“เราต่างมีความรับผิดชอบต่อความดีงามร่วมกันของสังคม “
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๔๐
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
“ภาพเหมือนที่ผมชอบเขียนที่สุดคือภาพพระสงฆ์ เพราะเขียนได้ง่ายและท่านนำจิตใจเราไปสู่ความดี กิเลสลดลง”
คือคำกล่าวของ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชูศิลปินต้นธารศิลป์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนภาพเหมือนบุคคลอันดับต้นๆ ของเมืองไทยและอาจารย์สอนศิลปะแห่งรั้วเพาะช่าง กล่าวกับ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ก่อนที่อาจารย์ปัญญาจะจากไปอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ หรือเมื่อประมาณ ๓ ปีก่อน
อีกศาสตร์หนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาคือ ศิลปะ ที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณในขณะนั้นให้ความสำคัญมาโดยตลอด ไม่เพียงผลงานศิลปะเท่านั้น ท่านยังใส่ใจส่งเสริมศิลปินที่ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านศิลปะทุกแขนงด้วย โดยการริเริ่มสนับสนุนศิลปินได้มีโอกาสในการจัดแสดงงานศิลปะในวัด เป็นการนำศิลปะกลับคืนสู่วัด ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อนในโครงการ “นิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์”
ดังที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” ตีพิมพ์ในปีพ.ศ.๒๕๕๖ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ตอนหนึ่งว่า
เพราะชาวไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ศิลปะที่ออกมาจากศิลปินที่ใกล้ชิดกับวัดจึงเป็นดั่งสื่อธรรมอันสุนทรีย์ที่จะส่งผ่านความเย็นใจไปสู่ผู้รับได้ไม่ยากนัก ผ่านศิลปินที่ได้บ่มเพาะขัดเกลากิเลสในใจตนจากพระสงฆ์ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์มาก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ
“ศิลปินที่เรียนรู้มาจากวัด จะอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะครูบาอาจารย์จะขัดเกลาให้ลดอัตตาในการสร้างงาน ศิลปะที่ออกมาจึงเป็นงานที่บริสุทธิ์”
อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีความงดงามจากภายในก่อนส่งผ่านออกมาเป็นงานศิลปะมาโดยตลอดชีวิต ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ เคยไปเยี่ยมอาจารย์ปัญญาที่บ้าน ในห้องทำงาน ซึ่งอาจารย์ปัญญาได้กรุณาเล่าถึงว่า ตนเองก็เป็นเด็กวัดสระเกศ ตอนเรียนวาดภาพก็วาดภูเขาทองเป็นแบบ
“เคยวาดภาพถวายสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วาดเป็นพระองค์แรก ติดอยู่กลางตำหนักสมเด็จ สวยงามและโดดเด่นที่สุด”
ท่านเล่าด้วยความปีติและภูมิใจที่ได้วาดภาพนั้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ ท่านก็ได้วาดภาพถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในนิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ ในโอกาสครบ ๘๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ , ๕ ปีสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นต้น
ตลอดชีวิตของการเป็นศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะที่รั้วเพาะตั้งแต่เริ่มบรรจุกระทั่งเกษียณอายุราชการ เป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี ท่านอาจารย์ปัญญาได้ทุ่มเทสร้างงานศิลปะที่โดดเด่นโดยการวาดภาพเหมือนบูรพมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนบุคคลสำคัญในประเทศไทยมากมายหลายท่าน
นอกจากชื่อของ อาจารย์ปัญญาจะเป็นที่กล่าวถึงในแง่ของการเป็นครูผู้ทุ่มเทและมีความเมตตากับลูกศิษย์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีฐานะยากจน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนศิลปะและทำงานศิลปะต่อไปได้ โดยอาจารย์ปัญญามักจะเจียดรายได้ส่วนหนึ่งของตัวเองมาช่วยเหลือเสมอ
ผลจากการอุทิศตนรับใช้สังคมทั้งทางด้านศิลปะและพระพุทธศาสนา ทำให้ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ มูลนิธิ ม.ล.ปิ่น มาลากุล มอบรางวัล “ศาสตรเมธี” สาขาศิลปกรรมศาสตร์ด้านจิตรกรรมศาสตร์ ให้แก่อาจารย์ปัญญา และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ยังได้รับ “รางวัลต้นธารศิลป์” ในอุปถัมภ์เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
หากจะกล่าวว่า ศิลปะคือการเชื่อมร้อยหรือหลอมดวงใจศาสตร์ทุกอย่างให้เป็นหนึ่งเดียวก็ว่าได้ นั่นคือ ศาสตร์แห่งความดี ความงาม และความจริง ดังที่ท่านอาจารย์อาจารย์เจ้าคุณเขียนไว้ในหนังสือ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” อีกตอนหนึ่งว่า
“เพราะเราต่างมีความรับผิดชอบต่อความดีงามร่วมกันของสังคม ศิลปะจึงมีหน้าที่รับใช้สังคมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดมงคลแห่งชีวิต”
(โปรดติดตาม รำลึกวันวาน..มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไปวันอังคารหน้า )
บันทึกธรรมเมื่อวันวาน “สัมมาสมาธิ”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๖
“ความเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ”
ภาพประกอบโดย หมอนไม้
๖. ความเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ
การทำงานศิลปะ หรืองานใดๆ ก็ตามทางโลก สมาธิก็มีความสำคัญไม่น้อยในที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ต่างจากการฝึกสมาธิเพื่อเข้าสู่วิปัสสนา จุดหักเหของการทำสมาธิเพื่อวิปัสสนาจนกว่าจะหลุดพ้นจากกองทุกข์ก็คือการน้อมจิตเข้ามาพิจารณากาย ใจ จนกว่าจะเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง
ในบันทึกเรื่อง “สัมมาสมาธิ” โดยท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนนี้อธิบายเรื่อง ความฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ ต่อมาคือ เมื่อจิตเกิดเอกภาพมีความสมดุล ดำรงความเป็นกลาง เวลาไหนควรรักษาความเป็นกลางมีอุเบกขานิ่งอยู่กับความสงบ เวลาไหนควรยกจิตขึ้นพิจารณาความไม่เที่ยงของกายและจิต จนเห็นความไม่เที่ยงของจิต คือ เพ่งพินิจให้ความสนใจเฝ้าพิจารณาความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป
ในที่สุดก็จะเห็นความคิดเท่านั้นที่เกิดขึ้นและดับไป
เวลาไหนสมาธิเริ่มอ่อนกำลัง ไม่สามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้ ให้กลับมาดูลมหายใจเหมือนกลับมาอัดพลังงานเข้าไปอีกครั้ง จนจิตเกิดความเบิกบานสว่างไสวอยู่ภายในแล้ว ก็กลับไปรักษาความเป็นกลางไว้ เฝ้าสังเกตดูจิตต่อไป เวลารวมก็ให้จิตรวมเอง เวลาถอนออกก็ให้จิตถอนออกเอง อย่าบังคับให้จิตรวมหรือให้จิตถอน จิตรวมดวง ก็รู้ จิตถอนออกจากความเป็นกลาง ก็รู้ ซึ่งจะเป็นไปตามธรรมดาของจิต เมื่อความพรั่งพร้อมถึงที่
การที่จิตเกิดเอกภาพ มีความสมดุล รักษาความเป็นกลางไว้นั้น ขอให้นึกถึงนกที่บินทะยานขึ้นไปในอากาศ ต้องใช้ทุกองคาพยพของปีกทั้งสองข้างสยายออก แล้วกระพือปีกทะยานขึ้นไปในอากาศ ด้วยการกระพือปีกบ่อยๆ พอปีกกินลมได้เต็มที่ ก็จะกางปีกร่อนอยู่ในอากาศ พอใกล้หมดลมใต้ปีกก็จะขยับปีก ให้กินลมที่หนึ่ง แล้วก็ร่อนต่อไป
ความฉลาดในอารมณ์ของผู้ปฏิบัติสมาธิก็เช่นเดียวกัน เมื่อเร่งทำความเพียรจนสมาธิถึงความเป็นกลางแล้วจิตก็หยุดกำหนดลมหายใจไปเองแล้วนิ่งเพ่งดูความว่าง
คำว่า หยุดกำหนดลมหายใจก็เป็นคำที่อธิบายสภาวะที่ลมหายใจหายไปเองตามธรรมดาของจิตสงบ เพราะสภาวะของความสงบเด่นชัดขึ้นมาแทนที่ลมหายใจ จิตจึงสลัดจากลมหายใจไปเกาะอยู่กับความสงบ คือ จิตไม่เกาะลมหายใจแต่ไปเกาะยึดอยู่กับความสงบแทน ที่จริงลมหายใจก็มีอยู่ตามปกติ แต่แผ่วเบาเต็มที และในขณะนั้น จิตก็ไม่ได้สนใจลมหายใจ เพราะจิตไปแนบแน่อยู่กับความสงบ ซึ่งปรากฏเด่นดวงชัดขึ้นมา ท่วมทับลมหายใจที่แผ่วเบาลงไป
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็ว่า ขณะนั้น จิตเลิกให้ความสนใจลมหายใจ ไปให้ความสนใจกับความสงบแทน แต่เป็นลำดับจิตที่เคลื่อนไปตามธรรมดาของจิตที่ถูกฝึกหัดจนรู้ทางของตัวเองแล้ว
(โปรดติดตามตอนต่อไปวันอังคารหน้า)
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๔๐ “เราต่างมีความรับผิดชอบต่อความดีงามร่วมกันของสังคม “
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒