ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

เพราะความเพียร เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นพละ เป็นกำลังที่สำคัญ ในการที่จะนำพาเราก้าวข้ามปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในชีวิต …   องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า จึงสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้”

คำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ยังคงสอนใจอยู่เสมอ จึงขอนำบทความที่ท่านเมตตาเขียนให้ในนสพ.คมชัดลึก จากคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” มาแบ่งปันเป็นกำลังใจให้กันและกันในวันนี้ ในทุกย่างก้าวที่เราพานพบกับอุปสรรคขวากหนามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่เที่ยงธรรม ความอยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเราที่เราศรัทธา ฯลฯ ที่อาจทำให้ใจเราหนักหน่วง และอาจท้อแท้ในบางครั้งได้ แต่อย่าให้ใจจมดิ่งอยู่กับสิ่งเหล่านี้นาน ขอเราจงตื่นขึ้นมา สู้กับความรู้สึกท้อแท้นั้น แล้วเดินหน้าต่อไป ด้วยใจที่ตื่นรู้กับกิเลสมารในใจคน รวมทั้งของตนเองด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ยึดติดอยู่กับความไม่พอใจที่ว่า ทำไมเราต้องเจอแบบนี้ ไม่เอา ต้องก้าวข้ามความรํู้สึกเหล่านี้ แผ่เมตตาให้กับตนเอง ให้อภัยตนเอง แล้วเดินหน้าต่อไป ดังที่ครูบาอาจารย์ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เดินอยู่ข้างหน้า และสอนเราว่า

ต้องเข้าใจโลก ไม่ต้านกระแสโลก แต่ก็ไม่ตามโลก

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก อังคารที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐) โดย พระราชกิจจาภรณ์ เรื่อง “ก้าวข้ามความทุกข์ด้วย “ความเพียร”

      ด้วยความศรัทธา คือ “พละ ธรรมข้อแรกที่เป็น “กำลัง” ในพระพุทธศาสนา ที่จะส่งพลังให้เราให้มีกำลังในข้อต่อไป คือ วิริยะ ความเพียรอย่างยิ่งยวดที่จะก้าวข้ามความทุกข์ได้

      ยิ่งสังคมในทุกวันนี้ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ได้ง่ายมาก ตั้งแต่ลืมตาตื่นไปจนกระทั่งหลับ เราจะเกาะเกี่ยวความทุกข์ไปตลอดเวลาหรือจะพยายามที่จะให้ความทุกข์โบยบินไปจากใจให้เร็วที่สุด เพื่อที่ว่า ก่อนเข้านอนในแต่ละวันจะได้พบกับความร่มเย็นใจ

       และ วิริยะ คือ ความเพียรนี้เอง ที่ทำให้แม้เราจะเจอปัญหามากเพียงใดก็ตาม  เจออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตหนักหนาสาหัสอย่างไรก็ตาม  ที่เรียกว่า “ทุกข์ “ บาลีว่า  ชาติปิ ทุกขา  คือ เมื่อมีความเกิด ความทุกข์ก็ตามมา แต่อาศัยว่าเราได้ศึกษาในพระพุทธศาสนา มีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา  เราก็มีความสามารถในการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่เราได้ศึกษาได้เรียนรู้นี่แหละ มาเป็นน้ำในการชโลมใจให้เรา ทำให้เรามีพละกำลังขึ้นมาในการที่จะแก้ไขปัญหา แก้ไขความทุกข์ให้ผ่านไปได้

       ความทุกข์ดังกล่าวนี้ แม้เกิดขึ้นแล้ว  เพียงแต่เราไม่สามารถที่จะรู้เท่าทัน โดยไม่สามารถที่จะบริกรรมว่าพุทโธ พุทโธ เพื่อให้ความทุกข์ระงับดับลงได้ทันท่วงที แต่ด้วยศรัทธาเชื่อมั่นว่า เราทำความดี เราปฏิบัติในความดี กุศลก็จะคุ้มครองเรา  ก็จะประคับจิตใจเราให้สูงขึ้นๆ โดยลำดับ  แล้วสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้  เราก็สามารถบริกรรมว่า “พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว”

       เมื่อพรุ่งนี้เช้าแล้ว ทุกข์นี้ก็จะดับลง  ถ้าเช้าวันนี้ทุกข์ยังไม่ดับ เราก็ภาวนาต่อไปอีกว่า พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว ทุกข์ก็จะดับลง

โดยการทำดังกล่าวนี้ เรียกว่าเราศรัทธาเชื่อมั่น เป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  

แล้วเราก็นำหลักธรรมดังกล่าวนี้มาประคับประคอง  ยกจิตของเราให้สูงขึ้น  ก้าวข้ามทุกข์ ก้าวข้ามปัญหา  แก้ทุกข์ได้ แล้วมาดำรงอยู่ในความดี บำเพ็ญความดีต่อไป นี้เรียกว่า วิริยะ คือ ความเพียร

       องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้ใช้ความเพียรอย่างแรงกล้า บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า จึงสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้

       เราท่านทั้งหลาย แม้เจอปัญหา เจออุปสรรค  เจอความทุกข์อย่างไรก็ตาม  ก็เป็นความทุกข์อย่างธรรมดาของชีวิต ก็เป็นปัญหาอย่างธรรมดาของชีวิตที่จะเกิดขึ้นกับเราทุกคน  ทุกผู้ ทุกนาม ปัญหาแตกต่างกันไป  ความทุกข์แตกต่างกันไป  ตามแต่ชีวิตของแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่การงาน  บุคคลที่เกี่ยวข้อง สามี ภรรยา  บุตรธิดา ข้าทาสบริวาร หรือสังคมที่เราอยู่ร่วม ก็ล้วนแล้วแต่ มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  แต่ว่าอาศัยความหนักแน่น  ความเพียร ความพยายาม  ความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้  เราก็จะสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ ด้วยความเพียร

       องค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า เป็นตัวอย่างในการบำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า 

ไม่ว่าจะเป็นในอดีตชาติของพระองค์ก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นในชาติที่บำเพ็ญการตรัสรู้ก็ตาม  ล้วนแล้วแต่อาศัยความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า  จึงสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้  เมื่อพระองค์สามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ พระองค์ก็นำวิธีเหล่านั้นมาชี้ทาง ให้พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย  ได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติ ได้ศึกษา และดำเนินตาม

       เพราฉะนั้น ความเพียร จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นพละ เป็นกำลังที่สำคัญ ในการที่จะนำพาเราก้าวข้ามปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในชีวิต

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๖๐ “ก้าวข้ามความทุกข์ด้วยความเพียรเรียบเรียงโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (ตอนที่ ๒๕)

ทุกข์ก็เพราะเรามีอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ ๕

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

เมื่อแจกแจงลักษณะตัวทุกข์ออกไปตามที่เราทุกคนล้วนประสบเป็นประจำในแต่ละวันของชีวิตอยู่แล้วก็มีดังนี้

ทุกข์อย่างธรรมดาของคนทั่วไป ทุกข์เพราะไม่ได้ดั่งใจก็เดือดร้อนใจ ทำงานไม่ได้ดั่งใจก็เครียดเป็นทุกข์ เรียนไม่ได้ดังใจก็เครียดเป็นทุกข์ คาดหวังไว้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็เครียดเป็นทุกข์

ทุกข์อย่างธรรมดาของคนทั่วไป รวมลงในทุกข์แบบโลกธรรม ได้ลาภมา เสื่อมลาภก็เป็นทุกข์ ได้ยศมา เสื่อมยศไปก็เป็นทุกข์ กำลังสุขสบายมีความทุกข์เข้ามาแทรก ก็เป็นทุกข์ อยากได้ยินได้ฟังแต่คำสรรเสริญ พอได้ยินคำนินทา ก็เป็นทุกข์ แม้ทุกข์อย่างธรรมดาของคนทั่วไปแบบนี้ต้องดู “ต้องกำหนดรู้”

ทุกข์ภายในจิตใจ ความไม่สบายใจ ความกังวลใจ ความเครียด ความหวั่นไหว ความหวาดกลัว ความพรั่นพรึง ความกลุ้มอกกลุ้มใจ ความขุ่นมัวใจ ความเศร้าหมองใจ ความซึมเศร้า ความสับสน ความท้อแท้ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง ความเบื่อหน่าย น้อยใจ ความเสียใจ ความอิจฉาริษยา ความขัดเคือง คับแค้นใจ ความเกรี้ยวกราด ดุดัน ความก้าวร้าว ความอยากได้อยากมี ความได้แล้วไม่ได้  ได้แล้วเสียไป ได้ของที่ไม่อยากได้ ไม่ได้ของที่อยากได้ ทุกข์เพราะถูกใส่ความให้ได้รับโทษ ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมาจากผลของความทุกข์ใจ

ทุกข์เพราะจิตยึดในขันธ์ คือ รูปร่างหน้าตา ความคิดเห็นความเชื่อ ลัทธิศาสนา ประเทศชนชาติและเผ่าพันธุ์

ทุกข์เพราะมันเป็นทุกข์ของมันเองตามธรรมชาติ

ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะโรคภัย ไข้เจ็บ  กายที่มันมีความเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ  จะยึดหรือไม่ยึดมันก็เปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์ของมันเอง เห็นตอนแรกมันยังไม่ชัดเพราะใจมันยังไม่สงบ มันก็มองไม่ชัด แต่พอดูไปๆ มันก็จะค่อยๆ ชัดขึ้น

เมื่อได้มาเห็นทุกข์อย่างนี้แล้วก็จะเกิดความกลัวขึ้นมาอย่างจับใจ เพราะมารู้ว่าหากต้องเกิดแล้วก็จะไม่พ้นจากทุกข์เหล่านี้ไปได้ก็เป็น “ปริญญาตันติ”  คือ ได้มารู้ทุกข์อย่างจังเข้าแล้ว เป็นการรู้ทุกข์ลงไปตรงๆ ด้วยตัวเอง ไม่ได้ดัดแปลงปรุงแต่งทุกข์ไปตามกิเลส

ให้กำหนดรู้จักตัวทุกข์เข้ามาที่กายที่ใจ อย่างนี้

เมื่อทุกข์เกิดเช่นนี้แล้ว ก็ไม่หลบหนีทุกข์ เวลาทุกข์เกิดก็ต้องดูให้แน่ใจเสียก่อนว่า เป็นทุกข์ชนิดไหน แหล่งที่เกิดมาจากแหล่งใด มาจากทุกข์ทางตา ทุกข์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือเป็นทุกข์คิดวนเวียนอยู่ในใจ ทุกข์ออกมาจากข้างในใจเอง หรือทุกข์เก็บมาจากข้างนอก 

ใจมันดิ้นรนอยู่ข้างในใจเอง หรือเก็บเอามาจากข้างนอก  ใจมันดิ้นรนอยู่ข้างใน หรือมันดิ้นรนทะยานอยากจากข้างในไปข้างนอก ก็เฝ้าสังเกตดู ถ้าดิ้นรนอยู่ข้างในก็เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด  ถ้าดิ้นรนทะยานอยากไปไขว่คว้าเอาจากข้างนอก ก็เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

ของชอบก็อยากได้ ก็เป็นกามตัณหา เมื่อได้มาก็อยากให้มั่นคงอยู่อย่างนั้น อยากยึดไว้อย่างนั้น ก็เป็นภวตัณหา  ของไม่ชอบก็ปฏิเสธอยากผลักไสออกไป ก็เป็นวิภวตัณหา

ความอยากจึงเป็นรากของทุกข์ทั้งปวง ต้องฝึกให้จิตได้รู้จักทุกข์

ถ้าทุกข์เกิดแล้วให้เฝ้าสังเกตว่ามันเป็นทุกข์ชนิดไหน ทุกข์เกิดจากอะไร ไม่ใช่ทุกข์เกิดแล้วมัวแต่หนี เหมือนคนกลัวผี ก็หลอกตัวเองร่ำไป พอบอกว่าที่นี่ผีดุ ก็จะหนีอย่างเดียว เลยไม่รู้ว่าผีเป็นตัวอย่างไร ความกลัวผีก็ไม่หาย เพราะไม่รู้ความจริง 

คนกลัวทุกข์ก็เช่นเดียวกัน ก็คอยแต่จะหนีทุกข์อย่างเดียว เลยไม่มีโอกาสได้รู้จักตัวทุกข์ ก็แก้ทุกข์ไม่ได้

โปรดติดตาม รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ ตอนต่อไป…

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here