“เราต้องรักความจริง และ กล้าหาญทางธรรม
เมล็ดโพธิ์จึงจะหยั่งรากและเติบโต
อย่างแข็งแรงมั่นคงเป็นร่มโพธิ์ให้กับผู้อื่นได้…”
คำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น สอนใจผู้เขียนอยู่เสมอ ทำให้ต้องพยายามก้าวเดินต่อไป แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างพังทลายอยู่ตรงหน้าไปหมดแล้วก็ตาม แม่จากไป งานหายไป …เหลือเพียงลมหายใจที่ต้องฝึกตนให้พ้นไปจากความทุกข์นี้ …
“มองให้ดึ ทุกอย่างเป็นการเปลี่ยนผ่าน เป็นการเติบโต เหมือนการหลอมเหล็กกล้า สุดท้ายหลังการถูกเผาอย่างหนักเหลืออะไร ก็เหลือเหล็กกล้าเนื้อดี แข็งแรง และทนทาน… อย่าให้ความคิดไม่ดีมาทำลายความตั้งใจดี แม้ว่าพระเจดีย์ที่ได้สร้างขึ้นอาจถูกทำลายไป แต่เศษอิฐ หิน ดิน ปูน ที่แตกออกกระจัดจายไป ทุกสิ่งก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพระเจดีย์อยู่ มากไปกว่านั้น แต่ละเม็ดดิน เม็ดหิน เม็ดปูนที่กระเทาะออกไป ก็คือ พระเจดีย์ที่มีชีวิตและลมหายใจมากมายที่กำลังเติบโตอย่างเงียบๆ เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ต่อไปไม่สิ้นสุด ไม่ว่าอยู่ตรงไหนที่เมล็ดโพธิ์หยั่งรากไปถึง แม้ในซอกตก หลังหลวดหนาม เมื่อต้นโพธิ์เติบโตขึ้นมีร่มใบ เงาของต้นโพธิ์ก็ให้ความร่มเย็นไปทุกที่ดุจเดียวกัน
“เพราะแท้จริงแล้ว มองให้ดี แก่นของต้นไม้ หรือ แก่นของพระพุทธศาสนา ย่อมต้องมีเปลือกห่อหุ้ม จึงสามารถรักษาต้น และรักษาพระพุทธศาสนามาได้กว่า สองพันหกร้อยกว่าปี ถ้าขาดเปลือกเสียแล้ว แก่นก็อยู่ไม่ได้ การที่เราพบกับควมสูญเสีย ก็คือ ธรรมที่แท้ แล้วเราก็กอบเศษดิน เศษอิฐ หิน ปูนทราย แห่งความสูญเสียนั้นขึ้นมาพิจารณา ธรรมะก็อยู่ในนั้นทุกอณู …
“อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา …เห็นไหม”
สัจธรรมซ่อนตัวบอกเราอยู่ในทุกสิ่ง
ใช่แล้ว แม้ว่าคุณแม่จากไป แต่ท่านก็ยังอยู่ในใจเรา และคอยพร่ำสอนอยู่เสมอ หากเราคอยฟังอย่างตั้งใจ…
และพ่อแม่ครูอาจารย์ก็คือ พ่อแม่ของเราที่คอยพร่ำสอนเราทุกเวลาเช่นกันหากเราตั้งใจฟังให้ดี และฝึกหัดขัดเกลาตน…เราก็จะเติบโต
ทุกอย่างเป็นความสืบเนื่อง ไม่มีอะไรสูญหายไปเลยสักอย่างเดียว
ผู้เขียนเปิดบันทึก “รำลึกวันวาน… มโนปณิธาน ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ” ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียนที่เคารพศรัทธาเหนือเศียรเกล้า เพื่อเป็นพละ เป็นกำลังใจในการก้าวเดินต่อไปของผู้เขียนให้ดำรงสติอยู่ให้ได้ ท่ามกลางสิ่งเราต้องเผชิญ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การเดินทางของเมล็ดโพธิ์ จะต้องเติบโต และดำเนินต่อไป อย่างกล้าหาญทางธรรม ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณคอยสอนสั่งเมื่อครั้งกระโน้น…
จากคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” นสพ.คมชัดลึก หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
การเดินทางของเมล็ดโพธิ์
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระพุทธศาสนาในเมืองไทยเหมือนต้นไม้ที่มีลำต้นมาจากรากเดียวกัน คือ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแตกออกเป็น ๒ กิ่งใหญ่ คือ เถรวาท (คณะสงฆ์ไทย) และ มหายาน แล้วกิ่งเถรวาทก็แตกออกเป็นก้านธรรมยุต และมหานิกาย ส่วนก้านมหายาน ก็แตกออกเป็น จีนนิกายและ อนัมนิกาย(ญวนหรือเวียดนาม) แล้วก็งอกออกเป็นใบให้ร่มเงาได้ร่มเย็น ซึ่งก็คือ พิธีกรรมทางศาสนาตามจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของนิกายที่นับถือ
เราจึงเห็นพระสวดศพแบบไทย แบบจีน แบบญวน ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกอะไร ขึ้นอยู่กับว่าเราไปงานศพของใคร ใช้พระไทย พระจีน หรือพระญวนสวด แม้ในพิธีกรรมอื่นๆ ก็เช่นกัน ขึ้นบ้านใหม่พระไทยอาจเจิม ส่วนพระจีน พระญวนอาจแปะยันตร์ ก็ไม่ได้แปลกในสังคมไทยในอดีต
ในเมืองไทยเราถือกันมาอย่างนี้ช้านาน เกือบจะเป็นลักษณะพิเศษของชาวพุทธเมืองไทย ใครทุกข์ร้อนสิ่งใด ก็ใช้พระศาสนาทั้งในแง่ของคำสอนและพิธีกรรมแก้ทุกข์ด้วยวิธีที่เหมาะแก่อัธยาศัย และจริตของตน ก็พอผ่อนคลายทุกข์ในจิตไปได้
เราจึงเห็นการไปไหว้พระ ๙ วัด เพื่อเป็นสิริมงคล การไปเสี่ยงเซียมซี เพื่อดูโชคชะตา และป้องกันเหตุร้ายด้วยการสะเดาะเคราะห์ เราจึงเห็นพระประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อช่วยปัดเป่าความทุกข์ในใจของผู้คน ซึ่งก็มีมาแต่สมัยครั้งพุทธกาล ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดภัยพิบัติในกรุงเวสาลี นครหลวงแห่งแคว้นวัชชี ซึ่งเคยเป็นเมืองมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เนืองแน่นไปด้วยอาณาประชาราษฎร์
คราวนั้น ฝนแล้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ผู้คนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกอมนุษย์ได้กลิ่นซากศพก็เข้าสู่นคร ทำอันตรายแก่หมู่มนุษย์ ทำให้คนตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อความไม่สะอาดปฏิกูลแพร่กระจายไป โรคระบาดก็เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเหลือที่จะนับได้ จนกระทั่งต้องทูลเชิญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาช่วยปัดเป่าภัยพิบัติ
พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นว่า หากพระองค์เสด็จไปกรุงเวสาลี ประโยชน์ ๒ อย่างจักเกิดขึ้น คือ ๑. พระองค์จะแสดงรัตนสูตรในสมาคมนั้น เป็นเหตุให้ชาววัชชีได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุมรรคผลเป็นอันมาก ประการหนึ่ง และ ๒. ภัยพิบัติทั้งหลาย จะสงบเพราะการเสด็จไปของพระองค์อีกประการหนึ่ง
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับยืนที่ประตูพระนครเวสาลี ทรงรับสั่งให้พระอานนท์เรียน รัตนสูตร กล่าวสัจจะอันอาศัยคุณพระรัตนตรัย เพื่อกำจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายภัยพิบัติทั้งปวง พระอานนท์เอาน้ำใส่บาตรของพระพุทธองค์ เดินสวดรัตนสูตร พลางประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปทั่วพระนคร
พอพระอานนท์เถระขึ้นบท “ยังกิญจิ วิตตัง ฯลฯ “ พวกอมนุษย์ที่ยังไม่หนีไปไหนตั้งแต่แรกที่พระพุทธองค์เสด็จมา ได้แอบอยู่ตามที่ต่างๆ ก็ทนไม่ไหว ชิงกันหนีกระเจิงออกไปจากพระนครกันหมด พอพวกมนุษย์ออกไป โรคในตัวมนุษย์ก็หาย ผู้ที่หายจากโรคก็ลุกออกมาบูชาพระอานนท์เถระด้วยเครื่องบูชาต่างๆ
เห็นได้ว่า ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามาจนถึงบูรพาจารย์เราท่านประคับประคองรักษาความสมดุลทางศาสนากันมาเช่นนี้ หากฆราวาสในปัจจุบัน เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ ที่ห่อหุ้มแก่นธรรมไว้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา ก็คงไม่พบกับปัญหา การวิพากษ์วิจารณ์พระจนเสียๆ หายๆ เพราะอยากจะให้พระสงฆ์เป็นแบบเดียวกันตามที่ตนเองคิด ผิดจากนี้ไม่ใช่ ก็คงไม่เกิดขึ้น
การที่เรามองพระพุทธศาสนาเชิงวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมอย่างเปิดใจจะทำให้เราเห็นภาพรวมของพระพุทธศาสนาที่เป็นต้นโพธิ์ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาไปกว้างไกล ให้ร่มเงาเป็นที่พักพิงอาศัยของมนุษย์ และสัตว์น้อยใหญ่ เฉกเช่นพระอาทิตย์ พระจันทร์ สายลม และเมฆฝน ที่ประพรมลงมายังผืนดินอย่างไม่เคยเลือกปฏิบัติมาตลอดกาลนาน
ยิ่งพระสงฆ์เราในปัจจุบัน ยกจิตให้สูงขึ้น มองญาติโยมด้วยแววตาแห่งความเมตตา อบอุ่น อ่อนโยน ปรารถนาดี ทำความรู้สึกว่า ญาติโยมเป็นเหมือนญาติพี่น้องของเรา บาลีว่า วิสฺสาสปรมา ญาติ แปลว่า ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
ความคุ้นเคยในที่นี้นั้น หมายถึง ความไว้วางใจกันได้ เกื้อกูลกันได้ ไม่อยากให้เขาทุกข์ เดือดร้อนใจ หากพระเห็นญาติโยมเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้เมล็ดโพธิ์ที่แม้แต่นกได้ถ่ายมูลไว้ เมื่อไปเติบโตในที่แห่งใด จักเป็นร่มเงาแห่งความเย็นใจต่อไปไม่สิ้นสุด
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ ตอนที่ ๑๙
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
“นั่งเงียบๆ ฟังเสียงหัวใจพูด”
ถ้าอยากรู้จักจิตก็ลองนั่งเงียบ ๆ แล้วลองฟังเสียงพูดในหัวของเรา อยู่เฉย ๆ ไม่พูดออกมาทางปาก ไม่ได้ยินเสียงพูดทางหู แต่ก็จะได้ยินเสียงพูดอยู่ในหัว ทั้งถาม ทั้งตอบ อยู่ในคนคนเดียว บางเสียง ก็ถกเถียงกันเองสับสนอลหม่าน เหมือนมีคนอยู่ในหัวเป็นร้อย ๆ คน บางเสียงก็บ่นเพ้อรำพึงรำพันน้อยเนื้อต่ำใจ บางเสียงก็หยิ่งยโสโอหัง บางเสียงก็อวดดื้อถือดี บางเสียงก็ด่าทอท้าทาย บางเสียงก็กราดเกรี้ยวดุดัน ให้ลองนั่งเงียบ ๆ ฟังเสียงพูดดังก้องอยู่ในหัวของตัวเอง
อยากรู้จักจิตก็ต้องฟังเสียงเขาพูดบ้าง ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ว่าเขาพูดอะไร เขาบ่นอะไร เขาไม่พอใจอะไร เขาร้องขออะไร เขาทุกข์เรื่องอะไร เขาสุขเรื่องอะไร บางทีเขายังไม่พูดให้จบเราก็ห้ามแล้ว “หยุด!”
เมื่อไม่ให้จิตได้พูดบ้าง ก็เลยไม่มีโอกาสได้รู้จักจิต ถ้าอยากรู้จักจิตก็ฟังเสียงของใจพูดบ้าง จะบ่นก็ฟัง จะว่าก็ฟัง จะแสดงความขัดเคืองก็ฟัง พอใจก็ฟัง ไม่พอใจก็ฟัง จะร้องทุกข์กล่าวโทษก็ฟัง ฟังเฉย ๆ เหมือนฟังเสียงเด็กไร้เดียงสาพูด ไม่ถือสาหาความเอาเป็นประมาณ วิธีที่จะรู้จักจิต คือ หยุดฟังเสียงของใจที่ดังก้องอยู่ในหัว เมื่อฟังเสียงหัวใจพูดแล้ว เราก็จะได้ข้อยุติว่า อ๋อ! จิตก็คือความคิดนั่นเอง แต่เมื่อว่าโดยภาษา “จิต มโน วิญญาณ” ก็ทำให้เหมือนมีความหมายที่พิเศษออกไปอีก ต้องวิเคราะห์ ต้องแจกแจงศัพท์จนดูเป็นคำที่พิเศษขึ้นมา
อันที่จริง เสียงที่ดังก้องอยู่ในหัวเรา ก็คือความคิดนั่นแหละ
การปฏิบัติสมาธิจึงเป็นเรื่องของการเฝ้าสังเกตดูความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามอารมณ์ที่จิตรับมาอย่างมีสติ
เราจึงพูดว่า อารมณ์ดีบ้าง อารมณ์เสียบ้าง ภาษาของการปฏิบัติก็ว่า สังขารปรุงแต่งไปเป็นดี เป็นเสีย เป็นสุข เป็นทุกข์ สังขารก็คือการปรุงแต่ง การปรุงแต่งก็คือ “คิด”
จิตก็คิดไปเรื่อยตามแต่อารมณ์จะพาไป จิตก็เลยมีการคิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ขัดเคืองใจบ้าง วนไปไม่สิ้นสุด เมื่อต้องมาฝึกหัดสมาธิในช่วงแรก เราก็จะได้ยินเสียงพูดเสียงบ่นแบบนี้อยู่ในหัวสับสนไปหมด แล้วเราก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับตนเองว่า “ทำไมจึงไม่สงบทำไมจึงฟุ้งซ่าน”
แม้ไม่สงบ กำหนดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็นั่งฟังจิตบ่นนั่นแหละ ฟังอย่างผู้สังเกตการณ์ ฟังอย่างผู้รู้ อย่างมีสติไม่ต้องเข้าไปร่วมวงสนทนา ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงจิต ปล่อยให้จิตพูดไปอย่าไปพูดแข่งกับจิต อย่าไปทะเลาะกับจิต
บางครั้งก็ดูลมหายใจ บางครั้งก็ดูความคิด บางครั้งก็ดูความคิด บางครั้งก็ดูลมหายใจ สลับกันไปมา แล้วจิตก็จะรวมดวงลงที่ลมหายใจ แม้จิตจะรวมดวง เราก็เป็นแต่เพียงผู้รู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์เท่านั้น อย่าไปสำคัญมั่นหมาย อย่าไปดีใจ อย่าไปเสียใจ ดูเลยๆ
ผู้รู้คือใคร?
ผู้รู้ก็คือจิตนั่นแหละเป็นผู้รู้
เพียงแต่เป็นจิตส่วนที่มีสติทำหน้าที่ให้ระลึกรู้ เป็นจิตส่วนสติปัญญา บางครั้งจิตก็ลืม บางครั้งจิตก็รู้ เมื่อเราต้องการให้จิตรู้มากกว่าลืม เราก็พยายามฝึกจิตให้รู้บ่อยๆ จิตเหมือนเด็กอ่อน สติเหมือนพี่เลี้ยง สติก็ค่อยบอกค่อยสอนจิตให้ความระลึกรู้เติบโตเข้มแข็งขึ้นมาไม่ต่างจากพี่เลี้ยงสอนเด็ก
ผู้ไม่รู้คือใคร?
ผู้ไม่รู้ก็คือจิตอีกนั่นแหละที่ไม่รู้
เป็นจิตส่วนที่ขาดสติ
พอจิตเผลอเรอขาดสติก็ไม่รู้ ก็หลงไปตลอดสาย ก็หลงคิดปรุงแต่งไปตามอำนาจของกิเลสที่แฝงอยู่ในจิต จนกว่าจะมีสติระลึกรู้ขึ้นมา ความรู้กับความไม่รู้อยู่ในจิตนี่แหละ อันเดียวกัน
ถ้าต้องการให้จิตรู้ก็ต้องใช้สติตีเอาความไม่รู้ออกไป เมื่อมีสติระลึกรู้มากขึ้นเท่าไหร่ ความไม่รู้ก็จะยิ่งหมดไปเท่านั้น เหมือนเวลาตีดาบเพื่อให้ได้ความคม เขาก็เผาเหล็กตีเอาสนิมออก เพื่อตีดาบให้ได้คมจึงต้องเผาเหล็กแล้วก็ตี เผาแล้วก็ตี จนกว่าเหล็กจะกล้า ตีดาบให้ได้คมเหมาะแก่การใช้งาน
เมื่อจะฝึกจิตให้เกิดความรู้ต้องใช้สติตีเอาสนิมในใจ คือ ความไม่รู้ออกจากจิต ต้องใช้ความเพียรพยายามที่เรียกว่า “อาตาปี” ขนาบเข้ามาให้ใจกล้าขึ้น พอสนิมในใจออกหมดก็เป็นใจเดิมแท้ เหมาะแก่การปรับรูปให้กลายเป็นใจผู้รู้ขึ้นมา จะปรับไปทางไหนก็ได้ เหมือนเหล็กที่ถูกเผาตีเอาสนิมออกจากเนื้อเหล็ก ก็เหลือเหล็กแท้ จะปรับรูปทรงไปทางไหนก็ได้ จะให้เป็นเล่มเล็กเล่มใหญ่ โค้งงอแบบใหนเพื่อให้เหมาะแก่การใช้งานก็ทำได้
โปรดติดตามตอนต่อไป
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๔ “เราต้องรักความจริง เชื่อมั่นในความดี และ กล้าหาญทางธรรม เมล็ดโพธิ์จึงจะหยั่งรากและเติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคงเป็นร่มโพธิ์ให้กับผู้อื่นได้…” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์