาทาระหัง วา อะติเรกะปาทัง วา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิยะติ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ เสยยะถาปิ นามะ ปัณฑุปะลาโส พันธะนา ปะมุตโต อะภัพโพ หริตัตตายะ เอวะเมวะ ภิกขุ ปาทัง วา ปาทาระหัง วา อะติเรกะปาทัง วา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิยิตวา อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโยฯ ตันเตยาวะชีวัง อะกะระณียัง ฯ (อามะ ภันเต)
(๓)อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา สัญจิจจะ ปาโณ ชีวิตา นะ โวโรเปตัพโพ อันตะมะโส กุนถะกิปิลลิกัง อุปาทายะฯ โย ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปติ อันตะมะโส คัพภะปาตะนัง อุปาทายะ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ เสยยะถาปิ นามะ ปุถุสิลา เทวธา ภินนา อัปปะฏิสันธิกา โหติ เอวะเมวะ ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปตวา อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ ตันเต ยาวะชีวัง อะกะระณียัง ฯ (อามะ ภันเต)
(๔)อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา อุตตะริมะนุสสะธัมโม นะ อุลละปิตัพโพ อันตะมะโส สุญญาคาเร อะภิระมามีติฯ โย ภิกขุ ปาปิจโฉ อิจฉาปะกะโต อะสันตัง อะภูตัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อุลละปะติ ฌานัง วา วิโมกขัง วา สะมาธิง วา สะมาปัตติง วา มัคคัง วา ผะลัง วา อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ เสยยะถาปิ นามะ ตาโล มัตถะกัจฉินโน อะภัพโพ ปุนะ วิรุฬหิยา เอวะเมวะ ภิกขุ ปาปิจโฉ อิจฉาปะกะโต อะสันตัง อะภูตัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อุลละปิตะวา อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโยฯ ตันเต ยาวะชีวัง อะกะระณียัง ฯ(อามะ ภันเต)
คำแปล นิสสัย ๔
(เที่ยวบิณฑบาต)
(๑)บรรพชาอาศัยโภชนะ คือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตรถวายสงฆ์ ภัตรเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตรถวายตามสลาก ภัตรถวายในปักษ์ ภัตรถวายในวันอุโบสถ ภัตรถวายในวันปาฏิบท (วันขึ้นคํ่าหนึ่ง หรือแรมคํ่าหนึ่ง) (รับว่า “ขอรับกระผม”)
(นุ่งห่มผ้าบังสุกุล)
(๒) บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน (เช่น ผ้าด้ายแกมไหม) (รับว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ครับผม”)
(อยู่โคนต้นไม้)
(๓)บรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ (รับว่า “ขอรับกระผม”)
(ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า)
(๔) บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (รับว่า “ขอรับกระผม”)
คำแปล อกรณียกิจ ๔
(ห้ามเสพเมถุน หรือ มีเพศสัมพันธ์)
(๑) ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจจะมีสรีระคุ้มกันนั้นเป็นอยู่ ภิกษุก็เหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต (รับว่า “ขอรับกระผม”)
(ห้ามลักโขมย)
(๒) ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย โดยที่สุดหมายเอาถึงเส้นหญ้า ภิกษุใดถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้วไม่อาจจะเป็นของเขียวสด ภิกษุก็เหมือนกัน ถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต (รับว่า “ขอรับกระผม”)
(ห้ามฆ่ามนุษย์)
๓. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงมดดำมดแดง ภิกษุใดแกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงยังครรภ์ให้ตก ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้ว เป็นของกลับต่อกันไม่ได้ ภิกษุก็เหมือนกัน แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต (รับว่า “ขอรับกระผม”)
(ห้ามพูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน)
(๔) ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยที่สุดว่า เรายินดียิ่งในเรือนว่างเปล่า ภิกษุใดมีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่จริง คือฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาลมียอดด้วนแล้ว ไม่อาจจะงอกอีก ภิกษุก็เหมือนกัน มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสาย พระศากยบุตร การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต (รับว่า “ขอรับกระผม”)
จากนั้นพระภิกษุผู้บวชใหม่เดินตามพระคู่สวดเข้าท่ามกลางสงฆ์ ถวายเครื่องสักการะ และกรวดน้ำรับพรสืบต่อไป
ความเข้าใจเรื่องอนุศาสน์
คำสอนเบื้องต้นสำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่
อนุศาสน์ คือ คำสอนเบื้องต้นที่พระอุปัชฌาย์สอนพระภิกษุผู้บวชใหม่มี ๘ ข้อ แบ่งเป็นกิจวัตรที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตแบบพระภิกษุ เรียกว่า นิสัย ๔ และกิจที่พระภิกษุทำไม่ได้ เรียกว่า อกรณียกิจ ๔ ซึ่งมีข้อควรทำความเข้าใจ ดังนี้
บิณฑบาต เมื่อบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ เนื่องจากพระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่มีอาชีพอื่น เช่น ไม่มีอาชีพทำนา ทำไร่ ค้าขาย เป็นต้น แต่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขออาหารจากชาวบ้าน
ความหมายของคำว่า ภิกษุ นัยหนึ่งแปลว่าผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร อีกนัยหนึ่งแปลว่า ผู้ขอ โดยกิริยามิใช่โดยการออกปาก การบิณฑบาตเป็นการขอโดยอาการที่รู้กันของชาวบ้านเท่านั้นไม่ใช่การเอ่ยปากขอ หรือทำเลศให้รู้เป็นนัย ก้าวย่างบิณฑบาตยามรุ่งอรุณเป็นสิ่งที่งดงาม เป็นการเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์สำหรับพระภิกษุ ตามวิถีทางแห่งนักบวชในทางพระพุทธศาสนา
ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าที่พระภิกษุเก็บเศษผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยซึ่งตกอยู่ตามพื้นดิน เปื้อนฝุ่นไม่สะอาด ไม่สวยไม่งาม โดยที่สุดแม้ผ้าที่เขาใช้ห่อศพ ตกอยู่ตามป่าช้า พระภิกษุเก็บมาเย็บปะต่อกันเป็นผืน ซัก เย็บ ย้อมใช้เป็นจีวรสำหรับนุ่งห่ม ปัจจุบันแม้พระภิกษุจะใช้ผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวาย แต่ก็รวมเข้าในผ้าบังสุกุล เพราะเป็นผ้าที่ถูกตัดให้เป็นท่อนเล็กท่อนน้อย มีข้อกำหนดและวิธีการใช้ที่ระบุไว้ในพระวินัย
การอยู่โคนต้นไม้ ชีวิตพระภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องสละบ้านเรือน ออกบวชเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน จึงต้องอาศัยอยู่ตามร่มไม้ ป่าเขา เงื้อมผา เถื่อนถ้ำ ภายหลังมีผู้เลื่อมใสสร้างวัดถวาย ปัจจุบันจึงมีวัดวาอารามเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุ
ยารักษาโรค เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างพระภิกษุ ธรรมดาสังขารร่างกายเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การจะไม่มีโรคนั้นเป็นไม่มี พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้พระภิกษุฉันสมอและมะขามป้อมดองด้วยน้ำปัสสาวะเป็นยาได้ตลอดเวลา เรียกว่ายาดองด้วยน้ำมูตร เพื่อจะได้เป็นผู้มีโรคน้อย และมีกำลังในการบำเพ็ญกิจสงฆ์ ในปัจจุบัน นอกจากยาสมุนไพรแล้ว ยาแผนปัจจุบันก็เข้ามาแทนที่
นิสัย ๔ ข้างต้นเป็นกิจวัตรที่ต้องปฏิบัติเพราะเป็นวิธีการดำรงชีวิตแบบพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ส่วนกิจที่พระภิกษุทำไม่ได้ เรียกว่า อกรณียกิจ มี ๔ ข้อ ดังนี้
พระภิกษุมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เปรียบเหมือนคนถูกตัดศรีษะแม้จะนำศีรษะมาต่อเข้ากับร่างก็ไม่อาจมีชีวิตฟื้นขึ้นมาได้
พระภิกษุลักทรัพย์มีราคาตั้งแต่ ๕ มาสก[๙]ขึ้นไป มีค่าเท่ากับ ๑ บาท ปัจจุบันตีค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก ต้องอาบัติปาราชิก มีจิตคิดจะลักเอื้อมมือไปแตะเป็นอาบัติทุกกฎ หากของนั้นไหวแต่ยังไม่เคลื่อนออกจากที่ตั้ง เป็นอาบัติถุลลัจจัย หากเคลื่อนออกจากที่เป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เปรียบเหมือนใบไม้แก่เหลืองหลุดจากขั้วไม่อาจมีความเขียวสดได้อีก
พระภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า หรือทำอาวุธให้เขาด้วยเจตนาจะให้เขาฆ่าตัวตาย หรือบังคับให้เขากินยาพิษ หรือกล่าวพรรณนาคุณของความตายเพื่อให้เขาฆ่าตัวตาย ทำคาถาอาคมฆ่าด้วยคุณไสย โดยที่สุดแม้การทำแท้งและแนะนำวิธีการฆ่าด้วยอุบายต่าง ๆ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ
การพูดอวดคุณวิเศษ หมายถึง คุณวิเศษที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิวิปัสสนาจนได้บรรลุคุณวิเศษทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฌาน ๔ คือ (๑)ปฐมฌาน (๒)ทุติยฌาน (๓) ตติยฌาน (๔)จตุตถฌาน, วิชชา ๓ คือ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดการเกิดการตายของสรรพสัตว์ (๓) อาสวักขยญาณ ญาณที่รู้การทำลายกิเลส เป็นต้น ที่ตนเองไม่มี ไม่ได้บรรลุ เพื่อต้องการให้ผู้อื่นนับถือศรัทธา ยกย่องเชิดชู โดยหวังลาภสักการะชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออื่นใดก็ตาม พระภิกษุอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนขาดจากความเป็นพระภิกษุ
พระพุทธองค์ทรงห้ามภิกษุอวดคุณวิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุใช้คุณธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งอวดอ้าง อันจะเป็นเหตุให้ภิกษุหลอกลวงชาวบ้านเลี้ยงชีพ
การบอกอนุศาสน์ พระอุปัชฌาย์จะบอกพระภิกษุใหม่ทันทีภายหลังจากบวชเสร็จสิ้นลงแล้ว เพื่อสอนให้รู้ถึงการดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุ และการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทรงภาวะความเป็นสมณะศากยบุตร
การอธิษฐานจิตกรวดน้ำแผ่กุศล
การกรวดน้ำรับพร เมื่อประธานสงฆ์สวด ยะถาฯลฯ ให้เริ่มรินน้ำ พร้อมกับนึกแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล พอพระสวดขึ้นพร้อมกันหมดทุกรูปให้รินน้ำลงให้หมด เสร็จแล้วประณมมือฟังพระสวดไปจนจบ
ในการกรวดน้ำ ควรประคองที่กรวดน้ำด้วยมือทั้งสอง ไม่ควรใช้นิ้วรองน้ำ ควรปล่อยให้น้ำไหลลงตามธรรมชาติ ให้ตั้งใจแผ่ส่วนบุญกุศล โดยนึกถึงบรรพบุรุษทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายบิดามารดา ปู่ย่าตายายตลอดจนหมู่ญาติเรื่อยมาโดยลำดับจนถึงมารดาบิดา แม้ยังมีชีวิตอยู่ก็ให้ท่านได้รับอานิสงส์แห่งการบวช และขอให้ท่านได้มีความสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง นึกถึงครูบาอาจารย์ทั้งในชาตินี้และในอดีตชาติ
นึกถึงเทวาอารักษ์พระภูมิเจ้าที่ทั้งหลาย แม้มองไม่เห็นตัวก็ขอให้ได้รับบุญกุศลด้วย
นึกถึงผู้มีเวรทั้งหลาย ทั้งที่เราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับเขาไว้ และที่เขาเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับเราไว้ แผ่กว้างออกไปตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้มีส่วนในอานิสงส์แห่งการบรรพชาอุปสมบทของเราเสมอกันถ้วนทุกคน
บางแห่งอาจไม่มีน้ำให้กรวด ให้ผู้บวชตั้งจิตอธิษฐานแผ่บุญกุศลกว้างออกไปดังกล่าว
จบพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
คำขอบวชแบบเอสาหัง
(แบบใหม่ที่ใช้ในคณะสงฆ์ธรรมยุติ)
ขั้นตอนและบทที่ต้องท่องจำใช้ในพิธีบวชแบบธรรมยุติ ผู้มุ่งอุปสมบท รับผ้าไตรอุ้ม ประณมมือแล้วเดินเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ (สังฆสันนิบาต) วางผ้าไตรไว้ข้างตัวด้านซ้าย รับเครื่องสักการะถวายพระอุปัชฌาย์ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่า อุ้มผ้าไตรประณมมือเปล่งวาจาขอบรรพชา ดังนี้
คำขอสรณะและบรรพชา
เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ ละเภยยาหัง ภันเต ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง[๑๐]
ทุติยัมปาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ ละเภยยาหัง ภันเต ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง
ตะติยัมปาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ ละเภยยาหัง ภันเต ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง
อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต อะนุกัมปัง อุปาทายะ
พระอุปัชฌาย์รับเอาผ้าไตรจากผู้บวชวางไว้ตรงหน้าตัก ให้โอวาท และบอก ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน ให้ว่าตามไปทีละบท โดยอนุโลม (ไปข้างหน้า) และปฏิโลม (ทวนกลับ) ดังนี้
เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ (อนุโลม)
ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา (ปฏิโลม)
พระอุปัชฌาย์สวมอังสะให้ผู้บวช พระอาจารย์นำออกไปครองผ้า เสร็จแล้วเข้าไปหาพระอาจารย์ ถวายเครื่องสักการะแล้วกราบ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่าเปล่งวาจาขอสรณะและศีล ดังนี้
คำขอศีล
อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
จากนี้ให้ผู้บวชว่าตามพระอาจารย์ไปตามลำดับ เริ่มจากคำนมัสการ เป็นต้นไป ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
พระอาจารย์กล่าวว่า เอวัง วะเทหิ หรือ ยะมะหัง วะทามิ ตังวะเทหิ ให้รับว่า อามะ ภันเต
พระอาจารย์นำเปล่งวาจาถึงสรณคมน์ ให้ว่าตามไปตามลำดับ ดังนี้
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
พอจบแล้วทางพระอาจารย์ว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง ให้รับว่า อามะ ภันเต
การบรรพชาเป็นสามเณรสำเร็จด้วยสรณคมน์เพียงเท่านี้ ต่อจากนั้น สามเณรต้องรักษาศีล หรือสิกขาบท ๑๐ ประการ โดยสมาทานจากพระอาจารย์ ดังนี้
ปาณาติปาตา เวรมณี
อะทินนาทานา เวรมณี
อะพรัหมจริยา เวรมณี
มุสาวาทา เวรมณี
สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี
วิกาละโภชนา เวรมณี
นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสนา เวรมณี
มาลาคันธะวิเลปะนะธารณะมัณฑนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี
อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวรมณี
ชาตะรูปะ ระชะตะ ปฏิคคหณา เวรมณี
อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สมาทิยามิ กล่าว ๓ ครั้ง
จากนั้นสามเณรรับบาตร อุ้มเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ในท่ามกลางสังฆสันนิบาต วางไว้ข้างตัวด้านซ้าย ถวายเครื่องสักการะแล้วกราบ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวขอนิสัยดังนี้
คำขอนิสัย
อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ (ว่า ๓ ครั้ง)
พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า โอปายิกัง ปะฏิรูปัง ปาสาทิเกนะ สัมปาเทหิ ให้รับว่า สาธุ ภันเต ทุกครั้งไป
อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร ( ว่า ๓ ครั้ง) เสร็จแล้วกราบลง ๓ ครั้ง
พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์คล้องบาตรให้ผู้บวช บอกบาตรและจีวร ผู้บวชรับว่า อามะ ภันเต ๔ ครั้งดังนี้
อะยันเต ปัตโต (รับว่า) อามะ ภันเต
อะยัง สังฆาฏิ (รับว่า) อามะ ภันเต
อะยัง อุตตะราสังโค (รับว่า) อามะ ภันเต
อะยัง อันตะระวาสะโก (รับว่า) อามะ ภันเต
จากนั้นพระอุปัชฌาย์จะบอกให้ออกไปยืน ณ ที่ซึ่งกำหนดไว้ ด้วยคำว่า คัจฉะ อะมุมหิ โอกาเส ติฏฐาหิ ผู้บวชถอยออกไปยืนอยู่ในที่ที่กำหนดไว้
ต่อจากนี้พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์สวดถามอันตรายิกธรรม ให้รับ นัตถิ ภันเต ๕ ครั้ง และต่อด้วย อามะ ภันเต อีก ๘ ครั้ง ดังนี้
ถามว่า | ตอบว่า |
กุฏฐัง | นัตถิ ภันเต |
คัณโฑ | นัตถิ ภันเต |
กิลาโส | นัตถิ ภันเต |
โสโส | นัตถิ ภันเต |
อะปะมาโร | นัตถิ ภันเต |
มะนุสสะโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ภุชิสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
อะนะโณสิ๊ | อามะ ภันเต |
นะสิ๊ ราชะภะโฏ | อามะ ภันเต |
อนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณะวีสติวัสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง | อามะ ภันเต |
กินนาโมสิ | อะหัง ภันเต….นามะ[๑๑] |
โก นามะ เต อุปัชฌาโย | อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสะมา…… นามะ[๑๒] |
จากนั้น กลับเข้ามาท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ กราบพระอุปัชฌาย์ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่าประณมมือเปล่งวาจาขออุปสมบท
คำขออุปสมบท
สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง[๑๓] ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ ฯ
พระอุปัชฌาย์เผดียงสงฆ์ จบแล้วพระสงฆ์สาธุพร้อมกัน ต่อจากนั้น พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์สวดสมมติตนเพื่อสอบถามอันตรายิกธรรม ผู้บวชรับว่า นัตถิ ภันเต ๕ ครั้ง และ อามะ ภันเต ๘ ครั้ง บอกฉายาของตัวเอง และฉายาพระอุปัชฌาย์ ท่ามกลางสังฆสันนิบาตอีกครั้ง ดังนี้
ถามว่า | ตอบว่า |
กุฏฐัง | นัตถิ ภันเต |
คัณโฑ | นัตถิ ภันเต |
กิลาโส | นัตถิ ภันเต |
โสโส | นัตถิ ภันเต |
อะปะมาโร | นัตถิ ภันเต |
มะนุสสะโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ภุชิสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
อะนะโณสิ๊ | อามะ ภันเต |
นะสิ๊ ราชะภะโฏ | อามะ ภันเต |
อนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณะวีสติวัสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง | อามะ ภันเต |
กินนาโมสิ | อะหัง ภันเต….นามะ |
โก นามะ เต อุปัชฌาโย | อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสะมา…… นามะ |
เสร็จแล้วให้นั่งฟังพระสวดกรรมวาจาอุปสมบทไปจนจบ จากนั้น พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์นำเอาบาตรออกจากตัว กราบลง ๓ ครั้ง นั่งพับเพียบฟังพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์ไปจนจบ เมื่อจบแล้วให้กล่าวรับว่า อามะ ภันเต เสร็จพิธีกราบ ๓ ครั้ง ถ้ามีเครื่องไทยทานก็ให้รับไทยทานถวายพระอันดับ พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
[๑] บังหวนควัน คือ การพ่นควันออกมา แสดงอาการว่าโกรธ
[๒] อิทธาภิสังขาร คือ การบันดาลด้วยฤทธิ์
[๓] มหิทธานุภาพ คือ มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่
[๔] อนุปสัมบัน หมายถึง ผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ
[๕] การทำประทักษิณ คือ การเดินเวียนขวา หมายถึง ขวามือพระประธาน ไม่ใช่ขวามือของนาค เป็นการแสดงความเคารพตามประเพณีโบราณ
[๖] อุปสัมปทาเปกขะ แปลว่า ผู้มุ่งอุปสมบท หรือ ผู้ขออุปสมบท เป็นคำเรียกกุลบุตรผู้ขอบวชเป็นพระภิกษุ ในหนังสือเล่มนี้ขอใช้คำว่า “ผู้ขอบวช” แทน คำว่า “อุปสัมปทาเปกขะ” เพื่อจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ปัพพัชชาเปกขะ แปลว่า ผู้มุ่งบรรพชา หรือ ผู้ขอบรรพชา เป็นคำเรียกกุลบุตรผู้ขอบวชเป็นสามเณร
[๗] นามฉายา (ชื่อภาษาบาลี) นี้ แล้วแต่พระอุปัชฌาย์จะตั้งให้ แต่บางท้องถิ่นที่พระสงฆ์ไม่ชำนาญภาษาบาลี นิยมสมมติตั้งฉายาผู้ขอบวชว่า “นาโค” เหมือนกันหมด เพื่อให้ง่ายต่อการสวดญัตติ
[๘] ฉายาพระอุปัชฌาย์เปลี่ยนไปตามแต่ว่าองค์ไหนเป็นพระอุปัชฌาย์ บางท้องถิ่นที่พระสงฆ์ไม่ชำนาญในภาษาบาลี นิยมสมมติตั้งฉายาพระอุปัชฌาย์ว่า “ติสโส” ตามนามฉายาพระสารีบุตร เพื่อให้ง่ายต่อการสวดญัตติ
[๙] ๕ มาสก เป็น ๑ บาท ตามมาตราวัดสมัยพุทธกาล ปัจจุบันตีค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก
[๑๐] ถ้าบวชเป็นสามเณรให้ตัดคำว่า ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง ออก
[๑๑] นามฉายาผู้ขอบวช
[๑๒] นามฉายาพระอุปัชฌาย์
[๑๓] ถ้ากล่าวพร้อมกันให้เปลี่ยนคำว่า ยาจามิ เป็น ยาจามะ และเปลี่ยน มัง เป็น โน