“ขอให้ตั้งใจให้ดี การตั้งใจให้ดี ฟังผิวเผินแล้วดูเป็นคำธรรมดา แต่ที่จริง เป็นคำประเสริฐ เป็นคำสูงส่ง การตั้งใจให้ดี เป็นเรื่องของบารมี เป็น “อธิษฐานบารมี” ตั้งใจให้ดีว่า ” เราจะไม่ทำชีวิตให้ว่างเปล่าจากความดีงาม เราจะทำทุกลมหายใจในแต่ละวัน (เท่าที่เหลืออยู่) ให้เป็นลมหายใจที่มีคุณค่า
“เมื่อมองย้อนกลับไปในวัยที่ล่วงเลยมา เราเองก็ชุ่มเย็นว่า สิ่งที่ควรทำ เราก็ได้ทำแล้ว แม้ใครๆ ที่เป็นวิญญูชนก็ตำหนิเราไม่ได้ สิ่งใดที่เราเคยประมาทพลาดพลั้ง จะด้วยการณ์ใดก็ตาม ก็ขอให้อโหสิกรรมเสีย จะยังความเบาใจให้เกิดขึ้น นั่นเป็นทางที่ประเสริฐของพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านดำเนินมา”
พรอันประเสริฐที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เมตตามอบให้ในวันเกิดผู้เขียน ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ยังคงอยู่ในความทรงจำและจดบันทึกไว้ ทุกวันเกิด ในแต่ละปี ผู้เขียนขอพรคุณแม่แล้ว ก็จะขอพรจากครูบาอาจารย์เป็นประจำเพื่อนำมาใคร่ครวญ พากเพียรปฏิบัติทุกวัน แม้ล้มลุกคลุกคลานก็ลุกขึ้นมาใหม่ตั้งใจพัฒนาจิตใจและชีวิตให้มีศรัทธาอันมั่นคงและก่อเกิดปฏิปทาตามรอยท่าน
ผู้เขียนเป็นศิษย์ ขอกราบแทบเท้าท่านอาจารย์ น้อมจิตตั้งใจปฏิบัติธรรม หมั่นเพียรขัดเกลากิเลสตน ดูจิตใจให้มีสติรู้ตาม พยายามไม่ตีโพยตีพาย เมื่ออะไรๆ ไม่เป็นไปอย่างใจต้องการ ไม่เป็นไปโดยธรรม แต่เราจะเฝ้าดูความไม่พอใจนั้น ทันบ้างไม่ทันบ้างก็ตามดูไป และดูอนิจจังของความไม่พอใจ หมั่นเพียรให้สติเกิดขึ้น และใช้ลมหายใจที่เหลืออยู่รีบเร่งทำความดีและมุ่งแสวงหาความดีมาแบ่งปันให้สังคมทราบอีกครั้ง แม้จะรู้ว่ายากลำบาก ผู้เขียนก็มุ่งมั่น เชื่อในสิ่งที่ทำว่าดีและถูกธรรมต่อไปแม้จะยากขนาดไหนก็ตาม จึงขอน้อมนำบทความที่ท่านเมตตาเขียนให้นสพ.คมชัดลึก หน้าธรรมวิจัย ในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานอยู่มาแบ่งปัน เพื่อเป็นพละ เป็นกำลังใจในการก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางสายกลางแห่งการพ้นทุกข์ต่อไปอย่างไม่ท้อ ตกหลุมบ้างก็ปีนขึ้นมาใหม่ ตกลงไปอีกก็ปีนขึ้นมาใหม่อีก แม้จะล้มลุกคลุกคลานเท่าใดก็ไม่ท้อ
“ศรัทธา” คือ กำลังที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนา โดย พระราขกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ในช่วงที่ผ่านมา เป็นช่วง วันสงกรานต์ ประชาชนชาวไทย ที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้แสดงเจตจำนงด้วยศรัทธาที่มั่นคงในการตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ สิ่งเหล่านี้บูรพาจารย์ บรรพบุรุษ ได้ยึดถือ และนำปฏิบัติสืบมาจนเป็นแบบแผนอันดีงามถึงรุ่นพวกเรา
ความกตัญญูเป็นรากฐานของชีวิต ผู้มีความกตัญญู เมื่อตามระลึกถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ นี่เป็นสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายยึดถือปฏิบัติมา
พระพุทธศาสนาที่บูรพาจารย์บรรพบุรุษนำสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาร่วม ๒๖๐๐ ปี นับแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่ธรรมะที่พระองค์ได้แสดง ได้เปิดเผย ก็ยังคงส่องสว่างรุ่งเรืองดุจดวงประทีป คอยแผ่ความดีงามขับไล่ความมืดมน ให้เกิดความร่มเย็นแก่เราทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะศรัทธาเป็นกำลังของบรรพชนส่งทอดจากยุคสู่ยุค นำสืบๆ กันมานั่นเอง
หากเราทั้งหลาย ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ไม่มีกำลังในการรักษาพระพุทธศาสนา ไม่มีกำลังในการรักษาแบบแผน ประเพณี พิธีกรรม ระเบียบ ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็คงอ่อนกำลังลง และเสื่อมถอยไปในที่สุด
ด้วยศรัทธาจึงทำให้พุทธบริษัท ได้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังความสามารถ นำพาพระพุทธศาสนา ส่งทอดจากรุ่นต่อรุ่น
พระพุทธศาสนาที่ทำให้เกิดการสืบต่อ ต้องอาศัยสองส่วน คือ พระพุทธศาสนาที่เป็นส่วนบริสุทธิ์ และพระพุทธศาสนาที่เป็นส่วนวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม
พระพุทธศาสนาที่เป็นวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม เป็นส่วนที่โอบอุ้ม หุ้มห่อพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักการที่บริสุทธิ์เอาไว้ให้ดำรงอยู่ เป็นป้อมปราการอันแข็งแกร่ง เป็นกำแพงสำหรับป้องกันรักษา ทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง
ทั้งสองส่วนนี้ เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน พระศาสนาจึงดำรงอยู่ได้
หลักที่เป็นกำลังดังกล่าว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “พละ” คือ ธรรมที่เป็นกำลัง ซึ่งประกอบด้วย ๑. ศรัทธา ๒. วิริยะ ๓. สติ ๔.สมาธิ และ ๕. ปัญญา
เพราะศรัทธาเราจึงมีความเชื่อมั่น เพราะมีความเชื่อมั่น เราจึงมีพิธีกรรม เพราะพิธีกรรม จึงเกิดประเพณี และเพราะประเพณี เราจึงมีวัฒนธรรมของชนชาติ
วัฒนธรรมของชนชาตินี่เอง สะท้อนออกมาจากกำลังแห่งศรัทธาที่บรรพชนมีต่อพระศาสนา
วันนี้เราชาวไทยต่างเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาเป็นหลักที่เข้ากับชาวไทยได้ โดยอาศัยหลักศรัทธาความเชื่อมั่นมาจากบรรพชนของเรา ทำให้เราได้อาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ช่วยแก้ไขปัญหาให้เราเป็นลำดับมา
หลักศรัทธานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ใช้มาก่อนตรัสรู้ พระองค์เชื่อมั่นว่า หนทางแห่งการเฝ้าดูจิตที่เรียกว่า สมาธิ หรือ วิปัสสนา จะคลี่คลายทุกข์ สามารถถอดถอนอาสวะกิเลสออกจากจิตใจของพระองค์ได้ และด้วยศรัทธานี้ ทำให้พระองค์ตรัสรู้ธรรมได้ในที่สุด
ด้วยศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น พระพุทธองค์ได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ขึ้นให้พระสงฆ์ช่วยกันขับเคลื่อนธรรมจักร เผยแผ่พระธรรมคำสอน พระสงฆ์ก็ต่างเชื่อมั่นศรัทธาต่อแนวทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดสังฆมณฑลนำพาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่สืบต่อมา
วันนี้เราจึงเห็นว่า แม้พระพุทธศาสนาจะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน เราได้รับรู้ รับทราบ ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในแวดวงพระศาสนา แต่ด้วยศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา จนเป็นอจลศรัทธา คือ ศรัทธาที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลนไปตามข่าวที่เกิดขึ้น มีความเพียรพยายามที่จะรักษาพระศาสนา มีสติเกิดปัญญารู้เท่าทันข่าว แม้ข่าวนั้น จะเป็นมงคลตื่นข่าวก็ตาม เป็นข่าวที่เกิดจากการสร้างขึ้นก็ตาม หรือ ข่าวเกิดจากเจตจำนงค์ที่มีเป้าหมายโดยประการอื่นๆ ก็ตาม แต่ด้วยอาศัยที่เรามีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นอจลศรัทธาเสียแล้ว เราชาวพุทธทั้งหลาย ก็ยังคงเชื่อมั่น ให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนพระศาสนา แล้วนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและคนรอบข้างของเรา
ศรัทธา ก่อเกิดอุดมการณ์ อุดมการณ์ทำให้มีปณิธานอันยิ่งใหญ่ เราทั้งหลายจงปลูกศรัทธาให้กล้าแกร่ง จุดไฟอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระศาสนาให้ลุกโชน แล้วปักหลักปณิธานให้มั่นคง มองไปข้างหน้า ด้วยสายตาอันยาวไกล
เพราะปณิธานจะทำให้พระศาสนาของบรรพชนดำรงอยู่สืบต่อไปไม่สิ้นสุดฯ
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (ตอนที่ ๒๔) มองตัวเองผ่านสายตาแห่งสติ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
การปฏิบัติสมาธิเป็นขั้นการทำความสะอาดจิต มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มองกลับเข้ามาภายในตนเอง เป็นการมองตนเองผ่านสายตาแห่งสติ จะมองตัวเองได้ก็ต้องทำความสะอาดจิตก่อน
วิธีปฏิบัติสมาธิจะใช้รูปแบบใดก็ตาม ไม่ใช้ข้อสำคัญ ที่สำคัญขอให้เราสามารถมองกลับเข้ามาหาตัวเองให้ได้ ก็เป็นอันใช้ได้ เหมือนจะส่องกระจก กระจกก็ต้องสะอาดไม่มัวหม่น จึงจะเห็นหน้าชัด จะส่องกระจกต้องทำความสะอาดกระจก
แต่การปฏิบัติสมาธิในตอนแรกก็ควรจะยึดรูปแบบไว้ก่อนเหมือนเด็กนักเรียนยังอ่านหนังสือไม่ออก ก็ต้องหัดอ่านหัดเขียนตามครูที่สอนไปก่อน เหมือนคนยังไม่ชำนาญทาง ก็ต้องดูแผนที่ไปก่อน พอชำนาญทางแล้ว ก็ไม่ต้องดูแผนที่เพราะแผนที่ถูกบบันทึกไว้ในสมองแล้ว
การเริ่มปฏิบัติสมาธิต้องดูแผนที่ของใจไปก่อน ฝึกหัดไปตามรูปแบบที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกท่านสอนท่านนำปฏิบัติ กลับมาดูที่ใจของเราเอง แล้วเฝ้าสังเกตดูอาการของจิตใจเรา
อย่าไปเฝ้าจับผิดพฤติกรรมของคนอื่น ไม่ให้มองออกไปข้างนอก ให้เฝ้าสังเกตกายใจตนเอง
กายใจของเราประกอบขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ แล้วมันก็พร้อมที่จะปรวนแปรไปตามสิ่งที่ประกอบขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า ขณะนั้นอะไรเป็นปัจจัยที่มีอำนาจในการทำให้เกิดการปรวนแปรมากกว่า ก็จะปรวนแปรไปตามสิ่งนั้น
เช่น ราคะ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่า ใจก็จะปรวนแปรไปเป็นชอบใจ พอใจ ติดใจ ปฏิฆะ โทสะ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่า ใจก็จะปรวนแปรไปเป็นขัดเคืองใจ โกรธ เกลียด และอาฆาต เป็นต้น เหมือนกล้วยบวชชีเน่าเสียง่ายเพราะกะทิ
ใจที่มีหลักแล้วจะไม่เน่าไม่บูดง่าย เพราะไม่มีอารมณ์อะไรมาเป็นปัจจัยให้ใจเน่าใจเสีย ท่านจึงให้ใช้สมาธิเป็นหลักของใจ เอาไว้เป็นกระจกส่องใจ
เวลาปฏิบัติสมาธิให้ดูทุกข์ เวลาดูทุกข์ดูจากที่ไหน ก็ดูจากความเปลี่ยนแปลง ความปรวนแปรของความคิด พอความคิดเปลี่ยนจากความคิดหนึ่งไปสู่อีกความคิดหนึ่ง ทุกข์ก็เกิด เพราะไม่อยากให้เปลี่ยน อยากให้คงอยู่อย่างนั้น แต่แล้วก็เปลี่ยนไปจนได้ และเพราะอยากให้เปลี่ยนแต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ ไม่ยอมเปลี่ยนไปตามใจอยากเสียที ก็เป็นทุกข์เดือดดานใจ ที่ไม่ได้ดั่งใจ
ถ้าจะดูทุกข์ให้ชัด ก็ดูที่ความขัดเคืองใจ ความไม่ได้ดั่งใจ ความขัดเคืองใจ ความไม่ได้ดั่งใจนี่มันทุกข์เหลือเกิน ทุกข์ที่อยากจะให้มันได้ดั่งใจ พอไม่ได้ดั่งใจมันก็ขัดเคือง ทุรนทุราย กระสับกระส่าย พอได้ดั่งใจก็สะอกสะใจ เป็นสุขครึ้มอกครึ้มใจ ก็อยากจะแสวงหาความได้ดั่งใจอยู่เรื่อยๆ จะได้เป็นสุข
แท้จริงแล้ว สุขก็เป็นเวทนา เวทนาไม่เที่ยง พอสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวสุขก็ปรวนแปรไปเป็นทุกข์ใจ กลัวว่า ความได้ดั่งใจจะเปลี่ยนไป ก็ทุรนทุรายหาทางที่จะรักษาไว้ แล้วก็จะวิ่งวนแสวงหาสุขใหม่อีกต่อไป แล้วก็จะเกิดตัณหาอยากได้สุข เกิดตัณหาไม่อยากทุกข์
เกิดตัณหาอยากหนีทุกข์ แม้จะสุขที่ได้มา แต่ก็เป็นทุกข์เพราะจะเสียไป ได้มาเหมือนจะสุขแต่ทุกข์กำลังตามมา
ความอยากสุข ความอยากหนีทุกข์ ความอยากผลักใสทุกข์ ก็เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ที่อยากได้มา พอได้มาก็เครียด กลัวว่ามันจะไม่อยู่กับเรานาน ที่ไม่อยากได้มา พอได้มาก็เครียด เป็นทุกข์ ทุรนทุรายใจ เดือดร้อนใจ อยากให้มันพ้นไปเสียไวๆ อยากจะหนีให้ไกลห่าง เราก็บ่นเพ้อรำพึงรำพัน ว่าทำไมเขาทำอย่างนี้กับเรา ก็เอาแต่ก่นด่าโทษฟ้าโทษดินอยู่อย่างนั้น พอปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ อยากสงบ พอไม่สงบ ก็บ่นว่ามันน่าจะสงบก็ไม่สงบ คนอื่นยังสงบ มันน่าจะเห็นอย่างนั้นอย่างนี้กับเขาบ้าง
ตัณหา คือ ความอยากก็ปรากฏเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาให้เห็นอยู่ต่อหน้า แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นตัณหาอีก
นี่ก็เรียกว่า “อยาก” ก็ให้บอกกับตัวเองว่า อ้อ! นี่เองที่เรียกว่า “ตัวตัณหา” ตัวก่อทุกข์ เราก็ได้เห็นหน้าเห็นตาของตัณหาแล้ว
ปฏิบัติสมาธิไปพออยากเห็นนั่นเห็นนี่ อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากให้คนอื่นรู้ว่าเรานั่งสมาธิ เราปฏิบัติธรรม ก็บอกกับตัวเองว่า “นี่ไงตัวตัณหา”
ความอยากเป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสความคิด เป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสชีวิต เป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสวิญญาณ
ความอยากที่เป็นหัวเชื้อให้เกิดกระแสความคิดเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสาเหตุให้ทุกข์เกิด เราต้องยอมรับความจริงแห่งทุกข์ที่แท้จริงนี้ และค่อยๆ เรียนรู้ขึ้นมา อย่ามัวแต่หนีจากทุกข์ ไม่กล้าที่จะเผชิญทุกข์ ที่เราค้นหาทุกข์ไม่เจอเพราะมัวแต่หนีทุกข์ ไม่อยากรับรู้ความจริงของทุกข์
ที่จริง วิธีที่จะแก้ทุกข์ในเบื้องต้นพระพุทธเจ้าให้รู้จักทุกข์ก่อน ไม่ให้หนีทุกข์ ทุกข์จึงเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ว่า อันนี้เป็นทุกข์เป็น“ปริญเญยยันติ”คือ ต้องกำหนดรู้ไว้ก่อน แม้ยังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็กำหนดไว้ก่อนว่า อาการนี้ทุกข์นะ ทุกข์เกิดแต่ละครั้งก็กำหนดรู้ไว้ว่า นี่อาการของทุกข์มันเป็นอย่างนี้ กำหนดให้รู้ด้วยตัวเองจนรู้จนเข้าใจแน่แล้ว ว่า ออ! นี่ทุกข์มันเป็นของมันอย่างนี้นี่เอง
เมื่อจะรู้ทุกข์ได้ก็ต้องรู้จักตัวทุกข์ว่าเป็นอย่างไร อะไร คือ ตัวตนของทุกข์อย่างแท้จริง แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ แม้ความเศร้าเสียใจก็เป็นทุกข์ ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
กล่าวโดยสรุปที่เป็นทุกข์ก็เพราะเรามีอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั่นเอง
โปรดติดตาม บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๙ “บนเส้นทางแห่งศรัทธาที่มั่นคง คือกำลังค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้มีลมหายใจต่อไป” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์