การศึกษาพระไตรปิฎก เพื่อนำเข้าสู่ภาคการปฏิบัติจนสามารถนำตนเองออกจากกองทุกข์ได้ มีความหลากหลายเส้นทางประดุจการขึ้นภูเขานั้นมีหลายวิธี แต่เมื่อถึงยอดเขามองไปรอบทิศจึงรู้ว่า ไม่ใช่มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะนำเราไปสํูจุดหมาย และผลจากการถึงจุดหมายปลายทาง…ทางธรรมนั้น ก็ไม่เหมือนทางโลก
ในทางโลกอาจจะมีทุกอย่างที่ต้องการ
แต่ทางธรรมกำลังบอกเราว่า แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องจากไป เราก็จะไม่ทุกข์กับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาและก็ผ่านไป แม้แต่ตัวเราก็ต้องจากโลกนี้ไปในวันหนึ่งเช่นกัน
มากไปกว่านั้น…
ทางธรรมยังบอกวิธีออกจากโลก และไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกอีก
ทั้งหมดนี้ การกลับมาของ “มโนปณิธาน” พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ก็กำลังทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อบอกเล่าหนทางของพระภิกษุสุปฏิปันโนรูปหนึ่ง ผู้ไม่เพียงที่จะเดินทางไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ตามรอยพระพุทธเจ้าและบุรพาจารย์เพียงลำพัง หากท่านยังหาหนทางในการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย
๒๔. ขุดเพชรจาก“พระไตรปิฎก”
จากเปลือกถึงแก่น
สู่มรกดธรรม “คัมภีร์พระวิทยากร”
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
“พระพุทธศาสนาในเมืองไทยเหมือนต้นไม้ที่มีลำต้นมาจากรากเดียวกัน คือ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแตกออกเป็น ๒ กิ่งใหญ่ คือ เถรวาท (คณะสงฆ์ไทย) และ มหายาน แล้วกิ่งเถรวาทก็แตกออกเป็นก้านธรรมยุต และมหานิกาย ส่วนก้านมหายาน ก็แตกออกเป็น จีนนิกายและ อนัมนิกาย(ญวนหรือเวียดนาม) แล้วก็งอกออกเป็นใบให้ร่มเงาได้ร่มเย็น ซึ่งก็คือ พิธีกรรมทางศาสนาตามจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของนิกายที่นับถือ
“เราจึงเห็นพระสวดศพแบบไทย แบบจีน แบบญวน ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกอะไร ขึ้นอยู่กับว่าเราไปงานศพของใคร ใช้พระไทย พระจีน หรือพระญวนสวด แม้ในพิธีกรรมอื่นๆ ก็เช่นกัน ขึ้นบ้านใหม่พระไทยอาจเจิม ส่วนพระจีน พระญวนอาจแปะยันตร์ ก็ไม่ได้แปลกในสังคมไทยในอดีต” พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
วันนี้วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ วันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ผู้เขียนย้อนกลับไปอ่านที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เขียนเล่าไว้ในคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน ตอน “การเดินทางของเมล็ดโพธิ์” หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจพระพุทธศาสนาในเมืองไทยที่รอบด้านมากขึ้น จากเปลือกแห่งพิธีกรรมที่ห่อหุ้มแก่นธรรมไว้อย่างดีโดยที่อาจไม่ค่อยมีคนสังเกตเห็น แต่ท่านอาจารย์เจ้าคุณมองเห็น ท่านว่า เปลือกไม่เพียงทำหน้าที่รักษาแก่นเท่านั้น หากเปลือกยังมีคุณสมบัติแห่งแก่นปรากฏอยู่ด้วย หากเรามองเห็นดังนี้ ก็จะพบว่า การปฏิบัติวิปัสสนาก็เช่นกัน ถ้าเราไม่มีกาย เราก็ไม่อาจฝึกจิตได้ การจะฝึกจิตให้เห็นแจ้งในความจริงว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ต้องอาศัยกายเป็นที่อยู่ในการศึกษาจิต จนกว่าจะรู้แจ้งแก่ใจเอง
ท่านอาจารย์เจ้าคุณยังกล่าวต่อมาอีกว่า ในเมืองไทยเราถือพิธีกรรมในการรักษาแก่นกันมาอย่างนี้ช้านาน เกือบจะเป็นลักษณะพิเศษของชาวพุทธเมืองไทย ใครทุกข์ร้อนสิ่งใด ก็ใช้พระศาสนาทั้งในแง่ของคำสอนและพิธีกรรมแก้ทุกข์ด้วยวิธีที่เหมาะแก่อัธยาศัย และจริตของตน ก็พอผ่อนคลายทุกข์ในจิตไปได้ในที่สุด
ทำให้ผู้เขียนย้อนไปอ่านบทความที่เคยเขียนไว้ เรื่อง ขุดเพชรจาก “พระไตรปิฎก” ถอดรหัสบูรพาจารย์ สู่ มรกดธรรม “คัมภีร์พระวิทยากร” จากคอลัมน์ วิปัสสนาบนหน้าข่าว หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ หลังจากการฝึกอบรม “พระวิทยากรกระบวนธรรม” รุ่นที่ ๒ จบลงระหว่างวันที่ ๑๘-๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งใช้เวลาอบรมทั้งสิ้น ๘ วัน ณ เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ
พระมหาดร.ขวัญชัย กิตฺติเมธี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนาพระมหากษัตริย์ ในครั้งนั้น ได้สรุปบทเรียนไว้อย่างน่าสนใจว่า มีงานหนังสือมากมายในโลกใบนี้ ทั้งหมดล้วนเขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าส่งทอดความคิดจากรุ่นสู่รุ่น และแต่ละความคิดนั้นยังได้ต่อเติมและส่งต่อจิตวิญญาณของผู้เขียนไปพร้อมกันด้วย
“ถ้าจะกล่าวถึงคัมภีร์สำคัญในด้านการพระพุทธศาสนาก็คือ “พระไตรปิฎก” ทั้งเนื้อหาและภาษาสอนเรื่องทุกข์และความดับทุกข์เป็นสำคัญ แต่การอ่านและศึกษาคัมภีร์นี้จำเป็นต้องอาศัยการตีความแบบผู้มีศรัทธาบ้าง แบบผู้มีปัญญาบ้าง หากเมื่อใดที่ผู้ศึกษาพบทางพ้นทุกข์ นั่นจึงจะถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการศึกษาอย่างแท้จริง แต่หากยังไม่พ้นทุกข์ ผู้ศึกษาก็อาจได้รับผลของการตีความคำสอนนั้นแตกต่างกันไป ไม่มากก็น้อย”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในครั้งนั้น พัฒนาหลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรมขึ้นมาจากการถอดรหัสหลักธรรมจากพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกออกมาให้เข้าใจง่ายในการปฏิบัติจิตตภาวนา ผสานกับบทเรียนการเผยแผ่ธรรมของสี่บูรพาจารย์ที่เป็น “ต้นแบบ ต้นธรรม” คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) , พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) , หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) และ พระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
คัมภีร์พระวิทยากร “หลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม” จึงเกิดขึ้น จากการปรารภของพระราชกิจจาภรณ์ เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในครั้งนั้น ซึ่งได้ถ่ายทอดให้กับพระวิทยากรรุ่นแรกๆ นำโดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย ,พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป, พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม และ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท พระวิทยากรผู้ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งด้านอบรมและบรรยายธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ เยาวชน และประชาชน ในนามกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ – พ.ศ.๒๕๖๐ โดยมีหลักการสร้างพระวิทยากรจากจิตวิญญาณ รุ่นต่อรุ่น ใจต่อใจว่า
“…ถ้าผมอยากจะสร้างพระวิทยากรผู้เสียสละอย่างพวกท่านขึ้นมาอีกเป็นคนที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ผมจะต้องทำอย่างไร พวกท่านลองเขียนและสร้างให้ผมสักหน่อย เพราะผมไม่มีความสามารถแบบนี้ แต่ผมมีจิตวิญญาณที่จะสร้างให้มีพระแบบพวกท่านที่มีจิตวิญญาณนักเสียสละแบบนี้ให้มากขึ้น เพราะพระพุทธศาสนาจำเป็นต้องอาศัยการเผยแผ่ที่เสียสละเพื่อต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาให้ยาวนานที่สุด”
พระมหาดร.ขวัญชัย อธิบายว่า เมื่อได้รับหลักการมาเช่นนี้ ก็ตระหนักในสิ่งนี้ว่าดี การค้นหาความจริงในชีวิตย่อมจะมีการเข้าใจผิดและถูกตามประสบการณ์จึงจำต้องอาศัยกัลยาณมิตรคอยชี้นำทางอยู่เสมอๆ และมีความจำเป็นต้องอาศัยการบอกต่อประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น
“แม้สิ่งที่สอนนั้นยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดแห่งความทุกข์อย่างแท้จริง แต่ก็ถือเป็นการเรียนรู้แบบพี่สอนน้อง เพื่อให้น้องได้เรียนรู้ความผิดพลาด ความสำเร็จบนหนทางที่พี่ได้เคยเดินเคยผ่านมาแล้ว ควรได้ส่งมอบเป็น มรดกธรรม ทั้งแง่ความรู้และจิตวิญญาณที่พี่มีให้น้องได้นำไปต่อเติมเสริมจากนี้ไปไม่สิ้นสุด”
หลังจากที่พระมหาดร.ขวัญชัย ได้ฟังความคิด อุดมการณ์ของอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ แล้วท่านกับทางทีมงานจึงได้ร่างหลักสูตรโดยได้นำแนวทางการจัดโครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการพระวิทยากรกระบวนการพัฒนางานกระบวนธรรม เป็นต้น ซึ่งริเริ่มโดยพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท มาปรับปรุงเนื้อหาให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการอบรมพระวิทยากรกระบวนธรรม” แล้วเริ่มทำการอบรมในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ที่วัดสามพระยา จ.กรุงเทพมหานคร ใช้เวลาทั้งสิ้น ๑๒ วัน
“ตลอดระยะเวลาการอบรม มีทีมงานอีกชุดช่วยทำวิจัยและประเมินผลของหลักสูตรดังกล่าว จนได้พบจุดอ่อนและจุดแข็งในการอบรม เป็นที่มาของการเขียนหลังสูตรแบบสมบูรณ์ขึ้นจนเสร็จในปลายปี พ.ศ.๒๕๕๙ และได้นำมาใช้อบรมในโครงการอบรมพระวิทยากรกระบวนธรรม รุ่น ๒ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ใช้เวลาอบรมทั้งสิ้น ๘ วัน ณ เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ
“คัมภีร์พระวิทยากร หลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม ได้ถูกส่งมอบให้ผู้เข้าอบรมจึงไม่ใช่แค่หนังสือที่มีตัวหนังสือให้อ่านแล้วได้ความรู้เท่านั้น แต่กลับเป็นตัวหนังสือที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของพระวิทยากรที่เสียสละ ทุ่มเท ชัดเจน และใส่ใจกับทุกภาระงานที่รับผิดชอบ และตอนนี้ได้ถูกส่งต่อจิตวิญญาณไปสู่รุ่นน้อง และจะส่งต่อกันไปไม่สิ้นสุด นั่นคือจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาที่จะสืบต่อกันไปไม่จบสิ้น
และนี่คืออีกหนึ่ง “มโนปณิธาน” ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ที่ได้พัฒนาสู่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในทุกๆ ด้านจนเกิดภาคการปฏิบัติธรรมในรูปแบบของการจัดค่ายมากมายที่ทันสมัยตอบโจทย์คนทุกข์ในยุคไร้พรมแดน ซึ่งไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ แต่ประเมินได้จากจิตใจของผู้ที่ผ่านการอบรม ซึ่งล้วนแต่กลับไปสร้างสรรค์ครอบครัวและสังคมให้สงบสุข สันติมาจนถึงทุกวันนี้ จะเรียกได้ว่า คัมภีร์พระวิทยากรกระบวนธรรมที่สนับสนุนโดยสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามมติมหาเถรสมาคมนี้เอง คือ ผลงานการถอดรหัสพระไตรปิฎกที่มีชีวิตที่จะฝากไว้กับมนุษยชาติรุ่นต่อๆ ไปโดยแท้ และนี่คือ หลักการของพระพุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคมในยุคนี้ที่ผู้คนมีปัญหาทางด้านจิตใจซับซ้อนขึ้นทุกที และคัมภีร์พระวิทยากรกระบวนธรรมที่ผ่านการทำค่ายมานับไม่ถ้วนจำนวนครั้ง สามารถให้ทุกท่านพัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ในการประยุกต์ใช้เพื่อเยียวยาตนเอง และช่วยเหลือเพื่อนร่วมทุกข์ให้พบสุขได้ทันท่วงที
มโนปณิธาน ตอนที่ ๒๔. ขุดเพชรจาก“พระไตรปิฎก” จากเปลือกถึงแก่น สู่มรกดธรรม “คัมภีร์พระวิทยากร” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒)