รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๗๑

…จากใจผู้เขียน

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

เมื่อเทียนเล่มหนึ่งถูกจุดขึ้น…แสงสว่างก็ปรากฏต่อไปไม่สิ้นสุด

ในช่วงท้ายๆ ของการชีวิตนักข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และดูแลหน้าธรรมวิจัยทุกวันอังคาร และหน้าพระไตรสรณคมน์ทุกวันพฤหัสบดี หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ผู้เขียนได้กราบขอสัมภาษณ์ประวัติของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้นอยู่หลายครั้ง หลังจากท่านเมตตาเขียนบทความอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้กับนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นธรรมทานก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลง

คอลัมน์ "ธรรมโอสถ" โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีพ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๐
คอลัมน์ “ธรรมโอสถ” โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีพ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๐

จนกระทั่งท่านเมตตาให้สัมภาษณ์ และกล่าวว่า หากเขียนโดยไม่ได้เชิดชูเป็นตัวบุคคลก็ยินดี แต่เพื่อให้เห็นถึงความศรัทธาอันมั่นคงในบวรพระพุทธศาสนาของคนรุ่นก่อนๆ จากรุ่นต่อรุ่นที่มาถึงวันนี้ โดยมีท่านเป็นเพียงพระเล็กๆ ที่เชื่อมร้อยพระหลวงปู่หลวงตาไปยังพระรุ่นใหม่ๆ และคนรุ่นต่อๆ ไปก็ยินดี เพราะท่านเป็นเพียงพระสงฆ์รูปหนึ่งที่เกิดในครอบครัวเกษตรกร ชาวไร่ชาวนาที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น จนมีศรัทธาปสาทะที่ในการบวชเรียนแต่เยาว์วัย ในสมัยที่ท่านเป็นสามเณรน้อยก็มีครูบาอาจารย์เป็นทั้งพระบ้านและพระป่าที่มีความกรุณาต่อชาวบ้านอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ทำหน้าที่ของพระสงฆ์เป็นหลักใจของชุมชนโดยไม่แยกพิธีกรรมและการภาวนาออกจากกัน ในสังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานรากของสังคมไทยมาแต่ครั้งสุโขทัยเป็นต้นมา

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์บิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์บิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อกราบเรียนถามท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเกี่ยวกับศาสนวัตถุ กับ ศาสนทายาท ท่านว่าต้องไปด้วยกัน เพราะความเป็นศาสนทายาทมีความศรัทธาอย่างมั่นคงเท่านั้นจึงจะสร้างศาสนวัตถุได้

เวลามองดูพระเจดีย์ ท่านให้คติว่า ไม่ว่าจะเป็นทรายทุกเม็ด อิฐทุกก้อนที่ก่อตัวเป็นพระเจดีย์ เป็นวัด เป็นศาลา เป็นเสนาสนะ ล้วนมาจากแรงศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างสูงสุดของชาวบ้านและพระสงฆ์เล็กๆ ในหมู่บ้าน ในชุมชนนี่เอง 

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านว่า เรื่องธรรมดาๆ นี้แหละน่าถ่ายทอดอย่างยิ่ง จากนั้น เรื่องเล่าตั้งแต่ในวัยเยาว์ของท่านก็ถูกเล่าผ่านนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์จนกระทั่งปิดตัวลงในตอนที่ ๙ แล้วนำมาร้อยเรียงขึ้นใหม่ และลงอย่างต่อเนื่องในหน้า “ธรรมวิจัย” นสพ.คมชัดลึก มาจนถึงตอนที่ ๒๒ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ยังไม่จบก็ต้องหยุดไว้ก่อนกับทุกขสัจจ์ครั้งใหญ่ในชีวิตที่โถมทับมาอย่างตั้งตัวไม่ทัน อย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุในเดือนพฤษภาคมในปีนั้น ช็อก… กว่าที่ข้าพเจ้าจะตั้งสติได้ก็ผ่านไปเกือบปี จึงได้รวบรวมพลังที่เหลือกลับมาก่อสร้างพระเจดีย์ในใจต่อ ให้ปรากฎบนหน้าบันทึกความทรงจำแห่งนี้โดยไม่มีกาลเวลา

เปลือกรักษาแก่นให้ต้นไม้ดำรงอยู่ได้อย่างไร พระพุทธศาสนาก็มีเปลือกห่อหุ้มรักษาแก่นธรรมไว้มากมาย และปรับใช้ได้ในทุกสถานที่ทุกเวลาตามเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาจึงสามารถดำรงอยู่มาได้กว่า ๒๖๐๐ ปี โดยที่ไม่มีสิ่งใดหายไป ลมหายใจพระพุทธศาสนาและหัวใจคือแก่นธรรมยังดำรงอยู่อย่างครบถ้วนในพระธรรมและพระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าฝากไว้ในองค์ประชุมแห่งพระรัตนตรัย ผ่านครูบาอาจารย์พระสุปฏิปันโนรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาจนถึงทุกวันนี้เพราะความเสียสละของอุปัชฌาย์อาจารย์และพระสงฆ์สามเณรทั่วโลก

คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่เคยตีพิมพ์ในหน้าธรรมวิจัย ทุกวันอังคาร โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ นสพ.คมชัดลึก ช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๑
คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่เคยตีพิมพ์ในหน้าธรรมวิจัย ทุกวันอังคาร โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ นสพ.คมชัดลึก ช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๑

และเพื่อให้ “มโนปณิธาน” ของท่านอาจารย์เจ้าคุณชัดขึ้น จากการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเงียบๆ ผ่านการทำงานของคณะสงฆ์หลายกลุ่มที่ทำงานกับท่านได้มุ่งหน้ากลับไปยังบ้านเกิดเพื่อสร้างพื้นที่แห่งธรรมให้ปรากฏในใจของผู้คน ในยุคที่คนรุ่นใหม่อาจทิ้งบ้านเกิดไปเพื่อทำงานยังชีพจนอาจกลับมาหารากไม่เจอ แต่ท่านกลับเห็นพลังของเมล็ดโพธิ์เล็กๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ในที่ต่างๆ ให้หันทิศทางกลับบ้านเพื่อสานต่องานพระพุทธศาสนาในทุกด้านเพื่อดับร้อนภายในจิตใจของผู้คนให้สามารถพึ่งตนเองได้

ผู้เขียนจึงได้รวมบทความที่ท่านเมตตาเขียนให้ในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” หนังสือพิม์คมชัดลึกอยู่ช่วงหนึ่ง มาไว้ในภาคที่ ๒ และรวมบทสัมภาษณ์ท่านเกี่ยวกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกชุดหนึ่งมารวมไว้ในภาคที่ ๓ “สังฆะเพื่อสังคม” เป็นบันทึกความทรงจำของผู้เขียนที่ขอฝากไว้ในใจคนเล็กๆ ที่พอจะเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาจากเม็ดกรวด เม็ดทราย ในร่องรอยของพระเจดีย์ที่อาจถูกทำลายกลายเป็นซากปรักหักพังชั่วข้ามคืน โดยหารู้ไม่ว่า พระเจดีย์ แม้ว่ากลายเป็นเศษดิน เม็ดทราย ไปแล้ว แต่ละเม็ดดิน เม็ดทรายก็คือ พระเจดีย์แต่ละองค์ ที่เมื่อนำมาหลอมรวมใหม่ก็จะได้พระเจดีย์มากมายอีกนับไม่ถ้วน

การก่อร่างสร้างพระเจดีย์เล็กๆ องค์ใหม่ให้ปรากฏในใจจึงต้องใช้ความเพียรอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการปฏิบัติขัดเกลากิเลสในใจ และเฉกเช่นการก่อร่างสร้างพระเจดีย์บนแผ่นดินให้งดงามสะท้อนแสงแดดยามกลางวัน และสะท้อนแสงจันทร์ในยามกลางคืน เหนือกาลเวลา ก็ต้องใช้ความศรัทธาดุจเดียวกัน    

คอลัมน์ "วิปัสสนาบนหน้าข่าว " ทุกวันพฤหัสบดี นสพ.คมชัดลึก โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๐
คอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว ” ทุกวันพฤหัสบดี นสพ.คมชัดลึก โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๐

ลูกขอกราบแทบเท้าท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์(เทอด ญาณวชิโร) เหนือเศียรเกล้า

                           มนสิกุล โอวาทเภสัชช์          

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

โดย  พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๓๕ 

“เห็นความคิดหนึ่งเกิด อีกความคิดหนึ่งดับ”

คราวที่แล้วอธิบายเรื่องการเดินจงกรมเป็นการตัดภพตัดชาติให้สั้นเข้า เพราะขณะเดินมีความคิดกำลังก่อตัวขึ้นมา พอมีการเคลื่อนไหวเท้าความคิดก็ตกไปหมายความว่า ขณะเดินเกิดความคิดขึ้นมาก็หมายความว่า “ภพเกิด” ขณะที่ก้าวเท้าเคลื่อนไปจะทำให้จิตไหว ความคิดนั้นก็ตกไปเพราะมีสติในการที่จะก้าว  ก็เรียกว่า “สิ้นภพ” ถ้าความคิดนั้นยังไม่ขาดเพียงแต่ตกไปในช่วงสั้นๆ ก็จะถูกดึงกลับมาคิดใหม่ ระหว่างที่เดินก็จะมีสติรู้ตัวขึ้นมาอีก เพราะมีสติในการที่จะก้าวความคิดนั้นก็ตกไปอีก หมายความว่า ภพนั้นก็ดับไป ภพชาติของความคิดในขณะนั้นๆ จึงสั้นไม่ทันได้โต ระหว่างการเดินจงกรมกับการนั่งสมาธินั้น สติระลึกรู้ในการเดินจงกรมจะมีมากกว่าการนั่งสมาธิ การเดินจะทำให้รู้ตัวอยู่ตลอด

แม้จะมีความคิดผุดขึ้นมาก็จะคิดแค่สั้นๆ พอขยับเท้าก้าวเดิน ความคิดนั้นก็จะตกไปเพราะจิตไหวตามเท้าทุกก้าวย่าง…

ครั้งนี้ขอนำสัมมาสมาธิของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดมาอธิบายต่อในส่วนการนั่งสมาธิ ท่านอธิบายว่า การนั่งสมาธิสติระลึกรู้จะน้อย เพราะจิตจะแช่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ถ้าคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะคิดเรื่องนั้นนานไม่มีสิ่งใดมาเปลี่ยนอารมณ์ ถ้าสติไม่เข้มแข็งเพียงพอ ก็จะคิดเรื่องนั้นยาวนาน ความคิดไม่ตกไปเร็วจนกว่าจะมีสติระลึกรู้ขึ้นมา ความคิดนั้นจึงจะตกไป ในขณะที่การเดินทำให้ความคิดตกไปไว เพราะการเคลื่อนไหวทำให้สติกลับมาไว

บางทีเดินช้าสติไม่ทันความคิด ก็ต้องเดินเร็ว เมื่อเดินเร็วก็จะเห็นอาการของเท้าที่ไปที่มา จิตก็จะเห็นแต่อาการไปอาการมา ความคิดไม่มีโอกาสได้แทรกเข้ามา

การเดินจงกรม จะเดินช้าหรือเดินเร็วก็ได้ทั้งนั้น เอาที่ถนัดของแต่ละบุคคล จะช้าหรือเร็ว สำคัญที่เห็นอาการของความเคลื่อนไหว เดินช้าก็ให้เห็นอาการช้า เดินเร็วก็ให้เห็นอาการเร็ว

เมื่อมีความเพียรเสมอต้นเสมอปลายปรารภความเพียรไม่เห็นแก่นอน เดินจงกรมจนจิตเป็นสมาธิ จะไม่มีผู้ไปไม่มีผู้มา มีแต่การไปการมา ก็จะเห็นแต่อาการของการไปการมาอยู่เช่นนั้น จึงชื่อว่า “ไม่มีผู้มาผู้ไปมีแต่การมาการไป”

ดังนั้น การเดินจงกรมจึงทำให้ความคิดตกไปไว เพราะการเคลื่อนไหวทำให้เกิดความรู้สึกตัวไว หากนั่งนิ่งนานๆ หรือยืนนิ่งนานๆ จิตที่คิดก็จะคิดไปไกล เพราะไม่มีอะไรไปเปลี่ยนความคิด เวลาเดินขณะคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอมีการเคลื่อนไหวของเท้าก็จะทำให้จิตที่กำลังแช่อยู่ในความคิดเกิดการเคลื่อนไหว พอจิตไหวเพราะการเดิน สติก็จะกลับมาระลึกรู้เกิดความรู้สึกตัวกลับมาอยู่กับการเดิน

  เดินไปคิดไป กับเดินไปเห็นความคิดไปเป็นละอย่างกัน เดินไปคิดไปเป็นลักษณะของอวิชชา แต่เดินไปเห็นความคิดไปเป็นลักษณะของปัญญาเป็นปัจจุบันขณะ เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ การใช้ความคิดวิจัยใคร่ครวญพิจารณาธรรม

การเดินจงกรมจะไม่ทำให้จิตจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งหรือไม่ทำให้จิตจมอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานจนเกินไป เว้นแต่ตั้งใจเดินเพื่อใช้ความคิด หรือเพื่อพิจารณาธรรม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้เช่นกัน ซึ่งบางครั้งอาจเดินไปคิดพิจารณาธรรมไป เป็นความจงใจที่จะเดินเพื่อขบคิดประเด็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนคนเจตนาเดินขบคิด ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับใช้การเดินเพื่อตัดความคิด

  จิตคิดอะไรก็คิดทีละเรื่อง ไม่ได้คิดพร้อมกันหลายเรื่อง ความคิดหนึ่งเกิด ความคิดหนึ่งดับ เปรียบเหมือนมีเก้าอี้อยู่ตัวหนึ่งขึ้นนั่งได้ทีละคน คนหนึ่งขึ้นนั่ง คนหนึ่งก็ต้องลง แม้จะมีคนอยู่กี่คนก็ตาม ก็ขึ้นนั่งได้ทีละคน แล้วแต่ว่าใครจะมีกำลังก็ขึ้นนั่งได้บ่อยกว่า เวลาจิตคิดก็คิดทีละขณะ เมื่อเกิดความคิดหนึ่ง  อีกความคิดหนึ่งก็ต้องตกไป ขณะเดินจงกรมก็เช่นกัน เมื่อเกิดความคิดกำลังจะสืบต่อปรุงแต่งไปไกล ขณะเดียวกันเท้าก็ก้าว  จิตก็ตัดจากความคิดกลับมาที่เท้าจึงไม่ปล่อยโอกาสให้ความคิดที่เริ่มก่อตัวขึ้นได้ปรุงแต่งไปไกล

  เวลาเดินจงกรม เท้าจะมีบทบาทสำคัญในการตัดความคิดให้ขาดเป็นตอนๆ  เพราะขณะนั้นเท้าจะเป็นศูนย์การระลึกรู้ ส่วนเวลานั่งสมาธิสติจะมีบทบาทที่สำคัญคอยตัดความคิดให้ขาดเป็นท่อน ถ้าสติได้รับการฝึกมาดีก็จะมีความไว คอยตัดความคิดให้ตกไปในช่วงสั้นๆ ไม่ทันที่ความคิดจะเติบโตขึ้นมาได้แต่ถ้าสติไม่คมไม่ไว เพราะไม่ได้รับการฝึกหัด ความคิดก็เติบโตไปไกล กว่าจะมีสติรู้สึกตัวขึ้นมาตัดความคิดให้ขาดความคิดก็โตเต็มที่แล้ว

  เวลาเดินจงกรม ก้าวย่างจะคอยตัดความคิดให้ขาดเป็นท่อนไม่ทันได้เติบโตคิดไปไกล พอมีการก้าวย่างสติก็จะกลับมาระลึกรู้และตัดความคิดให้ขาดออก ความคิดก็เหมือนชีวิต พอเกิดความคิดไม่ทันได้โตก็ถูกสติตัดขาด ชีวิตของบางคนก็ถูกมรณะตัดขาดเสียตั้งแต่แรกเกิดไม่ทันได้เติบโต บางชีวิตก็ถูกมรณะตัดเสียเมื่อวัยหนุ่ม บางชีวิตก็เติบโตมาจนแก่จึงถึงกาลมรณะ

(โปรดติดตาม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here