วันนี้วันครู ผู้เขียนขอกราบแทบเท้าคุณแม่ในหัวใจของลูก ที่แม่ให้ชีวิตลูก ดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างทะนุถนอม ครั้นเติบโตมา คุณแม่ก็ให้การศึกษากับลูกมาโดยตลอด แม้ลำบากอย่างไร แม่ก็ไม่เคยปริปากบ่น อดทนเลี้ยงลูกจนโตทำงานได้ แม่ก็ยังห่วงลูกๆ ตลอดเวลา ผู้เขียนระลึกถึงคุณแม่แทบทุกลมหายใจเข้าออก
และระลึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น อยู่เสมอ และน้อมนำมาปฏิบัติทุกวัน ตามรอยท่าน ตามรอยปฏิปทาของท่าน ท่านอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา เสียสละทุกอย่างเพื่อธรรมมาโดยตลอด ผู้เขียนจึงรำลึกถึงท่านเสมอ ระลึกถึงคำสอนของท่าน ที่มาจากการปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ ตั้งแต่เป็นสามเณรน้อยอายุเพียงสิบสองสิบสามปี ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
ได้ขอหลวงพ่อไปอยู่อุปัฏฐากท่านพระอาจารย์พระมหามังกร ปัญญาวโร หรือ หลวงตาน้อย ที่วัดป่า เพราะไม่อยากลาสิกขา เนื่องจากโยมพ่อกับโยมแม่อยากให้ไปเรียนหนังสือต่อ แต่ท่านมีความปรารถนาที่จะอยู่ในสมณเพศตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะเห็นทุกข์จากการตายของแม่ชีท่านหนึ่งที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง…
ที่วัดป่า กลางป่าใหญ่ใกล้หาดบุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี เวลาครูบาอาจารย์ท่านไม่อยู่ ท่านก็สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ทำกิจวัตรของสงฆ์มิได้ขาดตกบกพร่องในแต่ละวัน อีกทั้งที่วัดป่า ที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง ก็เป็นที่ซึ่งพระป่ามาปักกลดปฏิบัติธรรม และสอนธรรมแก่ชาวบ้านในแถบนั้นไม่ได้ขาด ตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนถึงศิษยานุศิษย์ของท่านคือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระมหามังกร ปัญญาวโร ก็มาสอนกัมมัฏฐานให้กับพระเณรและชาวบ้านอยู่เสมอ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมื่อครั้งเป็นสามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม ท่านก็ได้รับการมอบหมายให้อุปัฏฐากพระเถระที่เดินทางมาปฏิบัติธรรม สอนธรรมอยู่ตลอด ซึ่งมากันคราวละหลายรูป ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เวลาพระเถระมากันคราวหนึ่ง ก็ภาวนาและแสดงธรรมกันจนถึงเที่ยงคืน ย่ำรุ่งก็มี สถานที่จำวัดของแต่ละท่านก็อยู่บริเวณศาลาทำวัตรสวดมนต์เล็กๆ นี้ และท่านก็ช่วยพระเถระปักกลดทุกครั้ง ที่จำได้คือ หลวงพ่อวัดเทพศิรินทร์ก็มาเป็นประจำ ทำให้วัดป่าริมน้ำมูล ที่บ้านปากน้ำบุ่งสระพังแห่งนี้เป็นที่ฝึกกัมมัฏฐานของพระป่ามาโดยตลอด
ด้วยความกตัญญูต่อพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง และด้วยรำลึกถึงพระคุณอังยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นที่สุด
ผู้เขียนขอน้อมนำบันทึก รายงานพิเศษเรื่อง “ราชวงศ์อังกฤษกับพระพุทธศาสนา” จากนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๕๔ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งได้สัมภาษณ์ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดไว้ในครั้งนั้น มาเล่าสู่กันฟังในวันครู วันแห่งความเคารพบูชาครูของมวลมนุษยชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสูงสุด ด้วยคำสอนที่สามารถดับทุกข์ในใจของผู้คนบนโลกนี้ได้อย่างดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ ด้วยการปฏิบัติตามรอยพระพุทธองค์ สันติในใจย่อมปรากฏ และย่อมทำให้โลกนี้สงบเย็นเป็นผลอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ๒๖๐๐ กว่าปี
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๓ “ครั้งหนึ่งในชีวิตกับเจ้าชายโกสเตอร์ ซึ่งสนพระทัยในพระพุทธศาสนา”
เมื่อเจ้าชายโกสเตอร์( His royal Highness The Duke of Gloucester ) แห่งราชวงศ์อังกฤษ สนพระทัยที่จะปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่น่าปีติเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์จะนำความสงบเย็นไปสู่สหราชอาณาจักร
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น เล่าว่า เดิมทีพระองค์สนพระทัยในทุกศาสนาอยู่แล้ว แต่สำหรับพระพุทธศาสนาพระองค์สนพระทัยเป็นพิเศษก็คือ พระองค์ทรงอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่หลายๆ เรื่อง แล้วมีโยมท่านหนึ่ง คือ คุณเจนนี่ ลอยน์ตั้นซึ่งเป็นที่ปรึกษาสมเด็จพระราชินีอลิซซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นชาวพุทธที่มาจากมาเลเซีย แล้วโยมท่านนี้ก็ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย จนได้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระราชินีอลิซซาเบธที่ ๒
“คุณเจนนี่มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสันติวงศาราม เมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักรจึงคุ้นเคยกับพระธรรมทูตที่นั่น ส่วนในพระราชวัง ก็คุ้นเคยกับเจ้าชายโกสเตอร์ ซึ่งเป็นโอรสของพระเชษฐาของสมเด็จพระราชินีอลิซซาเบธที่ ๒ แล้วก่อนหน้านั้น เจ้าชายโกสเตอร์ไปอ่านเจอหนังสือธรรมะ ก็มีข้อสงสัยว่า
ทำไมการจะเป็นพระ จึงต้องอยู่ในเขตลูกนิมิต
ลูกนิมิตเป็นอย่างไร
จึงทำให้คนธรรมดาเป็นพระได้
“คุณเจนนี่ก็เลยมาถามพระธรรมทูตที่วัดสันติวงศาราม พระธรรมทูตเราก็ตอบว่า ลองทูลเชิญเสด็จท่านมาที่วัดสิ ท่านจะมาไหม คุณเจนนี่ก็บอกว่า จะลองทูลเชิญเสด็จดู แล้วในที่สุดพระธรรมทูตไทยก็ทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นประธานเปิดอาคารปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในสหราชอาณาจักร โดยที่คุณเจนนี่ เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ ที่ ๒ ร่วมถวายการต้อนรับ ในวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมา”
วันนั้น พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เปิดอาคารปฏิบัติธรรมที่วัดสันติวงศาราม เมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร
ประชาชนชาวไทยในอังกฤษต่างก็ปลาบปลื้มยินดีในการเสด็จมาของพระองค์ นับเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์อังกฤษเสด็จมาวัดไทยในอังกฤษ ทำให้เหมือนชาวไทยอยู่ในประเทศไทย เพราะชาวไทยเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์คู่กับสถาบันพระศาสนาเหนือสิ่งอื่นใด สำหรับชาวเมืองเบอร์มิงแฮมต่างมีความยินดี เนื่องจากนานมากแล้วที่เจ้านายชั้นสูงในราชวงศ์อังกฤษไม่ได้เสด็จมายังเมืองเบอร์มิงแฮม
พระองค์ตรัสในพิธีเปิดงานว่า
ทรงดีใจที่ได้มีโอกาสร่วมพิธีกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
“การมาครั้งนี้เหมือนพระองค์ได้ให้รางวัลในวาระพิเศษแก่ตนเอง และรู้สึกยินดีที่ได้เห็นพระสงฆ์ในแผ่นดินอังกฤษ ทรงทราบว่าพระสงฆ์ทำงานในประเทศไทยเพราะรักแผ่นดินไทย และหวังว่า พระสงฆ์จะรักแผ่นดินอังกฤษเหมือนกับที่รักประเทศไทย”
ภายหลังเปิดอาคารเสร็จ พระองค์เสด็จออกไปด้านนอกเพื่อทอดพระเนตรลูกนิมิตที่ทรงเคยสงสัยว่า ทำไมการเป็นพระได้จึงจะต้องมาอยู่ในเขตลูกนิมิต ซึ่งก็คือ
“เพราะเขตพัทธสีมา
สามารถทำการบวชภิกษุสามเณรได้”
ในเวลานั้น พระธรรมทูตยังทูลกับพระองค์ว่า ต่อไปถ้าจะทูลเชิญเสด็จเยือนประเทศไทย เพื่อชมวัดสระเกศฯ พระองค์จะเสด็จไหม เพราะที่วัดสระเกศ มีประวัติอันยาวนานด้านพระพุทธศานา และ ภูเขาทอง เป็นศาสนสถานที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร ทรงรับสั่งว่า นั่นคงจะเป็นข่าวที่วิเศษสำหรับพระองค์
และหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับพระราชวัง ก็มีจดหมายขอบคุณจากสมเด็จดู๊คอ๊อฟกลอสเตอร์แห่งอังกฤษ (HRH The Duke of Gloucester’s thanking letter) ข้อความในจดหมายตอนหนึ่ง ทรงเปิดเผยว่า
การเสด็จมาวัด เป็นประสบการณ์ที่แสนวิเศษสำหรับพระองค์ ที่ได้ใกล้ชิดพระสงฆ์ ซึ่งจะเป็นความทรงจำที่งดงาม ทรงไม่อยากไปที่อื่น อยากอยู่ร่วมงานกับพระสงฆ์ไปจนจบ เป็นสิ่งพวกเราชาวไทยและพุทธศาสนิกชนปลื้มปีติใจเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ท่านชมว่า คนไทยเรียบร้อย น่ารักมากๆ
ความจริงแล้ว ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของราชวงศ์อังกฤษ ไม่ได้เริ่มต้น ณ พ.ศ.นี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๖ สมเด็จพระราชินีอลิซซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โอ.บี.อี. แด่พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม) เจ้าอาวาสวัดป่าสันติธรรม เมืองวอรรัค ประเทศอังกฤษ มาแล้ว
หลวงพ่อเขมธัมโม เป็นชาวอังกฤษ และเป็นศิษย์หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากบวชเรียนและได้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ชา เป็นเวลา ๕ ปี ก่อนที่หลวงปู่ชาได้รับนิมนต์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษ ท่านก็ได้ติดตามไปช่วยในเรื่องภาษา จนกระทั่งมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ท่านได้ก่อตั้งที่พักสงฆ์ในประเทศอังกฤษ และอุทิศชีวิตบำเพ็ญประโยชน์ทางด้านการสอนพระพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมให้แก่นักโทษเป็นเวลากว่า ๒๗ ปี จนได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ จากสมเด็จพระราชินีอลิซซาเบธที่ ๒ ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนให้ท่านได้ทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกอยู่กองทุกข์ให้ออกจากทุกข์ได้ง่ายขึ้นในประเทศอังกฤษและทั่วโลก อันเป็นหน้าที่ของพระธรรมทูตทั่วโลกในการทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้คนให้เห็นทุกข์และออกจากทุกข์ ตามรอยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอย่างไม่ขาดตอน
ต่อมาในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ มหาเถรสมาคม โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้เสนอขอพระราชทานสมณศักดิ์แก่หลวงพ่อเขมธัมโม เป็นท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิเทศ
เพื่อยกย่องคุณงามความดีที่ได้เผยแผ่พุทธธรรมด้วยความวิริยะอุตสาหะ
ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น เมตตาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เพื่อแบ่งปันให้ผู้คนได้ทราบว่า การทำงานของพระสงฆ์และพระธรรมทูตทั่วโลกนั้นมีมากมายในการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากกองทุกข์ ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเลขหรือจำนวน แต่วัดได้จากความสงบและสันติธรรมที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ได้รับธรรมะและน้อมนำไปปฏิบัติจนเกิดความร่มเย็นแก่จิตใจตนเอง และคนใกล้ชิดในครอบครัว ตลอดจนสังคมก็จะได้รับอานิสงส์แห่งความปลอดภัยทุกด้านจากที่ผู้คนประพฤติศีล สมาธิ และมีปัญญาในการพึ่งตนเอง ดับทุกข์ตนเองในใจได้
ดังที่ เจ้าชายโกสเตอร์( His royal Highness The Duke of Gloucester ) แห่งราชวงศ์อังกฤษ ทรงสนพระทัยที่จะปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่น่าปีติเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์จะนำความสงบเย็นไปสู่สหราชอาณาจักร
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๓ “ครั้งหนึ่งในชีวิตกับเจ้าชายโกสเตอร์ ผู้สนพระทัยในพระพุทธศาสนา ” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ล้อมกรอบ
บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ
โดย พระราชกิจจาภรณ์
(เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๑๘
การรับรู้เป็นหน้าที่ของจิต
ความเดิมจากตอนที่แล้ว…
เวลาเฝ้าสังเกตดูกระแสความคิด ให้ทำความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ริมตลิ่งเฝ้ามองดูสายน้ำที่กำลังไหลไป อย่างไม่ได้ตั้งใจเพ่งมองจุดใดจุดหนึ่ง น้ำในแม่น้ำไหลไปก็เห็นเป็นกระแสน้ำ บางครั้งก็เห็นระลอกคลื่นกระฉอกบาง ๆ บนพื้นผิวกระแสน้ำ เพราะถูกลมภายนอกกระทบ แต่ไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้กระแสน้ำกระเพื่อมขึ้นมา เพียงแต่ลมทำให้เกิดระลอกคลื่นเล็กน้อยที่พื้นผิวเท่านั้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอพายุโหมกระหน่ำ หรือเจอแผ่นดินไหว กระแสน้ำก็จะกระเพื่อมปั่นป่วนขึ้นมาอย่างบ้าคลั่ง อาจทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าให้พินาศได้
อารมณ์ภายนอกไม่สามารถทำให้จิตที่เข้าถึงความเป็นเอกภาพมีความสมดุลเป็นกลางกระเพื่อมปั่นป่วนขึ้นมาได้ แม้อารมณ์ภายในก็ไม่ก่ออันตราย เพราะอยู่ในสายตาแห่งสติคอยระลึกรู้ อารมณ์ใดเกิดขึ้นก็รู้เฉย ๆ ไม่สำคัญมั่นหมาย แล้วก็จะตัดความคิดให้ขาดตกไปเป็นท่อนๆ สติในฐานะฝ่ายวิชชา จะคอยตัดความคิดฝ่ายอวิชชาให้ขาดตอนอยู่เสมอ
การรับรู้เป็นหน้าที่ของจิต
จิตคืออะไร?
จิตคือการรับรู้สภาวะใดที่รับรู้ สภาวะนั้นแหละคือจิต จิตคือความคิด สภาวะใดที่คิด สภาวะนั้นแหละคือจิต สภาวะใดที่ปรุงแต่งจินตนาการ สภาวะนั้นคือจิต ดังนั้น จิตก็คือสภาวะที่เกิดการรับรู้ จดจำ นำมาสู่การคิด ปรุงแต่งจินตนาการ
เมื่ออธิบายแบบภาษาทางธรรมก็ว่า จิตคือสภาวะที่รับรู้อารมณ์ สิ่งที่ทำให้จิตเกิดการรับรู้อารมณ์ขึ้นมาเรียกว่า “เจตสิก” เครื่องประกอบจิต ร่างกายมี ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นส่วนประกอบ แม้จิตก็มีเจตสิกเป็นเครื่องประกอบ ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ ชอบ ชัง ขัดเคือง เรียกว่า “เวทนา” ความจดจำ ความหมายรู้ เรียกว่า “สัญญา” และความคิดปรุงแต่งจินตนาการไปตามความอยาก ความคาดหวัง ความโกรธ เกลียด พยาบาท และความลุ่มหลง หดหู่ ฟุ้งซ่าน เป็นต้น เรียกว่า “สังขาร”
จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างที่จะจับต้องได้ แต่สามารถรับรู้การมีอยู่ของจิตได้ด้วยความรู้สึก (เวทนา) รู้สึกว่าเป็นสุข รู้สึกว่าเป็นทุกข์ รู้สึกว่าพอใจ ไม่พอใจ รู้สึกว่าชอบ ชัง ขัดเคืองใจ เรารับรู้ว่าจิตมีอยู่ ผ่านความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวนี้
เมื่อใดก็ตามที่เกิดความรู้สึกนึกคิด ก็ให้รู้ว่า จิตนั่นเองเป็นผู้คิดเหมือนเห็นใบไม้ไหวก็รู้ว่ามีลมพัด ลมไม่มีรูปร่างที่จะมองเห็นได้ อยากจะรู้ว่ามีลม สายตาก็เพ่งที่ยอดไม้ยอดหญ้าเอาไว้ พอยอดไม้ ยอดหญ้าไหวก็รู้ว่ามีลมพัด จะรู้ว่ามีจิตก็คอยสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกายเอาไว้ พอร่างกายเคลื่อนไหว นั่นแหละจิตไหว
ความรู้สึกนึกคิดนั้น ดำเนินไป ๒ ด้าน คือรู้สึกนึกคิดไปตามอำนาจของกิเลสที่แฝงอยู่ในจิตให้คิดปรุงแต่งไปเช่นนั้น และรู้สึกนึกคิดไปอย่างนั้น ก็เพราะมีเจตนาที่จะคิดอย่างนั้น อันหนึ่ง คิดเพราะกิเลสชักให้คิดไปอย่างนั้น อีกอันหนึ่ง คิดเพราะเรามีเจตนาจะคิดอย่างนั้น
บางครั้งจิตใจก็เลื่อนลอยไปอย่างไร้เหตุผล
บางครั้งก็นั่งนึกตรึกตรองไปด้วยความตั้งใจ
สรุปแล้ว ความคิดนั่นแหละคือจิต ภาษาไทยเรียกว่าใจ บางทีก็เรียกรวมกันว่า “จิตใจ” แต่พอสมมุติคำขึ้นมาใช้เรียกสภาวะการรับรู้หรือความคิดว่า “จิต” บ้าง “มโน” บ้าง “วิญญาณ” บ้าง ก็มีคำอธิบายตามมาอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็น จิต มโน วิญญาณ ก็คือคำที่บัญญัติขึ้นมาใช้เรียกแทน “สภาวะการรับรู้” เมื่อเกิดการรับรู้ก็ให้เรียกสิ่งนั้นว่า “จิต” บ้าง “มโน” บ้าง “วิญญาณ” บ้าง แล้วแต่ว่าจะอยู่ในบริบทไหนของคำพูด และสภาวะการรับรู้ที่เรียกว่าจิตนี้ก็รู้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะกิเลสชักนำให้เป็นอย่างนั้นบ้าง เพราะมีเจตนาที่อยากจะรู้อย่างนั้นบ้าง ตามแต่จะกระทบเข้ากับอารมณ์ใด เมื่ออยากให้จิตคิดไปในทางดี จึงต้องฝึกหัดจิตให้รู้จักคิดดี
(โปรดติดตามตอนต่อไป )